ครูหักไม้เรียวทั้งน้ำตา
ครูแค่อยากให้หนูเป็นคนดี ครูหักไม้เรียวทั้งน้ำตา ชี้แจงถึงการใช้ไม้เรียวตีเด็กวัย 3 ขวบ จนหลังช้ำ พร้อมกับออกมายอมรับว่า ตีเด็กจริง เพราะหวังดีอยากให้ลูกศิษย์มีวินับและเป็นคนดี
ตีเด็กวัย 3 ขวบ
เหตุเกิดเมื่อคุณแม่วัย 32 ปี เข้าร้องเรียนต่อนายอำเภอว่า ลูกชายวัย 3 ขวบ ถูกครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งหนึ่ง ใช้ไม้เรียวตีหลังจนฟกช้ำ เพราะไม่พอใจที่เด็กไม่เก็บที่นอนและเก็บของเล่น จนลูกชายไม่อยากไปโรงเรียน พอสอบถาม ก็สารภาพว่าตีจริงแต่ไม่รุนแรง พร้อมกับจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทำให้ผู้ปกครองไม่พอใจ ไปแจ้งความดำเนินคดี และเข้าร้องเรียนนายอำเภอให้สอบสวนและลงโทษ
ด้านคุณครูและผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก ประจำศูนย์เด็กเล็ก ยอมรับตามที่ผู้ปกครองได้ร้องเรียน พร้อมกับยืนยันว่า ครูทำโทษเด็กด้วยไม้เรียว เพราะอยากให้มีวินัย เป็นคนดี อยู่ในสังคมได้ ไม่มีเรื่องอื่นแอบแฝง
ผู้ช่วยครู เปิดเผยว่า ช่วงใกล้เลิกเรียน ได้สั่งให้เด็กทุกคนเก็บของเล่น และเตรียมตัวที่กลับบ้าน แต่เด็กชายที่ถูกทำโทษ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ครูบอก พร้อมทั้งเดินหนี เรียกตัวมาอบรมแล้วสอนเขาให้รู้จัดเก็บสิ่งของและรับผิดชอบ ก่อนใช้ไม้เรียวตีไม่รุนแรงที่หลังจำนวน 2 ครั้ง เป็นการทำโทษ เพื่อต้องการให้เด็กมีวินัย เป็นคนดี ให้อยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้อย่างมีระเบียบในการเติบโตไปในภายหน้า
“รู้สึกเสียใจเพราะไม่มีเจตนาจะทำร้ายเด็ก แต่เพื่อเป็นการสั่งสอน ตักเตือนเด็กเท่านั้นเอง ก็รู้สึกเห็นใจผู้ปกครองเด็ก แต่ถ้าย้อนกลับไปได้คงจะไม่ใช้ไม้เรียวทำโทษเด็ก ฝากขอโทษผู้ปกครอง ครูไม่มีเจตนาที่ทำรุนแรงแก่เด็ก ตามที่ผู้ปกครองคิด แต่ที่ทำเป็นความหวังดี สั่งสอนให้เด็กเป็นคนมีวินัย สามารถอยู่ในสังคมได้เท่านั้น”
ครูหัวหน้าศูนย์เด็กเล็ก บอกว่า ผู้บริหาร อบต. ได้เรียกครูในศูนย์เด็กเล็กไปว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ช่วยครูผู้ดูแลเด็ก ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงจะมีคณะกรรมการของ อบต.มาสอบสวนผู้ช่วยครู ผู้ดูแลเด็ก รวมถึงผู้ปกครองด้วย ส่วนที่ผู้ปกครองกล่าวหาว่า ก่อนหน้านี้ครูเคยลงโทษเด็กรุนแรง ขอบอกว่ามีการลงโทษจริง แต่ไม่รุนแรง ได้พูดคุยกับผู้ปกครองจบไปเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเราจะพยายามดูแลเด็กให้ดีที่สุด โดยจะสั่งห้ามครูทุกคนไม่ให้ใช้ไม้เรียวทำโทษเด็ก
“ถ้าผู้ปกครองคิดว่าครูที่ศูนย์เล็กเด็กทำรุนแรง ฝากขอโทษด้วย ส่วนผลการสอบสวนจะเป็นเช่นไร เราเองยอมรับผิดทุกอย่าง สิ่งที่ครูทำลงไปนั้น เด็กทุกคนมีระเบียบวินัย เล่นอะไรต้องรู้จักเก็บสิ่งของเท่านั้นเอง” ครูหัวหน้าศูนย์เด็กเล็ก กล่าวพร้อมสั่งให้หักไม้เรียว และจะไม่มีการลงโทษเด็กด้วยไม้เรียวอีก
ที่มา : https://www.thairath.co.th
รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี จริงไหม?
