ในที่สุด ก็สิ้นสุดการรอคอย เราจึงจะอาสา พาเที่ยวรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่พร้อมจะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่พักอาศัยอยู่ในย่าน รังสิต บางซื่อ ตลิ่งชัน ที่จะสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และมีทางเลือกให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นรถไฟชานเมือง ที่จะตอบโจทย์ใครหลาย ๆ คนแล้ว เทคโนโลยีความเร็วของรถไฟสายนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งจุดเด่น ที่น่าจับตามอง อีกทั้งความสวยงามของตัวรถไฟ และสถานี ยังคงมีกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของเทคโนโลยี พ่วงติดมาด้วย ทำให้เราหลายคนได้หายคิดถึงประเทศญี่ปุ่นในช่วยโควิด เพียงแค่ได้ไปเยี่ยมเยือนรถไฟสายนี้กันนะคะ
พาเที่ยวรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต)
อยู่บ้านเบื่อ ๆ เซ็ง ๆ จะไปร้านอาหารก็ปิด จะไปคาเฟ่ถ่ายรูป ก็ไม่ได้ จะหนีไปเที่ยวต่างประเทศ ก็ยากลำบากซะเหลือเกิน ไหนจะเรื่องวัคซีนอีก สารพัดปัญหาที่จะต้องมานั่งคิดให้วุ่นวายใจ แต่คุณรู้หรือไม่ว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง ที่วิ่งบริการเชื่อมต่อไปยังชานเมือง เปิดให้บริการแล้วนะ แล้วมีอะไรดี ๆ บ้างเราได้ไปแชะ มาแชร์กันแล้วค่ะ
ก่อนอื่นต้องบอกเล่าเรื่องราวถึงการออกแบบสถานีกลางบางซื่อกันก่อนเลยว่า สถาปัตยกรรมที่นี่ไม่ธรรมดา เรียกได้ว่า สวยตระการตากันเลยทีเดียว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้ เราคงเที่ยวเตร่อะไรไม่ได้มาก เพราะเนื่องจากสถานการณ์โควิด ดังนั้น เราจะสำรวจพื้นได้เฉพาะส่วนที่จำเป็นสำหรับการเดินทางเท่านั้นนะคะ
ก่อนอื่นเลย ใครที่มาที่สถานีกลางบางซื่อ สิ่งแรกที่คุณจะได้สัมผัสคือ กลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น เพราะทั้งสี ทั้งการออกแบบของตัวรถไฟเอง มันทำให้เราได้รับความรู้สึกแบบนั้นอย่างแท้จริง ยิ่งคุณมาเริ่มต้นที่สถานีต้นทางแล้วล่ะก็ คุณก็จะได้รับความฟินกับการแชะภาพ กับหัวขบวนรถไฟ ที่ดูอินเตอร์ สุด ๆ เอาไปแชร์กันแบบเก๋ ๆ ในโซเชียลให้เพื่อน ๆ ได้ตามมาฟินกัน
นอกจากนี้ ภายในขบวนรถ ก็ยังมีความโล่งโปร่ง สะอาดตา แม้ว่าเบาะนั่งจะเป็นเบาะแข็ง ซึ่งไม่เหมือนกับทางญี่ปุ่น แต่เน้นความสะอาด ดูแลรักษาง่ายเป็นหลัก และสีสันที่ฉูดฉาดแบบนี้ ตัดกับสีขาวนวล ก็ทำให้บรรยายกาศภายในรถ ดูเก๋ และมีสีสันที่ดึงดูดได้ดีอีกด้วย
โดยเฉพาะใครที่มักจะมีปัญหาเวลาเดินทางไปสนามบินดอนเมืองแล้วล่ะก็ ณ ตอนนี้ สบายสุด ๆ ค่ะ เพราะสถานีดอนเมืองนั้น มีจุดทางเชื่อม ที่ต่อยาวไปถึงท่าอากาศยานดอนเมืองกันเลยทีเดียว แม้จะมีติดขัดเรื่องของทางลากกระเป๋าอยู่บ้าง แต่คิดว่าอนาคต อาจจะมีการปรับปรุงอย่างแน่นอน
โซนรังสิต ตอนนี้อาจจะไปถึงเพียงแค่บริเวณของหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี แต่ในอนาคตข้างหน้า โครงการจะยิงยาวไปถึง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กันเลยทีเดียว ซึ่งถือว่า เป็นระบบการเดินทาง ที่แสนจะสะดวกสบาย และตอบโจทย์ของการขยายพื้นที่ความแออัดจากในเมืองสู่รอบนอก ได้อย่างครบถ้วน แม้ว่าจะต้องใช้เวลาบ้างพอสมควร แต่ก็คุ้มค่าไม่ใช่น้อยเลยใช่มั้ยคะ?
