ฝึกให้ลูกคนโตรักน้องตั้งแต่อยู่ในท้อง ฝึกแบบไหนดี?
ฝึกให้ลูกคนโตรักน้องตั้งแต่อยู่ในท้อง คงเป็นเรื่องที่คุณแม่หลายคนกังวลอย่างมาก เพราะกลัวว่าลูกคนแรกจะไม่เข้าใจ เกิดอาการขี้อิจฉาน้อง ไม่รักน้อง และกลายเป็นเด็กที่เรียกร้องความสนใจ พูดไม่รู้เรื่อง หากคุณแม่กำลังเผชิญกับปัญหานี้อยู่ แนะนำให้ลองทำตามคำแนะนำจากประสบการณ์จริงของคุณแม่ลูกสองคนนี้ดูนะคะ
วิธีทำให้พี่รักน้องตั้งแต่อยู่ในท้อง
จะเป็นเรื่องที่ดีมากถ้าคุณบอกลูกคนพี่ของคุณถึงการมาของน้องคนใหม่ในครอบครัว ในขณะที่คุณกำลังตั้งครรภ์อยู่ ก่อนอื่นคุณต้องแสดงความรักที่คุณมีต่อเขาอย่างชัดเจนก่อน คอยบอกรักเขาบ่อย ๆ กอดและหอมแก้มเขาจนเขารู้สึกได้ถึงความรักที่คุณมีให้กับเขา และเมื่อท้องของคุณโตขึ้นเรื่อย ๆ คุณค่อยบอกเค้าว่าคุณกำลังมีเบบี๋อยู่ในท้องของคุณอีกคน
และจะดียิ่งขึ้นหากคุณหาหนังสือที่เกี่ยวกับเด็กที่อยู่ในท้องของแม่ ลองเอามาอ่านให้ลูกคนพี่ของคุณฟังก่อนที่เขาจะเข้านอน คุณลองคุยกับลูกของคุณในท้องแล้วให้ลูกของคุณทำตาม ให้เขาบอกรักน้องของเขาในท้องของคุณ ให้ลูกคุณกอดท้องของคุณเพื่อให้เขารู้สึกว่ากำลังกอดน้องตัวเอง และเมื่อคุณให้เขาทำอย่างนี้บ่อย ๆ ลูกของคุณจะเกิดความรู้สึกรักและผูกพันกับน้องของเขาในท้องของคุณเองไปโดยปริยาย คุณอาจจะพาลูกคนโตไปดูน้องในท้องขณะที่คุณไปตรวจครรภ์ด้วยก็ได้ ให้เขาได้มีส่วนร่วมในทุก ๆ ด้าน
วิธีเหล่านี้คือวิธีที่คุณแม่คนหนึ่งใช้เมื่อเธอให้กำเนิดลูกคนที่สองในขณะที่ลูกคนแรกของเธออายุ 2 ขวบ และใช้วิธีเดิมกับลูกคนที่สาม ลูก ๆ แต่ละคนก็รับและปรับตัวเข้าหาสมาชิกใหม่ได้เร็วมาก เป็นเพราะตัวคุณแม่และคุณพ่อเองคอยให้ความรักและการเอาใจใส่แก่ลูกอยู่เสมอ ๆ ในขณะเดียวกันกับที่ต้องเตรียมตัวต้อนรับสมาชิกใหม่ไปด้วย
เมื่อลูกคนแรกกลายเป็นพี่คนโต ควรรับมือยังไง
เมื่อลูกคนเล็กเกิดแล้ว ให้ลูกคนพี่ของคุณอุ้มน้องของเขาดู แต่ระวังให้เธออุ้มเด็กดี ๆ ด้วยล่ะ ระวังไม่ให้ลูกคุณอุ้มเด็กเล็กแน่นเกินไป บอกลูกของคุณว่าเขามีหน้าที่จะต้องเป็นพี่ที่ดี คอยดูแลน้อง ให้ลูกคุณทำอะไรนิดหน่อยให้กับน้อง เวลาอาบน้ำให้ลูกคนเล็ก ลองขอให้ลูกคนพี่มาช่วยถูแขน ถูขาน้องให้ เมื่อคุณใส่เสื้อผ้าให้เจ้าตัวเล็ก ให้เจ้าตัวใหญ่หยิบเสื้อผ้ามาให้ และเมื่อใดก็ตามที่คนเล็กดื่มนมขวด ลองให้คนพี่เป็นคนถือขวดนมให้
คุณสามารถอ่านหน้าที่ของพี่ที่ดีจากหนังสือให้ลูกคนพี่ฟังเป็นระยะ ๆ ลูกคุณอาจจะทำเป็นอ่านหรือพูดตามคุณไปเรื่อย ลองให้ลูกคุณมาดูรูปร่างหน้าตาน้อง รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ ที่ทั้งเล็กทั้งบอบบาง ให้เขารู้สึกว่าต้องทะนุถนอมน้องของเขาให้ดี
อย่าลืมคอยแสดงความรักความเอาใจใส่ที่คุณมีแด่ลูกคนโตของคุณอย่าให้ขาดด้วย ให้เขารู้ว่าเรายังรักเขาเหมือนเดิมแม้จะมีสมาชิกใหม่เข้ามาอยู่ในบ้าน แม้บางครั้งลูกคนพี่อาจจะไม่ใส่ใจในตัวน้องมากนัก ก็อย่าเพิ่มไปบังคับอะไรเขามาก ให้ลูกของคุณทำอะไรตามใจไปก่อน เพื่อให้เขาหาวิธีที่จะยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น
เด็กบางคนก็ปรับตัวได้ง่ายมาก แต่บางคนก็ทำไม่ได้ง่าย ๆ เด็กบางคนก็รับไม่ได้ที่ตนเองจะไม่ได้เป็นเด็กคนเดียวของบ้านอีกต่อไป แต่คุณช่วยให้เขาเปลี่ยนทัศนคติได้โดยการมอบความรักและเอาใจใส่เขาเป็นประจำ เมื่อใดก็ตามที่เห็นลูกคนโตมีทีท่าแสดงความอิจฉาตัวน้อง คุณต้องรีบทำให้เขามั่นใจว่าคุณยังรักเขาเท่าเดิม เท่ากับน้องของเขา
อย่าต่อว่าหรือตำหนิเขารุนแรงเด็ดขาด ถ้าลูกคนโตมีทีท่าอาการโกรธหรือไม่พอใจเกิดขึ้น บอกเขาว่าการกระทำของเขาอาจทำร้ายน้องของเขาเอง อย่ารีบเร่งอะไรในตัวลูกคนโตให้ดูแลน้องของเขามากนัก เมื่อเวลาผ่านไปเขาจะกลายเป็นพี่ที่ดีที่คุณจะภูมิใจในตัวเขาได้อย่างแน่นอน
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
สอนพี่ให้รักน้อง สอนลูกคนโตให้ดูแลน้อง เทคนิคการเตรียมพี่ให้รักน้อง ประสบการณ์คุณหมอลูกสอง
11 เคล็ดลับสอนให้พี่น้องรักกัน (ไม่ใช่เรื่องยาก)