การอบรมสั่งสอนของแต่ละบ้าน แต่ละคน ย่อมแตกต่างกันไป บางบ้านยังรู้สึกว่า ไม้เรียวเป็นเรื่องจำเป็น แต่บางคนก็อยากจะเลิกใช้วิธีตีลูก แล้วจะมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยอบรมลูกได้ โดยไม่ต้องตี ให้เจ็บปวดกันทั้งแม่และลูก
พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือหมอมินบานเย็น จากเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้โพสต์ #ทำให้รู้ผิดรู้ถูกได้แบบที่ไม่ต้องตีให้เจ็บ ไว้ว่า
มีเทคนิคการทำโทษที่ไม่ต้องให้ต้องเจ็บตัว แต่ทำให้เด็กจดจำและเรียนรู้เพื่อทีหลังเด็กจะไม่ทำผิดอีก มีหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสม
เทคนิค“เพิกเฉย”
ในเด็กที่พอรู้ความอายุประมาณหนึ่งขวบขึ้นไป เริ่มเอาแต่ใจตัวเอง ปกติเด็กจะชอบให้เราสนใจในพฤติกรรมบางอย่าง เมื่อต้องการให้เราตามใจ เช่น เด็กมีพฤติกรรมร้องไห้โวยวาย กรี๊ดๆ บางทีมีท่าทาง เช่น ลงไปดิ้นๆที่พื้น บางทีร้องจนดูน่าสงสาร บางคน มีร้องจนไอ ร้องจนอ๊วก มักจะมีอาการเวลาไม่ได้สิ่งที่ต้องการ
ส่วนใหญ่พ่อแม่ก็จะเข้าไปให้ความสนใจ เข้าไปโอ๋ ไปปลอบ และสุดท้ายยอมให้ของที่เด็กต้องการ ทำให้กลายเป็นเงื่อนไขว่า เวลาเด็กต้องการอะไรก็จะใช้วิธีร้องไห้โวยวายเสมอ ยิ่งร้องดัง หรือมีท่าทางด้วยจะยิ่งดึงดูดความสนใจ ทำซ้ำๆบ่อยๆพอได้ผล ก็จะเรียนรู้จนกลายเป็นนิสัย ทำให้พฤติกรรมร้องไห้โวยวายไม่ลดลง มีแต่เพิ่มขึ้นๆ
หากใช้เทคนิคนี้คือ การงดการให้ความสนใจ ไม่ตามใจเด็ก เพิกเฉยเสีย เมื่อเด็กมีพฤติกรรมโวยวาย ใช้คำพูดสั้นๆว่าเราเข้าใจความรู้สึก เช่น “แม่รู้ว่าหนูโกรธที่แม่ไม่ซื้อของเล่นให้” ไม่ต้องพูดอะไรมากกว่านี้ รอสักพัก ไม่ต้องสนใจหรือโอ๋ ไม่นานเด็กจะหยุดพฤติกรรมโวยวายไปเอง เพราะรู้ว่าไม่ได้ผลและทำให้ไม่ใช้วิธีร้องไห้โวยวายอีก ตรงนี้ทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ต้องหนักแน่น อดทน เพราะเวลาเด็กร้องโวยวายก็ค่อนข้างบีบคั้นจิตใจ
เทคนิค “time-out ขอเวลานอก”
ส่วนใหญ่จะใช้เทคนิคนี้ในเด็กเล็ก เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ จะให้เด็กไปอยู่ในบริเวณ time-out ซึ่งต้องเป็นที่ๆเด็กไม่สามารถเข้าถึงสิ่งทีชอบต่างๆ จะต้องเป็นบริเวณที่น่าเบื่อ โดยอาจเป็นนั่งเก้าอี้ในมุมห้องที่สงบ ไม่มีสิ่งต่างๆที่เด็กชอบ เช่น ไม่มีโทรทัศน์ ของเล่น หน้าต่าง หรือการสนใจจากคนรอบข้าง โดยกำหนดเวลาที่ไม่นานมากนัก เช่น ประมาณ 5 นาทีหรือน้อยกว่านั้น
