คนท้องเริ่มฝากครรภ์ได้เมื่อไหร่ ฝากท้องตอนกี่เดือน เริ่มอัลตร้าซาวด์ได้ตอนไหน เมื่อไหร่จะรู้เพศลูก สำหรับคุณแม่ที่เพิ่มจะเริ่มตั้งครรภ์ ท้องแรกคงจะมีคำถามมากมาย เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ วันนี้เรามีคำตอบสำหรับคุณแม่ทุกท่านค่ะ
ฝากท้องกี่เดือน
กรมอนามัยได้ดำเนินโครงการดูแลสตรีตั้งครรภ์แนวใหม่ตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก โดยได้กำหนดการดูแลครรภ์หรือการฝากครั้งไว้อย่างน้อย 5 ครั้ง สำหรับคุณแม่ที่ไม่มีภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์ ดังนี้
- ครั้งแรก อายุครรภ์ 12 สัปดาห์
- ครั้งสอง อายุครรภ์ 18 สัปดาห์
- ครั้งที่ 3 อายุครรภ์ 26 สัปดาห์
- ครั้งที่ 4 อายุครรภ์ 32 สัปดาห์
- ครั้งสุดท้าย อายุครรภ์ 36-38 สัปดาห์
สำหรับการอัลตร้าซาวด์นั้น ส่วนใหญ่มักจะเริ่มทำหลังจากตั้งครรภ์ได้ 8 สัปดาห์ ซึ่งคุณแม่อาจเริ่มฝากครรภ์ได้ในช่วง 8 – 12 สัปดาห์ หรืออย่างช้าที่สุดคือ เริ่มเข้าสู่เดือนที่ 3 นั่นเองค่ะ หากคุณแม่อยากรู้เพศ ก็สามารถอัลตร้าซาวด์ได้ตั้งแต่ 16 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าลูกน้อยจะนอนโชว์ให้คุณพ่อคุณแม่เห็นหรือเปล่าก็ต้องรอลุ้นค่ะ
การฝากครรภ์ครั้งแรก มีความสำคัญมาก เพราะคุณหมอจะตรวจหาภาวะเสี่ยงของคุณแม่ที่อาจส่งผลต่อลูกน้อยในท้องไม่ว่าจะเป็นทางด้านร่างกายหรือทางด้านจิตใจ อีกทั้งยังเป็น การตรวจคัดกรองเพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพื่อดูว่าสามารถรักษา หรือมีทางเลือกที่จะตั้งครรภ์ต่อหรือจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์หากตรวจพบว่าลูกในท้องเป็นโรคธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม เป็นต้น หากคุณแม่เข้ารับตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับคุณแม่และลูกน้อยในท้องได้
คนท้องฝากครรภ์ หมอตรวจอะไรบ้าง
- สำหรับคุณแม่ที่มาฝากครรภ์ครั้งแรก หมอจะทำการซักประวัติ การตั้งครรภ์ในอดีต การตั้งครรภ์ในปัจจุบัน โรคทางอายุรกรรม เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ สารเสพติด สุรา การสูบบุหรี่ รวมถึงความพร้อมในการตั้งครรภ์และการเลี้ยงดูบุตรด้วย
- การตรวจคัดกรองความเสี่ยงของคนท้อง หากคุณหมอพบว่า คุณแม่มีภาวะเสี่ยงอาจมีการแยกให้คุณหมอดูแลเฉพาะทาง
- ตรวจคัดกรองเกี่ยวกับโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม ได้แก่ โรคธาลัสซีเมีย ดาวน์ซินโดรม ภาวะพร่องไทรอยด์แต่กำเนิด และโรคเบาหวาน
- ตรวจร่างกายคนท้อง ตรวจช่องท้อง ตรวจอัลตร้าซาวด์ ตรวจครรภ์ ประเมินอายุครรภ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบบาดทะยัก
- ให้คำแนะนำการบริโภคอาหาร และการจ่ายยาบำรุงครรภ์ เช่น ไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลท
