เพื่อนต่างเพศ ลูกๆ ของคุณพ่อคุณแม่มักจะพบเจอเหตุการณ์นี้เมื่อพวกเขาเข้าสู่วัยเรียน อย่างวัยอนุบาลเด็กเล็ก เมื่อพวกเขาต้องเจอกับ เพื่อนต่างเพศ ที่มีลักษณะแตกต่างกับตัวเขา เช่น เด็กผู้ชายทำไมสวมกางเกงไปโรงเรียน เด็กผู้หญิงสวมกระโปรงไปเรียนและสามารถสวมกางเกงได้เมื่อต้องเรียนวิชาพละศึกษาหรือกิจกรรมต่างๆ ทำไมเพื่อนๆ ต้องพูดจาคำลงท้ายต่างจากพวกเขา เช่น ครับ หรือ ค่ะ สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องสอนและสร้างความคุ้นเคยให้ลูกๆ เมื่อพวกเขาต้องไปโรงเรียนโดยไม่ได้มีผู้ปกครองอยู่ด้วยตลอดเวลา
สอนลูกให้รู้จัก เพื่อนต่างเพศ ได้อย่างไร
เด็กวัยเรียนเริ่มพัฒนาอัตลักษณ์ภายนอกของแต่ละเพศชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนในวันที่พวกเขาก้าวเข้าโรงเรียนอนุบาล ซึ่งก่อนหน้านี้ พวกเขาอาจจะมีเพื่อนบ้านที่เป็น เพื่อนต่างเพศ บ้าง แต่อาจจะไม่คลุกคลีถึงขั้น กินด้วยกัน นอนด้วยกัน และใช้เวลาอยู่ในห้องเรียนด้วยกันทั้งวัน โดยค่อยๆ สอนให้เขารู้จักแยกแยะความแต่งต่างของเพศคือ
1. รสนิยมระหว่างลูกและเพื่อนต่างเพศ
เด็กๆ มักจะมีรสนิยมความชอบแตกต่างกัน อย่างที่เราถูกสอนให้รู้จักพื้นฐานทั่วไปของเพศ เช่น เด็กผู้ชายชอบเล่นฟุตบอล ชอบเล่นหุ่นยนต์ มีความฝันอยากเป็นตำรวจ ทหาร ส่วนเด็กผู้หญิงมักชอบเล่นตุ๊กตา เล่นขายของ กระโดดหนังยาง ระบายสี มีความฝันอยากเป็นพยาบาล คุณครู นางสาวไทย แต่ทั้งนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนไป ไม่ได้หมายความว่า ลูกผู้ชายของคุณจะชอบเล่นฟุตบอลเสมอไป เขาอาจจะชอบอ่านหนังสือมากกว่า หรือเด็กผู้หญิงใช่ว่าจะเล่นตุ๊กตาเสมอไป เขาอาจจะชอบไปปีนต้นไม้ก็ได้
2. การแต่งกายของลูกและเพื่อนต่างเพศ
เมื่อลูกๆ สังเกตเพื่อนต่างเพศในโรงเรียน ลูกผู้หญิงอาจจะเกิดคำถามว่า ทำไมเพื่อนของเขาใส่กางเกง ไม่ใส่กระโปรงเหมือนเขา หรือลูกผู้ชายอาจจะถามว่า ทำไมเพื่อนผู้หญิงของเขาถึงไม่ยืนปัสสาวะกับเขา แต่ต้องเข้าห้องน้ำที่คุณครูพาแยกออกไป เนื่องจากอยู่ที่บ้านนั้น ใช้รวมกันทั้งครอบครัว ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องอธิบายกฎของสังคมให้ได้ว่า ทำไมเมื่อลูกของคุณไปอยู่โรงเรียนแล้วมีเพื่อนต่างเพศแล้ว กิจกรรมบางอย่างต้องทำแยกกัน เช่น เวลาเข้าห้องน้ำ หรือเวลานอนกลางวันที่ต้องแยกเบาะ แยกสีผ้าปูที่นอน
3. การทำกิจกรรมร่วมกัน
คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อยอธิบายให้ลูกใช้ชีวิตในโรงเรียนกับเพื่อนต่างเพศได้อย่างปลอดภัย และเข้าใจความแตกต่าง เช่น วิชาพละศึกษา บางอย่างเด็กผู้หญิงก็ไม่สามารถเล่นแรงๆ กับเด็กผู้ชายได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณจะไม่ยอมคบกับเพื่อนเพศตรงข้ามไปเสียทุกคน ถ้าลูกมีความสนใจในเรื่องเดียวกันกับเพื่อนต่างเพศ หรือมีนิสัยใจคอที่เข้ากันได้ ก็ยังมีเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายหลายคนที่เล่นสนุกด้วยกัน และเป็นเพื่อนสนิทกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง: 3 สิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้!! เรื่องอะไรที่ควรสอนลูกวัยอนุบาล
เมื่อลูกกลับมาจากโรงเรียนมี เพื่อนต่างเพศ แล้วควรสอนให้ลูกดูแลตัวเองอย่างไร
1. คุยกับลูกเรื่องแยกอาบน้ำ
คุณพ่อคุณแม่ลองแยกอาบน้ำกับลูก เช่น ลูกชายอาบน้ำกับคุณพ่อ ลูกสาวอาบน้ำกับคุณแม่ แล้วค่อยๆ สอนให้เขาเข้าใจว่า เวลาลูกอาบน้ำที่โรงเรียนหลังว่ายน้ำ ควรนุ่งผ้าขนหนูให้มิดชิด คุณแม่บางท่านเกรงว่าลูกจะม้วนผ้าจนหนูไม่เป็น เลยนำผ้าขนหนูไปใส่ยางยืดเพื่อความสะดวก
2. สอนให้ลูกรู้จักสรีระเรื่องเพศชายและเพศหญิง
แน่นอนว่า เมื่อลูกมีเพื่อนต่างเพศ มักจะมีคำถามกลับบ้านมาฝากคุณแม่แน่นอน ดังนั้น เริ่มจากตัวเขาเองก่อนเช่น เด็กผู้หญิงจะมีเต้านมเล็กๆ ซึ่งเพศชายไม่มี เพศชายจะมีหนวด แต่เพศหญิงไม่มี นำรูปภาพการ์ตูนประกอบให้เขาดู รวมไปถึงอวัยวะเพศที่เรียกไม่เหมือนกัน ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ควรมีหนังสือภาพการ์ตูนสอนพวกเขาง่ายๆ ก่อน
3. สอนสิ่งที่ควรและไม่ควรทำกับเพื่อนต่างเพศ
สอนให้พวกเขารูจักปกป้องตนเอง เช่น อวัยวะส่วนไหนไม่ควรเปิดเผย ส่วนไหนไม่ควรให้เพื่อนต่างเพศมาจับ รวมไปถึงห้ามจับของเพื่อนด้วยเช่นกัน ที่สำคัญต้องสอนให้พวกเขารู้จักการทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นอย่างถูกสุขลักษณะ ใส่กระดาษชำระติดกระเป๋านักเรียนของลูกๆ ไว้ อีกประการคือ เมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อนต่างเพศหรือเพศเดียวกัน ห้ามพูดจาล้อเลียนในสิ่งที่แตกต่างจากเรา เช่น สีผิว รูปร่าง ทรงผม ฟัน หรือการเรียนของเพื่อนๆ ด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง: เทคนิคเลี้ยงลูกวัยอนุบาล 3 – 6 ขวบ ลูกวัยนี้ควรเน้นเรื่องอะไรบ้าง
วันหนึ่งเมื่อลูกเข้าใจว่า เพื่อนต่างเพศ คือ “แฟน”
นอกจากการเรียนรู้เรื่องเพื่อนต่างเพศในเบื้องต้นแล้ว เชื่อว่าสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเจอ เมื่อลูกวัยอนุบาลกลับมาบ้านพร้อมกับบอกว่า “หนูมีแฟนแล้ว” … “ผมมีแฟนแล้ว” คุณพ่อคุณแม่สังเกตได้เมื่อไรและควรแนะนำอย่างไร
1. เด็กเริ่มสนใจความแตกต่างระหว่างเพื่อนต่างเพศ และความสัมพันธ์
เมื่อเด็กวัย 3-5 ขวบ ดูการ์ตูน พวกเขาจะเริ่มเล่นบทบาทสมมติในการแสดง เป็น พ่อ แม่ ลูก เนื่องจากเลียนแบบคนใกล้ตัว หรือจดจำมาจากละคร การ์ตูน ซึ่งบางครั้งเขาเล่นกับเพื่อนเพศเดียวกัน ก็แบ่งว่า เธอคือพ่อ ฉันคือแม่ และตุ๊กตาคือลูก หรือ เรียกเพื่อนเพศต่างเพศว่า แฟน
