คุณแม่ท่านไหนอยากจะฝึกฝีมือทำขนมหวานให้ลูก ๆ มาทางนี้เลยค่ะ วันนี้ทาง theAsianparent มีวิธีการทำ คุกกี้ช็อกโกแลตแบบไม่ง้อเตาอบ หรือที่เรียกกันว่า Crispy Chocolate Cookies ทำได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองที่บ้าน เอามาฝากให้คุณแม่มาประลองฝีมือกัน เชิญค่ะ
วิธีทำและส่วนผสมของ คุกกี้ช็อกโกแลต แบบไม่ง้อเตาอบ
ส่วนผสม (ทำได้ประมาณ 16 ชิ้น)
1. ช็อกโกแลตนม, ช็อกโกแลตขาว, หรือช็อกโกแลตดำ แล้วแต่ชอบ 100 กรัม
2. คอร์นเฟลก 100 กรัม
3. น้ำเชื่อม ½ ช้อนชา
4. ถั่วลิสง แมคคาดาเมีย พิสตาชิโอ อัลมอนด์ หรือถั่วอื่น ๆ ทุบหยาบ ตามชอบ ½ ถ้วย
วิธีทำ
1. ละลายช็อกโกแลตในชามทนความร้อนใบใหญ่ โดยตั้งชามไว้เหนือน้ำเดือด อย่าเอาช็อกโกแลตไปตั้งบนเตาโดยตรง
2. ใส่ถั่วลงไปในชามช็อกโกแลตที่ละลายแล้ว คนให้เข้ากัน แล้วตามด้วยน้ำเชื่อม คนต่อเนื่อง หลังใส่น้ำเชื่อม ส่วนผสมจะเริ่มเหนียวเกาะกันเป็นก้อน ยกชามลงจากเตา ผสมคอร์นเฟลกลงไปในชามช็อกโกแลต ใช้พายไม้คนให้คอร์นเฟลกแตก และเข้ากับช็อกโกแลตดี
3. วางที่ตัดคุกกี้วงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้วลงบนถาดแบนที่ปูด้วยแผ่นฟอยล์ ตักส่วนผสมช็อกโกแลตลงในพิมพ์ กดส่วนผสมให้แน่นด้วยช้อน แล้วดึงพิมพ์ออก ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนหมด นำไปแช่เย็นประมาณ 20 นาที
4. แกะคุกกี้ออกจากแผ่นฟอยล์ ตกแต่งด้วยไอซ์ซิ่ง หรือผงโกโก้เพื่อความสวยงาม
ประเภทของช็อกโกแลต
- ช็อกโกแลตดำ (dark chocolate) ประกอบด้วย น้ำตาล เนยโกโก้หรือไขมันที่ได้จากเมล็ดโกโก้ น้ำที่คั้นจากเมล็ดโกโก้บดละเอียด และอาจเพิ่มวานิลลาเข้าไปด้วย
- ช็อกโกแลตขาว (white chocolate) ประกอบด้วย น้ำตาล เนยโกโก้หรือไขมันที่ได้จากเมล็ดโกโก้ นมหรือผงนม และวานิลลา โดยไม่มีการใส่น้ำที่คั้นจากเมล็ดโกโก้บดละเอียด
- ช็อกโกแลตนม (milk chocolate) เป็นการเพิ่มนม หรือผงนมเข้าไปในช็อกโกแลตดำ
เนื่องจาก โกโก้ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของช็อกโกแลตนั้น มีส่วนประกอบของสารเคมีหลายชนิด เช่น สารต้านอนุมูลอิสระฟลาโวนอยด์ (flavonoids) สารฟีนิลเอทิลลามีน (phenylethylamine) และสารโพลีฟีนอล (polyphenol) จึงเชื่อว่าการบริโภคช็อกโกแลตอาจทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้ในหลายด้าน
ประโยชน์ของช็อกโกแลต
1.ลดภาวะความดันโลหิตสูง
เป็นอาการที่ความดันภายในหลอดเลือดแดงสูงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจที่มีความรุนแรง และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
เนื่องจากช็อกโกแลตมีส่วนประกอบเป็นสารต้านอนุมูลอิสระมากมายจากโกโก้ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ จึงมีการนำตัวอย่างช็อกโกแลตบางชนิดมาทำการศึกษาทดลอง จากหลาย ๆ งานวิจัยพบว่า หลังกลุ่มทดลองบริโภคดาร์คช็อกโกแลตแล้ว ระดับความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure) ลดลงไปได้ถึง 2.8-4.7 มิลลิเมตรปรอท ในขณะที่ระดับความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) ลดลงไปถึง 1.9-2.8 มิลลิเมตรปรอท ทั้งจากการทดลองในกลุ่มผู้ป่วยภาวะความดันโลหิตสูงและผู้ที่มีความดันอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ส่วนงานวิจัยหนึ่งที่เปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดระดับความดันโลหิตของช็อกโกแลต พบว่า ผู้ทดลองที่บริโภคดาร์คช็อกโกแลตมีระดับความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉลี่ยถึง 5 จุด และมีระดับความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) ลดลงโดยเฉลี่ย 2 จุด ในขณะที่ไม่พบประสิทธิผลในด้านนี้ในกลุ่มผู้ทดลองที่บริโภคไวท์ช็อกโกแลตแต่อย่างใด
