เมื่อพูดถึงเรื่องลูก คนเป็นพ่อเป็นแม่ทุกคน ย่อมมีความกังวลและเป็นห่วงในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งความห่วงที่นอกเหนือจากเรื่องของสุขภาพแล้ว ก็ยังห่วงเรื่องการปลูกฝังนิสัยต่าง ๆ อีกด้วย ว่าจะมีวิธี สอนลูกให้เชื่อฟัง ยังไงดี กลัวลูกต่อต้าน โดยเฉพาะกับลูกวัย 3-6 ปี
สอนลูกให้เชื่อฟัง ต้องทำยังไง อยากให้ลูกคิดเป็น มีเหตุผล ไม่ต่อต้านพ่อแม่
การสอนให้ลูกเชื่อพ่อแม่ฟังนั้น ด่านแรก พ่อแม่ต้องทำให้ลูกเปิดใจก่อน เพราะถ้าลูกไม่เปิดใจ อย่างไรแล้วเขาก็จะต่อต้านเราอยู่ดี ซึ่งวิธีที่แม่โน้ตใช้อยู่นี้เห็นผลมากทีเดียวค่ะ หลังจากที่ลูกเปิดใจแล้ว ลูกก็จะรับฟังเรามากขึ้น เชื่อฟังเรามากขึ้น แต่ทั้งนี้ การสอนลูกหรือการที่จะปลูกฝังอะไรให้ลูกสักอย่างหนึ่ง ต้องอาศัยระยะเวลาค่ะ ที่สำคัญกว่านั้นคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจพื้นฐานความคิดหรือมุมมองของลูก และปรับเปลี่ยนการสอนให้เหมาะกับลูกแต่ละคนด้วย เพราะแม้แต่พี่น้องท้องเดียวกัน ก็อาจต้องใช้วิธีในการสอนที่ต่างกัน
สอนลูกให้เชื่อฟัง ด้วยการเป็นต้นแบบที่ดี
“การเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกเห็น” ไม่ได้เป็นแค่ทฤษฎีที่ใครหลายคนพูดกัน แต่สิ่งนี้มีผลจริง ๆ ยกตัวอย่าง แม่โน้ตเองเป็นคนที่ไม่ชอบดื่มน้ำอัดลม เมื่อมีลูก และลูกก็เติบโตมากับการที่ไม่เคยเห็นแม่ดื่มน้ำอัดลม ตอนนี้ลูกอายุ 7 ขวบแล้ว เขาก็ไม่ดื่มเหมือนกัน
จะเห็นได้ว่า แม้พฤติกรรมที่ดูเหมือนจะเล็กน้อยนี้ยังมีผลต่อลูก แล้วพฤติกรรมดี ๆ ที่เราต้องการจะปลูกฝัง มันก็ไม่น่ายากจริงไหมคะ? การเป็นต้นแบบที่ดีที่ อยากให้ลูกเชื่อฟัง เช่น การไหว้ผู้ที่อาวุโสกว่า การไม่ลักขโมยของของผู้อื่น หรือการเป็นเด็กดีมีมารยาท เป็นต้น เรียกได้ว่าข้อนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้ได้ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ภายในบ้าน จนไปถึงเรื่องมารยาทและกาละเทศะที่ควรมีต่อสังคมได้เลยทีเดียว
การตำหนิลูก ให้ตำหนิที่ “พฤติกรรม” ไม่ใช่ “ตัวตน”
“พฤติกรรม” คือ การกระทำ ในขณะที่ “ตัวตน” คือ อัตตา เป็นสภาพที่เที่ยงแท้ถาวร หรือจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ลักษณะภายนอกของร่างกายนั่นเอง โดยมากแล้วเวลาที่คุณพ่อคุณแม่จะดุลูกก็มักจะดุด้วยอารมณ์ เมื่อใช้อารมณ์นำเหตุผลก็มักจะหลุดคำพูดออกมา ซึ่งอาจจะมีทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่น “อ้วนแล้วยังใจดำอีก” เป็นต้น ซึ่งความอ้วนเป็นตัวตน ไม่ใช่พฤติกรรม
การตำหนิที่ตัวตนจะทำส่งผลให้ลูกฝังหัวไปจนโต และเป็นค่านิยมที่ผิด ๆ เพราะลูกจะเข้าใจผิดได้ว่า “คนที่แต่งตัวดี ดูสะอาดสะอ้าน คงเป็นคนดีมีน้ำใจ” ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้เกี่ยวกันเลย และที่สำคัญคือ การตำหนิที่ตัวตนยังเป็นการตอกย้ำให้ลูกเกิดปมด้อยในจิตใจอีกด้วย
กลับกันถ้าหากต้องการตำหนิ เพื่อให้ลูกเกิดการปรับปรุงตัว เช่น “หนูไม่พอใจอะไรแล้วเขวี้ยงของแบบนี้ ไม่ถูกต้องนะคะ” เป็นต้น พร้อมกับอธิบายให้ลูกฟังว่า เพราะอะไรถึงไม่ควรเขวี้ยง แล้วทางออกคืออะไร เช่น ถ้าหนูไม่พอใจอะไร ก็ให้อธิบายกับแม่ดี ๆ ด้วยเหตุผล เพราะแม่ก็อยากเข้าใจหนูเหมือนกัน ลูกก็จะใจเย็นลงเช่นกัน
บอกลูกว่าเราเข้าใจเขา
