น้ำขวดเป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับการดื่มนอกบ้าน เพราะสะดวก พกพาสะดวก และมั่นใจได้ว่าผ่านกระบวนการกรองจนสะอาด แต่หลายคนอาจละเลยข้อควรระวังสำคัญ คือ การเก็บน้ำขวดในที่ร้อน เช่น ตากแดด หรือวางไว้ในรถที่จอดตากแดด การกระทำเล็กน้อยแบบนี้ แท้จริงแล้วแฝงอันตรายต่อสุขภาพที่คุณอาจไม่รู้ ซึ่งล่าสุดทาง รศ.นพ.วีรศักดิ์ จรัสชัยศรี หรือ หมอหมู อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ก็ได้ออกมาอธิบายถึง 4 ผลร้ายแรง ของการดื่ม น้ำขวดตากแดด หรือในรถยนต์ที่ร้อนเป็นเวลานานกันค่ะ พร้อมเผยวิธีการป้องกันเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณ
หมอหมูเตือน! 4 อันตรายแอบแฝง จากการดื่ม น้ำขวดตากแดด
ในวันที่อากาศร้อนจัด หลายคนคงมีนิสัยพกน้ำดื่มติดตัวไปด้วย แต่เคยสังเกตหรือไม่ว่า บางครั้งเราอาจเผลอวางขวดน้ำไว้กลางแดดร้อน ๆ บนรถนาน ๆ โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งความร้อนจากแสงแดดจะส่งผลต่อพลาสติกที่ใช้บรรจุน้ำ ทำให้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพละลายออกมาปนเปื้อนในน้ำ ส่งผลต่อระบบต่างๆ ของร่างกายได้
หมอหมู วีระศักดิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ได้ออกมาโพสต์เตือนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความดังนี้
“อย่าดื่มน้ำขวดที่ถูกทิ้งไว้ กลางแดดหรือในรถยนต์ที่ร้อน
อย่าดื่มน้ำขวดที่ถูกทิ้งไว้กลางแดดหรือในสภาพแวดล้อมที่ร้อน เช่น รถยนต์
ความร้อนอาจทำให้สารเคมีอันตรายรั่วจากพลาสติกลงสู่น้ำได้
สารเคมีเหล่านี้ เช่น บิสฟีนอลเอ (BPA) และพทาเลท อาจเป็นอันตรายได้หากดื่ม
ผลข้างเคียงจากการดื่มน้ำที่มีสารเคมีเหล่านี้:
- ปัญหากระเพาะอาหาร: รู้สึกคลื่นไส้หรือปวดท้อง
- อาการปวดหัว: สารเคมีเหล่านี้อาจทำให้ปวดหัวได้
- อาการวิงเวียนศีรษะ: รู้สึกวิงเวียนศีรษะหรือเวียนศีรษะเป็นอีกอาการหนึ่ง
- ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมน: สารเคมีบางชนิดอาจทำให้ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และเกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้สิ่งนี้เกิดขึ้น ขอแนะนำให้เก็บน้ำดื่มบรรจุขวดไว้ในที่เย็นเสมอ และหลีกเลี่ยงการทิ้งให้โดนแสงแดดโดยตรง นะครับ”
การดื่ม น้ำขวดตากแดด ทำให้เป็นมะเร็งจริงไหม?
