โรคพยาธิในช่องคลอด หรือ พยาธิในอวัยวะเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีอยู่จริง ๆ หากไม่ระวัง!

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรทำความเข้าใจ เพราะนอกจากการมีแฟนแล้ว การมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการติดต่อทางโรคก็ด้วยเช่นกัน รวมไปถึง โรคพยาธิในช่องคลอด ที่หลายคนอาจจะไม่เคยรู้จัก หรืออาจจะไม่เคยรู้ว่ามีอยู่จริง และอยู่ใกล้ตัวมาก

 

เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดย ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก หมอแล็บแพนด้า ที่ได้ออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า ” พยาธิในจิ๋มมีจริง ๆ ครับ!! แต่ไม่ใช่เป็นตัวใหญ่ ๆ เหมือนไส้เดือนนะ พยาธิในจิ๋มตัวมันจะเล็กมากกกกก เล็กจนผู้ชายหลาย ๆ คนเคยกินมันเข้าไปแล้ว 555555

 

พยาธิตัวนี้ชื่อ “ทริโคโมแนส วาจินาลิส” (Trichomonas Vaginalis) ต้องเอาไปส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ถึงจะเห็นตัวมันได้ เชื้อนี้ติดต่อโดยเพศสัมพันธ์ เพราะฉะนั้นไม่ต้องมาถามว่า เบิร์นจะติดเชื้อมั้ย จูบกัน กินข้าวร่วมกันติดมั้ย ตอบเลยว่าไม่ติด!! ต้องร่วมเพศกันเชื้อมันถึงจะเข้ามาในจิ๋มได้ เพราะฉะนั้นถ้าใส่ถุงยางก็ป้องกันเชื้อได้แน่นอนครับ

 

สาว ๆ ที่ติดเชื้อก็อาจจะเกิดอาการคัน ตกขาวผิดปกติ คือ มีสีเทา สีเหลือง หรือสีเขียว เป็นฟองและมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ บางคนก็ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปวดท้องน้อย และมีเลือดออกตอนที่มีเพศสัมพันธ์ แต่บางคนอาจไม่มีอาการอะไรเลยก็ได้ เพราะจะมีผู้ป่วยที่แสดงอาการแค่ 20-30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้หลายคนไม่รู้ตัว และแพร่กระจายเชื้อไปสู่คู่นอนได้ ถ้าสงสัยว่าตัวเองจะเป็น ก็ให้ไปหาแพทย์ แพทย์ก็จะเอาไปให้นักเทคนิคการแพทย์อย่างผมเนี่ย!! ส่องกล้องจุลทรรศน์ดู ใครมีอาการแบบนี้ลองไปตรวจดู นะ ถ้าเจอก็จะได้รีบรักษายังไงล่ะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

โรคพยาธิในช่องคลอด ภัยเงียบที่มองไม่เห็น

โรคพยาธิในช่องคลอด ชื่ออังกฤษ Trichomoniasis หรือเรียกสั้น ๆ ว่า Trich เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย เกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า Trichomonas vaginalis ที่ตรวจพบได้จากน้ำในช่องคลอดหรือน้ำอสุจิของผู้ป่วย ซึ่งติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และผู้หญิงสามารถติดเชื้อนี้ได้ทั้งในช่องคลอดและท่อปัสสาวะ มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการใด ๆ มีเพียง 30% ของผู้ป่วยเท่านั้น ที่แสดงอาการของโรค แต่หากพบว่าติดเชื้อ ควรรีบรักษาเพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ เชื้อจะยังคงอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานหลายเดือนหรือหลายปี และสามารถติดต่อไปสู่คู่นอนได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อาการของโรค

อาการของโรคพยาธิในช่องคลอด มีได้ตั้งแต่เล็กน้อยไปอาการอักเสบขั้นรุนแรง ผู้ป่วยบางรายแสดงอาการภายในเวลา 5-28 วัน หลังจากติดเชื้อ ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายแสดงอาการหลังจากนั้น อาการอาจเป็น ๆ หาย ๆ ได้

  • มีตกขาวเป็นสีเหลือง สีเขียวหรือสีเทา
  • ช่องคลอดมีกลิ่นเหม็น
  • รู้สึกคัน แดงและแสบภายในช่องคลอด หรือบริเวณช่องคลอด
  • รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • รู้สึกระคายเคืองขณะปัสสาวะ

บทความที่เกี่ยวข้อง : โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซิฟิลิส โรคซิฟิลิสอันตรายกว่าที่คิด

 

ปัจจัยเสี่ยงของพยาธิในช่องคลอด

โรคพยาธิในช่องคลอดติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการสัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ และสามารถติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิงก็ได้ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการติดโรคนี้ ได้แก่

  • เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
  • ผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • มีประวัติในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ
  • มีประวัติในการเป็นโรคพยาธิในช่องคลอดมาก่อน
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
  • ผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

เนื่องจากพยาธิในช่องคลอดติดต่อกันได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ดังนั้น กิจกรรมอื่น ๆ จึงอาจไม่ทำให้เกิดการติดต่อได้

 

