กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดรับบริจาคนมแม่ เข้าสู่ธนาคารนมแม่ เพื่อช่วยเหลือเด็กป่วยให้สุขภาพแข็งแรง และเป็นสื่อกลางที่มีความสำคัญในการจัดสรรนมแม่ที่ได้รับบริจาค มาใช้ให้เกิดประโยชน์และความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากนมแม่ถือเป็นสุดยอดสารอาหารที่มีประโยชน์สำหรับลูกน้อย โดยเฉพาะทารกแรกเกิดที่ป่วย ยิ่งต้องได้รับนมแม่มากที่สุด
กรมการแพทย์ เปิดรับบริจาคนมแม่ เข้าสู่ธนาคารนมแม่
เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ได้กล่าวว่าใน 1 ปี มีทารกคลอดก่อนกำหนดประมาณ 15 ล้านคน หรือมากกว่า 1 รายต่อการคลอดบุตร 10 ราย ซึ่งในแต่ละปีจะมีทารกที่เสียชีวิตจากการคลอดก่อนกำหนดประมาณ 1 ล้านคน ทารกที่ป่วยหรือคลอดก่อนกำหนดส่วนใหญ่ไม่ได้รับนมแม่ เนื่องจากแม่มีน้ำนมไม่เพียงพอ หรือมีภาวะแทรกซ้อนเจ็บป่วยจนไม่สามารถให้นมบุตรได้ รวมถึงทารกที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน
ทารกแรกเกิดที่ป่วยหรือคลอดก่อนกำหนดที่ได้รับนมแม่จะมีประโยชน์ต่อลำไส้ ช่วยลดระยะเวลานอนในโรงพยาบาล น้ำหนักขึ้นเร็ว ลดโอกาสติดเชื้อในลำไส้ ติดเชื้อในกระแสเลือด และลำไส้เน่า จำเป็นที่จะต้องได้รับนมแม่ ซึ่งการที่จะรับนมแม่จากการบริจาคนั้น จำเป็นต้องมีขั้นตอนการขอรับที่ปลอดภัยทั้งผู้ให้และผู้รับ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือธนาคารนมแม่ก่อนบริจาคทุกครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : แพทย์เตือน งดรับบริจาคนมแม่ โดยไม่ผ่านธนาคารนมแม่ เสี่ยงติดเชื้อร้ายแรง
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ธนาคารนมแม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยังเป็นสื่อกลางที่มีความสำคัญในการจัดสรรนมแม่ที่ได้รับบริจาค มาใช้ให้เกิดประโยชน์และปลอดภัยสูงสุด ซึ่งขั้นตอนของการทำงานในธนาคารนม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีดังนี้
- คัดกรองผู้บริจาค
- ควบคุมเวลาและอุณหภูมิในการส่งนม
- จัดเก็บนมในอุณหภูมิที่คงที่
- พาสเจอไรซ์นมตามมาตรฐาน
- จ่ายนมที่พาสเจอไรซ์ให้ทารกกลุ่มเป้าหมาย
ทารกกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับนมแม่บริจาค คือ ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอายุครรภ์น้อย 32 สัปดาห์ ทารกที่ได้รับการผ่าตัดลำไส้ ทารกที่น้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม และทารกที่ป่วยจากมารดาที่มีข้อห้ามในการให้นมลูก ส่วนคุณสมบัติของคุณแม่ที่สามารถบริจาคนมแม่ได้ ได้แก่ สุขภาพแข็งแรง มีน้ำนมมาก มีผลเลือดปกติ ไม่รับประทานยาหรือฉีดยาต้องห้ามในการให้นมบุตร น้ำนมที่บริจาคเป็นนมที่เก็บในช่วงที่ลูกคนล่าสุดอายุไม่เกิน 4 เดือน และไม่หมดอายุในการจัดเก็บ รวมถึงคุณแม่ที่ยินดีในการเจาะเลือด และตอบแบบสอบถามคัดกรองความเสี่ยง
นอกจากนี้ คุณแม่ที่มีน้ำหนักมาเกินความต้องกัน ไม่ควรแบ่งนมกันเอง เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น HIV ไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสอื่น ๆ ผ่านทางนม เสี่ยงต่อการปนเปื้อนของเชื้อโรคระหว่างปั๊มนมและจัดเก็บนม เสี่ยงต่อการรับยาหรือสารเสพติดผ่านนม อย่างไรก็ตาม นมแม่ในธนาคารนมแม่จะใช้ในช่วงเปลี่ยนผ่านชั่วคราวระหว่างรอนมแม่ เพราะนมแม่ตัวเองดีที่สุด
เกร็ดความรู้เกี่ยวกับธนาคารนมแม่
ธนาคารนมแม่ ให้บริการนมแม่จากผู้บริจาคกับทารกแรกเกิดที่ป่วย หรือคลอดก่อนกำหนดในกรณีที่แม่ยังไม่มีน้ำนมหรือน้ำนมไม่เพียงพอในระยะแรก รวมถึงคุณแม่ที่มีภาวะแทรกซ้อน เจ็บป่วย ไม่สามารถให้นมบุตรได้ และยังเป็นทางเลือกให้แก่ทารกแรกเกิดที่แพ้โปรตีนนมวัว หรือมีภาวะผิดปกติทางเมตาบอลิกที่มีสาเหตุจากพันธุกรรมบางชนิดหรือมีโรคทางศัลยกรรม
สำหรับคุณแม่ท่านไหนที่มีคุณสมบัติข้างต้น และประสงค์ที่จะบริจาคนมแม่ สามารถติดต่อไปยังธนาคารนมแม่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ หรือโทร 066-121-7747
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ข้อควรรู้ก่อน “บริจาค” หรือ “รับบริจาค” นมแม่
บริจาคนมแม่เพื่อเด็กป่วย ช่วยเด็กยากไร้ให้เติบโต
เก็บนมแม่ให้ลูกกินได้นาน นมแม่เก็บอย่างไรไม่ให้เหม็นหืน
ที่มา : hfocus.org, childrenhospital.go.th