ห้องตำแหน่งไหนใน คอนโดฯ ที่ควรจับจอง
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กำลังมองหา คอนโดฯ นอกจากเลือกทำเลและดูปัจจัยในด้านราคาหรือแม้กระทั่งสิ่งอำนวยความสะดวกในโครงการแล้ว หากมีโอกาสได้จองห้องในรอบแรกๆ ของโครงการใหม่ คุณควรศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของตำแหน่งห้องด้วย เพราะนอกจากที่ตั้งของยูนิตในโครงการ (ห้อง) จะมีผลเวลาอยู่อาศัยเองแล้ว หากคิดจะปล่อยเช่าหรือปล่อยขายในอนาคตก็มีผลเช่นกัน
หลายคนคงพอจะทราบบ้างว่า ภายใน คอนโดฯ หนึ่งอาคาร จะแบ่งยูนิตออกเป็นห้องที่ดีที่สุดไปจนถึงห้องที่แย่ที่สุด ซึ่งปัจจัยที่เกี่ยวข้องก็ขึ้นอยู่ที่งบประมาณของแต่ละคนด้วย แต่ทั้งนี้โครงการส่วนใหญ่ก็จะออกแบบ Layout ของแต่ละชั้นให้คละห้องกันไป การเลือกตำแหน่งของยูนิตที่ดีส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับระดับชั้น ความสูง ทิศทาง ตำแหน่งของยูนิต รวมไปถึง Layout และ Option ภายในห้อง โดยสำหรับคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้วการเลือกห้องอาจจะไม่ใช่ปัญหา เพราะผู้ซื้อสามารถเข้าไปเลือกชมและสัมผัสกับยูนิตนั้นๆ ได้จริง แต่สำหรับคอนโดมิเนียมที่ไม่ได้สร้างก็ต้องดูรายละเอียดให้ดี และใช้จินตนาการประกอบกับสิ่งแวดล้อมรอบโครงการ โดยสามารถศึกษาได้จากข้อมูลเหล่านี้
1. ระดับชั้นของห้อง
การเลือกห้องจากระดับชั้นถือเป็นเรื่องสำคัญระดับต้นๆ ที่ควรดู เพราะนอกจากในเรื่องของที่อยู่อาศัย หรือการลงทุนแล้ว การเลือกตำแหน่งห้องจากชั้นที่อยู่อาศัยจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งทั้งนี้ห้องส่วนใหญ่ที่คนเลือกมักจะอยู่ชั้นบนๆ เพื่อหลีกหนีอาคารข้างเคียงโครงการที่บล็อควิว รวมไปถึงการถ่ายเทอากาศที่ดีกว่าห้องชั้นล่าง และปลอดภัยจากมลภาวะทางเสียง รวมไปถึงพวกแมลง ยุง และสัตว์มีพิษอื่นๆ ที่สำคัญสามารถป้องกันปัญหาน้ำท่วมได้
แต่ทั้งนี้การเลือกห้องที่สูงมากก็ไม่ใช่เลือกที่ชั้นบนสุดเลย เพราะอาจจะมีปัญหาเรื่องความร้อนจากหลังคา ปัญหารั่วซึม ดังนั้นหากอยากได้ห้องสูงควรเลือกชั้นที่ไม่ใช่ชั้นบนสุด อาจรองลงมาจากชั้นบนสุดที่ 2-3 ชั้นหรือต่ำกว่านั้น หากกังวลเรื่องปัญหากรณีเกิดอัคคีภัย ก็เลือกชั้นที่ต่ำลงมาที่ประมาณชั้น 5 ขึ้นไป หรือ สูงกว่าอาคารตึกสูงรอบๆ โครงการ ซึ่งอาจจะหลบหนีมลภาวะทางเสียงและสัตว์มีพิษต่างๆ ได้ และยังได้สัญญาณโทรศัพท์ที่แรงกว่าชั้นบนๆ ด้วย แต่ถ้าอยู่ต่ำไปกว่านี้ไม่แนะนำแล้ว เพราะนอกจากปัญหาต่างๆ ที่กล่าวมา ยังมีปัจจัยเรื่องความชื้นที่จะทำลายพื้นและผนังห้องในอนาคตด้วย โดยชั้นที่คนนิยมให้ความสนใจมากที่สุดคือที่ชั้น 5, 8, 9 ตามตัวเลขหลักฮวงจุ้ยเพื่อความเจริญก้าวหน้า และจะไม่นิยมเลือกชั้น 13 หรือ 12A หรือ ชั้นอะไรก็ตามที่เป็นชั้น 13 ตามเรื่องโชคลาง