การวินิจฉัยโรค

โรคพยาธิในช่องคลอดแสดงอาการคล้ายกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ดังนั้นการวินิจฉัยโรคจึงดูจากอาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ผู้ที่สงสัยว่าตนเองมีอาการผิดปกติ จึงควรไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวช แพทย์จะซักประวัติ ตรวจภายในและนำตกขาวไปส่งตรวจ เพื่อดูเชื้อพยาธิในช่องคลอด ด้วยวิธีดังนี้

  1. ส่องกล้องจุลทรรศน์
  2. เพาะเชื้อจากตัวอย่างสารในช่องคลอด
  3. ใช้ชุดทดสอบแอนติเจนหรือสารพันธุกรรม

นอกจากนี้ หากสงสัยว่าผู้ป่วยติดเชื้อพยาธิในช่องคลอด แพทย์อาจรักษาผู้ป่วยโดยไม่รอผลการตรวจวินิจฉัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไป ส่วนผู้ป่วยที่พบว่าตนเองติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดแน่ชัดแล้ว ควรตรวจเลือดหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ด้วย เช่น ไวรัสเอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส เป็นต้น รวมทั้งผู้ป่วยต้องแจ้งให้คู่นอนไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาเช่นเดียวกัน

 

การรักษาพยาธิในช่องคลอด

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิในช่องคลอดต้องรับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยเร็วที่สุด เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ซึ่งวิธีการใช้ยา มีดังนี้

  • รับประทานยาเมโทรนิดาโซลหรือทินิดาโซลครั้งเดียวในปริมาณ 2 กรัม หรือรับประทานยาเมโทรนิดาโซลวันละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกันนาน 5-7 วัน
  • รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และไปพบแพทย์หากมีอาการผิดปกติใด ๆ หลังใช้ยา
  • งดดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยาอย่างน้อย 3 วัน หลังหยุดใช้ยา เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น หรือผิวแดง
  • งดมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างการรักษา และหลังจากหายเป็นปกติอย่างน้อย 1 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น หรือการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ เพิ่ม
  • ปรึกษาแพทย์ถึงการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ หากแพ้ยาเมโทรนิดาโซลหรือทินิดาโซล
  • หญิงมีครรภ์หรือกำลังให้นมบุตรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือทารกได้ โดยเฉพาะหากรับประทานยาปริมาณมากในครั้งเดียว
  • ยาเมโทรนิดาโซลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกถึงรสโลหะในปาก เป็นต้น
  • ไปพบแพทย์ตามนัดหมายเพื่อติดตามผลการรักษา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ยังคงมีอาการผิดปกติหลังใช้ยา

 

การป้องกัน

โรคพยาธิในช่องคลอดสามารถติดต่อกันได้ โดยที่ผู้แพร่เชื้อไม่แสดงอาการใด ๆ ดังนั้นโรคนี้จึงติดต่อกันได้ง่าย วิธีการป้องกันการติดเชื้อทำได้ดังนี้

  1. ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ผ่านการตรวจร่างกายว่า ปลอดโรคติดต่อทางเพศสมัพันธ์
  2. สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตามถุงยางอนามัยไม่สามารถป้องกันได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะเชื้อโรคอาจติดต่อผ่านบริเวณอวัยวะเพศ ที่ไม่ปกคลุมด้วยถุงยางอนามัยได้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรค

หากไม่รักษาให้หายขาด โรคพยาธิในช่องคลอดอาจทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนการกำหนด ทารกอาจมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ทำให้มีปัญหาทางสุขภาพและพัฒนาการตามมา นอกจากนี้ทารกอาจติดเชื้อจากมารดาได้หากคลอดตามธรรมชาติ

 

ควรปฏิบัติตัวอย่างไรหากติดโรคพยาธิในช่องคลอด

โรคพยาธิในช่องคลอดเป็นโรคที่รักษาให้หายขาดได้ไม่ยาก แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายและทำการรักษาโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นหากสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อ ควรปฏิบัติตัวดังนี้

  • รีบไปพบแพทย์
  • รับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันให้ครบตามที่แพทย์แนะนำ ถึงแม้จะไม่มีอาการแล้วก็ตาม
  • สวมถุงยางอนามัย
  • รีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการตกขาวผิดปกติ รวมทั้งรู้สึกเจ็บปวดขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาโรคให้หายดี ถึงแม้จะทานยาครบแต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากมีคู่นอนที่มีเชื้ออยู่

 

การเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องน่าอาย การรีบรู้ตัวและรักษาตัวเอง เพื่อไม่ให้กลายเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ก็เป็นเรื่องที่ปลอดภัยกับตัวเองและคู่นอนค่ะ หมั่นสังเกตอาการตัวเอง และเมื่อรู้ตัวว่ามีอาการผิดปกติอย่าลืมรีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาให้ไวที่สุดค่ะ

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :

วิธีช่วยเหลือแบบเห็นภาพ จากหมอแล็บแพนด้า “สำลักอาหารต้องทำยังไง”

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เริม เริมคืออะไร อันตรายยังไง?

6 โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พร้อมวิธีการป้องกัน ทำอย่างไรให้ไม่ติดโรค?

ที่มา : Facebook: หมอแล็บแพนด้า, bumrungrad

บทความโดย

Kanthamanee Phisitbannakorn