ดังนั้น จากหลากหลายกระบวนการทดลอง จึงอาจสรุปได้ว่า ช็อกโกแลตช่วยในเรื่องการลดระดับความดันโลหิตลงได้ ซึ่งเป็นผลดีต่อการรักษาฟื้นฟูอาการในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง แต่ทั้งนี้ ผู้บริโภคควรศึกษาปริมาณและวิธีการบริโภคช็อกโกแลตในแต่ละรูปแบบอย่างเหมาะสมกับสุขภาพของตน เพราะช็อกโกแลตแต่ละชนิดก็มีส่วนผสมที่แตกต่างกัน และอาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพในทางอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
2.อาการเมื่อยล้าเรื้อรัง
Chronic Fatigue Syndrome: CFS เป็นอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากความเมื่อยล้า หรือเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก โดยอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้นหรือหายไปแม้ได้รับการพักผ่อนมากพอแล้ว ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นอาจเป็นสัญญาณของโรคและการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่รุนแรงได้ โดยสาเหตุของกลุ่มอาการเมื่อยล้าเรื้อรังไม่อาจปรากฏอย่างชัดเจนเสมอไป อาจเกิดจากการป่วยติดเชื้อไวรัสต่าง ๆ ความเครียด หรืออาการทางจิต หรืออาจมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ
ดังนั้น จึงมีนักวิจัยทำการทดลองด้วยสมมติฐานที่ว่า สารเคมีในช็อกโกแลตอาจช่วยกระตุ้นการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองอย่างสารเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งจะช่วยปรับเกี่ยวกับสภาพอารมณ์และส่งผลต่อการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอที่อาจช่วยบรรเทากลุ่มอาการเมื่อยล้าเรื้อรังได้ โดยการทดลองดังกล่าวดำเนินขึ้นโดยให้กลุ่มผู้ทดลองจำนวนหนึ่ง ที่มีภาวะอาการเมื่อยล้าเรื้อรังบริโภคช็อกโกแลตดำทุกวัน เป็นเวลา 8 สัปดาห์ หลังสิ้นสุดกระบวนการทดลอง พบว่าผู้ร่วมทดลองรู้สึกมีอาการเมื่อยล้าลดน้อยลงหลังรับประทานช็อกโกแลต และพบว่าในกลุ่มผู้ทดลองไม่มีการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวเป็นงานวิจัยขนาดเล็กในประเทศอังกฤษ และทำการทดลองในช่วงเวลาสั้น ๆ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงประสิทธิผลของช็อกโกแลต เพื่อให้ได้ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนในด้านผลลัพธ์ของการบริโภคช็อกโกแลต ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อร่างกายในระบบต่าง ๆ เพิ่มเติมต่อไป
3.กระบวนการทางจิต
สารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ในช็อกโกแลต อาจเกี่ยวข้องกับการทำงานทางระบบประสาท และหลอดเลือดหัวใจ จึงมีสมมติฐานว่าช็อกโกแลตอาจมีผลต่อระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการคิด และสภาพจิตใจได้ด้วย จึงมีงานทดลองหนึ่งที่ให้ผู้เข้ารับการทดลองจำนวน 101 รายบริโภคดาร์คช็อกโกแลต และผลิตภัณฑ์จากโกโก้เป็นเวลา 6 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า ไม่มีหลักฐานสนับสนุนใดที่ชี้ว่า การบริโภคช็อกโกแลตจะมีประสิทธิผลต่อสุขภาพทางประสาทจิตวิทยา หรือสุขภาพของหลอดเลือดหัวใจแต่อย่างใด
นอกจากนี้ มีงานวิจัยบางส่วนที่สนับสนุนว่าช็อกโกแลตไม่ส่งผลอย่างแน่ชัดต่อกระบวนการ และสภาวะทางจิต ในขณะที่งานวิจัยอีกส่วนหนึ่งกลับชี้ว่า ส่วนผสมในช็อกโกแลตอาจช่วยในกระบวนการทางจิตในบางด้าน ดังนั้น จึงควรมีการศึกษาค้นคว้าต่อไป ถึงประสิทธิผล และคุณประโยชน์ของช็อกโกแลตทั้งในทางสุขภาพร่างกาย และสุขภาพจิต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทางการแพทย์ต่อไปในอนาคต
ที่มา : pobpad
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