ฝึกลูกกล่อมตัวเอง หลับง่ายใน 5 ขั้นตอน วิธีฝึกลูกนอนยาวอย่างได้ผล

การฝึกให้ลูกกล่อมตัวเอง ไม่ใช่แค่จะช่วยให้ทั้งครอบครัวมีเวลาการพักผ่อนที่ยาวนานขึ้นนะคะ แต่ยังสร้างวินัยการนอนที่ดีให้ลูกได้ด้วย มาดูวิธีฝึกกัน
เพราะคุณภาพการนอนหลับ เท่ากับ คุณภาพชีวิตค่ะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับลูกน้อยวัยทารกที่การนอนหลับส่งผลต่อพัฒนาการอย่างยิ่ง โดยมีผลต่อการหลั่ง Growth Hormone ที่ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต และการพัฒนาของสมอง หากลูกน้อยนอนไม่พออาจมีอาการหงุดหงิด ไม่ร่าเริงเท่าที่ควร แต่การกล่อมลูกนอนทุกครั้งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เหนื่อยล้า หรือเจอปัญหาลูกไม่ยอมนอน ตื่นและร้องไห้กลางดึกเพื่อให้พ่อแม่กล่อมนอน ดังนั้น การฝึกให้ลูกกล่อมตัวเองได้ จึงเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้ทั้งลูกน้อยและคุณพ่อคุณแม่นอนหลับได้อย่างเต็มอิ่ม ปลูกฝังนิสัยการนอนที่ดีให้ลูกในระยะยาว มาดูไปพร้อมกันค่ะว่า ฝึกลูกกล่อมตัวเอง สามารถเริ่มได้ตอนกี่เดือน และมีวิธีฝึกยังไงเพื่อให้ลูกนอนยาวอย่างได้ผล
▼สารบัญ
ฝึกลูกกล่อมตัวเอง มีประโยชน์ยังไง? ทำไมต้องฝึก
ข้อดีของการฝึกให้ลูกนอนเองนั้น แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ จะได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ อีกทั้งยังช่วยให้ Growth Hormone ของเด็กๆ ทำงานอย่างเต็มที่ ในเวลาที่เด็กๆ หลับลึกนั่นเอง การฝึกลูกให้กล่อมตัวเองได้มีประโยชน์มากมาย เช่น
- ส่งเสริมการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ลูกน้อยที่กล่อมตัวเองได้จะหลับได้ยาวนานขึ้น หลับได้สนิทมากขึ้น และไม่ตื่นกลางคืนบ่อย
- สร้างกิจวัตรการนอนหลับที่ดี การฝึกกล่อมตัวเองช่วยให้ลูกน้อยมีกิจวัตรการนอนหลับที่เป็นระบบ
- เสริมสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ ลูกที่สามารถกล่อมตัวเองได้จะรู้สึกปลอดภัยและมีความมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น
- ลดความเหนื่อยล้าของพ่อแม่ คุณพ่อคุณแม่จะมีเวลาพักผ่อนมากขึ้นเมื่อไม่ต้องกล่อมลูกนอนทุกครั้ง
ฝึกลูกกล่อมตัวเอง เริ่มฝึกได้ตอนกี่เดือน?