ข้อนี้แม่โน้ตทำมาแล้ว และเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนมาก ๆ คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกโมโหหรือไม่พอใจกับเรื่องอะไร ด้วยความเป็นเด็ก เขาจะ “เสียงดัง” ก่อนเป็นอันดับแรก จุดนี้เองให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งสติ มองที่แววตาของลูก พร้อมกับทำความเข้าใจในพื้นฐานความคิดเขาก่อน แล้วก็พบว่า
การที่ลูกเสียงดัง นั่นเป็นเพราะเป็นขั้นตอนพื้นฐานทางจิตใจว่า “กลัวพ่อแม่ไม่เชื่อเขา ไม่รับฟังเขา เขากลัวการถูกบังคับ โดยที่ไม่มีใครเข้าใจเขา เขาจึงต้องเล่นใหญ่ และใช้น้ำเสียงที่ดังเอาไว้ก่อน”
จุดนี้เป็นจุดสำคัญนะคะ เพราะถ้าเราใจเย็น เราจะได้ยินสารที่ลูกต้องการสื่อจากดวงตา ไม่ใช่ท่าทางหรือน้ำเสียง ซึ่งถ้าเราเข้าใจลูกแล้ว ประโยคแรกที่ควรพูด คือ “แม่เข้าใจหนู เขาใจในสิ่งที่หนูต้องการจะสื่อนะคะ” พร้อมกับพูดทวนให้ลูกได้ฟังว่าเราเข้าใจเขาอย่างไร เพราะลูกจะรู้สึกปลอดภัยและอุ่นใจว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นลูกยังมีเราที่พร้อมให้ความเข้าใจ หลังจากนั้นค่อย ๆ อธิบายว่าพฤติกรรมนั้น ๆ ไม่ดีอย่างไร และถ้าลูกทำไปจะส่งผลอย่างไร ลงท้ายด้วยอะไรคือ สิ่งที่ควรทำ
ไม่ใช้อารมณ์ตอบกลับในการสั่งสอนลูก
ขณะที่ลูกกำลังหงุดหงิดหรือโมโหใส่คุณพ่อคุณแม่ เราไม่ควรโมโหไปกับลูก เพราะจะมีแต่เสียกับเสีย คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งสติก่อน สูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วพยายามกรองว่าอะไรคือ สิ่งที่ลูกต้องการสื่อกับเรา แล้วค่อยตอบกลับลูกด้วยน้ำเสียงที่เป็นปกติที่สุด เป็นน้ำเสียงที่คุณพ่อคุณแม่คุยอยู่กับลูกในทุกวัน แสดงออกให้ลูกรู้ว่าเรารักเค้า และพร้อมที่จะให้ความเข้าใจหากลูกอธิบายด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์
ค้นหาสาเหตุที่ทำให้ลูกไม่เชื่อฟัง
การหาสาเหตุเป็นอีกหนึ่งทางออกที่ดีค่ะ เพราะการจะแก้ไขอะไรสักเรื่อง เราจำเป็นที่จะต้องรู้สาเหตุก่อน การแก้ไขก็จะทำได้อย่างตรงจุดและถูกต้อง การที่ลูกไม่เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ก็เช่นกัน ให้ลองนั่งหาสาเหตุก่อนว่าเพราะอะไร เช่น คุณแม่อาจจะกำลังตั้งครรภ์น้องอีกคนอยู่ ลูกจึงกลัวว่าเขาจะไม่เป็นที่รัก รวมไปถึงที่ผ่านมา คุณพ่อคุณแม่บอกให้ลูกทำอย่างนั้นอย่างนี้โดยที่ไม่บอกเหตุผล ไม่ฟังความคิดเห็นลูกหรือเปล่า
เข้าใจนะคะว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ให้ลูกทำนั้นย่อมเป็นสิ่งที่ดีเสมอ แต่อย่าลืมใส่ใจมุมมอง และความคิดของลูกด้วยเช่นกัน ควรอธิบายให้ลูกฟังว่าเพราะอะไรเราถึงต้องการให้ทำแบบนั้น ที่สำคัญ การอธิบายให้ลูกฟังในทุกครั้งจะเป็นการปลูกฝังหลักเหตุผล และตรรกะที่ถูกต้องให้กับลูกได้อีกด้วยค่ะ
สำหรับเทคนิคในวันนี้ที่นำมาแชร์กัน ก็เป็นเพียงเกร็ดเล็กน้อยจากประสบการณ์ตรงนะคะ ถามว่าทุกวันนี้บอกซ้ายหันขวาหันขนาดนั้นไหม ก็ไม่ขนาดนั้น เพียงแต่ดีตรงที่ว่าเขาจะฟังเหตุผลของเราก่อน เราเองก็จะได้มีโอกาสอธิบายให้ลูกได้ฟังเช่นกัน หากคุณพ่อคุณแม่จะนำไปปรับใช้ตามก็ไม่ว่ากันค่ะ
บทความอื่น ๆ
อาการวัยทอง 2 ขวบ ปัญหาในเด็กที่พ่อแม่ควรรู้ และวิธีการรับมือ
5 วิธีปราบลูกดื้อ ทำยังไงดีเมื่อลูกดื้อ วิธีปราบลูกอย่างสร้างสรรค์ ทำอย่างไร?