การเล่นพัฒนาอัจฉริยภาพของลูกน้อย
การเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กทุกคน การเล่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็ก เป็นสิ่งที่นำไปสู่การเรียนรู้ รู้จักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม รู้จักช่างสังเกต คิดเชื่อมโยงเหตุผล ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในความสำเร็จของการเล่น ได้เรียนรู้บทบาทของการเป็นผู้ใหญ่ ได้เรียนรู้ในส่วนของกระบวนการคิด – วางแผน – อีกทั้งการเล่นยังเป็นส่วนช่วยให้เด็กพัฒนาไปสู่วิถีการดำเนินชีวิตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการเล่นจะช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็กในด้านต่าง ๆ ได้แก่
-ด้านร่างกาย (Physical Development) การเล่นช่วยพัฒนากล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย เกิดการทำงานที่ประสานสัมพันธ์กันระหว่างระบบประสาทและมัดกล้ามเนื้อ
-ด้านสติปัญญา (Cognitive Development) การเล่นช่วยให้เด็กปรับตัว พัฒนาด้านความคิด เกิดการแก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว
–ด้านภาษา (Language Development) การอ่าน การเขียน การเล่น เด็ก ๆ จะได้รู้คำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นจากการใช้ภาษาสื่อสารระหว่างผู้เล่น
–ด้านอารมณ์ (Emotional Development) การเล่นช่วยให้เด็กเกิดการแสดงอารมณ์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กลัว โกรธ เครียด ซึ่งอารมณ์ลบเหล่านี้แสดงผ่านออกมาทางการเล่น การเล่นทำให้เกิดความมั่นใจในตนเอง เด็กจะเกิดความสุขเมื่อตนเองเล่นประสบความสำเร็จ
-ด้านความคิดและจินตนาการ (Creativity and Imaginary Development) การเล่นสามารถต่อยอดและส่งเสริมจินตนาการให้เด็กอย่างแน่นอน
ตารางแสดงการเล่นของเด็กในแต่ละวัย
ช่วงอายุ |
การเล่น |
1 – 3 เดือน | ของเล่นที่ช่วยกระตุ้นสายตา คือ โมบาย เครื่องเขย่าให้เกิดเสียง |
3 – 4 เดือน | ของเล่นแตะจับให้เด็กได้สัมผัส เช่น ลูกบอลนิ่ม ๆ เป็นต้น |
5 – 6 เดือน | วัยนี้ชอบเอาสิ่งของเข้าปากชอบ ปาสิ่งของลงพื้น เหมาะกับของเล่นที่มีเสียง รู้จักการเล่นของเล่นเมื่อสะท้อนในกระจก |
6 – 7 เดือน | ของเล่นมีเสียงป๋องแป๋ง ตุ๊กตาล้มลุกตุ๊กตาไขลาน มีเพลงฟังจังหวะง่าย ๆ |
7 – 8 เดือน | ในวัยนี้ชอบของเล่นมีล้อเลื่อน สีสันหลากหลาย |
8 – 9 เดือน | วัยนี้จะชอบเคาะกลอง เคาะระนาด เคาะเสียงดนตรี |
9 – 10 เดือน | ชอบเล่นอยู่คนเดียว สนใจการเล่นกับของใช้ในบ้าน เช่น จานชาม แก้วน้ำ เป็นต้น |
10 – 11 เดือน | ชอบเล่นไม้บล็อกและต่อบล็อค ชอบเคาะให้เกิดเสียงดนตรี |
11 – 12 เดือน | เล่นของที่มีการสำรวจ อยากรู้อยากเห็น และชอบอยู่ในกลุ่มพี่ที่โตกว่าเล็กน้อย |
1 – 1 ปีครึ่ง | ชอบเล่นชิงช้า กระดานลื่น ลูกบอล ตุ๊กตารูปคน สัตว์ รถยนต์ เครื่องบิน อ่านหนังสือภาพ |
1 ครึ่ง – 2 ปี | ชอบเล่นออกแรง เช่น เตะลูกบอล ตอกด้วยค้อน ชอบดนตรีโยกตัวตามเสียงดนตรี ชอบวาดรูปโดยใช้สีเทียน ชอบดูหนังสือรูปภาพ และกระโดดโลดเต้นทั้งวัน |
2 – 3 ปี | ขี่จักรยาน ต่อบล็อก วาดภาพ ดูหนังสือภาพสีสันสวยงามแปลกตา ต้องการเพื่อนเล่นมากกว่าของเล่น |
การเล่นนอกจากจะเลือกของเล่นที่ปลอดภัยแล้ว สิ่งสำคัญคือการใช้และการเก็บรักษาอย่างเหมาะสมหากของเล่นชำรุดเสียหายเกิดกว่าจะซ่อมแซมควรทิ้งไปหรือเปลี่ยนใหม่ ควรสอนให้เด็กรู้จักดูแลของเล่นและเก็บของเล่นหลังจากเล่นเสร็จแล้ว
อ่าน พ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดของลูก คลิก
พ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดของลูก
นพ.ดุสิต ลิชนะพิชิตกุล จิตแพทย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “การเลือกของเล่นให้ลูกต้องคำนึงถึงหลักของความปลอดภัย ส่งเสริมพัฒนาการลูกและมีความสนุกสนาน เคล็ดลับการเลือกซื้อคือ เลือกของเล่นที่พ่อแม่อยากเล่นด้วย จะทำให้พ่อแม่ได้เล่นกับลูกมากขึ้น ถ้าเลือกของเล่นให้กับเด็ก พ่อแม่มักจะถอยออกมาไม่เล่นกับลูก แต่ถ้าเลือกของเล่นที่พ่อแม่เล่นได้ด้วยจะสร้างบรรยากาศการเล่นร่วมกันระหว่างพ่อแม่ลูก สานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ระหว่างการเล่นพ่อแม่สามารถสอดแทรกการอบรมสั่งสอนได้ด้วย การเลือกซื้อของเล่นที่พ่อแม่สนใจและสอดคล้องกับความต้องการของลูกนั้น ควรตั้งคำถามว่า พ่อแม่อยากเล่นของเล่นนั้นจริงหรือไม่ ไม่ใช่ลูกเล่นพ่อแม่ทำเป็นไม่สนใจเพื่ออยากให้ลูกเล่น เช่น แบบฝึกการสื่อสารสองทางหรืออินเตอร์แอคทีฟที่มีเนื้อหาเป็นวิชาการ หากพ่อแม่สนใจอย่างจริงจัง เล่นอย่างสนุกสนาน ในไม่ช้าลูกก็จะเล่นด้วยไม่ต้องบังคับให้เล่น”
พ่อแม่นับเป็นเพื่อนเล่นคนแรกของลูกและเป็นเพื่อนเล่นที่ดีที่สุด เพราะเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการเลือกของเล่นและชนิดของการเล่นแต่ละประเภทให้กับลูก สอนวิธีการเล่นแนะนำสิ่งที่ถูกต้องให้แก่ลูก มีการศึกษาค้นคว้า พบว่า เด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์มากที่สุด มักเป็นเด็กที่มีผู้ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในการเล่น ก่อให้เกิดความผูกพัน รักใคร่ ซึมซับ และเกิดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ดังนั้นพ่อแม่จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้จักธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กเป็นพื้นฐาน เพื่อช่วยประมาณและประเมินความสามารถของเด็กจะทำให้ “การเล่นเกิดประโยชน์สูงสุด” เด็กจะทำได้สำเร็จ เกิดความภาคภูมิใจ จะก่อให้เกิดผลดีต่อบุคลิกภาพและพัฒนาการด้านอื่น ๆ ตามมาเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เมื่อรู้เช่นนี้แล้วมาเล่นกับลูกกันเถอะค่ะ
คำยืนยันจากแพทย์ พ่อแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดของลูก
นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ขณะนี้เด็กไทยเกิดน้อยลง การเลี้ยงดูเด็กทุกคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความสุข และสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ พ่อแม่เป็นคนสำคัญที่สุดที่จะช่วยอบรม บ่มเพาะ และเลี้ยงดูเด็กให้เติบโตอย่างมีสุขภาพกาย ใจ และสติปัญญาที่สมบูรณ์ การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในช่วงปฐมวัย 0-5 ปี นับเป็นช่วงที่มีความสำคัญที่ต้องกระตุ้นสร้างพฤติกรรมให้เหมาะสมกับวัย ซึ่งมีวิธีง่าย ๆ โดยใช้ แนวคิด กิน กอด เล่น เล่า
1.กิน ในช่วง 0-3 ปีแรก สมองของเด็กจะเจริญเติบโตอย่างเร็วมาก จนถึงร้อยละ 80 ของสมองผู้ใหญ่ ช่วงนี้ถือเป็นโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้และ มีพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมอง เพื่อสร้างพื้นฐานให้แก่ชีวิตในระยะยาว แม่ควรให้ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวถึง 6เดือน และกินนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยจนถึงอายุ 2ปีขึ้นไป เพราะนมแม่มีสารอาหารที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสมองซึ่งไม่มีอาหารใดเทียบได้
