เปิดประตูสู่โลกกว้าง: บทเรียนล้ำค่าที่ลูกควรเรียนรู้เกี่ยวกับ ความหลากหลายทางเพศ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ในยุคสมัยที่สังคมมีความหลากหลายมากขึ้น การสอนลูกให้ยอมรับความแตกต่าง เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ ความหลากหลายทางเพศ การสอนลูกในเรื่องนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราต้องผลักดันให้ลูกเป็น LGBTQ+ แต่เป็นการสอนให้ลูกรู้จักเคารพในตัวตนของผู้อื่น เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ และเปิดใจรับความแตกต่าง วันนี้ทาง theAsianparent จะมานำเสนอแนวทางการสอนลูกให้ยอมรับความหลากหลายทางเพศ ผ่านวิธีง่าย ๆ ที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสมกันค่ะ

 

ปลูกฝังความเข้าใจสีรุ้ง: เทคนิคการสอนลูกให้ยอมรับ ความหลากหลายทางเพศ

แต่ก่อนที่เราจะสอนให้ลูกเข้าใจในเรื่องของความหลากหลายทางเพศนั้น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องนี้เสียก่อน แม้บางคนอาจสงสัยว่าเด็กเล็ก ๆ มีความสามารถที่จะเข้าใจเรื่องเพศและเพศวิถีหรือไม่ แต่จริง ๆ แล้วหัวข้อเหล่านี้สามารถสอนได้อย่างเหมาะสมกับวัยและในรูปแบบที่เด็ก ๆ เข้าใจได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แม้ทุกคนจะรู้จักคำว่า “เกย์” “กระเทย” “เลสเบี้ยน” หรือ “LGBT” กันแล้ว แต่ภายใต้คำเหล่านี้ ยังมีคำศัพท์ย่อย ๆ อีกมากมายที่อธิบายความหลากหลาย ซึ่งพ่อแม่อาจยังไม่คุ้นเคย ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ LGBTQ+ นั้น ได้ขยายเพิ่มเป็น LGBTQIA+ ซึ่งย่อมาจาก

L (เลสเบี้ยน)

ผู้หญิงที่รักผู้หญิงด้วยกัน

 

G (เกย์)

หมายถึง ผู้ชายที่รักผู้ชายด้วยกัน อาจจะไม่กำหนดว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเป็นฝ่ายรับหรือรุกเท่านั้นแต่อาจจะเป็นได้ทั้งสอง หรือเราอาจใช้เรียกคนที่ชอบเพศเดียวกัน (homosexual)

 

B (ไบเซ็กชวล)

กลุ่มคนที่ มีรสนิยมชอบได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย พวกเขามี ประสบการณ์ทางเพศ อารมณ์ และความรัก กับบุคคลที่มีลักษณะทางเพศที่เป็นเพศเดียวกัน หรือ เพศตรงข้าม ไบเซ็กชวลไม่ได้จำกัดแค่เรื่อง ความสัมพันธ์ทางเพศ แต่ยังรวมถึง ความรู้สึกส่วนตัว และ อัตลักษณ์ทางเพศ ที่ยึดจากความสนใจทางเพศ การแสดงออกทางพฤติกรรม และการแต่งกาย

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

T (ทรานส์เจนเดอร์)

บุคคลข้ามเพศ เป็นการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพของตนเองไปเป็นเพศตรงข้าม เเบ่งออกเป็น 2 แบบ 

1) Male to female Transgender (MtF): ผู้หญิงที่ได้รับการแปลงเพศมาจากเพศชายเรียบร้อยแล้วหรือเรียกว่า ผู้หญิงข้ามเพศ (transwoman)

2) Female to Male Transgender (FtM): ผู้ชายที่ได้รับการแปลงเพศมาจากเพศหญิงเรียบร้อยแล้วหรือเรียกว่า ผู้ชายข้ามเพศ (transman)

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

Q (เควียร์)

คนที่ไม่ได้จำกัดกรอบว่าจะต้องชอบเพศไหน ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเป็นเพศไหน จะรักใคร จะชอบเพศไหน ไม่จำกัดว่าจะต้องรักชอบกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น หรือคนที่กำลังค้นหาตัวตนของตัวเอง

