ในปัจจุบันสถิติเด็กหายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งปัญหาเด็กหายจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังท้าทายคนในสังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดมา สังคมออนไลน์จะมีส่วนช่วยแก้ไขได้อย่างไร ระบบ AMBER Alerts จะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาเด็กหายที่ท้าทายสังคมไทยได้มากน้อยแค่ไหน มาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กัน
AMBER Alerts คืออะไร?
แอมเบอร์อะเลิตส์ คือระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน (Rapid emergency child alert system) เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการระบุเบาะแส เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถช่วยเหลือเด็กที่ถูกลักพาตัวได้อย่างทันท่วงที โดย แอมเบอร์อะเลิตส์ จะใช้ในกรณีเด็กถูกลักพาตัว หรือมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัสเท่านั้น
ทั้งนี้ งานวิจัยในต่างประเทศ ได้ชี้ว่า ในกรณีเด็กถูกลักพาตัว 3 ชั่วโมงแรกหลังจากเด็กหาย คือช่วงเวลา ที่สำคัญที่สุด หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าว อัตราการช่วยเหลือเด็กให้กลับมาอย่างปลอดภัยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย ด้านสถานการณ์ที่เด็กหายตัวไป และความเสี่ยง หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเด็กด้วย
ดังนั้น หนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการช่วยค้นหาเด็กถูกลักพาตัวในต่างประเทศ คือ ระบบการแจ้งเตือนฉุกเฉิน (Rapid emergency child alert system) โดยระบบแจ้งเตือนระบบแรก ก่อตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2539 ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่น้อง แอมเบอร์ ฮาเกอร์แมน (Amber Hagerman) เด็กหญิงวัย 9 ขวบ ที่ถูกลักพาตัวขณะขี่จักรยานในเมืองอาร์ลิงตัน รัฐเท็กซัส และต่อมาพบว่าถูกฆาตกรรม
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกหายไปต้องทำยังไง และสิ่งพ่อแม่ที่ควรสอนลูก หากเกิดพลัดหลงกัน
คดีแอมเบอร์ ฮาเกอร์แมน เด็กหายที่เป็นจุดเริ่มต้น
13 ม.ค. 2539 ที่สหรัฐอเมริกา พี่น้องคู่หนึ่งออกไปเล่นนอกบ้าน โดยที่เด็กหญิงตัดสินใจจะขี่จักรยานออกไปไกลจากที่พ่อแม่บอกไว้ ส่วนน้องชายได้ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านก่อน แต่น้องชายก็ได้ถูกท้วงให้ไปตามพี่สาวกลับบ้าน เขาจึงรีบขี่จักรยานไป แต่ก็พบว่าพี่สาวหายตัวไป เหลือเพียงแค่จักรยานคู่ใจของเด็กหญิงเท่านั้น
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น มีชายชราที่อยู่ใกล้กับห้างได้โทรไปแจ้งความว่า เห็นเด็กผู้หญิงร้องโวยวายโดนจับตัวขึ้นรถปิกอัพสีดำ และขับรถหายไปบนไฮเวย์ที่อยู่ใกล้เคียง และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของคดีลักพาตัวเด็กหญิง แอมเบอร์ ฮาเกอร์แมน (Amber Hagerman)
