ลูกกลัวทะเล จะรับมือยังไงดี หากลูกน้อยกลัวทะเล จะพาไปเที่ยวทะเลสนุก ๆ หรือนั่งชิว ๆ ที่ริมชายหาดก็คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้ เราจะมาพูดถึงอาการและวิธีรับมือกับโรคนี้กัน
โรคกลัวทะเล คืออะไร
โรคกลัวทะเล ถือเป็นโรคความกลัวชนิดหนึ่ง ซึ่งคนที่เป็นโรคนี้ จะไม่กล้าเข้าใกล้ทะเล เพราะกลัวความลึกของน้ำทะเล หรือกลัวว่าจะมีสิ่งมีชีวิตที่น่ากลัวแหวกว่ายอยู่ใต้ท้องทะเล ผู้ที่เป็นโรคนี้บางราย พยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยเรือ และการว่ายน้ำในทะเล รวมทั้งยังกลัวที่จะต้องเดินไปตามริมทะเลอีกด้วย
โดยทั่วไป เราจะแบ่งโรคเกี่ยวกับความกลัวออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ กลัวสัตว์ กลัวเลือดและเข็มฉีดยา กลัวสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ กลัวเหตุการณ์ต่าง ๆ และกลัวสิ่งอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ ซึ่งโรคกลัวทะเลนี้ จัดอยู่ในประเภทของโรคกลัวสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง : 30 ที่เที่ยวทะเลเมืองไทย น่าไป น้ำใส สีสวย น่าถ่ายรูป เรารวบรวมมาให้แล้ว
กลัวทะเล เกิดจากอะไร
เรามาดูกันว่า การที่ลูกมีอาการกลัวทะเลนั้น เกิดจากสาเหตุไหนได้บ้าง
- พันธุกรรม
ว่ากันว่าพันธุกรรม อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคนี้ ซึ่งปู่ย่าตายายหรือบรรพบุรุษคนก่อน ๆ ของเรา อาจจะมีอาการกลัวอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้โรคความกลัวนั้นถูกส่งต่อมาเป็นทอด ๆ จนถึงลูกน้อยของเรา
- เหตุการณ์ที่พบเจอในอดีต
บางทีลูกน้อยของเราอาจจะเคยเจอกับเหตุการณ์บางอย่าง หรือมีประสบการณ์ฝังใจเกี่ยวกับทะเลลึก จนทำให้รู้สึกกลัวมาถึงทุกวันนี้ เช่น เด็กบางคนอาจจะโดนสัตว์ทำร้าย หรือทำให้กลัวขณะที่ว่ายน้ำอยู่ เป็นต้น หรือไม่ เด็กก็อาจจะเคยเจอเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นกับคนอื่นมาก่อน
- พัฒนาการด้านสมอง
พัฒนาการด้านสมอง ก็อาจมีส่วนที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้ด้วย หากสมองส่วนที่ตอบสนองต่อความกลัวของเด็กทำงานได้ไม่ปกติ อาจทำให้เด็กเป็นโรคนี้ได้ง่ายขึ้น
- สภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู
พ่อแม่บางคู่ที่เป็นโรคกลัวทะเล อาจพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ลูกน้อยไปอยู่ใกล้กับทะเล ซึ่งหากเด็กมีนิสัยขี้กลัว รวมทั้งมองโลกในแง่ร้ายอยู่แล้ว ก็อาจทำให้เป็นโรคนี้ได้ด้วย
นอกจากนี้ หากเด็กเคยฟังเรื่องเล่าที่น่ากลัวเกี่ยวกับท้องทะเล ได้ดูข่าวเกี่ยวกับสึนามิ หรือได้ดูหนังที่น่ากลัว ก็อาจทำให้กลัวทะเลได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม บางทีก็เป็นเรื่องยากที่จะรู้ได้ว่าความกลัวดังกล่าวเกิดจากอะไร เพราะเด็กบางคน เป็นโรคกลัวทะเลมาตั้งแต่ยังจำความไม่ได้ ก็เลยไม่สามารถระบุสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคนี้ได้อย่างแน่ชัด
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกขี้กลัว กลัวคนแปลกหน้า กลัวไปหมดทุกอย่าง พ่อแม่ต้องทำยังไง?
