ช่วงให้นมลูกแต่ประจำเดือนไม่มา...ปกติไหม?

ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์แน่นอนว่าประจำเดือนคุณแม่ต้องขาดหายไป อีกทั้งหลังคลอดเจ้าตัวน้อยแล้ว หน้าที่สำคัญต่อไปของคุณแม่ คือ การให้นมลูก และช่วงที่ให้นมลูกอยู่นั้นประจำเดือนก็ยังไม่มา อาจทำให้คุณแม่หลาย ๆ ท่านรู้สึกกังวลว่าประจำเดือนไม่มาเช่นนี้ยังปกติหรือไม่ คำถามต่อไปแล้วประจำเดือนจะมาเมื่อไรนะ

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับประจำเดือน

การมีประจำเดือนกับเพศหญิงเป็นของคู่กัน  แต่การมีประจำเดือนของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป  เช่น  บางคนมามาก  บางคนมาน้อย  ก่อนมีประจำเดือนบางคนก็เจริญอาหารหิวนั่นหิวนี่  เรียกว่าแทบจะกินกันได้ทั้งวัน   แต่บางคนต้องทุกข์ทรมานจากอาการปวดท้องประจำเดือนจนบางทีต้องลางาน  หรือขาดเรียนกันไปเลยเพราะปวดจนทนไม่ไหวจริง  แถมช่วงที่มีประจำเดือนก็มีสิวขึ้นเต็มไปหมด ปัญหานานาประการเหล่านี้มีคำตอบค่ะ

ประจำเดือนมาจากไหน

ประจำเดือนของผู้หญิงนั้น  เกิดจากการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นวงจรในแต่ละรอบเดือน  รอบเดือนหนึ่งรังไข่ข้างใดข้างหนึ่งของผู้หญิงจะเกิดการตกไข่ขึ้น ไข่ที่โตเต็มที่หากได้รับการผสมพันธุ์จากเชื้ออสุจิของฝ่ายชายก็จะเกิดการปฏิสนธิต่อไป   แต่ในที่นี้หมายถึงไข่ที่ไม่ได้มีการปฏิสนธิกรณีนี้ก็จะมีการหลุดลอกของโพรงมดลูกออกไปเป็นประจำเดือน

เลือดประจำเดือนใช่เลือดเสียหรือไม่

ผู้หญิงเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยสาว เมื่อรังไข่และมดลูกเจริญเต็มที่ และพร้อมจะผลิตไข่ออกมาทุกเดือน โดยปกติแล้วจะมีไข่ตกจากรังไข่เดือนละ 1 ฟองสลับกันข้างละเดือน เมื่อไข่ตกจะไปฝังตัวที่ผนังมดลูก ซึ่งจะมีลักษณะหนาขึ้นเพราะเตรียมพร้อมสะสมอาหารหากมีการปฏิสนธิ ถ้าหากไม่มีการปฏิสนธิจะทำให้ผนังมดลูกนี้หลุดลอกออกมาพร้อมกับไข่และจะมีเลือดปนออกมา ที่เราเรียกว่าประจำเดือนนั่นเอง ดังนั้นประจำเดือนจึงไม่ใช่เลือดเสียที่ร่างกายขับออกมาอย่างที่หลาย ๆ คนเคยเข้าใจ แต่กลับเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าระบบสืบพันธุ์ของเราทำงานเป็นปกตินั่นเอง

ประจำเดือนมาไม่ปกติ บางคนมาเดือนละ 2 ครั้ง ถือว่าผิดปกติหรือไม่

ปัจจัยแวดล้อม ความเครียด ความกังวล นอนไม่หลับ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการควบคุมการตกไข่จะไม่สมบูรณ์ และอาจทำให้ในเดือนนั้น ๆ ไม่มีการตกไข่ หรือตกไข่ไม่สมบูรณ์ก็เป็นได้ ผลที่เกิดขึ้น คือ ประจำเดือนอาจเลื่อนออกไปหรือเดือนนั้นอาจจะไม่มาก็ได้ หากเกิดกรณีเช่นนี้ ต้องหันมาใส่ใจกับสุขภาพ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ทำจิตใจให้แจ่มใสและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ประจำเดือนของคุณก็จะมาตามปกตินั่นเอง หรือบางท่านอาจไม่สบายใจก็ไปพบคุณหมอ ในกรณีเช่นนี้คุณหมอจะให้กินยาฮอร์โมนเพื่อมาปรับสมดุลก็จะทำให้ประจำเดือนมาปกติเอง