แถมข่าวร้ายยังเดินเข้ามาถึงอย่างรวดเร็ว เพราะในวันที่ 17 ม.ค. ปีเดียวกัน มีผู้ชายคนหนึ่งได้พบร่างเด็กผู้หญิงนอนเปลือยอยู่ริมทางระบายน้ำห่างออกไปราว 8 กิโลเมตร เมื่อมีการชันสูตรพลิกศพก็พบว่าเด็กหญิงมีรอยแผลช้ำ ถูกปาดคอ และถูกล่วงละเมิดทางเพศ ข่าวการหายตัวและข่าวการฆาตกรรมของเด็กหญิงคดีนี้ กลายเป็นข่าวใหญ่ในหน้าสื่อของสหรัฐอเมริกา
ระบบแจ้งเตือนแอมเบอร์อะเลิตส์ ในปัจจุบัน
ในปัจจุบันหลายประเทศได้นำระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินแอมเบอร์อะเลิตส์มาใช้ โดยใช้ชื่อระบบเดียวกันกับสหรัฐอเมริกา แต่บางประเทศก็ใช้ชื่ออื่นในการเรียกระบบแจ้งเตือนฉุกเฉินของตนเอง แต่ทั้งนี้ ระบบทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกัน คือ กระตุ้นชุมชนเพื่อช่วยในการค้นหาเด็กที่ถูกลักพาตัวให้กลับมาอย่างปลอดภัย
สำหรับประเทศไทยนั้น จะเริ่มเปิดใช้ระบบแจ้งเตือนฉุกเฉิน กรณีเด็กถูกลักพาตัว หรือ แอมเบอร์อะเลิตส์ ครั้งแรกในวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ด้วยความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน โดย Meta Inc. และภาครัฐ โดยสอบสวนกลาง (CIB) ทั้งนี้ พล.ต.ท. จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้กล่าวว่า “คดีลักพาตัว เป็นคดีที่ทางสอบสวนกลางให้ความสำคัญ ซึ่งการช่วยเหลือเด็กที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ การร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน ในการแจ้งเบาะแสผู้พบเห็นเด็กที่ถูกลักพาตัวให้เจ้าหน้าที่ทราบ เพื่อเข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดย แอมเบอร์อะเลิตส์ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือเด็ก ในประเภทคดีลักพาตัว โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ระบบได้ช่วยเหลือเด็กแล้วกว่า 1,114 คน”
ทำไมต้องใช้ระบบAMBER Alerts?
แอมเบอร์อะเลิตส์ จะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนภายในชุมชน ช่วยกันดูแลสอดส่องและตามหาเด็กหรือเยาวชนที่สูญหายภายในพื้นที่ของพวกเขา ฟีเจอร์นี้บน Facebook และ Instagram จะเริ่มให้บริการในประเทศไทย ตั้งแต่วันนี้ (25 ส.ค. 2565) โดยประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 27 ที่มีการเปิดตัวระบบแอมเบอร์อะเลิตส์ในระดับโลก และนับเป็นประเทศที่ 6 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ติดโซเชียลหนักมาก… ระวังโพสต์รูปลูก ๆ บ่อยจะเกิดอันตราย
กระบวนการพิจารณาเปิดใช้งาน ระบบแอมเบอร์อะเลิตส์
เพื่อให้แน่ใจว่า ระบบแจ้งเตือนแอมเบอร์อะเลิตส์ ไม่ได้ถูกใช้มากเกินความจำเป็นหรือน้อยเกินไป เรามีระเบียบการพิจารณาการเปิดใช้งาน AMBER Alerts โดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีความชำนาญในคดีลักพาตัว โดยจะมีการประเมินในประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ความเสี่ยงต่อเด็กมีอะไรบ้าง
- มีข้อมูลเพียงพอเพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยเจ้าหน้าที่ในการระบุเบาะแสที่เกี่ยวข้องกับเด็กหรือไม่?
- สื่อได้เผยแพร่เรื่องเด็กหายครอบคลุมแล้วหรือยัง?
- หากมีการเปิดใช้ระบบแจ้งเตือน AMBER Alerts ผลจะเป็นเช่นไร?
