สิ่งที่แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่อยากให้ทารกพิการ ต้องสังเกตดูให้ดี
แน่นอนว่า คุณพ่อคุณแม่ทุกคนย่อมปรารถนาให้ลูกคลอดออกมาครบสมบูรณ์ทั้ง 32 ประการ การดูแลครรภ์อย่างถูกต้อง และหลีกเลี่ยงสิ่งที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทารกในครรภ์เสี่ยงพิการ สิ่งที่แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงถ้าไม่อยากให้ทารกพิการ มีอะไรบ้าง ติดตามอ่าน
1. การดื่มเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์
แม่ท้องที่ติดเหล้าหรือดื่มเหล้ามากขณะตั้งครรภ์ จะทำให้เสี่ยงเกิดการแท้งได้มาก และเด็กตายระหว่างคลอดเพิ่มขึ้น เด็กในครรภ์เกิดอาการที่เรียกว่า ฟีตอลแอลกอฮอล์ซินโดรม (Fetal alcohol syndrome) คือ มีความพิการของส่วนศีรษะ, หน้า, แขน, ขา, และหัวใจ การเจริญเติบโตในครรภ์ช้าผิดปกติ อาจเป็นเด็กปัญญาอ่อน (Mental retardation) เด็กแรกคลอดบางรายจะแสดงอาการขาดเหล้า (Alcohol withdrawal) เช่น มีการร้องกวน ดิ้นและกระวนกระวายตลอดเวลา
2. แม่ท้องสูบบุหรี่
แม่ท้องที่สูบบุหรี่หรือได้รับสารเคมีในบุหรี่ จะทำลายโครโมโซมของทารก ทำให้ทารกตายแรกคลอด หรือทำให้ทารกเจริญเติบโตช้ากว่าปกติ มีน้ำหนัก ส่วนสูง รอบอกและรอบศีรษะต่ำกว่าเกณฑ์ ระบบประสาท ระบบการหายใจและหลอดเลือด พบว่า มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ภายหลังคลอดทันทีและมีแนวโน้มจะเป็นโรคหอบหืดเมื่อโตขึ้น มีอาการปวดท้อง โคลิก (colic) อาเจียน ท้องเสีย ลำไส้อักเสบ กระสับกระส่าย นอนหลับพักผ่อนน้อย มีอาการเหมือนคนขาดยา มีความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะแต่กำเนิดและเมื่อโตขึ้นเด็กอาจเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งในระบบต่าง ๆ ภายหลังคลอดทารกยังได้รับสารเคมีผ่านทางน้ำนมแม่อีกถ้าหากแม่ยังไม่เลิกสูบบุหรี่
3. แม่ท้องขาดโฟเลต
ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) กล่าวถึง ประโยชน์ของการทานโฟเลตของแม่ท้องว่า การรับประทาน “โฟเลต” สามารถป้องกันความพิการแต่กำเนิดได้เกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น หลอดประสาทไม่ปิด โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคปากแหว่งเพดานโหว่ แขนขาพิการแต่กำเนิด เป็นต้น
คำแนะนำจากคุณหมอ : การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การเตรียมความพร้อมก่อนตั้งครรภ์ ทานโฟเลต ก่อน 2-3 เดือน และได้รับต่อเนื่องไปถึงใน 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ เพราะ 28 วันแรกหลังจากปฏิสนธิมีความสำคัญมาก เป็นช่วงที่สร้างระบบประสาท และระบบอวัยวะทุกส่วนของร่างกาย และถ้าให้ดี ควรทานตั้งแต่วัยเจริญพันธุ์ อายุ 15-16 ปี เพราะ 50 เปอร์เซ็นต์ของการตั้งครรภ์มักไม่ได้วางแผนล่วงหน้า โฟเลตจึงมีความสำคัญมาก การมาทานหลังตั้งครรภ์แล้วอาจสายเกินไป”
4. การได้รับยาบางชนิดที่มีผลต่อทารก
ระหว่างที่ตั้งครรภ์แม่ท้องอาจเจ็บป่วย และจำเป็นต้องใช้ยาบางอย่างรักษา ยานั้นอาจเป็นพิษต่ออวัยวะของทารกในครรภ์ได้ เช่นคาควินิน ยาแอสไพริน ยาสเตร็ปโตมัยซิน และยาเพนนิซิลิน เป็นต้น แม่ท้องควรระมัดระวังในการใช้ยาให้มากที่สุด เพราะยาสามารถซึมผ่านรก ไปยังทารกในครรภ์ได้โดยง่าย อันตรายที่ร้ายแรงมากในแม่ท้อง การรับประทานยาที่มีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการ โดยเฉพาะระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ และใกล้คลอด นอกจากนี้ยังมียาอื่น ๆ ที่มีความเสี่ยงต่อทารก ได้แก่ ยาแก้อาเจียน แพ้ท้อง พวกธาลิโดไมด์ จะมีผลทำให้ทารกคลอดออดมาพิการ แขนขากุด มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ยากันชักพวกไฮแดนโทอิน มีผลทำให้ทารกที่คลอดออกมาหน้าแปลก ตัวเล็ก สติปัญญาอ่อน
