ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากเห็นลูกน้อยป่วยเป็นไข้ ยิ่งถ้าหากเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรง ก็ยิ่งเหมือนฟ้าผ่ากลางใจ เช่นเดียวกับ “กัน จอมพลัง” นักเคลื่อนไหวช่วยเหลือสังคมชื่อดัง ที่กำลังเผชิญช่วงเวลาอันยากลำบาก เมื่อ “หมี่เกี๊ยว” ลูกสาววัย 2 ขวบ ป่วยเป็น ลมพิษเรื้อรัง มานานกว่า 2 เดือน เข้าออกโรงพยาบาลจนแทบจะกลายเป็นบ้านหลังที่สอง จนล่าสุดอาการทรุด ไข้ขึ้นสูงถึง 40 องศาเซลเซียส! แพทย์ยังแจ้งข่าวร้ายแรงว่า มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคพุ่มพวง
หัวใจพ่อแทบสลาย! ลูกป่วยเป็น ลมพิษเรื้อรัง มีโอกาสเป็นโรคพุ่มพวง!
วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 นายกัณฐัศว์ พงศ์ไพบูลย์เวชย์ หรือ กัน จอมพลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก โดยระบุว่า “9 โมง วันนี้คุณหมอบอกกับภรรยาผมว่า หมี่เกี๊ยวมีโอกาสเป็นโรคพุ่มพวง ทำผมช็อกมากๆ ใจหายทั้งวัน สงสารหมี่เกี๊ยวมากๆ ที่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และความดีที่ป๊ะป๋าทำช่วยปกป้องคุ้มครองหมี่เกี๊ยว จอมพลัง ให้ปลอดภัยด้วยครับ”
ส่วนทาง ภรรยาของคุณ กัน จอมพลังก็ได้โพสต์อาการของลูกน้อยเช่นเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เช่นเดียวกัน โดยระบุว่า “วันนี้เกี๊ยวเข้ารพ.อีกแล้ว ไข้ 40.1 เมื่อคืนตอนนี้ไข้ลงแล้วจากที่้เป็นลมพิษเรื้อรัง หมอบอกตอนนี้ค่าเลือดไม่ดี หมอสงสัยน้องจะเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองค่ะ ต้องรอผลตรวจอีก 2-3 วันว่าน้องจะเป็นมั้ย แม่ใจจะขาดเลยสงสารหมาน้อย ขอให้หนูแข็งแรงอย่าเป็นอะไรเลยนะลูก โรคภัยของหนูแม่ขอรับไว้ทั้งหมด ขอให้บุญของแม่กับปะป๊าที่ทำมาทั้งหมดคุ้มครองหนูนะคะอย่าเป็นไรร้ายแรงนะลูก”
ซึ่งหลังจากเรื่องราวดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ชาวเน็ตต่างก็มีคนเข้ามาให้กำลังใจ พร้อมอวยพรให้ลูกสาวคุณกัน จอมพลัง หายป่วยไว ๆ มาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าทั้งโรคลมพิษเรื้อรัง และ โรคพุ่มพวง คืออะไร และอาการเป็นยังไง ป้องกันรักษายังไงได้บ้าง
โรค ลมพิษเรื้อรัง คืออะไร?
โรคลมพิษเรื้อรัง (Chronic Urticaria) คือ โรคผิวหนังที่มีอาการเป็นผื่นนูนแดง คัน คล้ายกับลมพิษทั่วไป แต่มีระยะเวลาการเกิดผื่นนานกว่า 6 สัปดาห์ ขึ้นไป เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ส่งผลให้ร่างกายสร้าง สารฮีสตามีน มากเกิน โดยจะมีอาการผื่นลมพิษแบบเป็น ๆ หาย ๆ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ หากผื่นอยู่นานอาจทิ้งรอยดำและมีจุดเลือดออกในผื่นได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่สบายตัว รำคาญใจ เสียบุคลิกภาพและความมั่นใจ อาจนำไปสู่ปัญหาการนอนไม่หลับได้ แม้จะไม่ร้ายแรงถึงชีวิต แต่การปล่อยทิ้งไว้อาจส่งผลเสียในระยะยาว
ปัจจัยที่ทำให้เกิด ลมพิษเรื้อรัง?