อย่างไรจึงจะเรียกว่าประจำเดือนมาปกติ

ผู้หญิงเกือบทุกคนเข้าใจว่าการมีประจำเดือนทุกเดือน หมายถึงการมีประจำเดือนแบบปกติ คำว่า มีประจำเดือนแบบปกติ อาจเป็นกรณีเช่นนี้ได้ค่ะ คือ คำว่าประจำเดือนปกติไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีประจำเดือนมาทุกเดือนเท่านั้น บางคนทุก 2 เดือน บางคนทุก 20 วันก็มี แต่ถ้าคุณมีการตกไข่แบบปกติแล้วละก็ถือว่ามีประจำเดือนเป็นปกติ ประจำเดือนที่ปกติควรจะมีอย่างเร็ว 21 วันครั้ง และอย่างช้า 60 วันครั้ง หากผิดไปจากนี้ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อดูแลรักษาต่อไป

การนับรอบประจำเดือนทำอย่างไร

หากผู้หญิงคนใดมีประจำเดือนตรงทุกเดือนนับว่าเป็นเรื่องดีและสะดวกต่อการเตรียมพกพาผ้าอนามัยใส่กระเป๋าจะได้ไม่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนให้เสียอารมณ์ และสำหรับคนที่อยากมีเจ้าตัวน้อยจะสะดวกในการคำนวณวันตกไข่ซึ่งจะทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากกว่า และยังรู้อีกว่าประจำเดือนครั้งต่อไปจะมาเมื่อไร ทางที่ดีนะคะให้ทำเครื่องหมาย “วันนั้นของเดือน” ไว้บนปฏิทินกันลืมจะดีไม่น้อย สำหรับการนับรอบเดือนนั้นให้เริ่มนับให้เริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่มีประจำเดือนครั้งนี้จนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งต่อไป จะกินเวลาอย่างเร็ว 25 วัน อย่างช้า 30 วัน ซึ่งมีปัจจัยอื่น ๆ หลายอย่างดังที่กล่าวมาแล้วหากเกิดประจำเดือนคลาดเคลื่อน

หงุดหงิดใจทำไมมีสิวในช่วงที่มีประจำเดือน

เราเรียกอาการเหล่านี้ว่า “อาการก่อนมีประจำเดือน” นอกจากสิวแล้วจะมีอาการอื่น ๆ อีก เช่น ปวดท้องน้อย บางคนระคายเคืองช่องคลอด บางคนมีพฤติกรรมที่แปลกไปบ้าง เช่น หงุดหงิดง่าย เครียด อารมณ์เสียง่าย หรือบางคนมีอาการคัดหน้าอก ปวดหัว ปวดหลัง ปวดแข้งปวดขา หรือบางคนหิวบ่อยกินตลอดทั้งวัน เป็นต้น อาการเหล่านี้ไม่มีสาเหตุทางชีวภาพที่แน่นอนค่ะ แต่ที่แน่ ๆ คือ ช่วงนี้ระดับฮอร์โมนจะลดต่ำลง ทางที่ดีในช่วงนี้ไม่ควรรับประทานเกลือ น้ำตาล คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ จะส่งผลให้เกิดอาการบวมมากขึ้น เนื่องจากโซเดียมในเกลือทำให้เกิดน้ำขังบริเวณท้องและหน้าอก ควรหันมากินพืชผักผลไม้ และคาร์โบไฮเดรต วิตามิน และแคลเซียม จะช่วยลดอาการเหล่านี้ได้ และควรพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ

อาการปวดประจำเดือนผิดปกติหรือไม่ และทำอย่างไรให้หายปวด

อาการปวดประจำเดือนเป็นเรื่องหนักหนาสาหัสสำหรับบางคน เพราะถึงขั้นลุกเดินไม่ได้ก็มี ปวดทรมานสุด ๆ มาดูกันว่าการปวดประจำเดือนมาจากสาเหตุอะไรกันแน่ อาการปวดประจำเดือนเกิดขึ้นเนื่องจากผนังมดลูกมีการสร้างสารที่เรียกว่า โพรสตาแกลนติน (Prostaglandin) เป็นชื่อของสารชนิดหนึ่งในร่างกายมีลักษณะคล้ายฮอร์โมน คือ สาเหตุของการปวดท้องประจำเดือนรวมไปถึงปวดท้องคลอดอีกด้วยนะคะ เมื่อสารนี้หลั่งออกมามากขึ้น หรือมีความไวต่อสารนี้มากขึ้น ทำให้เกิดการบีบรัดของกล้ามเนื้อมดลูกและเมื่อมดลูกหดตัวแรงขึ้นจึงทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน และยังทำให้เส้นเลือดอื่น ๆ ในร่างกายหดตัวตามไปด้วยอาจส่งผลให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ ท้องเดิน ร่วมกับตอนที่ปวดประจำเดือนอีกด้วย ส่วนทางแก้นั้น ควรออกกำลังกายอยู่เสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอนโดรฟินออกมา เป็นการระงับการปวดบวมตามธรรมชาติได้ ควรทำใจให้สบาย ๆ นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่น ๆ เช่น การจิบชาสมุนไพรร้อน ๆ รับประทานวิตามินซี แคลเซียม เป็นประจำจะมีส่วนในการช่วยลดอาการปวดท้องได้ หรือเวลาที่ปวดมาก ๆ ใช้กระเป๋าน้ำอุ่นวางบนท้องน้อย หากปวดมาก รับประทานยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอน หรือยาที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนติน (Prostaglandin) ซึ่งเป็นสาเหตุของการปวดประจำเดือนได้