หลักเกณฑ์ในการเปิดใช้งานแอมเบอร์อะเลิตส์
แนวทางการใช้งาน ระบบแอมเบอร์อะเลิตส์ โดยระบบนี้จะสงวนไว้สำหรับกรณีที่ร้ายแรงมากเท่านั้น เกณฑ์ในการเปิดใช้งานระบบนี้ในประเทศไทย มีดังนี้
- สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี : โดยแอมเบอร์อะเลิตส์จะใช้สำหรับกรณีที่คนหายเป็นเด็กอายุไม่ถึง 18 ปีเท่านั้น
- แจ้งความใน สน./สภ. ที่เด็กสูญหายแล้ว : ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน (เจ้าหน้าที่ตำรวจ) ในพื้นที่ที่เด็กหรือเยาวชนถูกลักพาตัวแล้ว
- ดุลยพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมาย : ผู้บังคับใช้กฎหมายมีความเชื่อตามสมควร (reasonable belief) ว่าเด็กถูกลักพาตัวและ/หรือมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บสาหัส
- ข้อมูลเพียงพอ : มีข้อมูลเพียงพอเพื่อให้ประชาชน สามารถช่วยเจ้าหน้าที่ในการระบุเบาะแส ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เช่น คำอธิบายของเสื้อผ้า, ภาพถ่าย, หรือ คำอธิบายของยานพาหนะที่เด็กถูกพบเห็นครั้งสุดท้าย เป็นต้น
สถิติเด็กหายในประเทศไทย
ในช่วง 4 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี 2562 – 2565 ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเด็กหายกว่า 130 ราย โดยเจอเด็กที่หายจำนวน 72 ราย คิดเป็น 56% และอยู่ระหว่างการติดตาม 58 ราย คิดเป็น 44% ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่า เด็กหายนั้นมีหลายสาเหตุ ทั้งสมัครใจหนีออกจากบ้านเอง หนีปัญหาจากเศรษฐกิจ (หนีหนี้) มีอาการป่วย หรือถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไปค้ามนุษย์ เป็นต้น โดยการหายที่เกิดจากการถูกลักพาตัวหรือล่อลวงไปค้ามนุษย์ จะอยู่ที่ประมาณ 5% ของเด็กสูญหายทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามองแค่สถิติ เราอาจจะคิดว่าตัวเลขคดีมันไม่ได้เยอะ แต่หากเรามาดูที่เนื้อหาเคสเด็กถูกลักพาตัวในไทยแล้ว เราจะเห็นว่า เคสเหล่านี้อาจจะเกิดน้อยก็จริง แต่เวลาเกิดแล้ว มันกระทบจิตใจของคนในสังคมเป็นอย่างมาก ซึ่งหลายครั้งเจ้าหน้าที่สามารถติดตามช่วยเหลือเด็กเหล่านั้นได้ แต่ก็มีบางเคสที่เราไม่สามารถช่วยเหลือได้ทัน นำมาซึ่งความสูญเสีย เช่น เคสน้องการ์ตูนในปี 2556 หรือน้องชมพู่ ในปี 2563 ที่ผ่านมา
ข้อความแจ้งเตือนใน แอมเบอร์อะเลิตส์
ข้อความแจ้งเตือนในระบบแอมเบอร์อะเลิตส์จะสั้นและกระชับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนช่วยเจ้าหน้าที่ ระบุเบาะแสที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ให้การช่วยเหลือโดยข้อความแจ้งเตือนจะประกอบไปด้วย
- ชื่อเด็กที่สูญหาย
- อายุของเด็ก
- สถานที่พบเด็กครั้งสุดท้าย
- ชุดที่เด็กสวมใส่
- ข้อมูลเด็กที่อยู่ร่วมกับผู้ใหญ่ ครั้งสุดท้าย
- ข้อมูลยานพาหนะ
วิธีสอนลูกป้องกันตัวเอง จากการถูกลักพาตัว
1. จำชื่อและเบอร์พ่อแม่ให้ได้