โดยจะมีหลักการทั่วไปว่าใช้เวลา 1 นาทีสำหรับอายุของเด็ก 1 ปี เช่น เด็กอายุสามปีจะใช้ time out เป็นเวลา3นาที ควรจะบอกเด็กให้ทราบก่อนว่า พ่อแม่จะใช้วิธีนี้เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นๆ และบอกเด็กล่วงหน้าก่อนที่จะให้เด็กไป time out ว่าเหตุผลที่ต้องไปนั่งเก้าอี้คืออะไร และใช้เวลานานเท่าไร เช่น “เพราะว่าหนูขว้างของ หนูต้องไปนั่งเก้าอี้เด็กดี 3 นาที”
แต่ส่วนใหญ่พ่อแม่มักจะบ่นว่าทำยาก ก็อาจจะลองใช้วิธีอื่น เพราะวิธีนี้จะได้ผลดีเมื่อเด็กค่อนข้างจะเชื่อฟังและเกรงใจพ่อแม่ ที่หมอมักจะแนะนำคือ ก่อนมี time out ต้องมี time in ก่อน คือ พ่อแม่ต้องเคยมีช่วงเวลาดีๆกับเด็ก ให้เด็กรู้สึกดีๆกับพ่อแม่ นำมาซึ่งความรักผูกพัน และความเชื่อฟังเกรงใจก็จะตามมา
เทคนิค “ทำผิดต้องตัด”
โดยอาจเป็นการตัดสิทธิ์ที่เคยมีเคยได้ หรือ ปรับเป็นเงินหรือสิ่งของที่เป็นของๆเด็ก ใช้วิธีนี้เมื่อเด็กโตพอที่จะรู้เรื่อง ควรมีการพูดคุยตกลงกับเด็ก ว่าเราจะใช้วิธีนี้ในการปรับพฤติกรรม เช่น การงดดูการ์ตูนที่ชอบ หรือ งดขนม เมื่อเด็กทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือ การตัดค่าขนมเด็กเมื่อเด็กทำของเสียหาย
เช่น เมื่อเด็กโกรธ ขว้างแจกันแม่แตก สมมติแจกันแม่ราคา 150 บาท ก็หักค่าขนมวันละห้าบาทเป็นเวลาหนื่งเดือน (ครบ 150) ซึ่งตรงนี้ก็แล้วแต่ความเหมาะสมและการตกลงกัน การทำโทษวิธีนี้จะทำให้เด็กเรียนรู้ว่าทำผิดแล้วต้องรับผิดชอบ นอกจากนั้นทีหลังถ้าไม่อยากเสียอะไรไปหรือไม่อยากจะลำบาก ก็ต้องพยายามไม่ทำผิดอีก
เทคนิค “ทำความดีทดแทน”
คือ การให้เด็กที่ทำผิดต้องรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นของความผิดนั้นและทำพฤติกรรมอื่นที่เหมาะสมทดแทน เช่น เมื่อเด็กขว้างแจกันแม่แตก สมมติแจกันแม่ราคา 150 บาท นอกจากการหักค่าขนมชดเชย ก็ต้องให้เด็กทำดีเพิ่มเติม เช่น จะต้องเปลี่ยนน้ำในแจกันทุกวันตอนเย็นหลังกลับจากโรงเรียนเป็นเวลาหนึ่งเดือน ตรงนี้ก็จะเป็นการให้เด็กรู้จักรับผิดชอบ
