คลิปท้องนอกมดลูก ท้องนอกมดลูก อาการ เป็นยังไง แม่จะตั้งครรภ์อีกได้ไหม
เผยให้เห็นกันชัด ๆ ถ้าแม่ตั้งครรภ์นอกมดลูก ตัวอ่อนไปฝังตัวหรือเจริญเติบโตผิดที่ จะเป็นอย่างไร ดูได้ใน คลิปท้องนอกมดลูก และค้นหาคำตอบ ท้องนอกมดลูก อาการ เป็นยังไง แม่จะตั้งครรภ์อีกได้ไหม
การท้องนอกมดลูก น่ากลัวแค่ไหน
การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือท้องนอกมดลูก ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนทางการตั้งครรภ์ที่อันตราย ทารกส่วนใหญ่จะเสียชีวิต มีบางกรณี แต่น้อยมาก ๆ ที่สามารถไปเจริญเติบโตต่อในช่องท้อง ส่วนความเสี่ยงของแม่คือการเสียเลือดจากการท้องนอกมดลูก ถ้าเลือดออกมากก็อาจเกิดอาการช็อค ทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ท้องนอกมดลูกเป็นอย่างไร
เมื่อไข่และเชื้ออสุจิปฏิสนธิกันเกิดเป็นตัวอ่อน จะไปฝังตัวที่โพรงมดลูก เจริญเติบโตเป็นทารก แต่หากเกิดความผิดปกติของการตั้งครรภ์ จะไปฝังตัวผิดที่ หรือฝังตัวนอกโพรงมดลูก ราว ๆ 95% จะไปฝังตัวที่ปีกมดลูกหรือท่อนำไข่ แต่ก็อาจจะไปฝังตัวที่อื่นอย่าง รังไข่ ปากมดลูก หรือในช่องท้อง ก็เป็นได้
หากมีการตั้งครรภ์ปกติ กล้ามเนื้อมดลูกก็จะขยายตัวเพื่อเป็นที่อยู่ของทารก แต่ท่อนำไข่นั้นมีกล้ามเนื้อน้อย ขยายตัวได้ไม่มาก เมื่อตัวอ่อนไปฝังตัว เจริญเติบโตขึ้น จะขยายท่อนำไข่ทำให้ท่อนำไข่แตก จนเกิดเลือดออกในช่องท้อง การแตกของท่อนำไข่จะทำให้เกิดการฉีกขาดของท่อนำไข่ หากรักษาไม่ทันจะเป็นอันตรายต่อแม่ถึงตายได้
ท้องนอกมดลูก อาการ เป็นยังไง
- อาการปวดท้องน้อย ปวดด้านใดด้านหนึ่ง (ด้านที่เกิดท้องนอกมดลูก)
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด มักเป็นแบบกะปริดกะปรอย
- มีประวัติขาดประจำเดือนนำมาก่อน
หากมีครบทั้ง 3 อาการ แพทย์จะตรวจอย่างละเอียดต่อไป ทั้งนี้ หากมีการเสียเลือดภายในช่องท้องมาก ความดันโลหิตจะต่ำ ชีพจรจะเต้นเร็ว เป็นสัญญาณบอกว่า กำลังจะช็อก ตรวจเปลือกตาจะเห็นตาขาวซีด ท้องบวมโตขึ้น เมื่อตรวจจะพบว่ามีของเหลวในท้อง หากกดบริเวณท้องน้อย (ขึ้นกับว่าพยาธิสภาพอยู่ข้างซ้ายหรือขวา) ผู้ป่วยจะปวดและเกร็ง หากมีเลือดในช่องท้องมาก ผู้ป่วยจะปวดและเกร็งไปทั่ว ๆ ช่องท้อง
ปัจจัยเสี่ยง การท้องนอกมดลูก
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะจากเชื้อ Chlamydia trachomatis และ Nesseria gonorrheae ทำให้เกิดพังผืดบริเวณปีกมดลูก และรังไข่ ทำให้ท่อนำไข่คดงอ หรือตีบตันบางส่วน ขัดขวางการเดินทางของตัวอ่อนที่จะไปฝังตัวที่โพรงมดลูก หรือทำให้การเดินทางช้าลง ทำให้ตัวอ่อนฝังตัวที่ปีกมดลูกก่อน
- การผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน โดยเฉพาะการผ่าตัดที่บริเวณท่อนำไข่ เช่น การผ่าต่อหมัน ทำให้เกิดพังผืดหรือท่อนำไข่ตีบตันบางส่วนเช่นกัน ส่วนการทำหมัน ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก โอกาสตั้งครรภ์หลังทำหมันมีประมาณ 3 ใน 1,000 คนที่ทำหมัน และเมื่อเกิดการตั้งครรภ์หลังทำหมัน มักจะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดที่มี ฮอร์โมนโปรเจสโตรเจนเพียงอย่างเดียว เช่น ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน อิทธิพลของฮอร์โมนจะทำให้การบีบตัวของท่อนำไข่ช้าลง ทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนที่ได้ช้าลง
