นับเป็นข่าวที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับข่าวเรื่องการท้องในวัยเรียน ที่ล่าสุดมีการประกาศว่า นร. ท้องวัยเรียน ห้ามสถานศึกษาไล่ออก หากต้องการย้ายหรือเปลี่ยนสถานศึกษา ให้เป็นไปตามเจตนาภรณ์หรือความตั้งใจ ของนักเรียนหรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์เท่านั้น
เมื่อเช้าวันนี้ (13 ธ.ค. 65) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ในส่วนสำคัญที่ว่าหาก นร. ท้องวัยเรียน ห้ามสถานศึกษาไล่ออก
โดยแก้ไขเพิ่มเติมข้อ 7 แห่งกฎกระทรวง กำหนดประเภทของสถานศึกษาและการดำเนินการของสถานศึกษา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2561 โดยให้เพิ่มเติมว่า “การย้ายสถานศึกษา ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของนักเรียน หรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์” เพื่อเป็นการคุ้มครอง ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง
โดยได้กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งสร้างโอกาสในการศึกษาที่เสมอภาค และต้องการให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาในระบบ จึงมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ กรณีที่มีนักเรียนนักศึกษาตั้งครรภ์ในวัยรุ่น แล้วต้องออกจากระบบการศึกษา ซึ่งในปี 2561 ได้ออกกฎการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ข้อ 7 ว่า “สถานศึกษาที่มีนักเรียน หรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้น ออกจากสถานศึกษา เว้นแต่เป็นการย้ายสถานศึกษา”
แต่ร่างกฎกระทรวงใหม่นี้ จะเพิ่มเติมเป็น “สถานศึกษาที่มีนักเรียน หรือนักศึกษาซึ่งตั้งครรภ์อยู่ในสถานศึกษา ต้องไม่ให้นักเรียนหรือนักศึกษานั้น ออกจากสถานศึกษา เว้นแต่เป็นการย้ายตามเจตนารมณ์ของนักเรียน หรือนักศึกษาที่ตั้งครรภ์” ซึ่งที่เปลี่ยนกฎข้อนี้ เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่จะคุ้มครอง ให้มีสิทธิได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง ไม่ถูกผลักดันให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ ออกจากสถานศึกษาเดิม จึงได้เสนอให้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในข้อ 7 ให้การย้ายสถานศึกษา ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้ เป็นการอุดช่องว่างสภาพปัญหาในทางปฏิบัติ ในกรณีที่สถานศึกษาบังคับนักเรียนที่ตั้งครรภ์ย้ายสถานศึกษา โดยที่นักเรียนไม่เต็มใจ แล้วต้องพบปัญหาในการหาสถานศึกษาเข้าใหม่
พ่อแม่ควรทำอย่างไร เมื่อลูกท้องในวัยเรียน
ท้องในวัยเรียน หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ส่วนใหญ่มักพบในช่วงอายุ 15-19 ปี โดยในบางกรณี อาจพบในเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ด้วยซ้ำ นับเป็นปัญหาที่เกิดจากการ ขาดการตัดสินใจที่ถี่ถ้วน นับเป็นวัยที่ยังไม่มีความพร้อม ในเรื่องความสามารถในการเลี้ยงดูทารกที่จะเกิดมา จึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของแม่และเด็ก การเรียน และอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมตามมา
จากสถิติของโครงการให้คำปรึกษา พบว่าวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ทราบว่าตนเองตั้งครรภ์ ได้ติดต่อขอรับคำปรึกษา เรื่องท้องไม่พร้อมในปี พ.ศ. 2561 – 2562 เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2557 – 2558 ทำให้วัยรุ่นที่ประสบปัญหานี้ มักเก็บเรื่องไว้กับตัวเอง ไม่กล้าบอกให้คนรอบข้างหรือครอบครัวรับรู้ เนื่องจากกลัวถูกตำหนิจากสังคม
จริงอยู่ที่ปัญหาท้องในวัยเรียน อาจทำให้พ่อแม่รู้สึกโกรธและผิดหวัง มีครอบครัวจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ยอมรับและเห็นว่า ปัญหาการท้องในวัยเรียน นับเป็นเรื่องที่ผิดพลาด ถึงขั้นไม่ควรให้อภัย แต่หากทราบว่าลูกกำลังตั้งครรภ์ สิ่งสำคัญที่สุดคือการพูดคุย ยอมรับ และดูแลเอาใจใส่ สุขภาพร่างกายของทั้งแม่และเด็กที่กำลังจะเกิดมา รวมทั้งการมอบความรักและให้การสนับสนุน เพื่อไม่ให้ลูกรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่ท่ามกลางปัญหา และสามารถใช้ชีวิตในสังคมต่อไปได้อย่างมีความสุข
ปัญหาสุขภาพที่ควรระวัง ระหว่างท้องในวัยเรียน
การตั้งครรภ์ในวัยเรียน อาจส่งผลกระทบต่อทั้งแม่และเด็ก โดยอย่างยิ่งในครอบครัว ที่ไม่ได้รับการเข้าใจ หรือความรัก และความเอาใจใส่เท่าที่ควร รวมไปถึง การไม่ได้รับการดูแลสุขภาพที่เหมาะสม อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่้เป็นอันตรายได้
