การเลี้ยงดูลูก ไม่ใช่แค่การให้กำเนิด แต่หมายถึงการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ พ่อแม่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อความปลอดภัยของลูก และไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่จะละเลย ซึ่ง การทิ้งลูกไว้บ้านคนเดียว อาจนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่สามารถแก้ไข เหมือนกับเหตุการณ์นี้ที่คุณแม่ชาวโอไฮโอ ทิ้งลูกไว้บ้านคนเดียว 10 วัน จนเสียชีวิต สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก เหตุการณ์นี้กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองเด็ก บทบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และความรับผิดชอบของผู้ปกครอง
แม่ใจโหดทิ้งลูกน้อยอดตายในบ้าน เพื่อไปเที่ยว แม่รับสารภาพในข้อหาฆาตกรรม
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 เมื่อแม่ชาวโอไฮโอ วัย 32 ปี ได้ทิ้งลูกสาววัย 16 เดือน ไว้ที่บ้านตามลำพังในคอกเด็กเป็นเวลา 10 วัน โดยไม่มีน้ำหรืออาหารให้ลูก ในขณะที่ตัวเธอได้ออกไปเที่ยวพักผ่อนอย่างสบายใจ หลังจากนั้นเมื่อเธอกลับมาถึงบ้าน ก็ได้พบว่าลูกสาวไม่ได้หายใจแล้ว จึงโทรเรียก 911 หน่วยกู้ภัย สุดท้ายผลชันสูตรศพได้ระบุว่า เด็กหญิงอยู่ในสภาวะขาดน้ำและขาดสารอาหารอย่างรุนแรง ซึ่งล่าสุดคุณแม่ท่านนี้ก็ได้สารภาพผิดกับศาลในข้อหาฆาตกรรมโดยเจตนา และข้อหาทำให้เด็กตกอยู่ในอันตราย โดยทางศาลก็ได้ตัดสินว่า จำคุกตลอดชีวิต โดยมีผลวันที่ 18 มีนาคม 2567 นี้
ซึ่งหลังจากมีประกาศทางศาลออกไป ชาวเน็ตจำนวนมาก มีการมาไว้อาลัยหนูน้อยผู้เสียชีวิต ตัวอย่างเช่น เพจ Momma’s Universe ที่ได้ออกมาแสดงความไว้อาลัยให้กับเด็กหญิงตัวน้อย ระบุว่า “ถึงเด็กน้อย วัย 16 เดือน ที่ถูกทิ้งไว้บ้านคนเดียว ในคอกเด็กถึง 10 วัน เสียใจแทนหนูมากที่ต้องมาเจอเหตุการณ์อะไรแบบนี้ หนูไม่สมควรที่จะต้องมาเจออะไรแบบนี้เลย ขอให้หนูไปสู่สุคตินะ ไม่ต้องทุกข์ ทรมาน ใด ๆ แล้ว เจ้าหนูน้อย” และนอกจากนี้ ก็ได้มีหลาย ๆ คอมเม้นต์ที่ได้ทำการออกมาโพสต์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการกระทำของคุณแม่คนนี้และสนับสนุนการตัดสินใจของศาล อย่างแพร่หลายบนเฟสบุ๊ก
จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ถือว่าเป็นอุทาหรณ์
เตือนใจสำหรับคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนว่า การละเลยความปลอดภัยของเด็ก อาจส่งผลร้ายแรงได้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ควรตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ
ที่มา : smartparenting.com, bangkokbiznews.com
การ ทิ้งลูกไว้บ้านคนเดียว ส่งผลกระทบอย่างไร?
การทิ้งลูกไว้บ้านคนเดียว โดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล ส่งผลกระทบต่อเด็กหลายด้าน ดังนี้
ด้านความปลอดภัย
เด็กมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บ หรือถูกคุกคามจากบุคคลอื่น เด็กเล็กอาจไม่เข้าใจวิธีใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆ ในบ้าน
ด้านพัฒนาการ
เด็กอาจรู้สึกวิตกกังวล กลัว หรือ รู้สึกไม่ปลอดภัย ส่งผลต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม เด็กอาจรู้สึกโดดเดี่ยว และอาจส่งผลต่อสุขภาพจิตของลูกในระยะยาว
ด้านการเรียนรู้
เด็กอาจขาดโอกาสในการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ จากผู้ใหญ่ เช่น การช่วยเหลือตัวเอง การทำงานบ้าน การแก้ปัญหา
บทความที่เกี่ยวข้อง: ปล่อยให้ลูก “อยู่คนเดียว” ได้ตั้งแต่กี่ขวบ? มีผลเสียอะไรบ้าง?
