Time out การลงโทษแบบสงบ หยุดพฤติกรรมแย่ ๆ ของลูกน้อยได้ คุณแม่หลาย ๆ คนคงสงสัยใช่ไหมว่า การลงโทษแบบไม่ใช้กำลังมีวิธีอะไรบ้าง หรือลงโทษลูกอย่างไรให้เบา แล้วลูกน้อยของเราจะไม่ทำอีก
ลงโทษแบบ Time out แต่สยบลูกน้อยอย่างได้ผล
Time out คืออะไร
ผศ.นพ.วิฐารณ บุญสิทธิ กล่าวถึง Time out ไว้ดังนี้ Time out คือ การแยกเด็กออกจากสิ่งกระตุ้นหรือความสนใจจากสิ่งรอบข้างชั่วคราว เพื่อให้เขาสงบและควบคุมตนเองได้ เรียกว่า เพื่อหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อให้เด็กได้สงบสติอารมณ์ แต่ไม่ใช่การกักขังลูกในห้องอย่างเด็ดขาด ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่ใช่การ Time out เพราะการกระทำเช่นนี้ ยิ่งกระตุ้นอารมณ์ด้านลบ อารมณ์โกรธ โมโหของเด็กให้พลุ่งพล่านออกมามากกว่า และอาจมีผลเสียอื่น ๆ ตามมาด้วย
เด็กในวัยใดสามารถใช้วิธี Time out ได้
วิธีการนี้เหมาะที่จะใช้กับเด็กในช่วงอายุ 2 – 3 ขวบ เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มรู้จักการรักษากฎต่าง ๆ วิธีการดูว่าลูกรู้จักการ รักษากฎแล้วหรือยัง เช่น ดูว่าลูกสามารถจับผิดพ่อแม่เมื่อพ่อแม่ไม่ทำตามกฎที่ครอบครัวไว้ เช่น ถ้าพ่อแม่ห้ามกินขนมบนที่นอนหากลูกมาเห็นพ่อแม่กินอยู่แล้วพูดว่า “แม่กินขนมบนที่นอนไม่ได้ ” นั่นแสดงว่าลูกรู้จักกฎและการรักษากฎแล้ว เป็นต้น
สำหรับเด็กอายุ 2 ขวบ ควรเริ่มจากระยะเวลาสั้น ๆ เช่นประมาณ 30 วินาที หรือ 1 นาที ระยะเวลาที่เหมาะสมอาจจะดูเป็นกรณีไป เวลาที่ดีควรเป็นเวลาที่พอประมาณ ให้เด็กสามารถสงบสติอารมณ์ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : 9 วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อลูกเริ่มก้าวร้าว
สิ่งสำคัญต้องให้เด็กรู้เหตุผลในการ Time out
เมื่อครบเวลาควรทบทวนกับเด็กสั้น ๆ ว่าเขาต้องอยู่ใน Time out เพราะเหตุใด เช่น “พ่อให้หนูนั่งสงบตรงนี้เพราะหนูขว้างของ คราวหลังถ้าหนูโกรธก็บอกได้นะไม่ต้องขว้างของ ตอนนี้หนูใจเย็นแล้วไปเล่นต่อได้” แล้วให้เด็กไปมีกิจกรรมอื่น ๆ ตามปกติ ควรหลีกเลี่ยงการสอนที่ยาวหรือการพูดตำหนิติเตียน
ถ้าลูกไม่ยอมอยู่ใน Time out พ่อแม่ต้องทำอย่างไร
แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
1. ถ้าเด็กไม่ยอมนั่งสงบ พ่อแม่ควรจับตัวเด็กให้นั่งบนเก้าอี้ที่กำหนดไว้ โดยจับทางข้างหลังเก้าอี้แล้วรวบแขน 2 ข้างของเด็กกอดไว้ เมื่อเด็กเริ่มสงบจึงปล่อยแขนแล้วเริ่มจับเวลา เด็กอาจต่อต้านในระยะแรก แต่ถ้าปฏิบัติอย่างเอาจริงและสม่ำเสมอ เด็กก็จะยอมตามในที่สุด พ่อแม่ควรพูดชมเด็กเมื่อเขายอมนั่งและสงบลงได้
2. ในบางกรณีเด็กอาจจะแสดงท่าทีว่าไม่เดือดร้อนเมื่อพ่อแม่ให้อยู่ใน Time out เช่น อาจแสดงสีหน้ายั่วยวน หรือพูดท้าทายว่าไม่สนใจ นั่นไม่ได้แปลว่าเด็กไม่เดือดร้อนจริง ๆ สิ่งสำคัญ คือ การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอของพ่อแม่ เมื่อเด็กได้รับการ Time out เขาจะเรียนรู้ที่จะสงบอารมณ์ได้ในที่สุด
ก่อน Time out พ่อแม่ต้อง Time in ก่อน
คำแนะนำของผศ.นพ.วิฐารณ บุญสิทธิ ที่ว่า ก่อน Time out พ่อแม่ต้อง Time in ก่อน คือ
1. การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของเด็กจะไม่ได้ผลเลย ถ้ามัวแต่เพ่งเล็งที่พฤติกรรมที่ไม่ดีเพียงอย่างเดียวโดยไม่ให้ความสนใจพฤติกรรมที่ดี
2. หากพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูกเพียงพอ หรือในเวลาปกติที่เขากำลังเล่นดี ๆ อย่างสงบ แต่จะตอบสนองต่อเมื่อลูกสร้างปัญหา เมื่อเขาร้องโวยวาย ขว้างปาของ หรือทะเลาะกันเท่านั้น ปัญหาพฤติกรรมเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่รู้จบ