- ใส่ห่วงอนามัย แม้จะป้องการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูกได้ แต่ไม่ป้องกันการฝังตัวของตัวอ่อนที่ปีกมดลูก
- ใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การกระตุ้นการตกไข่ด้วยฮอร์โมน หรือการทำ กิฟท์
- ตั้งครรภ์เมื่ออายุมาก มีความเสี่ยงมากกว่า
- สูบบุหรี่ สารพิษจากบุหรี่จะมีผลต่อการเคลื่อนไหวของปีกมดลูก และการโบกพัดของขนเล็ก ๆ ในท่อนำไข่
วิธีป้องกันการท้องนอกมดลูก
ใช้ถุงยางอนามัยชายเพื่อลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ต้องพบแพทย์เพื่อรักษาให้หายขาด อย่าซื้อยารับประทาน เพราะอาจติดเชื้อเรื้อรัง ทำให้เกิดพังผืดมากมายในอุ้งเชิงกราน และหมั่นดูแลสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่
ท้องนอกมดลูก แม่จะตั้งครรภ์อีกได้ไหม
หลังการรักษา การตั้งครรภ์นอกมดลูก หากมีอนำไข่อีกข้างที่ดีเหลืออยู่ (กรณีที่ตัดท่อนำไข่ไปข้างหนึ่ง หรือในกรณีที่ที่รักษาด้วยยา Methotrexate โดยไม่มีการผ่าตัดท่อนำไข่) สามารถตั้งท้องปกติได้ โอกาสตั้งครรภ์จะประมาณ 50-90% ขึ้นอยู่กับสภาพของท่อนำไข่ และสภาพภายในอุ้งเชิงกรานว่าปกติหรือไม่ นอกจากนี้ หลังการท้องนอกมดลูก อาจมีการตกไข่ในรอบประจำเดือนถัดมาเลยและเกิดการตั้งครรภได้เลย ถ้ายังไม่พร้อม ต้องคุมกำเนิด และควรคุมกำเนิดอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้สุขภาพสมบูรณ์เสียก่อน
หลังการตั้งครรภ์นอกมดลูก จะพบภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว
- การมีภาวะท้องนอกมดลูกซ้ำในครรภ์ต่อไป มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 7-13 เท่า โอกาสเกิดท้องนอกมดลูกซ้ำ 10-15% สามารถเกิดได้ทั้งที่ท่อนำไข่ด้านเดิม (ถ้าไม่ได้ตัดท่อนำไข่) หรืออาจเกิดท้องนอกมดลูกที่ท่อนำไข่อีกข้าง
- หากต้องผ่าตัดปีกมดลูก อาจเกิดพังผืด ท่อรังไข่ ตีบตัน ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากตามมาได้ และถ้าเกิดท้องนอกมดลูกไป 2 ครั้ง และถูกตัดท่อนำไข่ไปทั้ง 2 ข้าง จะไม่สามารถมีลูกเองโดยวิธีธรรมชาติได้
- มีอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง
สิ่งที่แม่ท้องต้องทำ คือ รีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ทันทีที่รู้ว่าท้อง แพทย์จะได้ตรวจความผิดปกติ นอกจากจะจับตาอาการท้องนอกมดลูกได้แล้ว การฝากครรภ์และพบแพทย์เป็นประจำ ยังช่วยป้องกันอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ได้อีกด้วย
ที่มา : รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ สูตินรีแพทย์ เว็บไซต์ https://haamor.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
5 อาการแทรกซ้อนแบบนี้ไม่ดีแน่แม่ท้องต้องระวัง
ท้องแบบไหน เสี่ยงตายทั้งคู่ เพราะมดลูกแตก
คลิปผ่าคลอดหมอฝรั่ง เปิดประสบการณ์ แม่ไทยคลอดไกลถึงออสเตรเลีย