 

I (อินเตอร์เซ็กซ์)

กลุ่มคนที่มีสองเพศ (ในทางการแพทย์) ทั้งโครโมโซม และอวัยวะเพศ การเป็นอินเตอร์เซ็กส์มักจะหมายถึงลักษณะทางเพศที่แสดงออก ไม่ได้หมายถึงเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศ ซึ่งชาวอินเตอร์เซ็กส์ก็สามารถมีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายได้เหมือนบุคคลทั่วไป

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

A (อะเซ็กชวล)

กลุ่มคนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น ไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ทางเพศ

 

+ (อื่น ๆ )

หมายถึง ความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ ยังมีกลุ่มบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศหรือเพศสภาพที่แตกต่างออกไปอีก เช่น Pansexual คนที่มีรสนิยมชอบทุกเพศ Genderqueer คนที่ไม่ระบุเพศ หรือ Non-binary คนที่ไม่ใช่ชายหรือหญิง

บทความที่เกี่ยวข้อง : LGBT คือ อะไร การเปิดใจและตอบคำถามเกี่ยวกับ LGBT กับลูกของคุณ

 

คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกเรื่อง ความหลากหลายทางเพศ อย่างไร?

เมื่อศึกษาคำนิยามของเพศต่าง ๆ พ่อแม่หลายท่านอาจเริ่มเข้าใจถึงความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่มากมาย ซึ่งในอดีตสิ่งเหล่านี้อาจถูกมองว่าผิดปกติ แต่ด้วยความก้าวหน้าทางความคิดและการศึกษา จึงทำให้เราค้นพบว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นมีความหลากหลายมากกว่าการแบ่งแยกเพียงชายและหญิงเท่านั้น การที่พ่อแม่เข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศ เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเคารพต่อผู้อื่น และเข้าใจโลกที่หลากหลาย

1) สอนให้ลูกรู้จักเปิดใจเรียนรู้ (Open Mindedness)

 

 

ควรเริ่มต้นการพูดคุยกับลูกเกี่ยวกับ LGBTQ+ เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ สำหรับเด็กเล็ก อาจเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามและปูพื้นฐานโดยไม่ต้องลงรายละเอียดมากนัก เด็กโตอาจเริ่มอธิบายให้เห็นความแตกต่าง สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องเปิดใจรับฟังความคิดของลูก เพื่อที่รับรู้ได้ว่าลูกมีความเข้าใจประเด็นนี้ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน

หากลูกมีคำถาม ควรตอบอย่างตรงไปตรงมา โดยพิจารณาอายุของลูกเป็นเกณฑ์ ที่สำคัญอย่าให้การสนทนาเรื่อง LGBTQ+ เป็นการคุยกันแบบครั้งเดียวจบ แต่ควรสนับสนุนให้ลูกตั้งคำถาม ถามความคิดเห็นลูกเมื่อมีโอกาส เช่น เมื่อมีประเด็นในสังคม การชวนลูกคุยทุกครั้งที่มีโอกาส ไม่เพียงทำให้เราเข้าใจลูกมากขึ้น แต่ยังพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ให้ลูกด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

 

2) ใช้ภาษาที่เหมาะสม (Appropriate Language)

ไม่ว่าลูกจะเป็น LGBTQ+ หรือไม่ก็ตาม พ่อแม่ควรตระหนักว่าเด็ก ๆ สังเกตและเรียนรู้จากพฤติกรรมของผู้ใหญ่รอบข้างอยู่เสมอ คำพูดและการกระทำของพ่อแม่สามารถส่งผลต่อความคิดเห็นของเด็กเกี่ยวกับ LGBTQ+ ได้ทั้งในแง่ดีและแง่ลบ

ดังนั้น พ่อแม่ควรระวังคำพูดและการกระทำของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ควรพูดจาเหยียดหยามหรือแสดงท่าทีไม่ดีต่อผู้ที่มีเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศที่แตกต่างกัน เพราะเด็ก ๆ จะเรียนรู้จากพฤติกรรมเหล่านี้ และอาจนำไปสู่ความคิดเห็นที่ไม่ดีต่อ LGBTQ+