ในรอบหลายปีที่ผ่านมา มักมีข่าวลือแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์บ่อยครั้งว่า น้ำดื่มในขวดพลาสติกที่วางไว้ในรถตากแดดเป็นเวลานาน ดื่มแล้วอันตรายเพราะอาจมีสารก่อมะเร็งละลายออกมาปนเปื้อนในน้ำ เรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับหลาย ๆ คน
ซึ่งทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการทดลองหาคำตอบ โดยนำขวดน้ำดื่มไปวางตากแดดในรถ ผลปรากฏว่าไม่พบสารก่อมะเร็ง ในน้ำที่นำมาตรวจสอบ แต่มีความเป็นไปได้ที่จะพบ เชื้อแบคทีเรียปะปน ในน้ำที่เปิดดื่มแล้วและวางตากแดดในรถ เนื่องจากขวดน้ำดื่มที่เปิดแล้วแต่ดื่มไม่หมด มีโอกาสเสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคมากกว่า อ้างอิงจาก รศ.ดร.พลังพล คงเสรี นักวิจัยภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เมื่อเราเปิดขวดน้ำ อากาศและจุลินทรีย์ในอากาศจะปนเปื้อนเข้าไปในน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเก็บน้ำไว้ในที่อุณหภูมิห้อง จุลินทรีย์เหล่านี้จะเจริญเติบโตและเพิ่มจำนวนขึ้น ส่งผลต่อรสชาติ กลิ่น และอาจปนเปื้อนสารเคมีจากพลาสติก ดังนั้นน้ำดื่มที่เปิดแล้วควรดื่มให้หมดภายใน 1 วัน
ส่วนสารก่อมะเร็งจากภาชนะพลาสติก ที่อาจละลายปนเปื้อนในน้ำเมื่อถูกความร้อนจากแดด มีความเป็นไปได้น้อยมาก เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานของขวดน้ำดื่ม ว่าต้องผลิตจากพลาสติก PET นั่นก็คือพลาสติกใส ที่สามารถมองทะลุได้ ซึ่งไม่มีสารก่อมะเร็ง และทนความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 60-95 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตาม ขวดน้ำเหล่านี้ไม่ควรนำกลับมาใช้ซ้ำ เพราะอาจมีแบคทีเรียตกค้างในขวด หากนำมาใส่น้ำหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ก็จะเกิดการปนเปื้อนได้เช่นกัน แต่หากจำเป็นที่จะต้องใช้จริง ๆ ควรล้างทำความสะอาดขวดน้ำ ด้วยน้ำยาล้างจาน และผึ่งให้แห้งสนิท ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ค่ะ
การดื่มน้ำสะอาดและปลอดภัย เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพ เลือกดื่มน้ำอย่างชาญฉลาดเพื่อสุขภาพที่ดีของเรา
ทางเลือกอื่นนอกเหนือจากการใช้ขวดพลาสติก
นอกจากการหลีกเลี่ยงการวางขวดน้ำไว้กลางแดดแล้ว ยังมีแนวทางอื่น ๆ เพิ่มเติมในการลดการปนเปื้อนจากขวดพลาสติก เช่น การพกกระบอกน้ำส่วนตัว
ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ การพกกระบอกน้ำส่วนตัวกลายเป็นเทรนด์ยอดนิยมที่ไม่ใช่แค่แฟชั่น แต่เป็นการแสดงออกถึงไลฟ์สไตล์ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย การใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนของสารเคมีจากพลาสติก โดยเฉพาะเมื่อถูกทิ้งไว้กลางแดดหรือในที่ร้อน ๆ การพกกระบอกน้ำส่วนตัว ช่วยลดโอกาสการปนเปื้อนของสารที่ได้กล่าวไปข้างต้น และยังสามารถเก็บรักษาอุณหภูมิของน้ำได้ทั้งร้อนและเย็น ช่วยให้ดื่มน้ำเย็นชื่นใจในวันที่อากาศร้อน หรือดื่มน้ำอุ่น ๆ ในวันที่อากาศเย็นได้อีกด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง: 10 กระติกน้ำเด็ก กระติกน้ำโรงเรียน พกพาง่าย ลูกชอบ งบไม่เกิน 1,000 บาท!
การดื่มน้ำสะอาดและปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การดื่มน้ำขวดที่ถูกทิ้งไว้กลางแดดหรือในที่ร้อน ๆ อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากความร้อนอาจทำให้สารเคมีจากพลาสติกละลายออกมาปนเปื้อนในน้ำ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำขวดที่ถูกทิ้งไว้กลางแดดหรือในที่ร้อนๆ และใช้กระบอกน้ำส่วนตัว ที่สามารถเก็บรักษาอุณหภูมิของน้ำได้ทั้งร้อนและเย็น เพื่อช่วยลดการปนเปื้อนจากสารเคมี ในกรณีจำเป็นต้องใช้ขวดน้ำพลาสติก ควรดื่มน้ำให้หมดภายใน 1 วันหลังเปิดขวด และทำความสะอาดขวดก่อนนำกลับมาใช้ซ้ำ
ที่มา: dailynews, mahidol channel, carro
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ระวัง! 8 สารพิษที่ควรเก็บให้พ้นมือเด็ก ป้องกันอันตรายใกล้ตัวลูก
อย.เรียกคืนยาน้ำสำหรับเด็ก 15 รายการ เช็กด่วน! มียี่ห้ออะไรบ้าง?
วิจัยเผย! PM 2.5 อาจเป็นตัวการเร่งให้มีเด็กมี ประจำเดือนครั้งแรก เร็วขึ้นถึง 4 ปี!