ดมยาหรือบล็อกหลัง ข้อดีหรือผลร้ายที่แม่ท้องต้องรู้ก่อนคลอด

ดมยาหรือบล็อกหลัง แบบไหนดีกว่ากัน

คุณแม่ใกล้คลอด โดยเฉพาะแม่ท้องที่ต้องผ่าคลอด คงจะมีความตื่นเต้น และเตรียมหาข้อมูลสำหรับการคลอดกันไว้ล่วงหน้า และเรื่องที่แม่ท้องมักจะเกิดความสงสัยกันมาก นั่นก็คือ ดมยาหรือบล็อกหลัง แบบไหนดีกว่ากัน ซึ่งวันนี้ เรามีข้อดีข้อเสีย จากการ ดมยาหรือบล็อกหลัง มาฝากกันครับ

การบล็อกหลังเป็นอย่างไร

การบล็อกหลังระหว่างผ่าคลอด คือการฉีดยาชาเข้าทางช่องไขสันหลัง เพื่อให้เส้นประสาทที่อยู่บริเวณท้องมีอาการชา ช่วยระงับอาการปวด โดยคุณแม่จะต้องนอนขดตัวนิ่งๆเหมือนกุ้งอยู่ประมาณ 10 นาที เพื่อให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังเปิดกว้างที่สุด ก่อนที่วิสัญญีแพทย์จะฉีดยาชาเข้าไป โดยคุณแม่จะยังคงมีสติตลอดการคลอดครับ

การบล็อกหลัง มีกี่แบบ

โดยทั่วไป การบล็อกหลังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ดังนี้

  1. การฉีดยาชาเข้าที่ช่องน้ำไขสันหลัง (Spinal Anesthesia) ซึ่งวิธีนี้มักใช้ในการผ่าตัดทั่วไปที่ไม่ใช่การคลอดบุตร โดยการฉีดเข้าระงับความเจ็บปวดที่ไขสันหลังทันที ซึ่งจะฉีดแค่ครั้งเดียว โดยไม่ต้องมีการต่อท่อเล็ก ๆ เพื่อฉีดยาชา
  2. การฉีดยาชาเข้าที่ช่องเหนือไขสันหลัง (Epidural Anesthesia) เป็นวิธีที่มักใช้ในกรณีที่มีการคลอดบุตร

ซึ่งทั้ง 2 วิธีนี้ จะแตกต่างกันที่จุดฉีดยาชา แต่ผลลัพธ์ยังคงเหมือนเดิม คือ การทำให้ผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดรู้สึกชา และช่วยระงับความเจ็บปวด

ขั้นตอนการบล็อกหลัง

โดยปกติแล้ว การบล็อกหลังขณะคลอดจะทำโดยวิสัญญีแพทย์ ด้วยวิธีการ ดังนี้

  1. ก่อนการผ่าคลอด คุณแม่จะต้องงดน้ำ และอาหาร
  2. พยาบาลจะทำการสวนอุจจาระ และโกนขนตรงบริเวณหัวหน่าวให้คุณแม่
  3. วิสัญญีแพทย์จะเช็ดทำความสะอาดบริเวณแผ่นหลังเพื่อฆ่าเชื้อก่อน
  4. จากนั้นจะทำการฉีดยาชาเข็มเล็ก ๆ เข้าไปที่บริเวณหลังของคุณแม่
  5. หลังจากนั้นก็จะนำเข็มใหญ่สอดเข้าไปที่บริเวณระหว่างกระดูกสันหลังเพื่อหาจุดที่ต้องการจะฉีดยาชา ซึ่งอาจจะเลือกบริเวณช่องน้ำไขสันหลัง หรือบริเวณช่องเหนือไขสันหลัง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคุณหมอ
  6. เมื่อได้จุดที่ต้องการแล้ววิสัญญีแพทย์ก็ทำการฉีดยาชาผ่านท่อเล็ก ๆ เข้าไป

หลังจากที่วิสัญญาณีแพทย์ได้ทำการฉีดยาชาไปแล้ว คุณแม่จะเริ่มมีความรู้สึกชาตั้งแต่บริเวณกลางลำตัวไล่ลงไปจนถึงช่วงขา ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บขณะคลอด

คนกลุ่มไหน ที่ไม่แนะนำให้บล็อกหลังผ่าตัด?

  • ผู้ป่วยที่เลือดมีการแข็งตัวไม่เป็นปกติ
  • บริเวณหลังของผู้ป่วยมีการติดเชื้อจนไม่สามารถใช้เข็มฉีดยาได้
  • เกิดมีภาวะพร่องน้ำ และเลือด
  • กะโหลกศีรษะมีความดันเกิดขึ้นภายใน
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบประสาท
  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ

ในกรณีที่คุณแม่ท้องไม่สามารถบล็อกหลังผ่าตัดได้ วิสัญญีแพทย์ก็จะเปลี่ยนจากการบล็อกหลังไปเป็นการดมยาสลบแทนค่ะ

