การเก็บน้ำนมแม่ เก็บอย่างไรให้คงประโยชน์ ป้อนลูกอย่างไรไม่ให้โปรตีนสลาย

รู้หรือไม่ว่า การเก็บน้ำนมแม่ สามารถเก็บไว้ได้นานแค่ไหน และควรเก็บอย่างไร ใช้วิธีเก็บแบบไหน รวมไปถึงข้อควรระวังเรื่องการเก็บน้ำนมแม่มีอะไรบ้าง เป็นคำถามที่คุณแม่ให้นมหลายท่านสงสัย ซึ่งก็แน่นอนว่า การที่จะให้ลูกกินนมนั้น ถ้าเป็นไปได้ การดูดจากเต้าของคุณแม่โดยตรงจะดีที่สุด เพราะจะได้คุณภาพของน้ำนมครบถ้วน อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูก แต่ก็มีคุณแม่อีกหลายท่านที่ไม่สามารถให้นมลูกจากเต้าได้ทุกครั้ง ซึ่งเหตุผลของคุณแม่แต่ละคนนั้นก็ย่อมที่จะแตกต่างกันออกไป

แต่ในกรณีจำเป็นที่อาจจะต้องฝากให้คนอื่นป้อนนมลูก เพราะคุณแม่ไม่สะดวกที่จะป้อนนมจากเต้า อาจจะต้องมีการบีบหรือปั๊มนมเก็บไว้ เพื่อเก็บไว้ให้ลูกกิน ซึ่งในบางครั้งที่นมที่ถูกปั๊มเก็บไว้นั้น อาจจะมีคุณภาพที่ลดลง แต่ก็ยังมีคุณค่าและภูมิคุ้มกันจำนวนมากอยู่ ดังนั้น คุณแม่ก็ไม่ควรกังวลมากไป วันนี้ theAisanparent มีคำตอบของทุกข้อสงสัยที่คุณแม่ให้นมอยากรู้มาฝาก

 

เคล็ดไม่ลับ การเก็บน้ำนมแม่

วิธีเก็บน้ำนมแม่ หลังจากคุณแม่ปั๊มนมแล้ว คุณแม่สามารถเก็บนมไว้ได้นานเลยค่ะ การเก็บรักษานมแม่นั้น หากต้องการเก็บไว้ในระยะสั้น ๆ ก็เก็บไว้โดยการนำไปแช่ตู้เย็น โดยคุณแม่สามารถเก็บนมไว้ในถุงพลาสติกสำหรับเก็บน้ำนมที่มาพร้อมกับเครื่องปั๊มนม หรืออาจจะแบ่งใส่ขวดเก็บน้ำนม โดยนมที่เก็บในตู้เย็นนั้นมีอายุประมาณ 8 วัน

การปั๊มนมเหมาะกับคุณแม่ที่ทำงานนอกบ้าน โดยคุณแม่สามารถปั๊มนมได้ที่ทำงาน แล้วเก็บในตู้เย็น แล้วใส่ถุงเย็นที่มีน้ำแข็งให้ความเย็นกลับบ้านหลังเลิกงาน พร้อมให้เจ้าตัวเล็กทานได้ทันทีที่บ้านค่ะ

 

 

นมแม่เก็บในช่องแช่แข็งได้ถึง 6 เดือน

นมแม่สามารถเก็บในช่องแช่แข็งได้ถึง 6 เดือน แต่จะคงคุณภาพและสารอาหารได้อย่างสมบูรณ์ในระยะ 3 เดือน หากต้องการแช่แข็ง คุณแม่สามารถนำนมแม่ใส่ถุงใส่น้ำนม (ซึ่งส่วนใหญ่จะติดอยู่กับเครื่องปั๊มนม) จากนั้นปิดปากถุงให้สนิท ถุงใส่นมนี้สามารถวางซ้อนกันได้ เพราะจะช่วยให้คุณแม่ประหยัดเนื้อที่ในช่องแช่แข็ง

สำหรับตำแหน่งที่ควรเก็บนมในช่องแช่แข็งคือบริเวณกลางช่องแข็ง เพราะมีอุณหภูมิเฉลี่ยคงที่มากที่สุด และนมที่เก็บอยู่ชั้นในสุดหรือชั้นนอกสุดเสี่ยงต่อการละลายมากที่สุด ถึงแม้ว่าจะซ้อนถุงนมได้ แต่ก็ไม่ควรจะซ้อนสูงจนติดเพดานช่องแช่แข็ง ควรเว้นที่ว่างจากเพดานอย่างน้อย 1 นิ้ว และที่สำคัญอย่าลืมเขียนวันที่ลงบนถุงด้วยนะคะ เพราะหลายครั้ง คุณแม่จะลืมและก็ต้องทิ้งนมไปเพราะไม่แน่ใจว่าเก็บนมมานานเท่าไหร่แล้ว

บทความที่เกี่ยวข้อง : น้ำนมแม่เก็บไว้ได้นานแค่ไหน มีวิธีการเก็บอย่างไร ให้อยู่ได้นานและดีที่สุด

 

 