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
- การติดเชื้อ เช่น ไข้หวัด โรคทางเดินหายใจ
- ยาบางชนิด เช่น ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ
- อาหาร เช่น อาหารทะเล ถั่ว นม
- แมลงกัดต่อย
- ความเครียด
- โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคเส้นเลือดอักเสบ หรืออื่น ๆ
- เนื้องอกและมะเร็งอวัยวะต่าง ๆ
อาการของลมพิษเรื้อรัง
อาการของ โรคลมพิษเรื้อรัง จะมีผื่นนูนแดง คัน กระจายตามร่างกาย และอาจมีรูปร่าง ขนาดที่แตกต่างกันออกไป ในผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการบวมร่วมด้วย เช่น ที่เปลือกตา หรือ ริมฝีปาก
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลมพิษคืออะไร ? ประเภทของลมพิษ อาการของโรคลมพิษ และวิธีรักษา
วิธีรักษาโรคลมพิษเรื้อรัง
การรักษาโรคลมพิษเรื้อรัง มักต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความรุนแรง ของอาการ โดยแพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ดังนี้
1) ยาต้านฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้
ยาชนิดนี้ใช้รักษาอาการลมพิษเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด ยาต้านฮีสตามีนจะช่วยยับยั้งการหลั่งฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดอาการคันและผื่น มีให้เลือกมากมายหลายชนิดและมีผลข้างเคียงแตกต่างกัน รวมถึงผู้ป่วยต้องมีการปรับยาเป็นระยะ จึงจำเป็นต้องพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อให้ได้รับยาที่เหมาะสมในระยะยาว และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
2) ยาในกลุ่มอื่น ๆ
ในกรณีที่ผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังมีอาการหนัก ได้รับยาฮีสตามีนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะทำการพิจารณาให้ยากลุ่มอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อช่วยยับยั้งการสร้างและหลั่งสารที่กระตุ้นให้เกิดลมพิษ เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคลมพิษเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ อย่างใกล้ชิด ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างเคร่งครัด และสังเกตอาการ ของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ
โรคลมพิษเรื้อรัง อาจนำพาไปสู่ โรคพุ่มพวงได้!
โรคลมพิษเรื้อรัง และ โรคพุ่มพวง เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงทำให้โรคลมพิษอาจเป็นสัญญาณของปัญหาทางสุขภาพ เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า “โรคพุ่มพวง” ซึ่งเกิดจากที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ทำการโจมตีเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ของตัวเอง ที่สำคัญ หากเป็นโรคนี้ แล้ว อาการที่เกิดขึ้นอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคนและแตกต่างกันไปตามเวลา โดยอาการทั่วไปของโรคพุ่มพวง ได้แก่ มีอาการซีด เนื่องมาจากเม็ดเลือดขาว หรือเกล็ดเลือดต่ำ หากโดนแดดจะมีผื่นผิวหนังแดงอย่างรุนแรง มีอาการที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น อาการชัก เป็นต้น ซึ่งอาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานและเคร่งครัดเนื่องจากอาการที่กำเริบอาจรุนแรง และส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้
วิธีป้องกัน
โรคพุ่มพวงนี้ยังไม่มีวิธีการป้องกันโรคที่แน่ชัด แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น การดูแลสุขภาพ รักษาสุขภาพจิต พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่อยู่ในสภาพอากาศที่แดดจ้านานเกินไป และหลีกเลี่ยงสารเคมี หรือ สารพิษที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายในชีวิตประจำวันได้
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่เป็นโรคภูมิแพ้ ลูกจะเป็น โรคภูมิแพ้ในเด็ก ด้วยหรือไม่
อย่าชะล่าใจ โรคจิตหลังคลอด ภาวะหนักกว่าโรคซึมเศร้าที่แม่ลูกอ่อนต้องระวัง!!
วิธีเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ทารก พ่อแม่ควรทำอย่างไรไม่ให้ลูกเป็นเด็กป่วยง่าย
ที่มา : Bangkok Hospital, Thairath.com