สอนให้ลูกจำชื่อนามสกุลจริงทั้งของตัวเองและของคุณพ่อคุณแม่ รวมถึงหมายเลขโทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และหมายเลขสำคัญ เช่น 191 หรือ 1599 (ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติ) ถือเป็นประโยชน์ในกรณีที่หลงทางอีกด้วยนะคะ
2. ไม่ปล่อยให้อยู่คนเดียว
ถ้าเป็นไปได้ อย่าปล่อยให้ลูกอยู่บ้านตามลำพัง แต่หากมีความจำเป็น ต้องสอนให้ลูกรู้จักระมัดระวังตัว และบอกคนแปลกหน้าว่าไม่ได้อยู่คนเดียว และอย่าเปิดประตูบ้านให้คนแปลกหน้าเด็ดขาด หรือถ้าอยู่ที่โรงเรียนให้อยู่ในเขตรั้วโรงเรียนเท่านั้นค่ะ
3. สอนให้ห่างจากรถอื่น
รถจอดเทียบนั้น ถือได้ว่าเป็นสาเหตุของการลักพาตัวเด็กได้โดยง่าย สอนให้ลูกอยู่ห่างจากรถที่มาจอดเทียบใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถเก๋ง หรือรถจักรยานยนต์ ถึงแม้จะรู้จักลูกมาก่อนก็ตาม ให้เดินไปในที่ที่มีคนเยอะ ๆ หรือไปหาป้อมตำรวจที่อยู่ใกล้ที่สุดค่ะ
4. สอนอย่ารับของจากคนแปลกหน้า
สอนให้ลูกอย่ารับของจากคนแปลกหน้าเด็ดขาด เพราะคนร้ายส่วนใหญ่จะอาศัยวิธีการให้ขนมหรือของเพื่อตีสนิทจนพาไปสู่การลักพาตัวได้ค่ะ
5. นัดสถานที่คุ้นเคย
หากต้องการนัดกับลูก ขอให้นัดในที่ที่เด็กคุ้นเคย เช่น ร้านประจำ ร้านสะดวกซื้อ ป้อมตำรวจ หรือสถานที่ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด ลูกจะได้ปลอดภัยและไปได้สะดวกอีกด้วยค่ะ
6. อย่าทิ้งในรถลำพัง
อย่าปล่อยให้เด็กรอในรถโดยลำพังโดยเด็ดขาด แม้จะเข้าไปทำธุระเพียงไม่กี่นาทีก็ตาม เพราะคนร้ายอาจใช้ช่วงเวลานี้ลักพาตัวลูก ขโมยรถแล้วเอาทรัพย์สินในรถ หรือลูกอาจขาดอากาศหายใจได้ ทางที่ดีควรพาลูกไปกับคุณแม่ไปด้วยจะดีมากค่ะ
7. ไม่ให้เล่นในที่เปลี่ยว
ควรสอนลูกไม่ให้ไปเล่นในที่เปลี่ยว ที่รกร้าง ที่ลับตาคน แม้ว่าที่นั้นจะเป็นที่ที่คุ้นเคยก็ตาม ทางที่ดีควรเป็นที่ที่อยู่ในสายตาของคุณแม่ ลูกจะได้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้นค่ะ
อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีเด็กหายจากการถูกลักพาตัว งานวิจัยในต่างประเทศ ได้ชี้ว่า 3 ชั่วโมงแรกหลังจากเด็กหาย คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด หลังจากผ่านพ้นช่วงเวลาดังกล่าว อัตราการช่วยเหลือเด็ก ให้กลับมาอย่างปลอดภัย จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัย ด้านสถานการณ์ที่เด็กหายตัวไป และความเสี่ยง หรืออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเด็กด้วย หากพบเบาะแสสามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน 1195
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
บริษัทน้ำดื่มเจ๋ง! ช่วยประกาศหาเด็กหายบนขวดน้ำ
ล้อเลียน ! ทำร้ายจิตใจเด็ก ! 6 เรื่องที่คุณไม่ควรนำมาล้อเด็ก ๆ ไม่ดี อย่าทำ
ป้องกันเด็กหาย!!! เริ่มที่พ่อแม่สอนลูกให้ถูกทาง
ที่มา : drama-addict , thaiamber.org