งานวิจัยเผย อยากมีลูก ควรเปลี่ยนนิสัยการกินเสียใหม่
ถ้าคุณกำลังพยายามที่จะมีบุตรบางทีคุณอาจต้องคิดหลายๆ รอบก่อนที่จะซื้ออาหารฟาสต์ฟู้ดรับประทาน การศึกษาชิ้นใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental Health Perspectives ได้พบความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดและ สารพาทาเลต (Phthalate) ซึ่งเป็นสารเคมีที่เชื่อมโยงไปสู่โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง และภาวะการมีบุตรยาก
การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจโภชนาการสุขภาพแห่งชาติ โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตันได้สอบถามผู้เข้าร่วมวิจัย 8,877 คน เกี่ยวกับการบริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา
ผลการศึกษาพบว่า ผู้เข้าร่วมวิจัยที่บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดภายใน 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีสารพาทาเลตชนิด DEHPในปัสสาวะสูงกว่าผู้ที่ไม่ได้บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ด 23.8% ของและมีระดับของสารพาทาเลตชนิด DiNP สูงกว่าผู้ที่ไม่ได้บริโภคอาหารฟาสต์ฟู้ดถึง 39%
พาทาเลตชนิด DEHP ใช้ผสมในพลาสติกพีวีซี เพื่อทำให้เนื้อพลาสติกอ่อนตัวหรือนุ่มขึ้น ได้แก่ ถุงหรือห่อพลาสติก และฟิล์มยืดสำหรับห่ออาหาร ของเล่น เครื่องมือแพทย์ รวมถึงวัสดุในงานก่อสร้าง
ส่วนพาทาเลตชนิด DINP มีอยู่ในเสื้อชุดทำสวน รองเท้า ของเล่น วัสดุก่อสร้าง
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่อาหาร แต่อยู่ที่สารเคมีในบรรจุภัณฑ์ที่สัมผัสกับอาหารฟาสต์ฟู้ด
พาทาเลตเป็นสารเคมีอุตสาหกรรมที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร หลอดสำหรับผลิตภัณฑ์นม ถุงหรือห่อพลาสติก ฟิล์มยืดสำหรับห่ออาหาร และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้ในการผลิตอาหารฟาสต์ฟู้ด
งานวิจัยอื่น ๆ ก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าสารเคมีเหล่านี้สามารถหลุดออกจากบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากพลาสติกและสามารถปนเปื้อนลงในอาหารแปรรูปได้ เช่น เมื่อห่อแฮมเบอร์เกอร์ด้วยฟิล์มยืดห่ออาหารจาก 7 ยี่ห้อใน 7 ประเทศ พบว่ามีการปนเปื้อนของพาทาเลตที่ผิวของแฮมเบอร์เกอร์ จากฟิล์มยืด 2 ใน 7 ยี่ห้อนั้น โดยพาทาเลตจะออกมามากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับอาหารนั้นมีไขมันมากน้อยแค่ไหนและขึ้นอยู่กับคุณภาพของพลาสติกที่ใช้ห่ออาหารนั้นด้วย ถ้าอาหารมีไขมันมากแล้วห่อด้วยพลาสติกยี่ห้อดังแค่ไหนก็ไม่พ้นที่พาทาเลตจะออกมาปนได้ แต่ถ้าอาหารมีไขมันน้อยหากใช้ภาชนะพลาสติกที่มีคุณภาพดี โอกาสที่พาทาเลตจะหลุดออกมาปนกับอาหารก็จะน้อยเช่นกัน
แต่ไม่ว่าอาหารนั้นมีไขมันด้วยหรือไม่ก็ตาม พาทาเลตก็มีโอกาสหลุดจาก พลาสติกออกมาปนกับอาหารได้เสมอ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเทคโนโลยีในการผลิตพลาสติกยังไม่ดีพอ
ผู้เชี่ยวชาญจาก Health Care With-out Harm: HCWH ประเทศสหรัฐอเมริกาอธิบายว่า จากการทดสอบผลของพาทาเลต DEHP ในสัตว์ทดลองในห้องปฏิบัติการหลาย ๆ แห่งได้ผลตรงกันว่า สารนี้จะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อร่างกาย คือ จะไปรบกวนอวัยวะต่าง ๆ ได้แก่ ตับ ไต ปอด ระบบสืบพันธุ์ ฯลฯ และในกรณีที่รุนแรงสามารถทำให้เซลล์ในร่างกายก็กลายพันธุ์ ไปเป็นมะเร็งในที่สุด
ได้ทราบแล้วนะคะว่า สารเคมีที่ชื่อว่าเจ้า พาทาเลต เป็นอันตรายต่อระบบสืบพันธุ์ และมีความสัมพันธ์กับภาวะมีบุตรยาก ดังนั้น หากคุณกำลังพยายามมีบุตร ควรเปลี่ยนนิสัยการกิน หลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด เพื่อป้องกันการสัมผัสกับสารพาทาเลตในบรรจุภัณฑ์อาหารเหล่านั้นค่ะ
ที่มา sg.theasianparent.com, tpa.or.th
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ปฏิบัติการหาช่วงเวลาตกไข่ สำหรับคนอยากมีลูก
11 อาหารเพิ่มพลังเซ็กส์สำหรับคนอยากมีลูก