ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น เพราะพ่อแม่หรือเปล่า?
เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป เคยสงสัยไหมว่าการส่งลูกเข้าเรียนเร็วเกินไปจะส่งผลร้ายหรือให้ผลดี? การส่งลูกเข้าเรียนเร็วเกินไปอาจทำให้ ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเปล่า งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีคำตอบ!
พัฒนาการเด็กเปลี่ยนแปลงไว หรือเราคาดหวังมากเกินไป?
ความจริงแล้วพัฒนาการของเด็กไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่ผู้ใหญ่อย่างเราๆต่างหากที่คาดหวังจากเด็กมากเกินไป การส่งลูกเข้าโรงเรียนตั้งแต่อายุยังน้อย ทำให้เด็กเริ่มใช้เวลาในโรงเรียนเร็วเกินไป ถูกบังคับกลายๆให้ร่ำเรียนข้อมูลทางวิชาการทั้งๆที่พัฒนาการด้านการเรียนรู้ยังมีจำกัด
ในปัจจุบันเด็กๆวัยอนุบาลถูกคาดหวังให้อ่านหนังสือออกและควรกลายเป็นเด็กที่อ่านหนังสือได้คล่องในเวลาเพียงไม่นาน แต่ผลจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกลับแสดงผลลัพธ์ให้เห็นว่าการส่งลูกเข้าโรงเรียนตั้งแต่อายุยังน้อยอาจส่งผลเสียต่อเด็กมากกว่าผลดี
ในรายงานเรื่อง “การอ่านออกในวัยอนุบาล:ประโยชน์น้อยนิด แต่สูญเสียมหาศาล” (Reading in Kindergarten:Little to Gain and Much to Loss) ของศาสตราจารย์ด้านการศึกษา แนนซี่ คราลส์สัน-เพจช์ (Nancy Carlsson-Paige) และเพื่อนร่วมงานได้กล่าวถึงโทษจากการสอนการอ่านให้เด็กเล็กเร็วเกินไปว่า
“เมื่อเด็กต้องเข้ารับการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ หรือเร่งการเรียนรู้ด้านความต้องการพื้นฐานและได้รับการอบรมที่เกินกว่าวัย จะส่งผลเสียต่อตัวเด็กอย่างร้ายแรง รวมไปถึงการทำให้เด็กรู้สึกว่าตนเองบกพร่อง มีความวิตกกังวลและเกิดความสับสนได้”
เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นจริงๆ หรือเป็นเพราะเข้าเรียนไวเกินไป?
แทนที่จะโทษโรงเรียน แต่คนส่วนใหญ่กลับไปโทษเด็ก ปัจจุบันหากเด็กไม่อาจอ่านหนังสือได้จนจบย่อหน้าจะถูกมองว่ามีพัฒนาการด้านการอ่านช้าและต้องทำทุกวิถีทางให้เด็กเรียนทันเพื่อน เด็กทุกคนในโรงเรียนถูกคาดหวังให้ต้องเหมือนกันทั้งหมด แต่หากเด็กคนไหนไม่เชื่อฟังคุณครู ชอบนั่งเหม่อในห้องเรียนหรือขยุกขยิกไม่ค่อยอยู่สุขจะถูกมองว่าเป็นโรคสมาธิสั้น (attention-deficit/hyperactivity disorder หรือ ADHD) และมักจะต้องเข้ารับการรักษาโดยการกินยาทางจิตเวชร่วมด้วย
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคประเทศสหรัฐอเมริการ (CDC) ให้ข้อมูลว่า เด็กอายุตั้งแต่ 4-17 ปีประมาณ 11 เปอร์เซนต์ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นและมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 42 เปอร์เซนต์ในปี 2003-4004 จนถึงปี 2011-2012 โดยส่วนใหญ่ได้รับการรักษาโดยการใช้ยา และเด็ก 1ใน 3 ที่พบอาการเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ขวบ
ข้อมูลใหม่จากมหาวิทยลัยด้านการแพทย์ฮาร์วาร์ดยืนยันว่า เด็กๆไม่ได้มีพัฒนาการที่ล้มเหลว แต่เป็นผู้ใหญ่เองที่ผลักดันให้เด็กเข้าโรงเรียนก่อนวัยอันควร นักวิจัยยังพบอีกว่า เด็กที่เข้าเรียนตั้งแต่อายุน้อยที่มีพัฒนาการด้านต่างๆยังไม่สมบูรณ์มีโอกาสถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้นสูงกว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่อายุมากกว่า
ลูกยังไม่ถึงวัย ก็ยังไม่ควรให้ไปโรงเรียน
การส่งลูกเล็กเข้าโรงเรียน ทำให้เด็กต้องปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมแปลกใหม่ทั้งๆที่ยังไม่พร้อม ต้องถูกแยกจากความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยจากครอบครัวเป็นช่วงเวลานานๆ และยังคาดหวังให้ลูกต้องเชื่อฟังและยอมทำตามคำสั่งให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกับเด็กคนอื่นที่มีความพร้อมมากกว่าอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากสำหรับเด็กที่ยังเล็กเกินไป คนเป็นพ่อแม่ ไม่ต้องอ่านผลการวิจัยจากฮาร์วาร์ดก็ทราบดีว่าเด็ก 5 ขวบ พัฒนาการต้องต่างกับเด็ก 6 ขวบอยู่แล้ว เมื่อทราบว่าการผลักดันให้เรียนรู้เร็วเกินไปทั้งๆที่ยังไม่พร้อม ส่งผลเสียกับเฺด็กมากกว่าผลดี ก็ควรชะลอความคิดเรื่องส่งลูกเข้าโรงเรียนไปก่อน ให้เรียนจบตามเกณฑ์ ตามความพร้อม เพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้ดีกว่าหรือส่งลูกเข้าเรียนเร็ว และต้องถูกมองว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ต้องกินยาทั้งๆที่ได้ป่วย คุณพ่อคุณแม่เท่านั้นที่เป็นผู้เลือก
ที่มา: fee.org
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
7 ชุดเมนูอาหารเช้าให้ลูกก่อนไปโรงเรียน ไอเดียอาหารเช้า เมนูอาหารสำหรับลูกวัยเรียน
พัฒนาการเด็ก 6 ขวบ ลูกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร เสริมทักษะอะไรให้ลูกดี
ลูกกินแต่นม ไม่ยอมกินข้าว ลูกทารกวัยอาหารเสริม กินแต่นม ไม่ยอมกินข้าว ทำอย่างไรดี