ลมพิษจากการอักเสบของหลอดเลือด
น้องเอ (นามสมมติ) อายุ 10 ปี มีผื่นลมพิษทั้งตัวแแดงและคันมาก คุณแม่จึงซื้อยาแก้แพ้มาทานเองเกือบ 1 สัปดาห์ แต่อาการลมพิษของน้องเอก็ไม่หายและกลับแย่ลงกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีอาการไข้สูง และปวดข้อร่วมด้วย คุณแม่จึงพามาพบคุณหมอซึ่งแจ้งว่า อาการของน้องเออาจจะไม่ใช่ลมพิษธรรมดา คุณหมอได้ให้ยาและนัดติดตามอาการ ปรากฏว่าไม่ดีขึ้น จึงทำการตัดชิ้นเนื้อที่ผื่นส่งตรวจ ทำให้สามารถวินิจฉัยในเวลาต่อมาได้ว่าน้องเอเป็น ลมพิษจากการอักเสบของหลอดเลือด คุณหมอจึงได้อธิบายคุณแม่ดังนี้ค่ะ
ลมพิษจากการอักเสบของหลอดเลือดเป็นอย่างไร?
ลมพิษชนิดนี้จะมีลักษณะบวมแดงนูนคัน โดยมีข้อแตกต่างจากลมพิษทั่วไปดังนี้ค่ะ
- มีอาการเจ็บหรือแสบร้อนบริเวณผื่นลมพิษร่วมด้วย
- อาจมีจุดเลือดออกอยู่ด้านในของผื่นลมพิษ
- ผื่นจะอยู่นานโดยไม่ยุบเป็นเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง
- เมื่อผื่นหายจะมีรอยดำเป็นสีคล้ำอยู่ชั่วคราว ไม่เป็นลักษณะผิวปกติเหมือนลมพิษธรรมดา
- ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆร่วมด้วยได้แก่ มีไข้ ปวดข้อ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ซีด ต่อมน้ำเหลืองโต มีการอักเสบของไต
ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคอื่นๆที่พบร่วมกับผื่นลมพิษจากการอักเสบของหลอดเลือด ได้แก่ โรคในระบบของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรค SLE โรคติดเชื้อเรื้อรังเช่นไวรัสตับอักเสบ B และ C หรือเกิดจากการทานยาบางชนิดเช่นกลุ่ม NSAIDs ก็ได้
ทราบได้อย่างไรว่าเป็นลมพิษจากการอักเสบของหลอดเลือด?
คุณหมอจะวินิจฉัยโรคนี้จากอาการขอผู้ป่วยที่มีผื่นลมพิษและเป็นอยู่นานเกิน 24 ชั่วโมงเมื่อหายจะเป็นสีดำคล้ำ รวมทั้งมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น ร่วมกับการส่งตรวจชิ้นเนื้อของผิวหนัง และการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ได้แก่ การส่งตรวจเม็ดเลือด (Complete blood count) ตรวจค่าการอักเสบ ESR ตรวจปัสสาวะดูการอักเสบของไต และตรวจหาการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบ B และ C เป็นต้น
การรักษาลมพิษจากการอักเสบของหลอดเลือดทำได้อย่างไร?
เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้คุณหมอจะให้การรักษาโดยการให้ยาในกลุ่ม corticosteroid, ยาแก้แพ้ antihistamine, ยาลดการอักเสบ NSAIDs และอาจพิจารณาให้ยาอื่นๆ เช่น colchicine, hydroxychloroquine เป็นต้น โดยจะมีการนัดผู้ป่วยเพื่อติดตามอาการและปรับยาเป็นระยะ คุณหมอจะพิจารณาลดการให้ยาลงเมื่ออาการของโรคสงบลง จนหายสนิท
การดำเนินโรคของลมพิษจากการอักเสบของหลอดเลือดเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยโรคนี้โดยทั่วไปมักมีอาการไม่รุนแรง และจะหายจากโรคได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีโรคอื่นๆที่พบร่วมด้วย เช่น SLE อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ซึ่งทำให้มีการดำเนินโรคและการพยากรณ์ของโรตที่แตกต่างกันไปตามความรุนแรงของโรคที่พบร่วมนั้นด้วยค่ะ
หากลูกมีอาการลมพิษที่ไม่รุนแรงคุณพ่อคุณแม่อาจให้ทานยาแก้แพ้ก่อนได้ในเบื้องต้น แต่หากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรืออาการลมพิษเป็นแบบรุนแรง หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วยเช่น ไข้สูง ปวดข้อ ปวดศีรษะรุนแรง หายใจหอบเหนื่อย ก็ควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจวินิจฉัย และให้การรักษาอย่างถูกต้องจะได้ไม่กลายเป็นลมพิษเรื้อรังอีกครั้ง หากอาการลมพิษนั้นไม่ใช่ลมพิษธรรมดาแต่เป็นลมพิษจากการอักเสบของหลอดเลือด ดังเช่นตัวอย่างผู้ป่วยรายนี้ คุณหมอก็จะได้ให้การรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการอักเสบของหลอดเลือดในอวัยวะที่สำคัญของร่างกายนะคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
8 ต้นไม้มีพิษต่อเด็ก ก่อเกิดอาการแพ้ ผื่นเเดง คันคะเย่อ ควรหลีกเลี่ยง
ไหลตายในเด็ก SIDS โรคไหลตายในทารก พรากชีวิตทารกจากอ้อมอกแม่ไปตลอดกาล
ล้างจมูก วิธีล้างจมูกให้ลูก ลูกป่วยภูมิแพ้ เป็นหวัด มีน้ำมูก ล้างจมูกให้ลูกโล่ง ช่วยให้ทารกหายป่วยไว
โรค 4s คือ อะไร ทารกไข้ขึ้น มีผื่นแดง ลูกผิวหนังลอก คล้ายน้ำร้อนลวก ต้องรีบไปโรงพยาบาล