ดูแลทารกแรกเกิด เรื่องใหม่ของคุณแม่มือใหม่
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะ ดูแลทารกแรกเกิด เพราะลูกเพิ่งจะลืมตาออกมาดูโลก มีสิ่งที่แม่ต้องรู้และข้อควรระวัง ที่แม่ต้องจำใส่ใจไว้ให้ดี
การดูแลทารกแรกคลอดในห้องคลอด
ภายหลังการคลอด ทารกจะมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในชีวิต จากเดิมในครรภ์มารดาที่ไม่ต้องมีการหายใจเอาอากาศเข้าสู่ปอดและถุงลม ไม่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิใดใด จากอยู่ในร่างกายมารดา มีระบบไหลเวียนโลหิตที่ต้องอิงกับมารดาเป็นสำคัญในการขนถ่ายออกซิเจนเข้ามาและขับของเสียออกจากร่างกายไป
ต่อมาเมื่อมีการหายใจของทารกครั้งแรกเกิดขึ้น จะมีอากาศไหลเวียนเข้าสู่ถุงลมผ่านมาทางหลอดลมมีการแลกเปลี่ยนก๊าซเกิดขึ้น หากทารกหายใจไม่ปกติอาจจำเป็นต้องมีการช่วยเหลือ เช่น ให้ออกซิเจน ใส่หน้ากากครอบปากและจมูก เป็นต้น
เมื่อมีการตัดสายสะดือเปรียบเสมือนตัดขาดระบบไหลเวียนโลหิตของทารกกับมารดา จึงมีการปรับเปลี่ยนจากระบบไหลเวียนโลหิตเดิมที่มีเลือดมาจากสายสะดือเป็นหลักให้เหมือนผู้ใหญ่กล่าวคือ มีการบีบตัวของหัวใจส่งเลือดเสียไปฟอกที่ปอดและส่งเลือดดีไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีการควบคุมอุณหภูมิร่างกายของทารกเองที่เป็นอิสระจากมารดา
ดังนั้น การดูแลทารกแรกคลอดในห้องคลอด จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ทารกแรกเกิดผ่านพ้นช่วงปรับตัวเหล่านี้ไปให้ได้
สิ่งที่หมอ พยาบาลเช็คลูกทันทีหลังคลอด
- แรกเกิดทันที ผู้ทำคลอดจะช่วยดูดเมือกและสารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่ค้างในช่องปากและโพรงจมูกออกด้วยลูกยางแดง เพื่อเปิดทางให้เด็กทารกสามารถหายใจเอาอากาศเข้าสู่หลอดลม ซึ่งเด็กทารกก็จะหายใจเองเป็นครั้งแรกของชีวิตได้
- ต่อมา ก็จะมีการกระตุ้นให้เด็กทารกร้องโดยการดีดที่ฝ่าเท้าหรือเกาหลังเด็กขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นการกระตุ้นให้เด็กตื่นตัวและร้องเพื่อสูดเอาอ็อกซิเจนเข้าปอดได้เต็มที่
- มีการเช็ดตัวเด็กทารกให้แห้งด้วยผ้าสะอาดเพื่อลดการสูญเสียความร้อน เนื่องจากทารกจะยังควบคุมอุณหภูมิไม่ค่อยดี แล้วห่อผ้าให้มิดชิดหรือให้นอนในตู้อบเพื่อรักษาอุณหภูมิให้คงที่นั่นเอง
- โดยทั่วไปทางเจ้าหน้าที่จะสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในช่วง 2 ชั่วโมงแรก แล้วจึงนำส่งทารกคืนให้มารดาต่อไป
สิ่งที่หมออยากให้แม่เด็กรู้ก่อนดูแลทารกแรกเกิด
คุณแม่ทุกคนควรศึกษา หาความรู้เพิ่มเติมเรื่องการดูแลเด็กทารกแรกคลอด หรือปรึกษาผู้รู้ หรือเข้ารับฟังการอบรมระหว่างการฝากครรภ์ เพื่อจะได้รับสถานการณ์หลังคลอดได้อย่างดีและถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะแม่ป้ายแดง อาจต้องมีการเตรียมอุปกรณ์เด็กทารกแรกเกิดบางอย่างล่วงหน้า เช่น เสื้อผ้า ผ้าอ้อม เตียงนอน อ่างอาบน้ำ สบู่ เป็นต้น สามารถแบ่งเป็นหัวข้อหลักได้ดังนี้
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในช่วง 2-3 วันแรก จะเริ่มมีหัวน้ำนมไหลออกมาก่อนลักษณะสีเหลืองข้น ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็นสีขาวข้น คุณแม่ควรหมั่นให้ลูกเข้าเต้าบ่อยทุก 3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้สร้างน้ำนมได้ต่อเนื่องและเพียงพอสำหรับทารก การจัดท่าเข้าเต้าก็มีความสำคัญ ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกน้อยดูดนมได้อย่างเต็มที่โดยที่คุณแม่รู้สึกสบาย
- การอาบน้ำทารก คุณแม่ควรเรียนรู้และปฏิบัติจริงระหว่างที่อยู่ในโรงพยาบาล อุ้มอย่างไร จัดท่าอย่างไร ปิดหูเด็กอย่างไร เช็ดตัวอย่างไร ห่อผ้าอ้อมอย่างไร เป็นต้น
- การทำความสะอาดสะดือ ต้องหมั่นทำความสะอาดสะดือลูกน้อย เช็ดอย่างไร ดูแลอย่างไร ระวังอย่างไร สะดือจะค่อย ๆ แห้งและหลุดไปเองภายใน 2 สัปดาห์
- การขับถ่าย เด็กทารกทุกคนจะต้องมีถ่ายปัสสาวะและอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงแรก โดยอุจจาระของทารกจะคงเป็นสีเขียวเข้มในช่วงต้น ที่เรียกว่าขี้เทา ต่อมาเมือทารกดูดนมแม่แล้ว เริ่มมีการดูดซึมและย่อยจากกระเพาะอาหารและสำไส้ จึงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเหมือนปกติต่อไป
สิ่งที่แม่ต้องระวังสำหรับเด็กแรกเกิด
ควรสังเกตอาการต่าง ๆ ของทารกอย่างใกล้ชิด ที่พบบ่อย เช่น
- อาการตัวเหลืองหลังคลอด
- อาการสะดืออักเสบ
- อาการแหวะนมบ่อย
- ท้องเสีย
- อาการง่วงซึม
- อาการหยุดหายใจ/เขียวขณะหลับ
หากมีอาการเหล่านี้ควรไปพบกุมารแพทย์ต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำไปได้! ยืนคลอดลูกกลางแจ้ง หมอสูติรีบเตือนเสี่ยงตายทั้งแม่ลูก
คลิปท้องนอกมดลูก ท้องนอกมดลูก อาการ เป็นยังไง แม่จะตั้งครรภ์อีกได้ไหม
คลิปในห้องคลอดหมอกระแทกท้องแม่ ทั้งกดทั้งดัน อยากรู้ไหมทำไปเพราะอะไร?