การทำหมันหญิง เป็นการทำให้ท่อนำไข่ตัน ทำให้เชื้ออสุจิไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ได้ผลดีที่สุด และมีผลแทรกซ้อนต่ำ แต่คุณแม่รู้ไหมว่า การทำหมันเปียก และการทำหมันแห้ง คืออะไร ทำหมันเปียก ทำหมันแห้ง แบบไหนดีกว่ากัน เราไปหาคำตอบกันเลยค่ะ
ทำหมันเปียก ทำหมันแห้ง คืออะไร
การทำหมันมี 2 ประเภท ได้แก่
- การทำหมันเปียก คือ การทำหมันหลังคลอดบุตรภายใน 48 ชั่วโมง ซึ่งมดลูกยังมีขนาดใหญ่ ลอยอยู่ในช่องท้อง ยังไม่หดตัวกลับเข้าอุ้งเชิงกราน หรือเรียกว่ามดลูกยังไม่เข้าอู่ จึงสามารถหาท่อนำไข่ 2 ข้างได้ง่าย วิธีที่นิยมคือ การผูกท่อนำไข่ และตัดท่อนำไข่บางส่วนออกทั้งสองข้าง โดยลงแผลผ่าตัดใต้สะดือ ขนาดแผลยาวประมาณ 2 -5 ซม.
- การทำหมันแห้ง คือ การทำหมันในเวลาอื่นไม่ใช่หลังคลอด ซึ่งเป็นช่วงที่มดลูกมีขนาดปกติ มี 2 วิธี คือ
วิธีแรก การผ่าตัดที่ระดับหัวเหน่า แล้วตัดผูกท่อนำไข่ทั้งสองข้าง วิธีนี้ขนาดแผลจะโตกว่าหมันเปียกเล็กน้อย
วิธีที่สอง การส่องกล้องเข้าไปโดยเปิดแผลหน้าท้อง แล้วตัดผูกท่อนำไข่ หรือจี้ตัดด้วยกระแสไฟฟ้า หรือใช้ยางสังเคราะห์รัดท่อนำไข่
จะเห็นได้ว่า ความแตกต่างระหว่างทำหมันเปียก กับทำหมันแห้งอยู่ที่ช่วงเวลาในการทำหมันเท่านั้น ส่วนหลักในการทำหมันนั้นไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ เมื่อเข้าไปในช่องท้อง แพทย์จะหาปีกมดลูก (หรือท่อนำไข่) ซึ่งมีลักษณะเป็นท่อต่อออกจากตัวมดลูกออกไปทั้งสองข้างขนาดประมาณหลอดกาแฟ แต่ถ้าตอนหลังคลอดใหม่ ๆ ขนาดอาจจะโตกว่า ตอนไม่ตั้งครรภ์ เมื่อหาได้แล้ว จะผูกและตัดให้ขาดออกจากกัน โดยทำทั้งสองข้าง ดังนั้น เมื่อมีการตกไข่จากรังไข่ ซึ่งอยู่ใกล้ส่วนปลายของปีกมดลูกแล้ว ไข่จะเดินทางมาตามท่อนำไข่นี้เพื่อมารอผสมกับสเปิร์มที่บริเวณแถวกระเปาะส่วนปลายของปีกมดลูก แต่เมื่อตัดท่อนี้แล้วทำให้สเปิร์มไม่สามารถผ่านไปหาไข่ที่มารออยู่ส่วนปลายปีกมดลูกได้ ทำให้ไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น
ทำหมันเปียกหรือทำหมันแห้ง วิธีไหนดีกว่ากัน
คุณแม่ส่วนมากมักเลือกวิธีทำหมันเปียก (ทำหมันหลังคลอด) เนื่องจาก มดลูกยังลอยอยู่ การหาท่อนำไข่ทำได้ง่ายกว่า แผลเล็กกว่า และเจ็บตัวในช่วงคลอดบุตรทีเดียว แต่ถ้าหากทำหมันตอนที่ไม่ใช่หลังคลอด จะทำยากกว่า เพราะมดลูกจะเล็กและจมอยู่ในอุ้งเชิงกราน
ข้อควรรู้เกี่ยวกับการทำหมันหญิง
- การทำหมันจะไม่ไปรบกวนระบบอื่น ๆ ฉะนั้นไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ หรือ ทำให้เซ็กส์เสื่อม ความรู้สึกทางเพศยังคงเหมือนเดิม
