ซึมเศร้าหลังคลอด เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่คุณแม่หลาย ๆ คนอาจต้องเผชิญ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum Depression) เป็นปัญหาสุขภาพจิตที่คุณแม่หลาย ๆ คนอาจต้องเผชิญหลังคลอดบุตร โดยอาจมีอาการซึมเศร้า เสียใจ วิตกกังวล และอ่อนเพลียมาก จนไม่สามารถเลี้ยงลูก หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ หากมีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม และหากมีอาการรุนแรงอย่างหลอน มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือลูกน้อย หรือแม้แต่คิดฆ่าตัวตาย คนรอบข้างควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

อาการของภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมักเกิดขึ้นในช่วงปีแรกหลังจากคลอดบุตร โดยอาการที่มักพบได้ มีดังนี้

  1. รู้สึกเศร้า เสียใจ หมดหวัง
  2. อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิด โกรธง่าย หรืออยู่ไม่สุข
  3. วิตกกังวลมากผิดปกติ
  4. มีปัญหาในการนอนหลับ เช่น นอนหลับมากผิดปกติ นอนไม่หลับ เป็นต้น
  5. ร้องไห้มากกว่าปกติ หรือร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล
  6. มีปัญหาเรื่องสมาธิ การจดจำรายละเอียด หรือการตัดสินใจ
  7. หมดความสนใจในสิ่งที่ชอบหรืองานอดิเรก
  8. รับประทานอาหารน้อยลง หรือรับประทานมากขึ้นอย่างผิดปกติ
  9. มีปัญหาสุขภาพโดยไม่พบสาเหตุที่ชัดเจน เช่น ปวดศีรษะบ่อย ปวดกล้ามเนื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เป็นต้น
  10. เก็บตัว หรือหลีกเลี่ยงการพบเจอเพื่อนและคนในครอบครัว
  11. มีปัญหาในการสร้างความผูกพันระหว่างแม่ลูก
  12. กังวลไปว่าตนเองไม่มีความสามารถในการดูแลลูกอยู่บ่อย ๆ
  13. มีความคิดทำร้ายร่างกายตัวเองหรือลูกน้อย

คุณแม่ที่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดควรไปพบแพทย์หากอาการข้างต้นไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์ มีอาการรุนแรงขึ้น หรืออาการเหล่านั้นส่งผลกระทบต่อการดูแลลูกน้อยและการใช้ชีวิตประจำวัน และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุดหากคุณแม่มีความคิดฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองและเด็ก โดยคนใกล้ชิดควรช่วยดูแลเด็กชั่วคราว เพราะหากปล่อยไว้อาจเป็นอันตรายต่อตัวแม่และเด็กได้

สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยหลายอย่างรวมกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัจจัยที่คุณแม่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน สภาพแวดล้อม อารมณ์ หรือพันธุกรรม เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณแม่อาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมากขึ้น หากมีปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  1. มีประวัติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ เคยมีภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอดมาก่อนหน้านี้
  2. สมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์
  3. มีปัญหาที่ส่งผลให้เกิดความเครียดมากในช่วงปีที่ผ่านมา เช่น ภาวะแทรกซ้อนในระหว่างตั้งครรภ์ หรือมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งภายในครอบครัว เป็นต้น
  4. ทารกมีปัญหาสุขภาพที่ต้องมีการดูแลหรือรับการรักษาอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ
  5. แม่มีปัญหาในการให้นมบุตร
  6. ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน
  7. ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม

การวินิจฉัยภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

อาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในผู้หญิงแต่ละคนค่อนข้างแตกต่างกันไป หากสงสัยว่าตนเองอาจมีภาวะนี้จึงควรไปพบแพทย์ โดยเบื้องต้นแพทย์จะพูดคุยและสอบถามอาการเพื่อระบุว่าเป็นภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือเป็นภาวะซึมเศร้าที่รุนแรง นอกจากนั้น แพทย์อาจให้ทำแบบทดสอบภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย หรืออาจเจาะเลือดไปตรวจหากสงสัยว่าอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากภาวะอื่น เช่น ไฮโปไทรอยด์ เป็นต้น

การรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเป็นปัญหาสุขภาพที่ต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์ และไม่ใช่ความรู้สึกอ่อนแอเท่านั้น ดังนั้น ผู้ป่วยควรบอกปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนใกล้ชิดอย่างตรงไปตรงมาและซื่อตรงกับตัวเอง เพื่อให้แพทย์และคนใกล้ชิดสามารถร่วมมือกันช่วยให้การรักษาเป็นไปในทางที่ดี โดยในขณะที่ทำการรักษาผู้ป่วยควรดูแลตัวเองควบคู่ไปด้วย เช่น ออกกำลังกาย หรือเข้าร่วมกลุ่มให้คำปรึกษา เป็นต้น