2. เด็กๆ เริ่มให้ความสนใจบทบาทของคุณพ่อคุณแม่
ลูกๆ จะชินกับการที่คุณพ่อต้องออกไปทำงาน แล้วมีคุณแม่อยู่บ้าน แต่ในบางครอบครัว ทั้งคุณพ่อคุณแม่ทำงานนอกบ้านบางบ้านมีภาพการแต่งงานของคุณพ่อคุณแม่ หรือพวกเขาจะได้ยินผู้ปกครองว่าเป็นสามีภรรยากัน ดังนั้น เราควรค่อยๆ บอกลูกถึงความสัมพันธ์ในแต่ละคู่ การมีเพื่อนต่างเพศ ไม่ใช่จะต้องเป็นแฟนกันเสมอไป
3. อย่าตกใจเมื่อลูกวัยอนุบาลมาบอกว่ามีแฟนแล้ว
การเล่นพ่อแม่ลูกยังไม่เท่าไร แต่เมื่อไรก็ตามที่ลูกบอกว่า เพื่อนต่างเพศคนนี้คือแฟน อย่าเพิ่งตกใจ โวยวาย ห้ามปราม ในความหมายของลูกอาจจะหมายถึงคู่หูที่เพื่อนๆ แซวเพราะชอบไปไหนมาไหนด้วยกัน คุณครูจับให้ถือพานไหว้ครูด้วยกัน เป็นหัวหน้าห้อง รองหัวหน้าห้องคู่กัน เพราะเด็กวัยนี้เพิ่งจะเรียนรู้เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกับเพื่อนต่างเพศ ที่มีความสนิทเป็นพิเศษ คุณพ่อคุณแม่อาจจะไปทำความรู้จักกับผู้ปกครองของเพื่อนลูกเอาไว้เพื่อความสบายใจด้วย
4. อธิบายให้ลูกเข้าใจความหมายของคำว่า แฟน
เมื่อเด็กวัยนี้กำลังเริ่มเรียนรู้ที่จะมีคนพิเศษ เช่น สนิทเป็นพิเศษอย่างที่กล่าวข้อที่แล้ว แต่ทั้งหมดมาจากพัฒนาการในการเรียนรู้ที่จะผูกพันหรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนต่างเพศ หรือเพศเดียวกัน เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่อาจจะอธิบายให้ลูกฟังว่า คนที่ลูกรู้สึกชอบหรือสนิทด้วยมากๆ ไม่จำเป็นต้องเรียกว่าแฟนก็ได้ เพราะพ่อแม่ก็มีเพื่อนสนิทมากๆ อย่าง คุณน้า คุณอา ที่หนูรู้จัก พวกเขาคือเพื่อนสนิทแต่ไม่ใช่แฟน
5. เวลาเหมาะสมที่ลูกควรเรียกใครสักคนว่าแฟน
ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่อย่าห้ามลูกเด็ดขาด แต่ค่อยๆ บอกพวกเขาว่า คำว่า แฟน ใช้สำหรับผู้ใหญ่ที่พวกเขาโตพอที่จะรักกัน ดูแลกัน ช่วยกันทำงาน แล้วสมัยนี้ ไม่จำเป็นว่า คนเป็นแฟนกันต้องมีแต่ ผู้ชาย คู่กับ ผู้หญิงเท่านั้น เมื่อลูกโตพอ สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ ลูกสามารถรักกับใครหรือเป็นแฟนกับใครเพศไหนก็ได้ ซึ่งตรงนี้คุณพ่อคุณแม่อาจจะต้องค่อยๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจเป็นระยะๆ เช่น เวลาที่พวกเขา ดูหนัง ดูซีรีส์ ก็ควรดูกับลูกๆ ด้วย
6. ควรพูดกับลูกๆ อย่างให้เข้าใจง่าย ระหว่างแฟนและ เพื่อนต่างเพศ