การตระหนักถึงอคติทางเพศและพยายามหลีกเลี่ยงการพูดหรือทำสิ่งที่ส่งเสริมอคติเหล่านี้ จะช่วยให้ลูก ๆ เติบโตมาโดยไม่ถูกจำกัดด้วยค่านิยมแบบเดิม ๆ และมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ LGBTQ+

 

3) สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย (Safe Space)

วิธีง่าย ๆ ที่พ่อแม่จะเริ่มพูดคุยเรื่อง LGBTQ+ กับลูก คือการใช้คำถามของลูกเป็นจุดเริ่มต้น เด็ก ๆ มักมีความช่างสังเกตและอยากรู้อยู่เสมอ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาถามคำถามเกี่ยวกับครอบครัวที่แตกต่างกัน เช่น “ทำไมเพื่อนคนนี้ถึงมีแม่สองคน?” หรือแตกต่างพฤติกรรม เช่น ทำไมเพื่อนคนนี้ถึงใส่สีชมพู? สีชมพูเป็นสีของผู้หญิง” หรือ “ธงสีรุ้งนั่นคืออะไร?” คำถามเหล่านี้เป็นโอกาสทองในการพูดคุยเกี่ยวกับประสบการณ์และตัวตนของ LGBTQ+ 

โดยการสังเกตและตอบรับคำถามของลูกอย่างเหมาะสมกับวัย พ่อแม่จะสามารถใช้โอกาสเหล่านี้ในการเรียนรู้ร่วมกัน และสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยให้ลูกกล้าที่จะตั้งคำถามโดยไม่ถูกตัดสิน ซึ่งจะช่วยให้ลูกเปิดใจพูดคุยกับเราได้อย่างสบาย 

สิ่งสำคัญคือการเลือกหัวข้อและคำศัพท์ ให้เหมาะสมกับวัยของพวกเขา ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้นตามพัฒนาการทางความคิดเท่านั้น แต่ยังช่วยให้ผู้ปกครองสามารถพูดคุยกับพวกเขาในเรื่องที่ไม่ซับซ้อนหรือเกินวัยอีกด้วย โดยสามารถแบ่งเป็นตามอายุได้ ดังนี้

  • อายุ 3-5 ปี: 

 

 

สำหรับเด็กวัยก่อนเข้าเรียน การตอบคำถามควรเน้นความง่าย ตรงประเด็น และไม่ใส่รายละเอียดมากเกินไป ตัวอย่างเช่น หากลูกน้อยถามว่า “ทำไมเพื่อนมีแม่ 2 คน?” คุณพ่อคุณแม่สามารถตอบว่า “ครอบครัวแต่ละบ้านแตกต่างกันนะ บางบ้านมีแม่ 2 คน บางบ้านมีพ่อแม่ครบ และบางบ้านอาจมีพ่อหรือแม่คนเดียว” 

 

  • อายุ 6-10 ปี:

เด็กวัยนี้จะเริ่มมีพัฒนาการทางความคิด และความสนใจ กับสิ่งรอบตัวมากขึ้น รวมถึงตั้งคำถามที่ซับซ้อนตามความอยากรู้อยากเห็นที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นบทสนทนากับเด็กวัยนี้ก็ควรมีความหลากหลายและน่าสนใจเช่นกัน ในวัยนี้ เด็ก ๆ อาจจะสังเกตเห็นลักษณะภายนอกหรือความแตกต่างทางเพศ ตัวอย่างเช่น คำถามที่ว่าทำไมบางคนแต่งตัวแตกต่างจากคนอื่น คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายให้เด็กเข้าใจได้ว่า การแต่งกายในสไตล์ใดสไตล์หนึ่งไม่ได้บ่งบอกเพศของบุคคลนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าคือ บุคลิกภาพและนิสัยใจคอ ซึ่งการใช้คำถามปลายเปิด จะช่วยกระตุ้นให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ เช่น “หนูคิดว่าทำไมเขาคนนั้นถึงแต่งตัวแบบนั้นนะ” หรือ “หนูว่าเขาเป็นคนนิสัยยังไง” ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ เรียนรู้ที่จะมองคนจากภายใน ยอมรับความแตกต่าง และเติบโตเป็นคนที่เปิดใจมากขึ้นค่ะ