- การทำหมันไม่มีผลต่อการให้นมบุตร
- การทำหมันไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ควรคิดให้รอบคอบก่อนทำหมัน เนื่องจากการทำหมันเป็นการคุมกำเนิดถาวร หากต้องการมีลูก ก็ต้องเจ็บตัวไปผ่าแก้หมัน และมีค่าใช้จ่ายสูง
- ทำหมันแล้วก็ท้องได้ แม้ว่าผู้หญิงที่ทำหมันแล้วจะมีโอกาสตั้งครรภ์น้อยมาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 1-2 คนจาก 1,000 คน โดยอาจเกิดจาก การตั้งครรภ์ก่อนทำหมัน แต่คุณแม่อาจไม่รู้ หรือปีกมดลูกที่ตัดหรือผูก หรือใช้ไฟฟ้าจี้นั้นมาต่อกันเองได้ หรือสำหรับคนที่ใช้วงแหวนพลาสติกรัด วงแหวนอาจหลุดก็ทำให้ตั้งครรภ์ได้
- ถ้ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นจะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- หลังทำหมัน มดลูกและรังไข่ยังคงทำงานตามปกติ ประจำเดือนก็ยังมีอยู่เช่นเดิม จนกว่าจะถึงวัยหมดประจำเดือนอายุ 59-50 ประจำเดือนจะค่อย ๆ หยุดไปเอง หากประจำเดือนขาดหลังทำหมันควรรีบตรวจการตั้งครรภ์ เนื่องจากมีโอกาสล้มเหลวได้ ตามที่กล่าวมาแล้ว
- ควรงดน้ำ งดอาหารก่อนทำหมันอย่างน้อย 6-8 ชม. ควรถอดฟันปลอม คอนแทคเลนส์ออกก่อนเข้าห้องผ่าตัด ควรปัสสาวะเพื่อให้กระเพาะปัสสาวะแฟบก่อนเข้ารับการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสเกิดการบาดเจ็บต่อกระเพาะปัสสาวะ
- การดูแลตัวเองหลังผ่าตัด ควรนอนพักอย่างน้อย 2-3 ชม. เพื่อสังเกตอาการ บางครั้งอาจมีการมึนงงจากยาชา และยาสลบ จึงควรมีญาติพากลับบ้าน ไม่ควรขับรถ หรือเดินทางกลับเพียงลำพัง
- ในระยะยาว อาจมีอาการปวดแปลบ ๆ เล็กน้อย บริเวณท้องน้อยทั้งสองข้าง ซึ่งเกิดจากพังผืดจากการผ่าตัด ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ตามปกติ แต่หากมีอาการปวดท้องน้อยมาก ควรรีบปรึกษาแพทย์
- หากมีอาการปวดแผลผ่าตัดมาก หรือมีเลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด ควรรีบกลับไปโรงพยาบาล และควรระวังไม่ให้แผลผ่าตัดถูกน้ำจนกว่าจะครบกำหนดเปิดแผล คือ ประมาณ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การเดินนาน ๆ หรือการทำงานหนักหลังผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
ที่มา haamor.com, sahavicha.com,
คู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด โดย ศ.(คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ
บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ
ยังไม่พร้อมมีลูกคนต่อไป!!สารพัดวิธีคุมกำเนิดช่วยคุณได้
เลิกเชื่อ!!! 10 ข้อผิดๆ ของการทำหมันหญิง
“ฝังเข็มยาคุม” ดีหรือไม่ อะไรควรระวังบ้าง