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 15 ที่พักอยุธยา ชมประวัติศาสตร์ไทย บรรยากาศดี วิวสวยจนไม่อยากกลับ
นั่งฟรี 4 เดือน บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง
ทางรถไฟฟ้าสายสีแดง หรือเราจะเรียกว่า SRT Line ได้เริ่มเปิดบริการให้ใช้บริการได้ฟรี ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา จนถึงปลายเดือน พฤศจิกายน 2564 เป็นเวลาประมาณ 4 เดือน ซึ่งจะมีการให้บริการ โดยแบ่งเป็นสายสีแดงเข้ม และสายสีแดงอ่อน ก่อนจะให้บริการเชิงพาณิชย์แบบเต็มรูปแบบต่อไป
โดยจะเปิดให้บริการเริ่มตั้งแต่ 06:00 – 20:00 น. ของทุกวัน ในช่วงนี้ ซึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ โดยจะมีการประกาศอย่างเป็นทางการเป็นระยะ
ตารางการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดง
- รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ – รังสิต
เที่ยวรถ | เวลา |
เที่ยวแรกจากบางซื่อ | 06:00 น. |
เที่ยวแรกจากรังสิต | 06:00 น. |
เที่ยวสุดท้ายจากบางซื่อ | 19:30 น. |
เที่ยวสุดท้ายจากรังสิต | 19:30 น. |
- รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ – ตลิ่งชัน
เที่ยวรถ | เวลา |
เที่ยวแรกจากบางซื่อ | 06:00 น. |
เที่ยวแรกจากตลิ่งชัน | 06:06 น. |
เที่ยวสุดท้ายจากบางซื่อ | 19:30 น. |
เที่ยวสุดท้ายจากตลิ่งชัน | 19:36 น. |
โดยความถี่ในการให้บริการนั้น จะอยู่ที่ 30 นาทีในช่วงเวลาปกติ และ 15 นาที ในช่วงเวลาเร่งด่วน (ช่วงเวลา 07:00 – 09:00 น. และ 17:00 – 19:00 น.) โดยจะปิดสถานีทุกสถานี เมื่อขบวนรถไฟฟ้าเที่ยวสุดท้ายเดินทางถึงสถานีปลายทางเป็นที่เรียบร้อย
รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) คืออะไร?
ก่อนที่เราจะพาไปเที่ยวกัน เรามาเรียนรู้กันก่อนว่า รถไฟสายสีแดงนี้ เป็นรถไฟชานเมือง ซึ่งจะแบ่งช่วงของการก่อสร้างเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงบางซื่อ – รังสิต และ บางซื่อ – ตลิ่งชัน อยู่ภายใต้การดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยนั่นเอง
โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม ช่วงของโครงการ บางซื่อ – รังสิต ได้เปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะทางกว่า 26.3 กิโลเมตร เป้าหมายคือ การอำนวยความสะดวกในการเดินทางของคนที่อยู่ชานเมือง และช่วยลดความแออัดของคนกรุงเทพฯ
และสายบางซื่อ – ตลิ่งชัน ซึ่งเป็นสายสีแดงอ่อน ก็จะถูกเชื่อมต่อกันในสถานีกลางบางซื่อ โดยที่สถานีกลางบางซื่อนี้ ก็จะมีอุโมงค์เชื่อมต่อกับรถไฟใต้ดิน (MRT) สายสีม่วง และ รถไฟฟ้า (BTS) สายสีน้ำเงิน อีกเช่นกัน ซึ่งถือว่า เป็นการเชื่อมโยงการเดินทาง ให้เกิดความสะดวกสบาย และเป็นการกระจายความเจริญสู่พื้นที่รอบนอกได้ในเบื้องต้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะมีการเชื่อมต่อ กับสายรถไฟ สีต่าง ๆ ในอนาคตอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : รวม 16 ที่เที่ยวปทุมธานี บรรยากาศดี เดินทางสะดวก ไม่ไกลจากกรุงเทพ
รถไฟฟ้าสายสีแดง พาไปที่ไหนบ้าง?