2.กอด พ่อแม่ควรกอดลูกทุกวัน เพื่อให้เด็กรับรู้ว่าพ่อแม่รักและหวังดีกับเด็กเสมอ อีกทั้งการอบรมเด็กต้องทำด้วยความรัก ความเข้าใจ และใช้เหตุผล ไม่ควรใช้อารมณ์ บังคับ ฝืนใจ และ ไม่ดุด่าให้ลูกกลัว และเสียกำลังใจ พ่อแม่ต้องทำเป็นตัวอย่าง คอยให้คำแนะนำ พูดชมเชยเมื่อลูกทำได้ และให้รางวัล ถ้าเขาทำได้ดี ซึ่งรางวัลสำหรับเด็กเล็ก เพียงแค่กอดอย่างอ่อนโยน หอมแก้ม ตบมือให้ เท่านี้เด็กก็ภูมิใจมากแล้ว
3.เล่น พ่อแม่คือของเล่นชิ้นแรกในชีวิตเด็ก ตั้งแต่แรกเกิดพ่อแม่ควรพูดคุยเล่นส่งเสียง ร้องเพลงกับเด็ก ช่วงแรกเกิดถึงอายุ 6เดือน พ่อแม่ควรเลือกของเล่นที่มีเสียงและเป็นภาพ เลือกที่เด็กคว้าจับได้ อายุ 6เดือนถึง 1ปี ให้เด็กได้นั่งเล่นของเล่นเช่น บล็อกตัวต่อนิ่ม ลูกบอลเล็ก หรือปล่อยของลงพื้น อายุ 2-3 ปี ให้เด็กได้เล่นรูปต่อเป็นภาพ หุ่นมือ ตุ๊กตา หรือกระโดด ปีนป่าย เพื่อทดสอบทักษะร่างกายของตัวเอง เมื่ออายุ 3-5 ปี ปล่อยให้เด็กเล่นกับเด็กคนอื่น ใช้จินตนาการเกี่ยวกับการดำรงชีวิต
4.เล่า พ่อแม่สามารถเล่านิทานให้ลูกฟังได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเมื่อเด็กอายุ 3 เดือนให้เริ่มเล่านิทานให้ฟังเป็นประจำทุกวันต่อเนื่องจนกระทั่งเด็กโต พ่อแม่ควรเลือกนิทานที่มีภาพน่ารัก รูปสัตว์ ใช้เสียงสูงๆต่ำ หรือร้องเพลงประกอบขณะเล่าทุกครั้ง ควรเล่าให้จบเล่ม และเก็บหนังสือไว้ที่เดิมให้ลูกมองเห็นได้ เพราะนิทานทำให้เด็กฉลาด ได้จริงๆ ทั้งนี้ พ่อแม่ต้องเสริมการปลูกฝังจริยธรรม คุณธรรม และลักษณะที่ดีอื่นๆ ให้ลูกไปพร้อมกัน เพื่อจะได้เติบโตสมวัยในทุกๆด้าน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด
กิจกรรมการเล่นที่ไม่ต้องใช้ของเล่นสร้างสายใยให้ครอบครัว
1.กระโดดตัวลอย คุณแม่จับมือทั้งสองข้างของลูกไว้ จากนั้นให้ลูกกระโดด คุณแม่หาจังหวะดึงมือขึ้นเพื่อให้ลูกกระโดดสูงกว่าเดิม เมื่อทำซ้ำไปซ้ำมาหลาย ๆ รอบก็ดึงลูกมากอด ไม่ใช่กระโดดสูงเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยดึงลูกขึ้นมาด้วย ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขากระโดดสูง ๆ ด้วยตนเอง ลูกจะสนุกสนานและตื่นเต้นมาก
2.ไม้ลื่นลื่นไถล คุณแม่หรือคุณพ่อนั่งบนเก้าอี้ อุ้มลูกนั่งบนตัก จากนั้นใช้มือทั้ง 2 ข้างเท้าเก้าอี้แล้วยกลำตัวข้างบนขึ้น ปล่อยให้ลูกไหลลงมาตามขาทั้ง 2 ข้าง แม้ว่าระยะทางจะสั้นแต่เป็นไม้ลื่นจากขาคุณพ่อคุณแม่ลูกจะสนุกและมีความสุขมากค่ะ
3.ลาวกระทบไม้ คุณแม่นั่งเหยียดขามาข้างหน้าให้ลูกยืนคร่อมขาเอาไว้และจับมือทั้ง 2 ข้างให้แน่น จากนั้นกางขา หุบขา ให้ลูกกระโดดไปมา ระหว่างเล่นคุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสียงเป็นจังหวะให้ลูกด้วย เมื่อรู้จังหวะจะกระโดดคล่องขึ้น
4.เรือโยกเยก คุณแม่นั่งเหยียดขาไปข้างหน้า อุ้มลูกนั่งบนตักพร้อมจับมือ 2 ข้างไว้ จากนั้นโน้มตัวไปข้างหน้าพร้อมกับให้ลูกเอนตัวลงนอนพอคุณแม่เอนตัวลงนอนแล้วจึงดึงตัวลูกโน้มตัวไปข้างหน้าทำแบบนี้สลับกัน ควรร้องเพลงประกอบด้วยจะทำให้ลูกสนุกเพลิดเพลินยิ่งขึ้น
5.แม่ลูกเพนกวิน จับลูกยืนบนหลังเท้าของคุณแม่ โดยหันหน้าเข้าหากัน จากนั้นเดินไปข้างหน้าบ้างถอยหลังบ้าง ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนเองเป็นคนเดียวกับพ่อแม่ ตอนแรกให้เดินช้า ๆ ก่อนแล้วค่อยเดินเร็วขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://hpc4.anamai.moph.go.th/
ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มพัฒนายุทธศาสตร์ สถาบันราชานุกูล
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เสริม IQ และ EQ ให้ลูกน้อย ด้วยของเล่นง่ายๆจำนวนน้อยชิ้น
“ของเล่นที่พูดได้” คืออะไร ดูคลิปนี้เพื่อร่วมค้นหาคำตอบนี้ไปด้วยกัน