พ่อแม่อาจมีความกังวลใจที่ต้องพาลูกเข้าเนอสเซอรี่ ไม่แน่ใจว่าควร ส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่ กี่ขวบ บทความนี้ เราชวนคุณพ่อคุณแม่หาคำตอบให้กับคำถามดังกล่าว ไปจนถึงการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย วิธีเลือกเนอสเซอรี่ให้ปลอดภัย การเตรียมตัวลูกก่อนเริ่มต้นเนอสเซอรี่ และสิ่งที่ต้องเตรียมในวันแรกที่ลูกเข้าเนอสเซอรี่ เพื่อให้พ่อแม่สามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจและส่งเสริมพัฒนาการของลูกน้อยได้อย่างเต็มที่
เพราะการส่งลูกไปเนอสเซอรี่จึงไม่ใช่แค่การหาสถานที่สำหรับดูแลลูกในช่วงเวลาที่พ่อแม่ต้องไปทำงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้พัฒนาทักษะทางสังคม เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และสร้างความพร้อมในการก้าวสู่โรงเรียนอนุบาลในอนาคต
การเสาะหาเนอสเซอรี่ที่เหมาะสมกับความต้องการของครอบครัว จึงต้องคำนึงถึงหลายปัจจัยประกอบกัน และต้องให้ความใส่ใจอย่างละเอียดถี่ถ้วน ตั้งแต่การดูมาตรฐานความปลอดภัย คุณภาพของบุคลากร ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กเล็ก และตรวจสอบความพร้อมของลูกน้อยก่อนออกสู่โลกใบใหญ่ด้วย
สารบัญ
ส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่ กี่ขวบ ถึงจะเหมาะสม
เนอสเซอรี่ หรืออีกชื่อหนึ่งที่นิยมใช้กันก็คือ เดย์แคร์ (Day Care) เป็นสถานที่รับฝากเด็กเล็กหรือเด็กก่อนวัยเรียนในช่วงกลางวัน มีทั้งการดูแลเป็นรายวันและรายเดือน โดยจะมีโปรแกรมการดูแล จากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ นักพัฒนาการเด็ก ครู หรือพี่เลี้ยงเด็กที่ผ่านการอบรม
การส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่นั้น มักขึ้นอยู่กับความจำเป็นของพ่อแม่ ที่ต้องกลับไปทำงานและไม่มีคนดูแลลูก เนอสเซอรี่จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลเด็กๆ ให้กับครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม ช่วงอายุที่เหมาะสม อาจแตกต่างกันไปตามพัฒนาการและความพร้อมของเด็กแต่ละคน ไม่อาจระบุชี้ชัดลงไปได้ แต่แนะนำว่าหากเป็นไปได้ ควรเป็นหลังวันเกิดขวบปีแรกไปแล้ว คือ ช่วงอายุระหว่าง 1 – 3 ปี เพราะเป็นเวลาที่เด็กๆ เริ่มมีพัฒนาการด้านสังคม สื่อสารได้บ้างและมีความพร้อมในการแยกจากพ่อแม่ชั่วคราว
อย่างไรก็ตาม คำตอบขึ้นอยู่กับความพร้อมของทั้งตัวเด็กและครอบครัว เช่น ความจำเป็นที่พ่อแม่ต้องกลับไปทำงาน หรือความต้องการพัฒนาทักษะให้ลูก
รู้ได้อย่างไรว่า ลูกพร้อมเข้าเนอสเซอรี่
การรู้ว่าลูกพร้อมหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การปรับตัวของลูกง่ายขึ้น พ่อแม่สามารถประเมินความพร้อมของลูกจากปัจจัยเหล่านี้
- อายุ เด็กสามารถเริ่มเข้าเนอสเซอรี่ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป แต่ช่วงอายุที่พบบ่อยคือระหว่าง 1-3 ปี
- พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม ลูกแสดงอาการแยกจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลักได้ในระยะสั้นๆ ไม่ร้องงอแงเมื่ออยู่กับคนอื่น ไม่ร้องให้อุ้มตลอดเวลา
- พัฒนาการทางร่างกาย ลูกควรมีพัฒนาการตามวัย เช่น 1 ขวบ เริ่มเกาะยืนหรือเดิน กินอาหารได้เหมาะสมตามวัย แข็งแรง มีภูมิต้านทานเหมาะสมตามวัย