สถานีช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายสีแดงเข้ม) ประกอบด้วย
- สถานีกลางบางซื่อ : อยู่บริเวณชุมทางรถไฟบางซื่อ
- สถานีจตุจักร : อยู่บริเวณบ้านพักนิคมรถไฟ กม.11
- สถานีวัดเสมียนนารี : ใกล้กับวัดเสมียนนารี
- สถานีบางเขน : ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (ฝั่งประตูวิภาวดี)
- สถานีทุ่งสองห้อง : ใกล้กับกองกำกับการสุนัขและม้าตำรวจ
- สถานีหลักสี่ : หน้าอาคารไอทีสแควร์
- สถานีการเคหะ : ใกล้กับแฟลตการเคหะฯ ดอนเมือง
- สถานีดอนเมือง : บริเวณตลาดใหม่ดอนเมือง (ตรงข้ามอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมือง)
- สถานีหลักหก : บริเวณทางเข้าหมู่บ้านเมืองเอก และมหาวิทยาลัยรังสิต
- สถานีรังสิต : บริเวณหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี
สถานีช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายสีแดงอ่อน) ประกอบด้วย
- สถานีกลางบางซื่อ : บริเวณชุมทางรถไฟบางซื่อ
- สถานีบางซ่อน : บริเวณจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีบางซ่อน
- สถานีบางบำหรุ : เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม (บางบำหรุ-บางกะปิ) ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต
- สถานีตลิ่งชัน : บริเวณซอยฉิมพลี 12
และยังสามารถเชื่อมต่อกับแผนพัฒนาโครงการ 2 ที่จะครอบคลุมชานเมืองได้อย่างครอบคลุมอีกด้วย
รถไฟสายสีแดงมีความสามารถอะไรบ้าง?
รถไฟสายสี เป็นนวัตกรรมของทางประเทศญี่ปุ่น โดยตัวรถไฟฟ้านั้น เป็นการผลิตของแบรนด์ HITACHI โดยสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 160 กม./ชม. แต่จะวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 120 กม./ชม. ในการให้บริการ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยต่อผู้โดยสาร และระบบปฏิบัติการนั่นเอง
โดยรถไฟ จะแบ่งเป็น 2 ประเภท โดยจะมีขบวนที่มี 4 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่เกิน 1,126 คน และอีกประเภทหนึ่งคือ ขบวนที่มี 6 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้ไม่เกิน 1,714 คน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณของผู้โดยสาร ในช่วงเวลานั้น ๆ ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ต่อไปในอนาคต
อัตราค่าโดยสารรถไฟสายสีแดง SRT
หลังจากมีการยื่นราคากันอยู่นาน หลายต่อหลายรอบ ก็ได้ข้อสรุปของราคาค่าบริการ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง โดยมีอัตราเริ่มต้นที่ 12 บาท สูงสุดไม่เกิน 44 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ถูกที่สุดสำหรับการให้บริการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าในประเทศไทยก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังมี ชนิดบัตรต่าง ๆ ดังนี้
รายเดือน 30 วัน มีด้วยกัน 3 ประเภท คือ
- บัตร 20 เที่ยว ราคา 700 บาท เฉลี่ย 35 บาท/เที่ยว
- บัตร 30 เที่ยว ราคา 900 บาท เฉลี่ย 30 บาท/เที่ยว
- บัตร 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท เฉลี่ย 25 บาท/เที่ยว
บัตรโดยสารสำหรับนักเรียน/นักศึกษา (Student Card)
- เงื่อนไขกำหนดอายุไม่เกิน 23 ปี จะไดด้รับส่วนลด 10% จากอัตราค่าโดยสารปกติ
เด็กเล็ก/นักเรียน
- สำหรับเด็กเล็กที่มีส่วนสูงไม่เกิน 90 เซนติเมตร จะได้รับยกเว้นค่าโดยสาร
- เด็กที่อายุไม่เกิน 14 ปี และมีความสูงไม่เกิน 91-120 เซนติเมตร จะได้รับส่วนลด 50% จากอัตราค่าโดยสารปกติ
ผู้สูงอายุ
- เงื่อนไขกำหนดอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะได้รับส่วนลด 50% จากอัตราค่าโดยสารปกติ ทั้งนี้รวมถึงการใช้บัตรโดยสารแบบ Smart Card และการซื้อตั๋วเที่ยวเดียว ก็จะได้รับส่วนลดเช่นเดียวกัน
ผู้พิการ
- สำหรับผู้พิการนั้น จะได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร
ที่มา : matichon.co.th
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ร้านอาหารย่านรังสิต ร้านไหนเด็ด ? ที่สายกินไม่ควรพลาด
ฟรี! รถ Shuttle Bus 3 เส้นทางมุ่งสู่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
เช็คลิส 20 ที่เที่ยวใกล้รถไฟฟ้า โควิดเผลอแล้วเจอกัน