2. ทิศทางของห้อง
ทิศทางเป็นอีกหนึ่งตัวแปรภายนอกที่มีผลทั้งการอยู่อาศัย และการลงทุน โดยในแง่ของการอยู่อาศัย คนส่วนใหญ่มักจะเลือกห้องที่หันไปทางทิศตะวันออก เพราะจะได้รับแสงธรรมชาติในตอนเช้า ทำให้ห้องดูโล่งโปร่งสบายไม่อึดอัด และสามารถระบายความร้อนได้ในช่วงบ่าย หากเลือกห้องที่หันไปทางทิศตะวันตกจะต้องเจอมลภาวะของแสงแดด และความร้อนตลอดช่วงบ่ายไปจนถึงตอนเย็น ซึ่งจะทำให้ห้องร้อนในช่วงหลัง 6 โมงเย็น ซึ่งเป็นเวลาหลังเลิกงาน และต้องกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในห้อง
แต่ทั้งนี้เองการเลือกห้องที่ทิศตะวันออกก็ใช่ว่าจะดีเสมอไป เพราะเราต่างก็ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยนั้นมีอากาศร้อนจัด และมีสภาพอากาศที่แปรปรวนมาก โดยจะมีลมมรสุมเข้ามาทางทิศใต้และทิศตะวันตกประมาณ 8 เดือน และมีลมพัดจากทิศเหนือและทิศตะวันออกอีกประมาณ 4 เดือน ดังนั้นด้วยทิศทางลมที่เข้ามาต่างฤดู จึงทำให้ประเมินไม่ได้ว่าทิศทางไหนคือทิศที่ดีที่สุด การเลือกห้องจากทิศทางก็จะขึ้นอยู่กับตัวบุคคล เพียงแต่อย่าเลือกห้องที่หันออกไปเจออาคารบล็อควิว รวมทั้งทิศทางการวางหัวเตียงก็ไม่ควรหันไปทางทิศตะวันตก เพราะเป็นทิศที่คนโบราณถือจากทิศทางการนอนของศพคนตาย
3. ตำแหน่งของห้องในชั้น
เมื่อสามารถเลือกชั้นที่ชอบ ทิศทางที่ใช่ได้แล้ว ทีนี้มาดูกันต่อในเรื่องของตำแหน่งบนชั้นนั้นๆ ห้องที่จะถูกจองอย่างรวดเร็วที่สุดและไม่ค่อยมีเหลือในวัน Pre-Sale ให้คนปกติได้เลือกสรรกันก็คือ ห้องแปลนมุม เพราะเป็นห้องที่สามารถชมวิวได้แบบ 270 องศา หรือได้รับวิวจากห้องนั้นๆ ถึงสองมุม โดยส่วนใหญ่ก็จะเลือกมุมที่หันไปทางทิศตะวันออก และทิศใต้ ซึ่งหากมองในเรื่องของราคาห้องที่อยู่มุมแปลนส่วนใหญ่จะเป็นห้องขนาดใหญ่และมีราคาแพงพอสมควร เพราะเป็นห้องที่มีราคาซื้อ-ขายง่ายที่สุด คนส่วนใหญ่จึงมักสู้ราคาไม่ไหว และห้องมักจะตกเป็นของผู้บริหาร คนวงใน ตั้งแต่รอบ VIP หรือการเปิดรอบขายก่อนหน้านั้นแล้ว ดังนั้นถ้าไม่ใช้ห้องมุม ตำแหน่งของห้องที่น่าสนใจก็คือห้องที่ไม่ใกล้กับห้องงานระบบ ทางหนีไฟ ลิฟท์ ทางเดิน บันไดหนีไฟ หรือห้องเก็บขยะ นอกจากจะได้รับเสียงรบกวนจากคนที่เดินผ่านไปผ่านมาแล้ว อาจจะได้รับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ด้วย นอกจากนั้นก็ควรหลีกเลี่ยงห้องที่มีตำแหน่งของประตูชนกับยูนิตอื่นๆ เพื่อความเป็นส่วนตัว แต่สำหรับโครงการใหม่ส่วนใหญ่ก็จัดวาง Layout ห้องให้มีประตูของยูนิตที่เยื้องๆ กันเกือบหมดแล้ว