- ความสามารถในการดูแลตัวเอง ลูกควรดูแลตัวเองได้ตามวัย เช่น วัยเตาะแตะควรบอกได้เมื่อต้องการขับถ่าย หรือบอกได้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมสำเร็จรูป บอกได้เมื่อรู้สึกหิว เป็นต้น
นอกจากสัญญาณความพร้อมแล้ว พ่อแม่อาจสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกอาจยังไม่พร้อมสำหรับเข้าเนอสเซอรี่ ได้แก่ ลูกมีอาการวิตกกังวลอย่างมากเมื่อแยกจากพ่อแม่ เจ็บป่วยบ่อย ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง ไม่สามารถสื่อสารความต้องการขั้นพื้นฐานได้ตามวัย
เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ก่อนพาลูกเข้าเนอสเซอรี่
ทุกอย่างล้วนมี 2 ด้าน การพิจารณาข้อดี – ข้อเสีย ของการพาลูกเข้าเนอสเซอรี่ อาจช่วยให้พ่อแม่ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ข้อดีของการส่งลูกไปเนอสเซอรี่
- ส่งเสริมพัฒนาการทางสังคม เด็กได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การแบ่งปัน และการแก้ไขปัญหาในกลุ่ม
- กระตุ้นพัฒนาการทางสมอง เนอสเซอรี่ที่ดีจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ เช่น การเล่น การอ่านนิทาน หรือกิจกรรมสร้างสรรค์
- ฝึกความมีวินัย เด็กได้เรียนรู้กิจวัตรประจำวัน เช่น การรอคิวและการปฏิบัติตามกติกา
- ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง เมื่อพ่อแม่ต้องไปทำงาน และไม่มีคนดูแลลูก เนอสเซอรี่ที่ดีเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ และทำให้พ่อแม่วางใจได้ระดับหนึ่ง
ข้อเสียของการส่งลูกไปเนอสเซอรี่
- ความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ เด็กเล็กอาจเจ็บป่วยบ่อยเมื่อสัมผัสกับเด็กคนอื่น เช่น โรคหวัดหรือโรคมือเท้าปาก
- ค่าใช้จ่ายสูง เนอสเซอรี่ที่มีคุณภาพอาจมีค่าใช้จ่ายที่สูง โดยเฉพาะในเมืองใหญ่
- ความกังวลเรื่องความปลอดภัย หากเลือกเนอสเซอรี่ที่ไม่มีมาตรฐาน เด็กอาจเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการดูแลที่ไม่เหมาะสม
- สายสัมพันธ์ ยิ่งเด็กๆ เข้าเนอสเซอรี่เร็วเท่าไร โอกาสที่จะสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกก็อาจน้อยลง พ่อแม่ควรชดเชยเวลาคุณภาพให้กับลูก ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันในวันหยุด เพราะสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น เป็นพื้นฐานของภูมิคุ้มกันทางใจที่จะติดตัวลูกไปตลอดชีวิต
หากชั่งน้ำหนักแล้วว่าการพาลูกเข้าเนอสเซอรี่ตอบโจทย์ของครอบครัวมากกว่า ขั้นต่อไปก็คือ การเลือกเฟ้นหาเนอสเซอรี่ที่ได้มาตรฐานที่จะเป็นบ้านหลังที่สองสำหรับลูก
เนอสเซอรี่ เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย
- ตรวจสอบใบอนุญาต เนอสเซอรี่ที่มีใบอนุญาตถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ หรือองค์กรที่รับรองมาตรฐาน
- ดูสิ่งแวดล้อมและความสะอาด ตรวจสอบว่าเนอสเซอรี่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก มีการทำความสะอาดสม่ำเสมอ และมีมาตรการสุขอนามัยที่ดี
- ตรวจสอบสถานที่ตั้ง อยู่ในทำเลที่ปลอดภัยหรือไม่ การเดินทางรับ-ส่งลูกสะดวกเพียงใด มีรั้วรอบขอบชิด มีการคัดกรองคนเข้าออกอย่างเคร่งครัด
- ตรวจสอบบุคลากร ครูผู้ดูแลควรมีความรู้และประสบการณ์ในการดูแลเด็ก รวมถึงมีอัตราส่วนครูต่อเด็กที่เหมาะสม เช่น 1:5 สำหรับเด็กเล็ก