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเริ่ม ฝึกลูกกล่อมตัวเอง คือช่วงอายุ 4-6 เดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกน้อยเริ่มมีวงจรการนอนหลับที่ชัดเจนขึ้น เริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมและการนอนหลับมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การฝึกอาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามพัฒนาการของลูกน้อยแต่ละคนด้วยค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่บางคนอาจเริ่มฝึกได้เร็วกว่านั้น หรืออาจต้องรอจนลูกอายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป ขึ้นอยู่กับความพร้อมของลูก ซึ่งอาจสังเกตได้จากความสามารถในการควบคุมอารมณ์ และความสะดวกสบายที่ลูกรู้สึกเมื่ออยู่บนเตียงนอน โดยจะใช้เวลาในการฝึก 2-4 สัปดาห์ และต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ฝึก (คุณพ่อหรือคุณแม่) ฝึกในบ้านหลังเดิม ที่นอนเดิม ร่วมกับการปรับสภาพแวดล้อมให้เงียบ มืด และมีอุณหภูมิเหมาะสมเพื่อให้ง่ายต่อการฝึกค่ะ
ทั้งนี้ การฝึกลูกกล่อมตัวเองไม่ควรเป็นการปล่อยให้ลูกร้องไห้ ไม่ใช่การทอดทิ้งลูก รวมถึงไม่ใช่การปล่อยให้ลูกหิวตอนกลางคืน หรือเป็นการฝึกเพื่อให้ลูกปรับตัวตามตารางของพ่อแม่นะคะ แต่เราควรฝึกลูกกล่อมตัวเอง รวมถึงฝึกให้ลูกนอนยาวในกรณีที่พบว่ารูปแบบการนอนแบบเดิมมีผลกระทบต่อลูกทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และมีผลกระทบต่อคุณพ่อคุณแม่ด้วย เช่น คุณแม่ต้องอุ้มลูกโยกกล่อมไปมาจนหลังพัง หรือขยับตัวเพื่อทำสิ่งต่างๆ ไม่ได้เลยเพราะลูกใช้ตัวคุณแม่เป็นเตียง เป็นต้น
ที่สำคัญคือ ก่อนฝึกลูกกล่อมตัวเองคุณพ่อคุณแม่ควรมีการตกลงทำความเข้าใจร่วมกันก่อน เพื่อให้การฝึกเป็นไปในทิศทางเดียวกัน หากคุณพ่อฝึกอย่าง คุณแม่ทำอีกอย่าง จะทำให้ลูกน้อยสับสนค่ะ และควรเลือกช่วงเวลาในการฝึกให้ดี เพราะต้องใช้เวลาในการฝึกอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ ดังนั้น ต้องไม่มีทริปจังหวัด มีญาติมาเยี่ยม หรือเตรียมคลอดลูกคนใหม่นะคะ
อุปกรณ์ตัวช่วยสำหรับ ฝึกลูกกล่อมตัวเอง
- เตียงนอนเด็กเล็ก ที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน
- เสียง White Noise เสียงฝนตก เสียงฮัมเพลงเบาๆ จำลองเสียงที่ลูกได้ยินตอนอยู่ในท้องแม่
- Baby monitor สำหรับเฝ้าดูสังเกตการณ์พฤติกรรมของลูกน้อยในระหว่างการฝึก
วิธี ฝึกลูกกล่อมตัวเอง อย่างได้ผลง่ายๆ ใน 5 ขั้นตอน
การฝึกลูกให้กล่อมตัวเองนั้นมีหลายวิธีที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปใช้ได้ค่ะ ขึ้นอยู่กับนิสัยของลูกและความสะดวกของแต่ละครอบครัว ดังนี้
-
สร้างกิจวัตรก่อนนอนที่เป็นระบบ
มีการกำหนดเวลาเข้านอนและตื่นนอนที่แน่นอนทุกวัน รวมไปถึงกิจกรรมที่ทำเพื่อความผ่อนคลายก่อนนอนด้วย เช่น อาบน้ำอุ่น อ่านนิทาน หรือร้องเพลงกล่อม การปิดไฟสร้างบรรยากาศในห้องนอนให้เงียบสงบ มืด และเย็นสบาย ความมืดจะช่วยกระตุ้นการหลั่ง hormone melatonin ช่วยในการนอนหลับ ซึ่งลูกจะเรียนรู้ว่าเวลานอนคือเวลาที่ต้องผ่อนคลายและเตรียมตัวสำหรับการนอนค่ะ
-
จัดที่นอนลูกให้เป็นสัดส่วน
