สามีภรรยา อยู่ด้วยกันก็เหมือนลิ้นกับฟัน ต้องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา แต่รู้หรือไม่ว่าการที่ พ่อแม่ทะเลาะกัน ต่อหน้าลูก ส่งผลร้ายต่อลูกยิ่งกว่าที่คิด เพราะการที่พ่อแม่ทะเลาะกัน และแสดงอาการกิริยาที่รุนแรงบ่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อสมองของลูก อีกทั้งยังทำให้ลูกซึมซับ พฤติกรรมที่ไม่ดี และอาจกลายเป็น เด็กก้าวร้าว หรือในทางกลับกันก็อาจกลายเป็นเด็กที่ไม่มั่นใจในตัวเองในที่สุด
พ่อแม่ทะเลาะกัน ส่งผลอย่างไรต่อลูกบ้าง
การทะเลาะกันไม่จำเป็นต้องเป็นการโต้เถียงที่รุนแรง หรือถึงขึ้นใช้กำลัง เท่านั้น แค่การพูดจาถากถาง สบประมาท หรือโต้เถียงกันเล็กน้อย ก็อาจส่งผลต่อลูกได้ดังนี้ค่ะ
- เด็กแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่ดี เช่น ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ กลายเป็นเด็กก้าวร้าว ชอบใช้กำลัง ชอบรังแกคนอื่น
- เครียด การที่พ่อแม่ทะเลาะกันจะมีฮอร์โมนความเครียดสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อปัญหาพัฒนาการในระยะยาว
- เด็กมีสภาพอารมณ์ที่ไม่มั่นคง การทะเลาะกันในครอบครัวบ่อย ๆ จะทำให้เด็กรู้สึกกังวล หรือ ไม่สบายใจอยู่ตลอดเวลา เพราะกลัวพ่อแม่ทะเลาะกัน และมักส่งผลให้กลายเป็นคนที่ขาดความมั่นใจในตนเอง
- โทษตัวเอง หลายครั้งที่เด็กมักจะรู้สึกว่าปัญหาของพ่อแม่เกิดจากตัวเองยังไม่ดีพอ และโทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง
- ขาดทักษะการแก้ไขปัญหา เพราะเด็กจะเรียนรู้แต่การที่พ่อแม่ใช้อารมณ์ใส่กันเท่านั้น แต่ไม่เคยได้เรียนรู้วิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง
- มีความผิดปกติทางสมอง เพราะเมื่อเด็กเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันจะส่งผลให้สมองหลั่งฮอร์โมนความเครียดออกมา ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ จนเด็กมีความบกพร่องทางการคิด เช่น การแก้ไขปัญหา การใช้เหตุผล
- ไม่รู้วิธีการเข้าสังคม เพราะเด็กในครอบครัวที่มีปัญหา มักจะเป็นเด็กที่โดดเดี่ยว ขาดความอบอุ่น ทำให้ไม่กล้าที่จะเข้าสังคม หรือบางคนอาจกลายเป็นคนที่กลัวการเข้าสังคมไปเลย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ทํานายฝันแฟนนอกใจ ฝันว่าคนรักนอกใจ มีกิ๊ก ร้องไห้หนัก หมายความว่ายังไง ?
พ่อแม่ทะเลาะกัน ทำอย่างไรเมื่อพ่อแม่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน
- พูดคุยกันด้วยเหตุผล เลิกใช้อารมณ์พยายามพูดคุยกันด้วยเหตุและผลแทน เพื่อลดการกระทบกระทั่ง (สูดหายใจลึก ๆ แล้วนึกถึงหน้าลูกไว้ค่ะ!!)
- แยกกันไปสงบสติอารมณ์ หากบรรยากาศการสนทนาเริ่มคุกรุ่นแล้ว ให้แยกกันไปสงบสติอารมณ์สักพักแล้วค่อยกลับมาคุยกันใหม่
- คุยกันส่วนตัว หากคิดว่าหลีกเลี่ยงการทะเลาะกันไม่ได้จริง ๆ แยกไปคุยกันอีกห้องไม่ให้ลูกได้ยิน หรือคุยกันตอนที่ลูกหลับแล้ว
- คุยกันผ่านข้อความหรือจดหมาย โดยอาจจะผลัดกันเขียนจดหมายอธิบายเหตุผลของตัวเอง วิธีนี้อาจจะดูไร้สาระและเสียเวลา แต่นี่ถือเป็นวิธีในการลดการกระทบกระทั่งได้ดีที่สุด อีกทั้งขณะเขียน ยังช่วยให้เราใจเย็นลง และยังทำให้เราได้คิดทบทวนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบอีกด้วยนะคะ
- อย่าลืมปลอบลูกด้วย หากเผลอทะเลาะกันต่อหน้าลูกไปแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด คืออย่าลืมเข้าไปปลอบลูก คุยกับลูก โดยอาจจะอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าพ่อกับแม่มีปัญหาเข้าใจผิดกันเล็กน้อย แต่ตอนนี้กลับมารักกันเหมือนเดิมแล้ว เพื่อไม่ให้ลูกขวัญเสีย และที่สำคัญคือพยายามอย่าทำให้ลูกเห็นอีกนะคะ
อย่าคิดว่าลูกยังเล็กฟังไม่รู้เรื่อง
ถึงแม้ว่าจะยังไม่รู้ความหมายของคำต่าง ๆ แต่เด็กก็สามารถรับรู้ถึงอารมณ์ได้จากน้ำเสียง และก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าลูกจะอายุกี่เดือนหรือกี่วัน ก็ไม่ควรทะเลาะกันให้ลูกเห็นเด็ดขาดค่ะ
การทะเลาะกันต่อหน้าลูกนั้นเปรียบเสมือดาบสองคม คมแรกก็ส่งผลดีให้กับพวกเขาได้เข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะลูก ๆ รู้แล้วว่า ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ ไม่ว่าจะช้าหรือว่าเร็ว และปัญหาก็ไม่ใช่จุดจบของทุกสิ่ง แต่คมดาบสุดท้ายที่อันตรายที่สุดก็คือ ลูก ๆ ของเราอาจจะกลายเป็นเด็กเก็บความรู้สึก ไม่ร่าเริงแจ่มใสเหมือนปกติ และอาจจะแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อคนในครอบครัว คนรอบข้าง รวมถึงคุณครูและเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน หรือแย่ที่สุดคือ ลูก ๆ หันไปคบเพื่อนที่ไม่ดี หรืออาจจะหันไปพึ่งยาเสพติดเพื่อเป็นที่พักทางใจก็เป็นได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด ที่พ่อแม่ควรคำนึงถึงหลังจากที่ทะเลาะกันแล้วก็คือ ความรู้สึกของลูก นั่นเอง
จำไว้เสมอว่าเมื่อไหร่ที่เรามีเจ้าตัวน้อยเพิ่มมาในครอบครัว การทะเลาะกันของเราจะไม่ใช่เรื่องของคนสองคนอีกต่อไป เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติ มีเหตุผล ให้มาก ๆ เพราะการกระทำเพียงเล็กน้อยของเรา อาจจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อทั้งชีวิตของลูกเลยนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
เผยสาเหตุ ลูกก้าวร้าว ที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อน
9 วิธีเล่นกับลูก ฉลาดทั้งปัญญา อารมณ์ดี ช่วยลูกคิดเป็น ต่อยอดได้
เคล็ดลับการเลี้ยงลูกอย่างญี่ปุ่น เลี้ยงยังไงให้เก่ง ฉลาด สุขภาพดี และได้ผลชัวร์!!
ที่มา : www.taamkru.com