5. สารเคมีอันตราย
การได้รับสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น แม่ท้องควรหลีกเลี่ยงการสูดดม หรือกินสารใด ๆ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสารที่ได้รับเข้าไปในร่างกายอาจมีผลทำให้ทารกเกิดมามีอาการผิดปรกติได้ เช่น
1. แม่ท้องที่ได้รับสารดีบุกจำนวนมากจะมีอัตราการแท้งสูง
2. การได้รับสารปรอทมีผลทำให้ทารกมีอาการพิการทางสมอง มีศีรษะลีบเล็ก ไม่เจริญเติบโต เป็นต้น
3. การที่ได้รับรังสีเอ็กซ์ (X – ray) มากเกินไป จะก่อให้เกิดการเจริญที่ผิดปรกติของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น หากต้องมีการตรวจรักษาด้วยการเอ็กซ์เรย์ (X – ray) ต้องแจ้งคุณหมอทราบทุกครั้งว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์
6. การติดเชื้อ
หากแม่ท้องได้รับเชื้อโรคบางอย่าง เช่น เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส โกโนเรีย เข้าสู่ร่างกาย เชื้อโรคดังกล่าวก็จะแพร่กระจายตามกระแสเลือดเข้าสู่ตัวอ่อน มีผลต่อทารกในครรภ์ทำให้ทารกที่คลอดออกมาพิการได้ ตัวอย่างเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการแต่กำเนิด ได้แก่
1. เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหัดเยอรมัน เชื้อโรคนี้จะแพร่ไปตามกระแสเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและเข้าสู่ตัวอ่อนไปทำลายกลุ่มเซลล์ที่จะเจริญไปเป็นอวัยวะบางอย่างของตัวอ่อน เช่น ตา หู หัวใจ จึงอาจมีผลทำให้ทารกที่คลอดออกมาตาบอด หูหนวก และหัวใจพิการได้ โดยเฉพาะถ้าแม่ท้องเป็นโรคหัดเยอรมันในช่วงตั้งครรภ์ได้ 2– 3 เดือน
2. เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคซิฟิลิส แม่ท้องที่เป็นโรคซิฟิลิสและไม่ได้รับการรักษา จะทำให้แท้งหรือเด็กเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือเกิดมาเป็นซิฟิลิสเนื่องจากได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าไป โดยเด็กจะมีอาการบวม ซีดเหลือง ผิวหนังลอก รวมทั้งอาการพิการ เช่น หูหนวกได้
3. เชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคโกโนเรีย แม่ท้องที่เป็นโรคโกโนเรียขณะที่คลอดเชื้อโรคอาจเข้าตาเด็กทำให้ตาบอดได้ ดังนั้น เมื่อเด็กคลอดออกมาจึงมีการหยอดตาเด็กด้วยยาฆ่าเชื้อโรค สำหรับผู้หญิงที่เป็นโรคนี้เรื้อรัง อาจมีอาการอักเสบของปีกมดลูก ทำให้ไข่เดินมาสู่โพรงมดลูกไม่สะดวก จึงเป็นสาเหตุให้เกิดมีการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้
4. เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเอดส์ แม่ท้องที่เป็นโรคเอดส์ สามารถถ่ายทอดเชื้อเอดส์ไปยังลูกได้ทางกระแสเลือด โดยทารกอาจได้รับเชื้อจากแม่ที่เป็นโรคเอดส์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือติดเชื้อขณะคลอด ซึ่งทำให้ทารกมีอาการสมองติดเชื้อ และปอดบวม แต่ส่วนใหญ่ทารกจะไม่ปรากฏอาการ จะปรากฏอาการเมื่อทารกอายุประมาณ 6 – 8 เดือน โดยมีน้ำหนักตัวลด ไม่เติบโตตามปรกติ ท้องร่วงเรื้อรัง ตับและม้ามโต เป็นต้น
เมื่อคุณแม่ทราบสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเช่นนี้แล้ว และปฏิบัติตนตามที่ได้รับคำแนะนำ จะมีส่วนช่วยป้องกันความพิการของทารกในครรภ์ได้เป็นอย่างดี
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.healthcarethai.com
แผ่บพับประชาสัมพันธ์ เรื่อง “ลูกในท้องพิการ” โดย คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ด้านสุขภาพสตรี ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ลูกในครรภ์โตช้าน้ำหนักน้อยเพราะอะไร?
แพทย์ชี้! ทานโฟเลตก่อนมีเซ็กส์ ป้องกันลูกพิการแต่กำเนิดได้