- พิจารณาหลักสูตรและกิจกรรม เนอสเซอรี่ที่ดีควรมีหลักสูตรที่ส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
- รีวิวและคำแนะนำจากผู้ปกครองคนอื่น การพูดคุยกับผู้ปกครองที่เคยใช้บริการหรืออ่านรีวิวสามารถช่วยให้คุณเห็นภาพรวมของเนอสเซอรี่นั้นได้
เตรียมลูกให้พร้อม ก่อนออกจากอกแม่
เมื่อได้เนอสเซอรี่ที่ตอบโจทย์ครอบครัวแล้ว ขั้นต่อไปก็คือการเตรียมตัวเตรียมใจลูกให้พร้อมที่จะออกจากอกแม่ไปสู่โลกกว้างเป็นครั้งแรก สิ่งที่พ่อแม่ควรทำได้แก่
- ฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการอยู่กับคนอื่น เช่น ฝากลูกไว้กับปู่ย่าตายาย เพื่อให้ลูกชินกับการแยกจาก ทั้งนี้ พ่อแม่ควรบอกลูกให้ชัดเจนว่าพ่อแม่จะไปไหน จะกลับมารับเมื่อไร และควรตรงต่อเวลา
- สร้างความคุ้นเคยกับเนอสเซอรี่ พาลูกไปเล่นที่เนอสเซอรี่ก่อนวันจริง เพื่อให้ลูกคุ้นเคย บอกกับลูกชัดเจนว่า พ่อแม่ต้องไปทำงาน และลูกจะได้มาเล่นกับเพื่อนๆ ที่นี่ บอกเวลาที่พ่อแม่จะมารับให้ชัดเจน ชี้ตัวเลขที่นาฬิกาให้ลูกดู และรักษาเวลาเสมอ
- ค่อยๆ ปรับกิจวัตรให้สอดคล้องกับการไปเนอสเซอรี่ เช่น การตื่นนอน การเข้านอน
- เตรียมพร้อมทางอารมณ์ พูดคุยกับลูกให้ชัดเจน แม้ลูกจะเป็นเด็กเล็กแต่พวกเขาก็รับรู้ความรู้สึกของพ่อแม่ได้ บอกเหตุผล และทำให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่ไม่ได้ทอดทิ้ง รวมทั้งชดเชยเวลาให้กับลูกในวันหยุด
Checklist เตรียมลูกไปเนอสเซอรี่วันแรก
- กระเป๋าเป้พร้อมของใช้จำเป็น เช่น เสื้อผ้าสำรอง ผ้าอ้อม หรืออุปกรณ์สำหรับการนอนกลางวัน
- ขวดนมและอาหารว่าง หากลูกยังต้องการนมจากขวดหรืออาหารเฉพาะ ควรเตรียมไปให้เพียงพอ
- ของเล่นหรือสิ่งที่ลูกคุ้นเคย เช่น ตุ๊กตาหรือผ้าห่มที่ลูกชอบ เพื่อช่วยให้เขารู้สึกอุ่นใจ
- ข้อมูลสำคัญของลูก แจ้งให้เนอสเซอรี่ทราบเกี่ยวกับสุขภาพ อาการแพ้ หรือพฤติกรรมพิเศษของลูก
- ใจที่พร้อมของพ่อแม่ พ่อแม่ควรเตรียมพร้อมที่จะส่งลูกด้วยความมั่นใจ และให้กำลังใจลูก
แม้ว่าพ่อแม่ทุกคนจะรักและอยากดูแลลูกด้วยตัวเองเสมอ แต่ด้วยความจำเป็นในการทำงานหรือเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ การส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่จึงกลายเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเลือกเนอสเซอรี่ที่มีคุณภาพและเหมาะสม การพาลูกเข้าเนอสเซอรี่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ในทางกลับกันลูกก็ได้พัฒนาทักษะหลายๆ ด้าน
การใช้เวลาในเนอสเซอรี่ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่จะลดบทบาทลง พ่อแม่สามารถชดเชยเวลาคุณภาพหลังเลิกงานหรือในวันหยุด ด้วยการเล่น พูดคุย หรืออ่านนิทานให้ลูกฟัง ซึ่งจะช่วยเติมเต็มความรักและความอบอุ่นที่ลูกต้องการได้
สุดท้ายแล้ว การเลือกเนอสเซอรี่ให้ดีที่สุดและให้ความสำคัญกับการใช้เวลาร่วมกันเมื่ออยู่บ้าน จะช่วยสร้างสมดุลระหว่างหน้าที่และความรักที่มีต่อลูกได้อย่างลงตัว
ที่มา: Hellokhunmor , Whattoexpect
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รวม 100+ นิทานเสริมพัฒนาการ ของลูกน้อย จัดเต็มทั้งหนังสือและคลิป
ลูกไม่นอนกลางวัน ทำไงดี เคล็ดลับทำให้ลูกหลับปุ๋ยใน 5 นาที
ลูก 1 ขวบควรสอนอะไรบ้าง ? เรื่องสำคัญที่ต้องฝึกให้ลูกเรียนรู้