พอนสแตน คนท้องกินได้ไหม คนท้องปวดไมเกรนกินยาอะไรดี
คุณแม่ท้องที่มีอาการปวดไมเกรน กินยาพาราเซตามอลแล้วก็ยังไม่หาย อยากเปลี่ยนมากินพอนสแตนเพราะก่อนตั้งครรภ์เคยกินแล้วหาย แต่ไม่มั่นใจว่าคนท้องกินพอนสแตนได้ไหม เรามาไขข้อข้องใจกัน
แม่ท้องคงจะมีความกังวลใจ เมื่อจะรับประทานยา เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ว่า จะมีผลกระทบต่อลูกในครรภ์หรือไม่ อาการปวดก็เป็นหนึ่งอาการที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป ทั้งอาการปวดหัว ปวดตัว ปวดไมเกรน ก่อนท้องก็เคยกินยาตัวนี้ แต่หลังจากตั้งครรภ์แล้ว จะกินต่อได้หรือเปล่า คนท้องกินพอนสแตนได้ไหม จริง ๆ แล้ว พอนสแตน มักถูกใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน แล้ว คนท้องกินพอนสแตนได้ไหม เพื่อบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ
พอนสแตน (Ponstan) หรือ Mefenamic acid เป็นยาในกลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ สรรพคุณเพื่อบรรเทาอาการปวด จัดอยู่ใน pregnancy category C ในช่วงอายุครรภ์ 1 – 6 เดือน หมายความว่า มีรายงานการเกิดพิษต่อสัตว์ทดลองที่กำลังตั้งครรภ์ แต่ไม่พบว่า ทำให้ลูกที่เกิดมามีความผิดปกติ สำหรับการศึกษาในมนุษย์นั้น ไม่พบว่ากลุ่มยา Mefenamic acid นี้ ทำให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ คลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์ แม้ว่าตัวยาอาจจะผ่านไปทางรกได้ก็ตาม
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : น้อยหน่า คนท้องกินได้ไหม ผลไม้หน้าฝน รสหวาน ดีต่อครรภ์ด้วยหรือเปล่า
คนท้องกิน พอนสแตน ได้ไหม
แต่ในช่วงเดือนที่ 7 – 9 หรือช่วงใกล้คลอด Mefenamic acid จัดอยู่ใน pregnancy category D หมายความว่า ยามีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะมีการใช้ ก็ต่อเมื่อคุณหมอพิจารณาแล้วว่า จะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ จุดประสงค์มักจะเป็นการใช้ เพื่อช่วยชีวิตมารดา หรือใช้เพื่อรักษาโรคที่รุนแรง และไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาที่รุนแรงน้อยกว่านี้
ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วง 1 – 6 เดือน สามารถใช้ยา Mefenamic acid ได้ แต่เมื่ออายุครรภ์อยู่ในช่วงเดือนที่ 7 จนกระทั่งใกล้คลอดไม่ควรใช้ อย่างไรก็ตาม แม่ท้องควรจะปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากสภาวะทางร่างกาย และสุขภาพครรภ์ที่แตกต่าง จึงอาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่เหมือนกัน
ปริมาณยาพอนสแตนกี่มิลลิกรัม จึงจะเหมาะสม ?
ในการบรรเทาอาการปวดหัวไมเกรน ควรใช้ยาพอนสแตน ในขนาด 500 mg เมื่อเริ่มมีอาการ แล้วตามด้วย 250 mg ทุก 6 ชั่วโมง หรือเฉพาะเวลามีอาการ
ยาแก้ปวดไมเกรนอื่น ๆ สำหรับคนท้อง
นอกจากยาพอนสแตนแล้ว ยังมียาแก้ปวดไมเกรนอื่น ๆ ที่คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถใช้ได้ ดังนี้
- ยาในกลุ่มต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น Diclofenac, Ibuprofen, Naproxen จัดอยู่ใน pregnancy category B ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้สามารถใช้ในคุณแม่ท้องอายุครรภ์ 1 – 6 เดือนได้อย่างปลอดภัย แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวในช่วงอายุครรภ์ 7 – 9 เดือนหรือช่วงใกล้คลอด
- Paracetamol จัดอยู่ใน pregnancy category B สามารถใช้ได้ในตลอดช่วงอายุครรภ์
- Sumatriptan จัดอยู่ใน pregnancy category C คือ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ยาที่จัดอยู่ในประเภทนี้ทำให้เกิดความผิดปกติต่อตัวอ่อนในครรภ์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ การพิจารณาใช้ยา ควรมีการประเมินจากแพทย์ ระหว่างประโยชน์ที่ได้รับ และความเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารก โดยทั่วไปยาตัวนี้ ไม่ใช่ทางเลือกแรกของการรักษา จะพิจารณาใช้ยาตัวนี้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาบรรเทาปวด ในกรณีที่คุณแม่ท้องมีอาการปวดไมเกรนค่อนข้างรุนแรงและเกิดมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือน สามารถใช้ยาเพื่อป้องกันการเกิดไมเกรนได้ เช่น
- ยาในกลุ่ม Beta blocker เช่น Metoprolol, Propanol สามารถใช้ได้ในช่วงอายุครรภ์เดือนที่ 0 – 3 แต่หลังจากนั้นไม่ควรใช้
- ยาต้านซึมเศร้า เช่น amitriptyline, imipramine จัดอยู่ใน pregnancy category C โดยเป็นยาที่มีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ต่ำ สามารถใช้ได้ตลอดช่วงอายุครรภ์
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : คนท้องกินกล้วยไข่ ได้ไหม? กล้วยไข่มีประโยชน์ต่อคุณแม่และทารกอย่างไร?