3. พ่อแม่ต้องพยายามให้ความสนใจเด็กอย่างต่อเนื่องในเวลาปกติที่อาจเรียกว่า Time in ซึ่งอาจทำได้ด้วยวิธีการอยู่ใกล้ ๆ เด็ก แตะตัว โอบไหล่ พยักหน้าหรือยิ้มให้เป็นระยะ ๆ เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดีเขาจะได้ไม่รู้สึกว่าพ่อแม่จะสนใจเขาต่อเมื่อเขาทำผิดเท่านั้น หรือคิดว่าพ่อแม่พยายามจับผิดตนเองตลอดเวลา
4. เมื่อเขามีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ พ่อแม่ก็ควรช่วยให้เขาพยายามควบคุมตนเองด้วยการเบี่ยงเบนพฤติกรรมความสนใจออกจากสิ่งที่ไม่เหมาะสม เด็กจะไม่รู้สึกว่าตนเองถูกบังคับ การทำเช่นนี้จะช่วยให้เด็กมีความมั่นใจในความรักของพ่อแม่ และในคุณค่าของตนเอง ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญของการเติบโตอย่างมีสุขภาพจิตที่ดีต่อไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : เมื่อไหร่ควรลงโทษลูกแบบ time in หรือ time out
คำแนะนำการ Time out ให้ได้ผล
พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด โรงพยาบาลบีเอ็นเอช ได้แนะนำการทำ Time out ลูกอย่างได้ผล ไว้ดังนี้
1. เน้น Time in ก่อน Time out
เป็นลักษณะของการนำพลังด้านบวกมาเสริมแรงให้แก่ลูก ลูกควรได้รับการ Time in ก่อนอย่างเพียงพอมากกว่าที่จะได้รับการ Time out เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะรักษาพฤติกรรมดี ๆ ไว้มากกว่าการถูกทำโทษ
2. ต้อง Time out ทันทีที่ลูกทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
หรือไม่เหมาะสม ลูกจะได้เข้าใจว่าคุณพ่อคุณแม่ Time out ตนเองเพราะสาเหตุใด และที่สำคัญการ Time out ควรใช้เวลาเพียงสั้น ๆ เท่านั้น เพื่อให้ดูจริงจัง และจะทำให้เด็กเข้าใจว่าการกระทำของตนไม่ถูกต้องได้ง่ายขึ้น
3. บริเวณเงียบสงบ
คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกบริเวณในการทำ Time out เป็นส่วนที่แยกจากบริเวณที่มีการทำกิจกรรม ไม่ได้เป็นจุดศูนย์กลาง แต่เป็นมุมห้องที่คุณยังสามารถเห็นว่าลูกกำลังทำอะไร ลูกต้องนั่งบนเก้าอี้จนกว่าคุณจะบอกว่าหมดเวลา ถ้าเวลานานเกินไป เด็กเล็ก ๆ จะลืมว่า ทำไมถึงถูก Time out ถ้าลูกลุกก่อนถึงเวลาจะต้องเริ่มต้นใหม่
4. คำพูดเป็นสิ่งสำคัญ
พ่อแม่ไม่ควรพูดให้ลูกรู้สึกไม่ดีเมื่อเวลาเขาต้องถูก Time out พ่อแม่นั้นต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง อย่าขึ้นเสียง อาจใช้คำพูด เช่น “หยุดก่อนนะลูก พักสัก 1 นาที ลูกจะได้ใจเย็นลงแล้วเรามาคุยกันใหม่นะ” เป็นการสงบสติอารมณ์เจ้าตัวน้อย และพ่อแม่เองจะได้มีเวลาสักนิดเพื่อหาวิธีการแก้ปัญหา
5. โอบกอด
หลังจาก Time out แล้ว ให้คุณพ่อคุณแม่กอดลูกเพื่อให้ลูกมั่นใจว่าคุณรักเขามากนะ เพียงแต่การที่ลูกทำพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เหมาะสมนะจ๊ะ ไม่ควรทำก็เท่านี้เอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยงลูกแบบไม่ดุ ได้ผลดีกว่า ทำไมการเลี้ยงลูกแบบเข้าใจถึงเป็นทางที่ดีกว่า
สรุป การลงโทษที่ได้ผล มีหลักการว่าเด็กที่ถูกทำโทษ ต้องได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้น ถือเป็นบทเรียนสำคัญของชีวิตว่า ทุกสิ่งที่ได้กระทำ ย่อมมีผลตามมาเสมอ
จะเห็นว่าวิธีการทำโทษก็มีด้านบวก นอกจากการตี การดุว่า อาจทำให้เด็กหยุดพฤติกรรมเพียงชั่วคราว แล้วเขาก็จะกลับมาทำผิดได้อีก อย่างไรก็ตามคุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลากับลูกอย่างเพียงพอ ให้ความ ความเข้าใจ และการให้กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญ สอนทัศนคติในเชิงบวกให้แก่ลูก เพื่อให้ลูกได้มีความเชื่อมั่นในตนเอง และมีพฤติกรรมที่ดีปลูกฝังติดตัวของเขาต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.facebook.com/SuthiRa