วิธีสังเกตอาการลูกน้อยที่เป็นโรคกลัวทะเล
โดยทั่วไปแล้ว โรคนี้จะส่งผลทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์ของเด็ก ในขณะที่เด็กบางคนมีอาการเพียงเล็กน้อย เด็กบางคนนั้นจะไม่สามารถมองรูปภาพทะเล หรือได้ยินคำว่าทะเลได้เลย ซึ่งคุณแม่เอง สามารถสังเกตอาการลูกน้อยเมื่ออยู่ใกล้ทะเล เพื่อดูว่าเป็นโรคนี้หรือไม่ ดังนี้
อาการทางด้านร่างกาย
- วิงเวียน หรือมึนศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- หัวใจเต้นเร็ว
- หายใจหอบ หรือหายใจไม่อิ่ม
- มีเหงื่อออก
- ตัวสั่น
ซึ่งบางคนอาจรู้สึกเหมือนจะเป็นลม ควบคุมตัวเองไม่ได้ มีปัญหาด้านการนอน หรือเป็นโรคนอนไม่หลับได้ด้วยเช่นกัน
อาการทางด้านอารมณ์
เด็กที่กลัวทะเล อาจรู้สึกวิตกกังวล อยากหลีกหนีไปจากบริเวณที่ใกล้ทะเล รู้สึกอ่อนไหวต่อสิ่งเร้า หรือรู้สึกว่ามีภัยอันตรายกำลังเข้ามาหาตนเอง โดยอาการเหล่านี้ อาจจะเกิดขึ้นขณะที่เด็กอยู่ในน้ำลึก บังเอิญไปสัมผัสกับบางสิ่งขณะที่ดำน้ำ หรือกำลังนั่งเครื่องบินข้ามแม่น้ำ
อย่างไรก็ตาม อาการของโรคนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้แม้ว่าเด็กจะไม่ได้อยู่ใกล้กับทะเล ซึ่งเด็กบางคนอาจจะมีอาการกำเริบทันที เมื่อนึกถึงภาพทะเลลึก หรือเพียงแค่มองดูรูปถ่ายทะเลหรือแม่น้ำ
บทความที่เกี่ยวข้อง : พาลูกขึ้นเครื่องบิน แบบหมดห่วง ด้วยการวางแผนเที่ยวกับลูกน้อย เพื่อการเดินทางอย่างสบายใจ
ลูกกลัวทะเล รักษาได้ไหม
ในปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยที่พูดถึงวิธีรักษาโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่ก็มีนักวิจัยกล่าวว่า โรคความกลัวชนิดต่าง ๆ ทุเลาลงได้ด้วยวิธีบำบัดทางพฤติกรรมความคิด และวิธีลดความวิตกกังวล ซึ่งวิธีต่าง ๆ จะได้ผลดีหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับโรคแต่ละโรค ทั้งนี้ ยาประเภทต้านเศร้า ก็สามารถช่วยบรรเทาความเครียดและความกังวลที่เกิดจากความกลัวนี้ได้เช่นกัน แต่ก็ควรปรึกษาหมอก่อนทุกครั้ง และไม่ควรเริ่มใช้ยาเองโดยเด็ดขาด
หากคุณแม่พาลูกเข้าพบหมอ หมออาจจะวินิจฉัยโรค โดยดูว่าลูกน้อยนั้น กลัวทะเลมากผิดปกติหรือไม่ มีอาการทางของโรคทุกครั้งที่เข้าใกล้ทะเลหรือเปล่า พยายามหลีกเลี่ยงที่จะอยู่ใกล้กับทะเลไหม รวมถึงดูว่าเด็กมีอาการดังกล่าวมากกว่า 6 เดือนแล้วด้วยหรือไม่
โรคนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตไหม
แม้จะดูเป็นโรคที่เหมือนจะไม่ร้ายแรงสำหรับคนทั่วไป แต่โรคนี้ก็สร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้เด็กได้ โดยเด็กบางคนอาจจะเป็นโรคแพนิค พยายามแยกตัวเองจากสังคมเพราะไม่อยากพบเจอสิ่งที่ตัวเองกลัว หรือบางคนก็อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าไปเลย ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ มักจะเกิดในแต่ละช่วงชีวิตของเด็กแตกต่างกันออกไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะซึมเศร้าที่เกิดขึ้นในเด็ก มีอาการอย่างไร เด็กก็เศร้าเป็น
วิธีป้องกันโรคกลัวทะเล
แม้จะยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้อย่างแน่ชัด แต่คุณแม่ก็สามารถทำตามวิธีต่อไปนี้ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกลัวทะเลกับลูกน้อยได้ โดยคุณแม่ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดกับลูก หากสังเกตเห็นว่าลูกน้อยกลัวทะเลมากผิดปกติ ควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและตรวจดูอาการ
วิธีต่อมา คือ ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก หากลูกน้อยเห็นว่าพ่อแม่กลัวน้ำทะเล เด็กอาจเรียนรู้พฤติกรรมดังกล่าว จนทำให้โตมาเป็นคนที่กลัวทะเลเหมือนพ่อแม่ได้ ดังนั้น พ่อแม่จึงควรเผชิญหน้ากับความกลัวของตัวเองอย่างใจเย็นและเหมาะสม
อีกเทคนิคหนึ่งที่คุณแม่นำไปใช้กับลูกที่กลัวทะเลได้ คือ การฝึกให้ลูกจินตนาการถึงภาพทะเล ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดความเคยชิน โดยทำควบคู่กับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เช่น กำมือ เกร็งแขน หรือจะเหยียดขา งอนิ้วเท้า แล้วค่อย ๆ คลายก็ได้ เป็นต้น และหากเด็กต้องตกอยู่ในสถานการณ์ความกลัวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ควรให้เด็กสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ พยายามจินตนาการถึงภาพที่ไม่ทำให้รู้สึกกลัว หรือพยายามเบี่ยงเบนความสนใจเด็ก โดยให้ดูหนัง ฟังเพลง หรือชวนพูดคุย เพื่อช่วยลดความเครียดในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม หากลูกรักของคุณแม่เป็นโรคกลัวทะเล ก็อย่าเพิ่งกังวลใจไป เพราะโรคนี้ ถือเป็นโรคที่คนทั่วไปเป็นกันได้ และมีใครหลายคนที่พร้อมจะเข้าใจ จงค่อย ๆ สอนให้เขารับมือกับความกลัวอย่างกล้าหาญ และหากต้องการความช่วยเหลือ ก็ควรเข้าพบแพทย์ทันทีนะคะ
บทความที่เกี่ยวข้อง :
วิธีลดความเครียด คลายเครียดจากการทํางาน การจัดการความเครียด กินอะไรคลายเครียด อาหารลดความเครียด
ที่มา : medicalnewstoday , verywellmind , surfertoday , dmh