 

  • อายุ 11-18 ปี:

 

 

เมื่อลูกของเราเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นตอนต้น ร่างกายกำลังผ่านการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพัฒนาการทางเพศ หัวข้อการสนทนาระหว่างพ่อแม่ลูกก็จะเปลี่ยนไป มีความซับซ้อน และลึกซึ้งมากขึ้น ในวัยนี้ ลูกน้อยของคุณอาจเริ่มค้นหาตัวเอง เรื่องเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ (Sexual Orientation) อาจเป็นสิ่งที่พวกเขาสนใจและอยากพูดคุย เพื่อนรอบข้างบางคนอาจเปิดเผยตัวตนทางเพศของตัวเอง ทำให้ลูกคุณเกิดคำถาม ความสงสัย และอยากลองค้นหาตัวเองบ้าง

สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรทำ คือ การรับฟังลูกน้อยด้วยใจกว้าง ปราศจากการตัดสิน เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าความรู้สึก ความคิด และคำถาม ลองเริ่มต้นด้วยการถามความคิดเห็นของลูก เกี่ยวกับหัวข้อนั้น ๆ ฟังสิ่งที่ลูกพูดด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ลูกกล้าที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่มากขึ้น

 

4) ปลูกฝังความเข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศผ่านการเล่น

 

 

สังคมมักกำหนดกรอบความคิดเรื่องเพศให้กับเด็ก โดยกำหนดประเภทของเล่น กิจกรรม และพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับเด็กชายและเด็กหญิง อย่างไรก็ตามกรอบความคิดเหล่านี้เป็นสิ่งที่อันตรายและจำกัดการพัฒนาของเด็ก รวมถึงขัดขวางไม่ให้เด็กได้สำรวจศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่

Dr. Lise Eliot นักประสาทวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนแพทย์ชิคาโก กล่าวว่า การจำกัดกิจกรรมของเด็กตามเพศสามารถขัดขวางการพัฒนาของพวกเขาได้ เธอชี้ว่าข้อจำกัดดังกล่าวอาจทำให้เด็กขาดโอกาสในการเรียนรู้ทักษะและประสบการณ์ที่สำคัญ

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ พ่อแม่ควรลบล้างกรอบความคิดเรื่องเพศ และส่งเสริมการเล่นแบบผสมผสานและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดหาของเล่นและกิจกรรมหลากหลาย ให้เด็ก ๆ ได้สำรวจตัวเลือกต่าง ๆ โดยไม่จำกัดพวกเขาตามกรอบความคิดเรื่องเพศ หรือการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุน ให้เด็ก ๆ รู้สึกปลอดภัยในการแสดงความสนใจ และสำรวจตัวตนของตนเอง โดยไม่ต้องกลัวการถูกตัดสินหรือวิพากษ์วิจารณ์

 

การทำลายกรอบความคิดเรื่องเพศและส่งเสริมการเล่นแบบผสมผสาน จะช่วยให้เด็ก ๆ พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ โดยไม่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ แนวทางนี้ ไม่เพียงส่งเสริมการเติบโตของแต่ละบุคคล แต่ยังส่งเสริมสังคมที่ยอมรับและผสมผสานมากขึ้นด้วย พื้นฐานเหล่านี้ จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สอนลูกได้อย่างมั่นใจ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อความหลากหลายทางเพศได้ค่ะ

 

ที่มา: Amnesty, Social Creatures, Children’s Hospital LA, starfish labz, M.O.M, Camber Mental Health

 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

Pride Month คืออะไร มีที่มาอย่างไร ทำไมถึงเป็นเดือนสำคัญของโลก?

พ่อแม่เป็น LGBTQ แล้วลูกจะเป็นไหม ? เลี้ยงลูกฉบับ LGBT

เปิดบทสัมภาษณ์จาก ครอบครัวสีรุ้ง คุณเจี๊ยบ มัจฉา และ น้องหงส์ ศิริวรรณ

บทความโดย

samita