ข้อดีของการพาลูกเข้านอนไว
ข้อดีของการพาลูกเข้านอนไว ช่วยลูกฉลาดขึ้นไหม วิธีพาลูกเข้านอนไวทำอย่างไร เราไปหาคำตอบกันเลย
จากการสำรวจของ National Sleep Foundation ในอเมริกา พบว่า 30% ของเด็กอายุต่ำกว่า 11 ปี และกว่าครึ่งของวัยรุ่นนอนน้อยกว่าที่ทางการแพทย์แนะนำ และแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้เด็กเข้านอนระหว่าง 6 โมงเย็นถึงสองทุ่ม แต่พบว่า 50% ของวัยเตาะแตะและก่อนวัยเรียน และ 64% ของเด็กเกรด 1-5 เข้านอนหลัง 3 ทุ่ม แม้จะเป็นผลสำรวจจากทางฝั่งอเมริกา แต่ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน ยิ่งในเมืองด้วยแล้ว เด็กไทยจำนวนมากก็เข้านอนหลัง 3 ทุ่มเช่นกัน
มาดูกันว่า งานวิจัยต่างๆ ได้เผยถึงข้อดีของการพาลูกเข้านอนไวอย่างไรบ้าง
- การเข้านอนไวเร็วไม่เพียงแต่จะทำให้ลูกมีแนวโน้มที่จะนอนหลับได้นานขึ้น แต่ยังเป็นการนอนหลับที่มีคุณภาพ (Restorative sleep) มากขึ้นอีกด้วย เมื่อนักวิจัยให้พ่อแม่พาลูกเข้านอนไวขึ้น 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 คืน พบว่า เด็กนอนหลับได้นานขึ้น 27 นาทีต่อคืน
- เด็กที่มีการนอนหลับอย่างเหมาะสมนั้นมีพฤติกรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากเด็กที่นอนหลับไม่เพียงพอ ดังจะเห็นได้จากงานวิจัยที่ทดลองโดยให้พ่อแม่พาลูกวัย 7-11 ปีเข้านอนไวขึ้นหนึ่งชั่วโมงเป็นเวลา 5 คืน จากนั้นให้คุณครู (ซึ่งไม่รู้มาก่อนว่าเด็กนอนเยอะขึ้น) ให้คะแนนความประพฤติเด็กๆ พบว่า เด็กที่เข้านอนไวขึ้นรบกวนชั้นเรียนน้อยลง และมีความหุนหันพลันแล่นน้อยลง
- งานวิจัยที่คล้ายคลึงกันพบว่า เมื่อเด็กอายุ 8-12 ปีเข้านอนเร็วขึ้น 1 ชั่วโมงเป็นเวลา 4 คืน เด็กกลุ่มนี้จะมีความจำดีขึ้น ตั้งใจเรียนมากขึ้น เมื่อเทียบกับเด็กที่เข้านอนช้ากว่า
- อีกงานวิจัยหนึ่งพบว่า 62% ของเด็ก 2 ขวบที่เข้านอน 2 ทุ่ม มีปัญหาไม่ความตั้งใจเรียนน้อยกว่าเด็กที่เข้านอนดึก หรือนอนไม่เป็นเวลา ในขณะที่ 81% มีปัญหาความก้าวร้าวน้อยกว่า
- นักวิจัยชาวญี่ปุ่นพบว่า เด็กวัย 18 เดือนที่เข้านอนก่อน 4 ทุ่มมีความเสี่ยงที่จะเกิดความบกพร่องในพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว ภาษา และสังคมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเด็กที่เข้านอนดึกกว่านั้น และถึงแม้ว่าความบกพร่องด้านพัฒนาการสามารถทำให้รูปแบบการนอนของเด็กผิดปกติไป แต่การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ ไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดความบกพร่องทางพัฒนาการเสมอไป
- จากการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า 50% ของเด็กวัย 5 ขวบที่เข้านอนหลัง 3 ทุ่มมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนมากกว่าเด็กที่เข้านอนก่อน 3 ทุ่ม นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กที่นอนดึกแม้จะมีชั่วโมงการนอนเท่าๆ กับเด็กที่นอนไว แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักตัวมากเกินไปอยู่ดี แม้ไม่มีใครทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าการนอนดึกมีความเกี่ยวข้องกับความอ้วนอย่างไร แต่การเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเลปติน และฮอร์โมนเกรลิน ที่ควบคุมความอยากอาหารและความหิว อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้อง
บทความแนะนำ ต้องลอง! 7 เคล็ดลับ เสกลูกรักให้หลับปุ๋ย (ชมคลิป)
อ่านต่อ วิธีพาลูกเข้านอนไวทำอย่างไร คลิกหน้าถัดไปค่ะ
ข้อสังเกตสำหรับคุณพ่อคุณแม่
หากลูกตื่นนอนเช้ามากๆ เช่นก่อน 6 โมงเช้า หรือมีอาการตื่นตัว ตาสว่างมากๆ ก่อนเข้านอน นี่ไม่ใช่สัญญาณที่บอกว่าลูกควรนอนดึกขึ้นนะคะ ในทางกลับกันนี่คือสัญญาณที่ว่า ลูกควรเข้านอนไวต่างหากค่ะ เพราะเมื่อลูกนอนหลับไม่เพียงพอ ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน เช่น คอร์ติซอล อะดรินาลีน และนอร์อดินาลีน ซึ่งทำให้ลูกยังคงตื่นตัวในเวลาที่ต้องเข้านอน และเมื่อตื่นเช้าเกินไปก็ยากที่จะหลับต่อได้
พาลูกเข้านอนไว ปรับอย่างไรให้เวิร์ก
คุณแม่ได้ทราบแล้วนะคะว่า การพาลูกเข้านอนไวมีประโยชน์ต่อลูกอย่างไร มาถึงตรงนี้คุณแม่อาจสงสัยว่า แล้วเวลาที่เหมาะสมในการพาลูกเข้านอนคือกี่โมง? คำถามนี้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เวลาเข้านอนที่เหมาะสมที่สุดของเด็กแต่ละคนไม่ตายตัว ลองทดสอบโดยการพาลูกเข้านอนเร็วขึ้น 20 นาทีสัก 2-3 คืน และติดตามผลว่าเป็นอย่างไร หากลูกนอนหลับง่าย อาจกล่าวได้ว่า ลูกควรเข้านอนเร็วขึ้น ทั้งนี้ คุณแม่ต้องจำกัดการดูทีวีหรือการใช้สมาร์ทโฟนของลูกก่อนเข้านอนด้วยนะคะ เนื่องจากงานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างการอยู่หน้าจอในช่วงเย็น กับปัญหาการนอนหลับของเด็ก
แม้ว่าการพาลูกเข้านอนตอน 2 ทุ่มสำหรับคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่ที่ทำงานนอกบ้านอาจเป็นไปไม่ได้ ซึ่งอาจไม่ใช่ว่าลูกยังไม่อยากนอน แต่อาจเป็นเพราะลูกคอยเราให้กลับบ้าน เพื่อที่เราจะได้เล่นกับเขาก่อนนอน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องปรับเวลาตัวเอง ให้พร้อมที่จะพาลูกเข้านอนไวเสียก่อน จากนั้น ค่อยลองพาลูกเข้านอนไวขึ้น ตามที่แนะนำไว้ด้านบน แล้วติดตามผลค่ะ
หากคุณแม่มีเทคนิคที่ช่วยให้ลูกนอนไวขึ้นได้ นำมาแบ่งปันแก่คุณแม่ท่านอื่นๆ ที่คอมเมนต์ด้านล่างได้เลยค่ะ
ที่มา www.slate.com
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
9 วิธีชวนลูกวัยเตาะแตะเข้านอน แก้ปัญหาลูกหลับยาก
เคล็ดลับกล่อมลูกนอนด้วยเสียง white noise
ลูกเล่นน้ำลาย ส่งผลต่อพัฒนาการของทารกอย่างไร