ประโยชน์ของนมแม่ต่อลูกน้อย

คงเป็นเรื่องพื้นฐานที่คุณแม่ทุกคนรู้ดีอยู่แล้ว ว่าการให้ลูกดื่มนมของแม่จะส่งผลดีต่อพัฒนาการโดยรวมของลูกน้อย และช่วยให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง เนื่องจากนมแม่มีสารอาหารที่จำเป็นที่บางอย่างลูกน้อยอาจไม่สามารถผลิตได้เอง ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกหย่านมก็ควรให้ลูกได้มีโอกาสดื่มนมแม่ตามความเหมาะสม

1. มีสารประโยชน์ที่สำคัญต่อลูก

นมแม่ในช่วงแรกจะมีสารสำคัญที่เรียกว่า “โคลอสตรัม (Colostrum)” หรือที่เรารู้จักดีในรูปแบบน้ำนมสีเหลือง หรือ “หัวน้ำนม” ที่สามารถช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันโรคหลายโรค เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคภูมิแพ้ และโรคทางเดินหายใจ เป็นต้น หลังจากนั้นในระยะต่อมายังมีสารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ ได้แก่ โปรตีน วิตามินแร่ธาตุ และน้ำตาลแล็กโทส ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลดีต่อลูกน้อย

2. ช่วยระบบขับถ่ายของลูกน้อย

นมแม่จะช่วยกระตุ้นเชื้อจุลินทรีย์ชนิดดีที่สามารถช่วยลดโอกาสการติดเชื้อในลำไส้ได้ ส่งผลให้เด็กที่กินนมแม่จะเลี่ยงปัญหาท้องเสีย หรือท้องผูกได้

3. มีผลต่อพัฒนาการด้านร่างกายของเด็ก

เด็กที่ได้รับนมแม่จะส่งผลดีตลอดพัฒนาการเติบโตให้เป็นไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังจะหัดเดิน เนื่องจากจะมีระบบกระดูก และกล้ามเนื้อที่แข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องสุขภาพช่องปากให้ฟันเรียงตัวอย่างเป็นระเบียบ ลดโอกาสการขึ้นทับซ้อนของฟัน และทำให้ฟันไม่เกิดการผุกร่อน

4. พัฒนาการด้านสมองที่ดีขึ้น

นมแม่จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านการทำงานของสมองดีขึ้น สังเกตได้จากระยะยาว หากเด็กเริ่มเข้าสู้วัยเรียน สมองของเด็กจะมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้หากเด็กมีปัญหาด้านพัฒนาการสมองจากการคลอดก่อนกำหนด การให้กินนมแม่แบบไม่ผสมจะสามารถให้เด็กมีพัฒนาใกล้เคียงกับเด็กทั่ว ๆ ไปได้ด้วย

5. เสริมระบบภูมิคุ้มกัน

นมแม่เป็นแหล่งของแอนติบอดี (Antibody) ช่วยให้ลูกมีระบบภูมิกันที่ดีขึ้น เพื่อต่อต้านอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ หรืออาการป่วยที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ยกตัวอย่างเช่น โรคงูสวัด หรือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นต้น

 

 

นมแม่ที่แช่ไว้ นำมาใช้อย่างไร

เมื่อคุณแม่ต้องการใช้นมที่แช่แข็ง ให้นำนมออกจากช่องแข็ง แล้วนำมาละลายและพักไว้ในช่องธรรมดาในตู้เย็น 1 คืน หรือครึ่งวัน หรือหากต้องการใช้นมทันที คุณแม่ก็สามารถแช่นมในน้ำอุ่นได้ แต่ไม่ควรใช้ไมโครเวฟอุ่นนมนะครับ เพราะจะทำให้สารอาหารและโปรตีนสลายไป และทำให้นมร้อนจนเกินไป

เมื่อนมละลาย พร้อมป้อนแล้ว ควรเทนมลงในขวดเก็บน้ำนม คนนมเบา ๆ ให้เข้ากัน นมที่ละลายแล้วสามารถเก็บในช่องธรรมดาของตู้เย็นได้ 1 วัน และไม่ควรเก็บในช่องแข็งอีก เคล็ดลับสำคัญคือควรใช้นมที่เก็บไว้นานที่สุดก่อนเสมอ นอกจากนี้ คุณแม่ยังสามารถป้อนนมใหม่ผสมนมแช่แข็งที่ละลายแล้วได้ เคล็ดลับการผสมนมเก่ากับนมใหม่คือคนให้เข้ากันก่อนป้อนเจ้าตัวเล็กนะครับ แค่คุณแม่ขยันปั๊มนมเรื่อย ๆ ก็ไม่ต้องเหนื่อยจากการให้นม มีเวลาพักผ่อนเสริมสวยได้อีกมากเลยล่ะครับ

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีเก็บน้ำนม 100 สิ่งแม่หลังคลอดต้องรู้ ตอนที่ 45 เก็บอย่างไรให้มีคุณภาพอยู่ตลอดเวลา ?