ข้อควรระวังในการทิ้งลูกไว้บ้านคนเดียว
การทิ้งเด็กไว้บ้านคนเดียวหรือปล่อยให้พวกเขาอยู่โดยไม่มีผู้ดูแลอาจเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ปกครองส่วนใหญ่ และการจะรู้ว่าลูกอายุเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสมก็เป็นอีกเรื่องที่ยากพอ ๆ กัน ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ชี้ว่าเห็นได้ชัดว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีไม่สามารถอยู่ด้วยตัวเองได้ เนื่องจากในวัยนี้เด็กส่วนใหญ่ยังไม่มีวุฒิภาวะและทักษะในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในขณะที่เด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถดูแลตัวเองได้
นอกจากนี้ ตามกฏหมายไทยแล้ว เด็กสามารถปล่อยให้อยู่บ้านคนเดียวได้ประมาณ 12 ปี แต่ต้องได้รับการฝึกฝน เตรียมความพร้อม และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยผู้ปกครองควรเริ่มฝึกเด็กตั้งแต่ 10 ขวบขึ้นไป ฝึกฝนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมถึงกรณีฉุกเฉินด้วย ควรสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย และมีแผนการติดต่อผู้ใหญ่ที่ไว้ใจในกรณีฉุกเฉิน
จะทำอย่างไร เมื่อต้อง ทิ้งลูกไว้บ้านคนเดียว
อย่างไรก็ตามหากคุณพ่อคุณแม่มีเหตุจำเป็นที่จะต้องทิ้งลูกไว้บ้านเพียงลำพังจริง ๆ จะต้องมีวิธีเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อให้ลูกสามารถใช้ชีวิตได้โดยที่ไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย
- จดชื่อ-นามสกุล ที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์ให้ลูกและเก็บติดตัวไว้ตลอดเวลา
- เตรียมรายการหมายเลขฉุกเฉิน และเบอร์ฉุกเฉินทั้งหมดให้กับลูกพกติดตัวไว้
- คอยโทรเช็กกับลูกของคุณให้บ่อยครั้งว่ามีอะไรผิดปกติไหม
- สอนให้ลูกล็อกประตู หน้าต่างภายในบ้านเมื่อพ่อแม่ไม่อยู่ และคอยให้ลูกเช็กตลอดว่าการล็อกนั้นสมบูรณ์และกันไม่ให้คนนอกเข้ามาได้
- สอนลูกน้อยของคุณว่า หากไม่มีเหตุฉุกเฉิน ห้ามออกนอกบ้านเด็ดขาด แม้แต่บ้านเพื่อนก็ห้าม นอกจากเขาจะได้รับอนุญาตจากคุณ
- หากลูกน้อยยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกวิธีการจ้างพี่เลี้ยงเด็ก เพื่อให้มีผู้ใหญ่คอยดูแลลูกอยู่ตลอดเวลา
- กำหนดขอบเขตภายในบ้านให้กับลูก สอนลูกให้ดูว่าสิ่งไหนหรือพื้นที่ส่วนไหนเป็นอันตราย และไม่ควรเข้าใกล้ และพื้นที่ตรงไหนปลอดภัย หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้น
ทั้งนี้ความพร้อมของเด็กแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน เด็กบางคนอาจพร้อมที่จะอยู่เพียงลำพังได้ และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่สำหรับเด็กบางคนอาจทำไม่ได้ ดังนั้นคุณควรที่จะสังเกตลูกน้อยของคุณว่าพวกเขาพร้อมแล้วหรือยัง แต่ทั้งนี้ หากไม่มีความจำเป็น หรือเหตุฉุกเฉิน พยายามอย่าทิ้งให้พวกเขาอยู่เพียงลำพังจะดีที่สุด
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
หยุดเปรียบเทียบลูก ถ้าไม่อยากให้ลูกกลายเป็นเด็กดื้อต่อต้าน-ขี้อิจฉา
แชร์เคล็ด(ไม่)ลับลดปัญหาไม่สบายท้องของลูกรัก
“สุขภาพจิตเด็ก” เรื่องใกล้ตัวที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม