การมองเห็นของทารกแรกเกิด
ทารกตัวน้อยเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการแยะแยกความแตกต่างระหว่างความสว่างกับความมืดได้ ตาดำของทารกจะหดตัวโดยอัตโนมัติ ทันทีที่มีแสงสว่างส่องเข้าไปในดวงตา แต่ในช่วงแรกการมองภาพของทารกยังเป็นแบบภาพเบลอๆ ซึ่งระยะที่ทารกสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุด คือระยะห่าง 20-30 เซนติเมตรจากปลายจมูกของเขา ซึ่งระยะนี้ก็คือ ระยะห่างระหว่างใบหน้าของคุณแม่กับลูกน้อยขณะให้นมนั่นเอง
การมองเห็นแสงสีของดวงตาทารกจะทำงานเต็มที่ในช่วงอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป โดยจะเริ่มจากการมองเห็นวัตถุที่มีสีตัดกันอย่างชัดเจน เช่น ขาว-ดำ / ขาว-แดง / น้ำเงิน-เหลือง / แดง-เขียว รวมทั้งการมองเห็นแม่สีทั้งสาม ซึ่งได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงินด้วย
หลัง 3 เดือนไปแล้ว ทารกจึงจะสามารถปรับโฟกัสของเลนส์ตาได้ดีเท่าๆ กับผู้ใหญ่
หลัง 4 เดือนไปแล้ว ทารกจะพัฒนาทักษะในการเคลื่อนไหวสายตาเพื่อจับภาพวัตถุ หรือค้นหาตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งจากภาพกว้าง ๆ ได้
ทารกอาจพยายามเพ่งมองวัตถุจนคุณแม่สังเกตเห็นว่าตาดำของลูกเคลื่อนเข้าหากัน จนดูเหมือนตาเหล่ แต่จริง ๆ แล้ว อาการเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยตาเหล่นะคะ เมื่อลูกน้อยอายุ 7-9 เดือนค่อยสังเกตอาการตาเหล่ค่ะ
ของเล่นสีสดใส ส่งเสริมทักษะการมองเห็นของทารกได้อย่างไร
ในช่วง 0-2 เดือน ใบหน้าของแม่ คือสิ่งที่ทารกชอบมองมากที่สุด เพราะมีการเคลื่อนไหวไปมาอยู่ตลอด ในวัยนี้ ทารกยังเล่นไม่เป็น แต่สามารถตอบสนองต่อเสียงและหันศีรษะหาเสียงได้แล้ว คุณแม่ควรพูดคุย หรือร้องเพลงเห่กล่อม เป็นการกระตุ้นการรับรู้ เสียงและประสาทสัมผัสให้กับลูกน้อยค่ะ
เมื่อลูกน้อยอายุได้ 2 เดือนขึ้นไป นอกจากใบหน้าของแม่แล้ว ทารกจะชอบจับตาดูสิ่งของที่เคลื่อนไหว คุณแม่จึงควรหาของเล่นสีสดใส มาแขวนให้ลูกฝึกการมอง ซึ่งเด็กจะสนใจเป็นพิเศษเพราะสะดุดตากว่าค่ะ โดยทารกจะเริ่มมองเห็นวัตถุที่มีสีตัดกันอย่างชัดเจน เช่น ขาว-ดำ / ขาว-แดง / น้ำเงิน-เหลือง / แดง-เขียว รวมทั้ง สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน
ตัวอย่างวิธีกระตุ้นการใช้สายตาของทารกวัย 2-2.5 เดือน
- เด็กวัยนี้ชอบจับตาดูสิ่งของที่เคลื่อนไหว คุณแม่แขวนของเล่นสีสดใส และมีเสียงไว้ให้ดู ในระยะไม่เกิน 8 นิ้ว เช่น โมบายปลาตะเพียน เศษผ้าสีต่างๆ มีกรุ๋งกริ๋งที่ปลาย หรือมีเสียงเวลาลมพัด
ตัวอย่างวิธีฝึกความสัมพันธ์ ระหว่างการใช้มือกับสายตา ของทารกวัย 2-2.5 เดือน