ควรแยกที่นอนลูกจากพ่อแม่ แต่ต้องดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการตกเบาะหรือเตียง และไม่ควรให้ลูกเล่นบนเตียงนอนค่ะ ลูกควรต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจว่าเตียงนอนมีไว้เพื่อการนอนหลับเท่านั้น จะได้ไม่สับสนระหว่างการฝึกนะคะ รวมทั้งควรสร้างความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืนอย่างชัดเจน เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่ากำลังนอนในช่วงเวลาไหน เช่น
- กลางวัน มีแสงสว่าง เปิดม่าน มีแดด เสียงดัง เมื่อลูกตื่นให้บอกลูกว่า เช้าแล้วนะคะ แล้วพาลูกสัมผัสแสงยามเช้าพร้อมกับทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ กินนม
- กลางคืน ต้องมืด เงียบ โดยคุณแม่ต้องบอกลูกว่า มืดแล้ว ค่ำแล้ว ให้ลูกมองความมืดพร้อมบอกว่า ได้เวลานอนแล้ว จากนั้นก็ทำกิจวัตรช่วงก่อนนอนที่ทำเหมือนเดิมเป็นประจำ เช่น เล่านิทานก่อนนอน ร้องเพลงกล่อม
-
สังเกตสัญญาณง่วงนอนของลูก
เมื่อลูกน้อยแสดงอาการง่วงนอน เช่น หาว ขยี้ตา หรือดึงหู ให้พาลูกน้อยไปที่เตียงทันที และหลีกเลี่ยงการปล่อยให้ลูกน้อยเหนื่อยเกินไป เพราะจะทำให้หลับยากขึ้น โดยควรวางลูกน้อยลงบนเตียงในขณะที่เริ่มง่วงแล้วแต่ยังตื่นอยู่ เพื่อให้เวลาลูกน้อยได้ลองกล่อมตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ยังไม่ต้องเข้าไปช่วยให้หลับในทันทีนะคะ
-
ใช้เทคนิคปลอบโยนอย่างเหมาะสม
หากลูกร้องไห้ อย่าเพิ่งเข้าไปอุ้มปลอบโอ๋ทันที ให้สังเกตดูก่อนประมาณ 3-5 นาที เพื่อดูว่าลูกสามารถกล่อมตัวเองนอนหลับต่อได้ไหม หรือเข้าไปปลอบโยนด้วยการพูดคุยเบาๆ ลูบหลังหรือตบก้นเบาๆ หลีกเลี่ยงการอุ้มลูกน้อยขึ้นมากล่อม เพราะจะทำให้ลูกติดการอุ้ม หากลูกร้องไห้หนักมาก ให้อุ้มปลอบและหาสาเหตุของการร้องไห้ แต่ต้องปิดไฟและทำด้วยความเงียบที่สุดเพื่อให้ลูกรู้ว่านี่คือตอนกลางคืนค่ะ
-
ให้ความรักและความมั่นใจ
การฝึกลูกกล่อมตัวเองไม่ได้หมายถึงการทิ้งลูกให้อยู่คนเดียวโดยไม่มีความรักหรือการดูแลจากคุณพ่อคุณแม่นะคะ แต่ควรเป็นช่วงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่อยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ และมอบความรักอย่างเต็มที่ เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยระว่างการฝึกกล่อมตัวเองค่ะ
การฝึกให้ลูกกล่อมตัวเองนั้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใช้ความอดทนและความสม่ำเสมอนะคะ เพราะเป็นการฝึกที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ที่สำคัญคือ หากลูกยังไม่พร้อม หรืออยู่ในช่วงอายุที่ยังต้องการการดูแลมาก ยังไม่ควรเริ่มฝึก ให้ชะลอการฝึกออกไปก่อน เพราะอาจทำให้เกิดความเครียดได้ทั้งกับลูกและคุณพ่อคุณแม่ค่ะ นอกจากนี้ หากลูกมีปัญหาสุขภาพหรือพัฒนาการที่น่ากังวล ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มฝึกนะคะ
ที่มา : www.thaipbskids.com , Doctor MM Family เมาท์เรื่องลูกกับหมอมะเหมี่ยว , สารพันปัญหาการเลี้ยงลูก
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
White noise เสียงไดร์เป่าผม ช่วยกล่อมทารก หลับสบายจริงไหม ?
ลูกนอนผวา ร้องไห้ เรื่องที่คุณแม่ต้องเข้าใจ และรับมืออย่างเหมาะสม
ร้อนนี้ต้องระวัง! 6 โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พบบ่อย ดูแลป้องกันยังไง?