บทความที่เกี่ยวข้อง : รวมแพ็คเกจฝากครรภ์ ปี 2564
อะไรที่ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์
- มีประวัติเคยคลอดลูก แล้วลูกเสียชีวิตในครรภ์
- มีประวัติเคยแท้งบุตรมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง
- เคยคลอดลูกน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม หรือมากกว่า 4,000 กรัม
- มีประวัติทารกคลอดก่อนและหลังกำหนด
- มีประวัติทารกโตช้าในครรภ์ ทารกพิการทางด้านสมอง ครรภ์เป็นพิษ ตั้งครรภ์แฝด
- เคยได้รับการผ่าตัดที่ตัวมดลูกหรืออวัยวะสืบพันธุ์
- ทารกในครรภ์อยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น ท่าก้น หรือท่าขวาง (ตั้งแต่ 34 สัปดาห์เป็นต้นไป)
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุน้อยกว่า 16 ปี หรือมากกว่า 40 ปี
- มีเลือดออกทางช่องคลอดระหว่างตั้งครรภ์
- มีก้อนในอุ้งเชิงกรานระหว่างตั้งครรภ์
- หมู่เลือด Rh เป็นลบ
- มีความดันโลหิตสูง โดยความดันมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มม.ปรอท
- ตั้งครรภ์แล้วเป็นเบาหวานชนิดต้องพึ่งพาอินซูลิน
- เป็นโรคไต โรคหัวใจ
- ติดยาเสพติดหรือสุรา
- เป็นโรคติดเชื้อ HIV (โรคเอดส์) ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะภูมิคุ้มกันไวเกิน โรคธาลัสซีเมีย โรคลมชัก วัณโรค หรือ พาหะตับอักเสบบี เป็นต้น
อาการคนท้องแบบไหนอันตรายควรไปพบแพทย์
- ปวดศีรษะบ่อย
- มีอาการจุกเสียดแน่นท้อง
- มีขนาดท้องเล็กหรือใหญ่กว่าปกติ
- มีเลือดออกทางช่องคลอด
- เมื่อตั้งครรภ์ได้ 5-6 เดือนแล้วลูกยังไม่ดิ้น
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว อย่าลืมเข้ารับการฝากครรภ์ และสังเกตดูพัฒนาการของลูกน้อยในท้อง รวมถึงอาการต่าง ๆ ของคนท้อง เพื่อที่มีอาการผิดปกติจะได้เข้าพบแพทย์ทันทีนะคะ คุณแม่ส่วนใหญ่มักทราบข่าวดีจากการใช้ที่ตรวจครรภ์ เมื่อผลปรากฏว่าขึ้น 2 ขีด นั่นหมายความว่า ได้เวลาฉลองแล้วล่ะ คุณกำลังมีข่าวดี รู้อย่างนี้แล้วสิ่งแรกที่ควรทำคือบอกให้คนในครอบครัวร่วมแสดงความยินดีกับว่าที่คุณแม่คนใหม่ แล้วจากนั้นล่ะ ควรทำอะไรต่อ? ลำดับต่อไปที่ควรทำก็คือ การฝากท้อง หรือ การฝากครรภ์ นั่นเอง
ทำไมต้องฝากครรภ์
เพราะร่างกายของมนุษย์มีความซับซ้อนอย่างมาก การจะดูแลลูกในครรภ์ตลอด 9 เดือนให้พร้อมที่จะออกมาสู่โลกภายนอกอย่างแข็งแรง จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคุณหมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ ในการตั้งครรภ์ และการคลอดบุตร โดยการฝากครรภ์มีประโยชน์ต่อทั้งแม่และลูกที่อยู่ในครรภ์ ดังนี้
การฝากครรภ์มีประโยชน์ต่อคุณแม่อย่างไร