- ปัญหาสุขภาพร่างกาย : เช่น ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์, ภาวะโลหิตจาง, โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, โรคหนองในเทียม, การติดเชื้อ HIVs, การคลอดก่อนกำหนด, ทารกน้ำหนักตัวน้อย หรือมีความผิดปกติแต่กำเนิด
- ปัญหาสุขภาพจิต : เช่น ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด, โรคซึมเศร้าหลังคลอด, อาการแพนิค
บทความที่เกี่ยวข้อง : ท้องในวัยเรียน ท้องไม่พร้อม ท้องยังไม่พร้อม แต่ไม่อยากทำแท้ง ต้องทำยังไง
วิธีดูแลสุขภาพ เมื่อลูกท้องในวัยเรียน
เมื่อพ่อแม่ทราบว่าลูกตั้งครรภ์ อันดับแรกควรพูดคุยและรับฟังความรู้สึกของลูกด้วยเหตุผล ให้ลูกพูดคุยกับคนรัก เพื่อร่วมกันตัดสินใจ โดยพิจารณาความพร้อมและปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การตัดสินใจให้กำเนิดและเลี้ยงทารกเอง การให้ผู้อื่นรับเป็นบุตรบุญธรรม หรือการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถทำได้อย่างถูกกฎหมาย ในกรณีที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์
ผู้ปกครองควรติดต่อโรงเรียนที่ลูกกำลังศึกษาอยู่ เพื่อให้รับทราบถึงสถานการณ์นี้ร่วมกัน นอกจากนี้ การดูแลสุขภาพขณะตั้งครรภ์เป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย เพราะร่างกายของแม่วัยรุ่น ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ และมักมีสภาวะจิตใจที่อ่อนไหวง่าย ผู้ปกครองควรดูแลลูกที่ท้องในวัยเรียน ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
1. เริ่มฝากครรภ์และไปพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
โดยแพทย์จะตรวจสุขภาพครรภ์และให้คำแนะนำในการสุขภาพของแม่และลูกในท้อง สั่งจ่ายยาและวิตามินที่จำเป็นสำหรับบำรุงครรภ์ ฉีดวัคซีนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ และรักษาอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์
2. เข้าอบรมการเตรียมตัวเป็นคุณแม่มือใหม่
เช่น เรียนรู้วิธีการดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ พัฒนาการของทารกในครรภ์ กลไกการคลอด การให้นม และวิธีดูแลทารกหลังคลอด
3. รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และดื่มน้ำให้เพียงพอ
โดยคุณแม่ท้องควรได้รับพลังงานรวม วันละ 2,000–2,300 กิโลแคลอรี และได้รับสารอาหารประเภทโปรตีน ธาตุเหล็ก ไอโอดีน แคลเซียม และโฟเลตในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการที่สมบูรณ์ของลูกน้อย
4. ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างสม่ำเสมอ
โดยอาจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ช่วยวางแผนการออกกำลังกายเหมาะสม กับความสามารถของคุณแม่ และความปลอดภัยของทารกในครรภ์ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ หรือการเล่นโยคะ
5. พักผ่อนให้เพียงพอ
ท่านอนที่เหมาะสมคือ การนอนตะแคงและงอเข่าเล็กน้อย เพื่อไม่ให้น้ำหนักมดลูกที่เพิ่มมากขึ้น กดทับและขัดขวางการไหลเวียนเลือดในร่างกาย หรือใช้หมอนสอดไว้ระหว่างขา เพื่อให้นอนหลับสบายยิ่งขึ้น
6. ดูแลสภาพจิตใจของตนเองอยู่เสมอ
โดยทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด เช่น ฟังเพลงสบาย ๆ พูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อน หรือปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการจัดการ กับความเครียดและความวิตกกังวล
7. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มอันตราย
ซึ่งรวมไปถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมทั้งการสูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด
ผู้ปกครองมีบทบาทสำคัญ ในการดูแลวัยรุ่นที่ท้องในวัยเรียน โดยการมอบความรักและความเอาใจใส่ ทั้งด้านสุขภาพร่างกายของแม่และทารกในครรภ์ และสุขภาพจิตใจ โดยรับฟังและคอยอยู่เคียงข้าง ในวันที่ลูกเผชิญกับความยากจะลำบาก ทั้งนี้หากพบปัญหา หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการท้องในวัยเรียน สามารถติดต่อสายด่วนให้คำปรึกษาได้ที่หมายเลข 1663 หรือโทรขอคำปรึกษาจากสายด่วนกรมสุขภาพจิต หมายเลข 1323 ได้ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
6 ข้อเตือนสติ มีลูกเมื่อพร้อม ต้องพร้อมเรื่องอะไร ทำตัวแบบไหนอย่าเพิ่งมีลูก
คุณแม่วัยใส ท้องไม่พร้อม ควรรับมืออย่างไร? มาดูกัน
ยุติการตั้งครรภ์ หรือ การทำแท้งลูกอย่างถูกกฎหมาย