อาการปวดหัวในคนท้อง
คนท้องอาจจะมีอาการปวดหัวบ่อย ๆ ส่วนหนึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน แม่ท้องอาจจะปวดหัวบ่อย และหนักขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าเป็นเช่นนั้น ควรปรึกษาคุณหมอ เพราะอาจจะเป็นอาการของครรภ์เป็นพิษ (pre-eclampsia) ได้
สาเหตุที่แม่ท้องปวดหัว
ในช่วงไตรมาสแรก และไตรมาสที่สาม แม่ท้องจะมีอาการปวดศีรษะ ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนแล้ว ร่างกายที่มีการผลิตปริมาณเลือดมากขึ้น ก็ทำให้เกิดอาการปวดหัวในช่วงแรก ๆ ของการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน สาเหตุอื่น ๆ นอกจากนี้ เช่น นอนหลับไม่เพียงพอ น้ำตาลในเลือดต่ำ ขาดน้ำ ความเครียด วิตกกังวล แม่บางคนพยายามลดชา กาแฟ หรือน้ำอัดลม ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็อาจจะมีผลทำให้ร่างกายขาดคาเฟอีนได้
อาการปวดหัวไมเกรน
การปวดหัวข้างเดียว ไม่สบายตัว และรู้สึกอยากจะอาเจียน ไมเกรนในคนท้องอาจจะหนักหน่วง และรุนแรงมากกว่าในช่วง 2 – 3 เดือนแรก แต่ในช่วงท้าย ๆ ของการตั้งครรภ์ เมื่อปริมาณเอสโตรเจนเริ่มคงที่ แม่บางคนก็จะรู้สึกทุเลาลง
การรักษาอาการปวดหัวไมเกรน สำหรับคนท้อง
- หากไม่ได้มีอาการมาก แม่ท้องอาจจะลองวิธีการเหล่านี้ เพื่อทุเลาอาการ แทนการใช้ยา
- นอนหลับ หรือพักผ่อนให้มากขึ้น
- ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น โยคะสำหรับคนท้อง
- อย่าอดอาหาร และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
- หากปวดไซนัสด้วย ให้ใช้ผ้าอุ่น ๆ ประคบบริเวณตา และจมูก
- หากปวดหัวจากความเครียดให้ใช้ผ้าเย็นวางไว้ที่หลังคอ หรืออาบน้ำให้รู้สึกผ่อนคลาย
- นวดคอ และไหล่
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อรู้สึกปวดไมเกรน
- หลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ ช็อกโกแลต โยเกิร์ต ถั่ว ขนมปัง ชีส ซาวครีม ผงชูรส คาเฟอีน อาหารกระป๋อง
- หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีแสงจ้า กลิ่นแรง เสียงดัง
- ลดการใช้เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน
- ลดการออกกำลังกายต่อเนื่องนาน ๆ
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบแพทย์
หากแม่ท้องรู้สึกปวดหัวบ่อยมาก ๆ ควรปรึกษาแพทย์ แทนการรับประทานยาพาราเซตามอลด้วยตัวเอง เพราะอาจจะเป็นอาการหนึ่งของภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งมักเกิดขึ้นในช่วงท้าย ๆ ของไตรมาสที่ 2 เป็นอันตรายต่อสุขภาพคุณแม่ และลูกน้อย หากคุณแม่ปวดหัว และมีอาการอื่น ๆ ร่วม เช่น เจ็บหน้าอก เจ็บใต้ซี่โครง มองไม่ค่อยชัด และมีอาการบวมที่ใบหน้า มือ และเท้า ควรรีบพบแพทย์ทันที
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ยาสามัญที่เป็นอันตรายต่อลูกในครรภ์
กินยาพาราเซตามอลมากเกินไปมีผลต่อลูกในท้อง
อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์ แบบไหนที่ต้องเจอ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 9