- เด็กวัยนี้ชอบเล่นกับมือตัวเอง คุณแม่ควรหาของเล่นสีสดใส และมีเสียงกรุ๋งกริ๋งให้ลูกเขย่าเล่น เมื่อเคาะหรือเขย่าเสียงจะดังและทำให้เด็กสนใจดูมือด้วยความเพลิดเพลิน
ตัวอย่างวิธีฝึกความสัมพันธ์ ระหว่างการใช้มือกับสายตา ของทารกวัย 2.5-3 เดือน
- ชอบเล่นปัดวัตถุที่มองเห็นและมือยื่นไปถึง คุณแม่ควรแขวนของเล่นสีสดใส ลูกบอลนิ่มๆ แขวนไว้เหนือเปลหรือเตียงให้ห่างจากตาประมาณ 10 นิ้ว เวลา เพื่อให้เด็กยื่นมือต่อยหรือปัดไปมา ถ้ามีเสียงด้วยยิ่งดี ลูกจะได้ฝึกสังเกตเสียงที่ได้ยินเวลาลูกบอลถูกปัดไปมา
ตัวอย่างวิธีฝึกสายตาและการสัมผัส ของทารกวัย 4-6 เดือน
- เด็กวัยนี้จะอยากดู อยากยื่นแขนไปจับสิ่งต่างๆ มากขึ้น คุณแม่ควรหาของเล่นสีสดใส ที่มีผิวสัมผัสแตกต่างกัน ให้ลูกดูแลจับ และรับรู้ความรู้สึกหยาบ แข็ง นิ่ม ลื่น เป็นต้น
ตัวอย่างวิธีฝึกการสังเกตและเคลื่อนไหวสายตาของทารกวัย 6-8 เดือน
- เด็กวัยนี้ชอบเล่นกับเงาตัวเองในกระจก เล่นจ๊ะเอ๋ หรือซ่อนหา คุณมาอาจหาของเล่นพลาสติกที่ภายในกลอกกลิ้งไปมาได้ ให้ลูกฝึกสายตา
- เด็กวัยนี้ยังชอบเสียงกระทบกัน คุณแม่อาจเลือกของเล่นสีสดใสที่มีเสียงให้ลูก หรือของเล่นไขลาน เคลื่อนที่ได้ หมุนได้ มีเสียงด้วย เด็กจะชอบมาก
ตัวอย่างวิธีฝึกการสังเกตรูปร่างต่างๆ ของทารกวัย 8-9 เดือน
- เด็กวัยนี้ชอบจับต้องสิ่งของต่างๆ สนใจในเรื่องน้ำหนัก รูปร่าง พยายามนำสิ่งของต่างๆ มารวมเข้าด้วยกันและจับแยกออกของเล่นควรเป็นวัสดุที่ทำเป็นรูปต่างๆ คุณแม่อาจหากล่องกระดาษแข็งสีต่างๆ มาบรรจุเมล็ดผลไม้ หรือก้อน
ตัวอย่างวิธีฝึกความสัมพันธ์ ระหว่างการใช้มือกับสายตา ของทารกวัย 9-10 เดือน
- เด็กวัยนี้จะชอบหยิบของชิ้นเล็กๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ คุณแม่ควรหากล่องสีสดใสที่มีรูเล็กๆ พอที่ลูกจะหยิบของชิ้นเล็กๆ ใส่ลงไปได้มาให้ลูกเล่น
- หาของเล่นที่มีเชือกติดกับของเล่น มาให้ลูกดึงเพื่อให้ของเล่นเคลื่อนที่ได้ เป็นการฝึกใช้กล้ามเนื้อแขนและการเคลื่อนไหวสายตาให้กับลูก
ตัวอย่างวิธีฝึกการสังเกตและส่งเสริมการเรียนรู้ของทารกวัย 10 เดือน –1 ปี
- เด็กวัยนี้การสำรวจสิ่งแวดล้อมโดยการคืบหรือคลาน เล่นซนมากขึ้น ชอบรื้อของ สามารถส่งของเล่นจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้คุณแม่ควรจัดสภาพแวดล้อมในบ้านด้วยของเล่นปลอดภัยต่อการสำรวจของลูกน้อย ให้เขาได้คว้าจับ เขย่า เอาเข้าปากอย่างปลอดภัย รวมทั้งควรพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับลูกขณะชี้ชวนให้ลูกเล่นด้วย
บทความที่น่าสนใจอื่นๆ
ความรู้เรื่องการมองของเด็กทารก
พัฒนาการเด็กวัย 1 เดือนและเทคนิคส่งเสริมพัฒนาการตามวัย