สำหรับเรื่องการทำโทษด้วยการตีนั้น จริงอยู่ว่า การตีจะทำให้พฤติกรรมไม่ดี ลดลงได้เร็วกว่าเทคนิคอื่นๆ แต่ก็มีผลเสียตามมาหลายประการ เช่น ทำให้สัมพันธภาพระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ไม่ดี เด็กมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ เกิดการเลียนแบบ เช่น เมื่อเด็กถูกพ่อแม่ตี ก็ร้องไห้โวยวายลงมือลงเท้า เวลาหงุดหงิดเพื่อนก็จะใช้วิธีตีเพื่อน (เหมือนที่ถูกพ่อแม่ตี) พ่อแม่จึงต้องใช้ความระมัดระวังในการตี หลักการตี ที่เหมาะสม คือ ใช้มือตี ไม่ใช้วัสดุอื่น ไม่ตีเด็กเวลาที่เราโกรธ (เพราะจะทำให้ตีรุนแรงด้วยอารมณ์) บอกเด็กก่อนว่าจะตีกี่ครั้ง และเหตุผลที่ตีคืออะไร
และข้อสำคัญ “อย่าลืมทำเป็นตัวอย่าง” ถ้าพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดเป็นคนที่รับผิดชอบรู้จักผิดถูก เด็กก็จะเรียนรู้และก็จะซึมซับในพฤติกรรมดีๆ นั้น หมอเคยเห็นพ่อแม่หลายคนบอกว่า “เป็นเด็กดีสิลูก” แต่สิ่งที่พ่อแม่ทำกลับตรงกันข้าม
การปรับพฤติกรรมเด็กนั้นหากจะทำให้ได้ผลดี ต้องทำด้วยพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน เด็กจะต่อต้านน้อยกว่า เชื่อฟังและมีความเกรงใจมากกว่า และต้องเริ่มทำตั้งแต่เด็กยังเล็ก
ที่สำคัญสิ่งที่เด็กทำได้ดีก็ต้องชมเชยด้วย ใช่ว่าจะมองหาสิ่งที่เด็กทำผิดอย่างเดียว
เน้นอีกอย่างคือ ผู้ใหญ่ต้องจัดการอารมณ์ให้ดี บางครั้งผู้ใหญ่ก็โกรธมากกับพฤติกรรมเด็ก จนทำให้ผู้ใหญ่ปรับพฤติกรรมเด็กได้ไม่ดีเทำไหร่ เพราะความโกรธจนขาดสติ
#หมอมินบานเย็น
อ่านเพิ่มเติม ตีลูกดีไหม ลงโทษลูกอย่างไร ให้ลูกได้บทเรียน แต่แม่ไม่ปวดใจ
ก่อนจะตัดสินใจอะไรลงไป คุณแม่ควรศึกษาข้อดีข้อเสีย อย่าใช้อารมณ์ แต่ขอให้คุณแม่มีสติ เลือกใช้เหตุผล และความอดทนในการอบรมสั่งสอนลูกนะคะ
ที่มา : https://www.facebook.com/kendekthai/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ครูลงโทษนักเรียนเลียโถส้วม 12 ครั้งจนเด็กอ้วก เพราะลืมส่งการบ้าน
ความรุนแรงในคราบไม้เรียว ทำไมเด็กไทย พ่อแม่ไทย ถึงหงอกับครูขนาดนี้
ยกเลิกสอบเข้าอนุบาล-ป1 โรงเรียนไหนจัดถูกปรับ 5 แสน!
ทารกเป็นหวัดง่าย แค่สูดไวรัสเข้าไปจากการหายใจ ไวรัสลอยตามลมก็ป่วยได้แล้ว