- ส่งเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจให้กับคุณแม่ เนื่องจากคุณหมอจะให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวระหว่างตั้งครรภ์ รวมถึงตอบคำถามต่างๆ ที่คุณแม่สงสัยในการตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณแม่ดูแลร่างกายและจิตใจ ให้มีสุขภาพสมบูรณ์ที่สุด
- ตรวจสอบว่าการตั้งครรภ์ดำเนินไปโดยปกติหรือไม่ การเข้ารับการตรวจครรภ์อย่างต่อเนื่อง คุณหมอจะช่วยวินิจฉัยโรคบางอย่างที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อแม่และลูก เช่น โลหิตจาง ซิฟิลิส ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น เพื่อดำเนินการป้องกัน แก้ไข และช่วยเหลืออย่างทันท่วงที รวมทั้ง หากพบว่าท่านอนของลูกในครรภ์ผิดปกติ จะได้ป้องกันแก้ไขตั้งแต่ต้น
- ป้องกันหรือลดอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ เพื่อให้การตั้งครรภ์ดำเนินไปอย่างปกติที่สุด จนกระทั่งถึงกำหนดคลอด หากมีโรคแทรกซ้อน คุณหมอจะได้ช่วยให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด ติดเชื้อน้อยที่สุด และเสียเลือดน้อยที่สุด
การฝากครรภ์มีประโยชน์ต่อลูกในครรภ์อย่างไร
- ป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับทารกในครรภ์ การฝากครรภ์ช่วยลดอัตราการแท้ง การคลอดก่อนกำหนด ลูกเสียชีวิตในท้อง หรือคลอดแล้วเสียชีวิต ป้องกันการอักเสบติดเชื้อในตัวลูกน้อย
- ช่วยดูแลทารกในครรภ์ ทำให้ลูกน้อยเติบโต สมบูรณ์แข็งแรง มีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม
ควรฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี
เมื่อรู้ถึงประโยชน์ของการฝากครรภ์แล้ว ควรฝากท้องตอนไหน คำตอบก็คือ คุณแม่ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ทันทีที่รู้ว่าตัวเองตั้งครรภ์ อย่าปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปเป็นอันขาด เพราะหากเกิดอาการแทรกซ้อนก็อาจสายเกินแก้ ถึงขั้นสูญเสียลูกในท้องได้
ฝากครรภ์ที่ไหนดีที่สุด
การเลือกสถานที่ฝากครรภ์ ควรเลือกโรงพยาบาล หรือคลินิกที่สะดวกที่สุด เช่น ใกล้โรงพยาบาล หรือใกล้บ้าน หากเป็นสถานพยาบาลที่คุณแม่มีประวัติการรักษาโรคประจำตัวมาก่อนยิ่งดีใหญ่ เพราะคุณหมอจะมีประวัติว่าคุณแม่เคยเป็นโรคอะไร ใช้ยาอะไร และจะมีผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์หรือไม่
ฝากครรภ์ครั้งแรกหมอตรวจอะไรบ้าง
เมื่อไปฝากครรภ์ครั้งแรก คุณหมอจะซักประวัติคุณแม่
- ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มาสม่ำเสมอหรือไม่
- ก่อนตั้งครรภ์คุมกำเนิดด้วยวิธีใดหรือไม่
- เคยมีโรคหรืออาการผิดปกติอะไรบ้าง
- เคยมีการแพ้ยาหรือไม่ หากคุณแม่กำลังใช้ยาบางตัวอยู่ ซึ่งอาจเป็นอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ แม้แต่ยาแก้ไข้แก้หวัด ก็ควรบอกคุณหมอด้วย