ข้อดีของการบล็อกหลังผ่าคลอด

  1. ในการผ่าคลอดแบบบล็อกหลังนั้น คุณแม่จะยังรู้สึกตัวอยู่ตลอดเวลา โดยไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดนะครับ จึงสามารถเห็นหน้าลูกได้ในทันทีที่ลูกคลอดออกมา และสามารถได้ยินเสียงร้องของลูกครั้งแรก ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่ทำให้คุณแม่ประทับใจและตื้นตันที่สุดช่วงหนึ่งในชีวิต
  2. ฤทธิ์ของยาชาจะไปกดระบบประสาท ทำให้หลังผ่าคลอดอาจจะยังไม่เจ็บแผลในทันทีเหมือนกับการดมยาสลบ

ผลเสียของการบล็อกหลังผ่าคลอด

  1. หลังผ่าคลอด คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้ หรืออาเจียนได้
  2. คุณแม่จะยังขยับขาไม่ได้หลังจากผ่าคลอดไปประมาณ 2 – 4 ชั่วโมง
  3. อาการข้างเคียงของการบล็อกหลังที่จะเกิดใน 12 ชั่วโมงแรก คือปัสสาวะไม่ออก คุณแม่จึงมักจะได้รับการสวนสายปัสสาวะช่วย
  4. อาจมีอาการปวดหลัง หรือเมื่อยหลังในช่วงแรกๆหลังผ่าคลอด
  5. อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ไขสันหลัง

การดมยาสลบ

ในการผ่าคลอดโดยการดมยาสลบนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเลือกใช้ในกรณีที่อาจจะมีการผ่าตัดที่ยาวนานกว่า 2 – 3 ชั่วโมง และหลังจากผ่าคลอดแล้วต้องผ่าตัดเพิ่มเติม เช่น ผ่าซีสต์ออก หรือผ่าก้อนเนื้องอกต่อ หรือถ้าแม่ท้องอยู่ในภาวะเร่งด่วนที่ต้องผ่าคลอดทันที ก็ต้องใช้การดมยาสลบเช่นกัน

ซึ่งการผ่าคลอดแบบการดมยาสลบนั้น แพทย์จะใช้ดมยาสลบในรูปแบบก๊าซผ่านหน้ากากครอบ โดยที่ขณะทำการผ่าคลอด คุณแม่จะไม่รู้สึกตัว จนกว่ายาจะหมดฤทธิ์ ซึ่งก่อนที่จะทำการดมยาสลบ พยาบาลจะทำการติดเครื่องวัดสัญญาณชีพ วัดความดันโลหิต วัดคลื่นหัวใจ และวัดออกซิเจนในเลือด ของคุณแม่ก่อน หลังจากนั้นก็จะนำออกซิเจนมาให้ดม และจะฉีดยาเข้าทางสายน้ำเกลือ ซึ่งในระหว่างนั้น คุณแม่จะไม่สามารถหายใจได้ ทำให้คุณหมอจะต้องใส่ท่อช่วยหายใจในระหว่างที่ทำการผ่าคลอด และจะรู้สึกตัวอีกทีเมื่อพยาบาลปลุกหลังผ่าคลอดเสร็จ

ข้อดีของการผ่าคลอดแบบวางยาสลบ

  1. ระหว่างผ่าคลอดคุณแม่จะไม่รู้สึกตัว จึงทำให้ไม่ต้องกลัวและไม่เครียดในระหว่างผ่าคลอด
  2. วิสัญญีแพทย์สามารถควบคุมการหายใจ และระบบไหลเวียนของคุณแม่ได้อย่างเหมาะสม

ข้องเสียของการผ่าคลอดแบบวางยาสลบ

  1. คุณแม่จะยังไม่เห็นหน้าลูกทันที
  2. ปวดแผลมากกว่าการผ่าคลอด โดยการบล็อกหลัง เนื่องจากยาสลบจะไปกดสมองไม่ให้รับรู้ความเจ็บปวด แต่ระบบประสาท ไขสันหลังยังทำงานอยู่ ทำให้เมื่อหมดฤทธิ์ยาสลบจะรู้สึกปวดแผลมาก
  3. คุณแม่บางท่านอาจจะมีอาการระคายคอ เจ็บคอ เสียงแหบ และไอ เนื่องมาจากการสอดใส่ท่อช่วยหายใจผ่านเข้าไปในหลอดลม
  4. ยาแก้ปวดและยาดมสลบอาจจะส่งผลให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เบลอ หรือเวียนศีรษะในช่วงพักฟื้นหลังผ่าคลอด
  5. ในบางราย คคุณแม่อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ นั่นก็คือการแพ้ยามากจนช็อค หายใจไม่ไหว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และถูกส่งเข้าห้อง ICU
  6. สำหรับคุณแม่บางราย ยาสลบอาจส่งผลถึงลูกน้อย ทำให้การประเมินหลังคลอดทำได้ช้ากว่าปกติครับ

อย่างไรก็ตาม คุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลใจไปนะครับ เพราะคุณหมอจะเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงต่างๆ เพื่อเลือกวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่ และลูกน้อย เพื่อความปลอดภัยมากที่สุดครับ

 

ที่มา: sikarin hospital, rama mahidol, Enfababy, s-mom club


บทความอื่นๆที่น่าสนใจ

แผลผ่าคลอดกี่วันหาย ทำอย่างไรไม่ให้นูนแดง

วิธีดูแลตัวเองหลังคลอด จะคลอดเองหรือผ่าคลอด ก็ฟื้นตัวเร็วได้

ผ้ารัดหน้าท้อง หลังผ่าคลอดสำคัญหรือไม่อย่างไร

บทความโดย

P.Veerasedtakul