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

โดยการรักษาภาวะซึมเศร้าหลังคลอดจะคล้ายกับการรักษาโรคซึมเศร้า วิธีการรักษาที่แพทย์มักใช้ มีดังนี้

จิตบำบัด เป็นการรักษาด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ เพื่อระบายความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากภาวะดังกล่าว โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการรับมือกับปัญหาและให้กำลังใจผู้ป่วย ซึ่งในบางกรณีแพทย์อาจให้คนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดมานั่งพูดคุยไปพร้อมกันด้วย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีหรือสบายใจขึ้น

ยาต้านเศร้า เป็นยาที่ใช้ในการรักษาภาวะซึมเศร้า มักใช้ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าทั่วไป ทว่าในบางกรณีแพทย์อาจให้คุณแม่ใช้ยานี้ในการรักษาด้วย โดยยาอาจปนเปื้อนในน้ำนมได้ แต่ก็มียาบางชนิดที่ส่งผลข้างเคียงกับทารกได้น้อย ดังนั้น เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยและแพทย์จะต้องปรึกษากันถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจได้รับจากการรักษาด้วยยาต้านเศร้าแต่ละชนิดด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

สำหรับการเลือกวิธีการรักษา แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและพิจารณาว่าการรักษาใดเหมาะสมและปลอดภัยต่อผู้ป่วยมากที่สุด โดยอาจใช้การรักษาด้วยวิธีจิตบำบัดหรือใช้ยาเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้ทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน ซึ่งหากการรักษาเป็นไปด้วยดี ผู้ป่วยจะดีขึ้นภายในเวลา 6 เดือน แต่ก็อาจใช้เวลานานกว่านั้น และบางรายอาจกลายเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้ จึงควรเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนดแม้จะหายดีแล้วก็ตาม เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำในอนาคต

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ในระยะยาว และอาจส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัวได้ โดยเฉพาะตัวผู้ป่วยเอง เช่น ทำให้คุณแม่กลายเป็นโรคซึมเศร้า และส่งผลต่อความสามารถในการเลี้ยงดูทารกจนทำให้ทำหน้าที่แม่ได้อย่างไม่เต็มความสามารถ เป็นต้น และแม้จะรับการรักษาแล้วก็ยังมีความเสี่ยงที่คุณแม่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ในภายหลังเช่นกัน

ส่วนผลกระทบต่อลูก ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอาจทำให้ทารกมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม เช่น นอนหลับยาก ไม่ยอมกินนมหรืออาหาร ร้องไห้มากผิดปกติ เป็นโรคสมาธิสั้น หรือมีปัญหาพัฒนาการทางภาษา เป็นต้น

นอกจากนี้ คุณพ่อของเด็กก็อาจได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในครอบครัวไปด้วย ซึ่งทำให้เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าสูงขึ้น เพราะจากเดิมคุณพ่อมือใหม่ก็เสี่ยงเกิดภาวะนี้ได้อยู่แล้วแม้ภรรยาจะไม่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดก็ตาม

 

การป้องกันภาวะซึมเศร้าหลังคลอด

คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด โดยดูแลสุขภาพกายใจให้ดีอยู่เสมอ เพื่อช่วยรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและความเครียดที่อาจเกิดขึ้นหลังจากคลอดบุตร ดังนี้

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วนตามหลักโภชนาการ
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  3. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  4. ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาหรือสมุนไพรชนิดใดก็ตาม
  5. หาเวลาพักผ่อนระหว่างวันบ้าง โดยขอให้คุณพ่อหรือคนใกล้ชิดช่วยดูแลลูกในช่วงที่คุณแม่งีบหลับ
  6. หากเคยเป็นโรคซึมเศร้าหรือมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนวางแผนตั้งครรภ์ หรือหากพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ควรรีบแจ้งแพทย์ทันที ซึ่งในระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะติดตามอาการและสัญญาณของภาวะซึมเศร้าอย่างใกล้ชิด หากพบความผิดปกติแพทย์จะเริ่มทำการรักษาทันที เพื่อไม่ให้อาการรุนแรงขึ้น
  7. หลังจากคลอดบุตรแล้ว คุณแม่ที่คิดว่าตนเองมีภาวะนี้หรือเคยมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดมาก่อนควรเข้ารับการตรวจสุขภาพหลังคลอดแต่เนิ่น ๆ เพื่อประเมินอาการและสัญญาณของภาวะซึมเศร้าหลังคลอด เพราะยิ่งตรวจพบและเข้ารับการรักษาเร็วเท่าใดก็ยิ่งส่งผลดีมากขึ้นเท่านั้น

 

ที่มา : pobpad , รพ.มหิดล , กรมสุขภาพจิต

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

โรคซึมเศร้า พาคุณแม่มาเช็คอาการโรคซึมเศร้า คุณมีอาการเหล่านี้หรือยัง?

เลี้ยงลูกไม่เครียด แม่มือใหม่ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ไม่ปวดหัว เป็นซึมเศร้า

บทความโดย

ammy