4. แบบห้องและ Option ที่น่าสนใจ
หลังจากดูภายนอกของโครงการแล้ว มาที่ภายในกันบ้าง Layout ของห้องที่ดีนั้น ควรมีผนังเป็นสัดส่วน ไม่ควรมีซอกหลืบหรือพื้นที่ใช้สอยแคบๆ ออกมาไม่ว่าจะเป็นฟังก์ชันอะไรก็ตาม เนื่องจากพอผู้อยู่อาศัยจริง พื้นที่ใช้สอยเล็กๆ เหล่านั้นแทบจะไม่ได้ใช้งานเลย นอกจากเปลืองพื้นที่และยังทำให้ตกแต่งยากขึ้น
นอกจากนั้นเรื่องเรื่องฮวงจุ้ยการนอนที่ได้พูดถึงในหัวข้อของการเลือกทิศ ตรงนี้สามารถแอบดูจากแปลนหรือห้องตัวอย่างได้เลยว่า โครงการตั้งใจให้เราวางเตียงนอนในห้องนอนให้มีหัวเตียงหันไปทางทิศไหน ซึ่งหากเป็นห้องนอนที่มีฟังก์ชันของการติดตั้ง สัญญานทีวี ปลั๊กไฟสำหรับวางทีวีให้ดูจากเตียงได้ ให้หันมาดูทิศฝั่งตรงข้ามปลั๊กไฟเลยว่าใช่ทิศตะวันตกหรือไม่ เพราะถ้าใช่ ใครที่ไม่ถือก็คงไม่เป็นไร แต่สำหรับคนที่ถือ เลือกห้องใหม่ได้เลย ไม่งั้นต้องจัดห้องนอนแบบโยงสายไฟไปมาจากการเปลี่ยนตำแหน่งหัวเตียงแน่นอน ในส่วนของห้องน้ำก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องดูเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่โครงการจะออกแบบดีไซน์มาในลักษณะที่คล้ายๆ กัน ยกเว้นพื้นที่ใช้สอยที่แตกต่างกัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีพัดลมดูดอากาศ มีหน้าต่าง สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ยิ่งหากมี Option ของอ่างอาบน้ำด้วยยิ่งดี เพราะปล่อยเช่าชาวญี่ปุ่นได้อีก
นอกจากนี้ตัวห้องน้ำควรตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เชื่อมต่อกับห้องนอน เพราะจะใช้งานได้ง่ายกว่าอยู่บริเวณห้องนั่งเล่น ส่วนระเบียงควรมีการติดตั้งระบบไฟฟ้า และระบบประปา สำหรับติดตั้งเครื่องเสื้อผ้า โดยระเบียงควรมีขนาดกว้างกว่า 60×60 ซม. สำหรับวางเครื่องซักผ้าขนาดมาตรฐานได้
เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย กิตติคม พจนี Content Writer ประจำ DDproperty.com บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวม ข่าวอสังหาฯ คู่มือซื้อขาย และรีวิวโครงการใหม่ ไว้กว่า 10,000 บทความ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ปรับบ้านเพิ่มพลังรัก ปรับทิศผลิตลูก
หลังคลอดบุตรแม่ควรพักฟื้นประมาณกี่วัน ?