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรยกตัวอย่างไกลตัวจนเกินไป หรือใช้คำที่เข้าใจยาก เช่น ห้ามมีแฟน เดี๋ยวโตไปก็เข้าใจเอง ซึ่งโลกปัจจุบันเป็นโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร ถ้าคุณพ่อคุณแม่ละเลย จะทำให้น้องๆ หนูๆ เข้าโลกอินเทอร์เน็ตหาข้อมูลเอง ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกเวลาใช้สื่อโซเชียลทุกครั้ง ซึ่งจะทำให้เกิดความไว้ใจ ที่สำคัญ อย่าให้คำว่าแฟน ดูน่ากลัวเกินไป ควรอธิบายด้วยคำง่ายๆ เช่น เพื่อนลูกคนนี้ น่ารักดี มีงานอะไรที่ต้องไปทำด้วยกันอีกไหม หรือถามลุกว่าพ่อแม่ของเพื่อนมารับกี่โมงจะได้ทำความรู้จักเอาไว้ อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรต่อต้านคำว่า แฟน หรือส่งเสริมให้ลูกมีแฟน (ในกรณีที่คิดว่าลูกยังเด็กอยู่ไม่เป็นไรหรอก) แล้วพยามยามอย่าให้ความสำคัญ ถามเรื่องเพื่อนของลูกทุกเย็น แต่เบี่ยงความสนใจของลูกไปทำกิจกรรมด้านอื่นดีกว่า
7. อย่าตำหนิลูกว่า แก่แดด
คำนี้ค่อนข้างรุนแรงไปสักหน่อย บางคนอาจดูว่าน่ารัก แต่ลึกๆ แล้ว การใช้คำตำหนิลูกๆ ด้วยคำนี้ หรือ อย่าโตเกินไปหน่อย อย่าแก่แดดแก่ลมมีแฟน บวกกับสีหน้าของผู้พูดไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อคุณแม่เองหรือคุณครู อาจทำให้เด็กรู้สึกอาย และไม่กล้าเล่าเรื่องใดๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ฟังอีก
8. คุณพ่อคุณแม่ต้องทำตัวเป็นเพื่อนลูก
สอนให้ลูกๆ รู้จักคำว่าเอนสำคัญแค่ไหน เช่น คนที่ลูกบอกว่า แฟนหนู แฟนผม เราอาจจะถามแค่ว่า เพื่อนลูกคนนั้นชื่ออะไรนะ เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนคนนี้นิสัยดีไหม ลูกอย่าไปแกล้งเพื่อนละ อาจจะแซวๆ ลูกไป พวกเขาจะได้ไว้ใจ เล่าเรื่องส่วนตัวให้เราฟังทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องที่อาจมีปัญหากับเพื่อนในห้อง ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรจะรับรู้เรื่องเพื่อน บรรยากาศในห้องเรียน ทำให้ลุกรู้สึกสบายใจ อย่าเล่า อยากปรึกษาตั้งแต่เล็กๆ
อย่างไรก็ตาม เรื่องเพื่อนต่างเพศ เรื่องแฟน อาจดูเหมือนเป็นเรื่องวัยของเด็ก แต่ถ้าลูกมีอาการหมกมุ่นกับเรื่องเพศจนเกินไป คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อหาสาเหตุของความสนใจทางเพศที่มากกว่าปกติและหาทางแก้ไข ทั้งนี้เมื่อลูกอายุพ้นวัย 5 ปีไปแล้ว ความสนใจของลูกจะเปลี่ยนจากเรื่องพัฒนาการทางเพศ ไปสู่การเรียนรู้ด้านวิชาการ ซึ่งผู้ปกครองควรเตรียมความพร้อมลูกเข้าสู่ชั้นวันประถมต่อไป
บทความที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกวัยอนุบาลให้รักน้อง สอนลูกวัยอนุบาลให้รักน้องต้องทำอย่างไร
เคล็ดลับ 19 ประการสร้างโภชนาการที่ดีให้ลูกวัยอนุบาล
วิธีพูดกับลูกวัยอนุบาล พูดอย่างไรให้ลูกเชื่อฟังไม่ต่อต้าน
ที่มา : amarinbabyandkids , chilltalks , today.line