- ประวัติความเจ็บป่วยของคนในครอบครัวที่มีผลต่อการตั้งครรภ์ เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคเลือด การมีลูกแฝด เป็นต้น
หลังจากซักประวัติคุณหมอจะทำการตรวจร่างกาย ดังนี้
- ชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูง หากคุณแม่สูงน้อยกว่า 145 เซนติเมตรมักจะมีเชิงกรานเล็ก ขนาดของลูกในครรภ์กับช่องเชิงกรานไม่ได้สัดส่วน ทำให้คลอดเองลำบาก มีโอกาสผ่าคลอดสูง
การวัดส่วนสูงเทียบกับน้ำหนัก เพื่อให้ทราบว่าน้ำหนักตัวอยู่ในค่ามาตรฐานหรือไม่ และต้องชั่งน้ำหนักทุกครั้ง เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงว่าน้ำหนักเพิ่มมากน้อยเกินไปหรือไม่ ผิดปกติหรือไม่ - ตรวจปัสสาวะ หากคุณแม่มีน้ำตาลในปัสสาวะมากอาจแสดงถึงโรคเบาหวาน ต้องทำการเจาะเลือดเพื่อหาเบาหวานต่อไป
- วัดความดันโลหิต หากความดันโลหิตสูงผิดปกติ อาจเป็นจุดเริ่มแรกของครรภ์เป็นพิษ แต่หากความดันโลหิตต่ำมักไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
- ตรวจฟัน หากคุณแม่มีฟันผุต้องรีบอุดเสียก่อนปล่อยให้อักเสบเรื้อรัง อาจมีผลให้อวัยวะอื่นๆ อักเสบตามไปด้วย
- ตรวจต่อมไทรอยด์ โดยทั่วไป หญิงตั้งครรภ์ปกติจะมีต่อมไทรอยด์โตเล็กน้อย หากโตมาก ต่อมไทรอยด์อาจเป็นพิษได้
- ฟังเสียงหัวใจและปอด หากพบสิ่งผิดปกติ คุณหมออาจให้การรักษาหรือปรึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อไป
- ตรวจครรภ์ เพื่อดูว่าขนาดหรือระดับมดลูกสัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่ มีก้อนเนื้อผิดปกติในท้องหรือไม่
หากไม่มีความผิดปกติ คุณหมอก็จะให้ยาบำรุง ได้แก่ วิตามินบีรวม และธาตุเหล็กมาบำรุงคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ - ตรวจขา เพื่อดูเส้นเลือดขอด ซึ่งทำให้เลือดไหลกลับไปหัวใจไม่สะดวก หากเป็นมากเส้นเลือดอาจอุดตัน ทำให้ขาบวม หรืออาจเป็นอันตรายหากก้อนเลือดที่อุดตันหลุดเข้าไปในกระแสเลือด
- ตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ เจาะเลือดเพื่อหาว่าเลือดจางหรือไม่ ตรวจหาเชื้อซิฟิลิส โรคเอดส์ โรคตับอักเสบไวรัสบี ภูมิต้านทานหัดเยอรมัน
การตรวจนี้โรงพยาบาลบางแห่งอาจตรวจให้ในครั้งแรก แล้วนัดไปตรวจท้อง รวมถึงดูผลตรวจเลือดและปัสสาวะอีกครั้งใน 1-2 สัปดาห์ บางแห่งก็ตรวจท้องก่อน แล้วจึงเจาะเลือดและตรวจปัสสาวะ โดยจะนัดฟังผลใน 1-2 สัปดาห์ เช่นกัน
ที่มา: hpc9
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
อาหารคนท้อง แต่ละไตรมาส คนท้อง ควรกินกี่มื้อ กับข้าวแม่ท้อง กินบำรุงทารกในครรภ์ ทุกไตรมาส
ประกันสังคม เพิ่มค่าฝากครรภ์ 1 พันบาท แม่ท้องต้องทำยังไง ใช้เอกสารอะไรบ้าง
ฝากครรภ์พิเศษ ต่างจาก ฝากครรภ์ธรรมดาอย่างไร ฝากครรภ์ต้องตรวจอะไรบ้าง