 

วิธีนำนมในช่องแช่แข็งมาใช้

  • เลือกถุงนมแม่ที่แช่ไว้ในตู้เย็น โดยเลือกตามวันที่นำเอาไปเก็บในช่องแช่แข็งก่อน และต้องตรวจเช็กดูว่าถุงรั่วหรือไม่
  • นำนมแม่ไปใส่ในตู้เย็นช่องธรรมดา ให้น้ำแข็งละลายเสียก่อน โดยต้องนำออกมาล่วงหน้า 1 คืน หรือประมาณ 12 ชั่วโมง
  • นำนมแม่ที่ละลายแล้วไปอุ่นด้วยน้ำอุ่น ห้ามใส่ไมโครเวฟเด็ดขาด หรือแช่ด้วยน้ำร้อนจัดเพราะจะทำให้สูญเสียคุณค่าทางอาหารในนมแม่ไป
  • หยิบถุงเก็บน้ำนมที่แยกมาเป็นชั้น ๆ มาเขย่าให้นมเข้ากันแล้วใส่ขวดนม หรือจะเขย่าน้ำนมในขวดเลยก็ได้ ถ้าใครมีเครื่องสวิงนำมาใช้จะง่ายกว่าค่ะ

 

ขั้นตอนเก็บน้ำนมแม่ให้คงคุณภาพ

  • ก่อนปั๊มนม คุณแม่ต้องเตรียมความพร้อมเรื่องความสะอาด และสร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ต้องล้างมือให้พร้อม โดยช่วงเวลาก่อนปั๊มนม แนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำอุ่นและเปิดเพลงเบา ๆ เพื่อทำให้อารมณ์ดี ที่สำคัญ ต้องหามุมสงบเป็นส่วนตัวเพื่อไม่ให้รู้สึกเครียด
  • หากคุณแม่อยู่นอกบ้าน ไม่สะดวกที่จะล้างมือด้วยน้ำ แนะนำให้ใช้เจลแอลกอฮอล์สูตรมาตรฐานที่มีระดับแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย 64-69% เช็ดถูที่มือจนมั่นใจว่าสะอาดแล้วจึงค่อยปั๊มนม
  • กระตุ้นเต้านมให้พร้อมด้วยการใช้มือนวดคลึง หากมีผ้าขนหนูแนะนำชุบกับน้ำอุ่น นำมาประคบด้วยจะทำให้การหลั่งน้ำนม ได้ปริมาณมากขึ้นและน้ำนมไหลดีขึ้น
  • ปั๊มให้พอดีกับการดื่มของลูกแต่ละครั้งใน 1 ภาชนะ แล้วปิดซิปล็อก ถุงเก็บนมแม่ ให้สนิท หรือปิดฝาขวดให้แน่นหนาไม่ให้หกเลอะเทอะได้ ทั้งนี้ต้องไม่ลืมเขียนวัน เวลาที่ปั๊มนมด้วย เพื่อให้ดูวันหมดอายุของนมได้ง่ายขึ้น และหยิบใช้ได้ตามลำดับจากเก่าไปใหม่ ตามหลักการที่เรียกว่า First in First out คือน้ำนมที่ปั๊มจากเต้าก่อนให้นำมาให้ลูกดื่มก่อน
  • หลังการปั๊มนมแต่ละครั้ง คุณแม่ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ปั๊มนมทันทีด้วยน้ำร้อนผสมน้ำสบู่ฆ่าเชื้อ และล้างให้สะอาด ก่อนนำไปผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อ แล้วคว่ำให้แห้ง เพื่อให้มั่นใจได้เสมอว่าไม่มีการปนเปื้อนของเชื้อโรคตกค้างและพร้อมต่อการหยิบใช้งานครั้งต่อไปตลอดเวลา

 

สำหรับคุณแม่ที่ไม่ต้องไปทำงานประจำ ให้ลูกดูดจากเต้าได้ทุกมื้อ ก็สามารถปั๊มเก็บไว้ประมาณ 10 ถุงก็พอ และในบางวัน หากคุณแม่ปั๊มนมได้มากบ้าง น้อยบ้าง ก็ไม่ต้องตกใจนะคะ เพราะการผลิตน้ำนมนั้น ก็ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน วันไหนอารมณ์ดี พักผ่อนเพียงพอ ก็ได้น้ำนมเยอะหน่อย แต่ถ้าวันไหนกินน้อย เครียด นอนไม่พอ ก็อาจจะปั๊มแล้วได้น้ำนมน้อย ทางที่ดีคือต้องดูแลสุขภาพ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ และยึดหลักความสม่ำเสมอในการปั๊มนม เท่านี้ก็จะมีน้ำนมเพียงพอให้ลูกน้อยกินได้ยาว ๆ แล้วค่ะ!

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

แผ่นป้องกันหัวนม คืออะไร ควรใช้หรือไม่ระหว่างให้นมลูก?

แม่กินเผ็ด น้ำนมจะเผ็ดด้วยไหม

วิธีป้องกันหน้าอกหย่อนคล้อย หลังลูกน้อยหย่านม

ที่มา : Kiddicare

บทความโดย

P.Veerasedtakul