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.woman.thaiza.com

อ่านช่วงให้นมลูกแต่ประจำเดือนไม่มา…..ปกติไหม  คลิก

ช่วงให้นมลูกหลังคลอดแต่ประจำเดือนไม่มา…..ปกติไหม

ในระหว่างตั้งครรภ์ 9 เดือนนั้นประจำเดือนไม่มา เพราะไม่มีการตกไข่ รวมทั้งในร่างกายของคุณแม่ยังมีการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนอีกหลายอย่างเพื่อให้การตั้งครรภ์เป็นปกติ และเมื่อคุณแม่คลอดลูกน้อยออกมาแล้ว แต่ผลของฮอร์โมนนั้นยังอยู่ไปอีกระยะหนึ่ง แต่โดยทั่วไปแล้วหลังคลอดมักจะมีประจำเดือนอีกครั้งช่วงประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังคลอด แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ โดยเฉพาะการให้นมลูกน้อยอย่างต่อเนื่องยาวนาน บางคนอาจหายไปนาน 5-6 เดือน หลังจากคลอดลูกและให้นมลูกอยู่ก็เป็นได้

ควรกังวลหรือไม่ คงเป็นคำถามในใจคุณแม่หลาย ๆ ท่าน การที่ประจำเดือนยังไม่มาหลังคลอดไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลเพราะเป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ และเมื่อประจำเดือนมาแล้วช่วงแรกบางคนก็เป็นสีจาง ๆ บางคนก็มาแบบเป็นปกติเลย อย่างไรก็ตามในเดือนต่อ ๆ ไปจะกลับมาเป็นปกติได้เองในเดือนหรือสองเดือนถัดไป

สิ่งที่ควรกังวล แต่ไม่ได้หมายถึงให้กังวลจริง ๆ นะคะ จะบอกแต่เพียงว่า ถึงอยู่ในช่วงหลังคลอดที่ไม่มีประจำเดือนโดยเฉพาะในช่วงที่ให้นมลูก แล้วมีกุ๊กกิ๊กกับสามีขอบอกว่า อาจท้องได้นะคะ ท้องทั้ง ๆ ที่ประจำเดือนยังไม่มา บางคนคิดว่าการให้นมลูกคือการคุมกำเนิดตามธรรมชาติ ในช่วงแรกอาจจะใช่ค่ะ เพราะอาจมีการตกไข่เกิดขึ้นใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด ถ้าไม่ได้มีการคุมกำเนิดอย่างเหมาะสมหรือชะล่าใจอาจเกิดการตั้งครรภ์ต่อเนื่องได้ หรือยังไม่มีประจำเดือนสักที นานไปจน 5-6 เดือนก็อาจตกไข่ได้เช่นกัน

คำแนะนำของคุณหมอในเรื่องการคุมกำเนิดหลังคลอด ซึ่งจะแนะนำให้คุมกำเนิดได้เลยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนมา สำหรับคุณแม่ที่ให้นมลูกนั้น ควรเลือกวิธีคุมกำเนิดที่ไม่มีผลต่อนมแม่ คือ ยาฉีด หรือยาฝังคุมกำเนิด หรือห่วงคุมกำเนิด เป็นต้น ส่วนยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมนั้น คุณหมอจะไม่แนะนำให้รับประทานเพราะจะมีผลทำให้น้ำนมแม่ลดน้อยลงได้

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ประจำเดือนสีดำคืออะไร ผิดปกติไหม ปัญหาของสาว ๆ ที่ต้องรู้

ห้ามพลาด! 10 อาหารช่วยลดอาการปวดประจำเดือน