คุยกับลูกเรื่องความตาย คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมตัวยังไงดี?
สภาวะกลืนไม่เข้า คายไม่ออก
ใครเล่าที่อยากจะคุยเรื่องความเป็นความตายกับเด็กตัวเล็ก ๆ ไม่มีหรอกจริงไหม
พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่อยากจะพูดคุยเรื่องนี้กับลูก ๆ เพราะคิดว่าอาจทำให้เด็ก ๆ เกิดความสับสนขึ้นได้ พ่อแม่จะกังวลว่าเด็ก ๆ อาจจะพูดผิดพูดถูก เพราะฉะนั้นแทนที่เราจะพูดถึงเรื่องนี้ด้วยอารมณ์เศร้า หดหู่ โกรธ หรือวิตกกังวล เราก็เลยปิดกั้นเด็ก ๆ จากเรื่องเศร้า ๆ พวกนี้เท่าที่จะทำได้
แต่พ่อแม่อาจจะคิดผิด เพราะว่าเด็ก ๆ รับรู้ถึงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวที่เกิดขึ้นกับเขาได้รวดเร็วกว่าที่เราคิดเอาไว้มาก เด็ก ๆ จะมีจินตนาการที่แปลกแหวกแนวไปมาก และหากปล่อยให้พวกเขาคิดเองเออเองอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ในภายหลังได้
จัดการกับเรื่องความตายตามอายุของลูก
การที่เด็กจะเข้าใจถึงความตายและการที่คุณจะสามารถเข้าไปพูดคุยเรื่องนี้กับลูกได้ ขึ้นอยู่กับอายุของลูกคุณด้วย แต่เด็กแต่ละคนก็อาจจะมีความแตกต่างกันออกไป วิธีต่อไปนี้เป็นวิธีคร่าว ๆ ที่จะช่วยให้พ่อแม่จัดการเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น
ก่อน 5 – 6 ขวบ
สำหรับเด็กในวัยนี้จะต้องมีการอธิบายตั้งแต่ต้น และต้องการคำอธิบายเป็นคำศัพท์ต่าง ๆ ไป เพราะในโลกของพวกเขาตอนนั้นต้องมีคำอธิบายเป็นรูปเป็นร่างที่เข้าใจได้ง่าย ยกตัวอย่างเช่นหากมีญาติที่อายุมากหรือเสียชีวิต คุณก็สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ว่า ร่างกายของคน ๆ นั้นมันมีเวลาที่เริ่มเก่าและไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ แล้วคุณหมอก็ช่วยเขาเอาไว้ไม่ได้ เป็นต้น
เด็กในวัยนี้จะมีปัญหากับการเข้าใจถึงความหมายของคำว่า “ความตาย” เขาอาจขอให้คุณอธิบายเรื่องนี้บ่อย ๆ ว่าทำไมคน ๆ นั้นถึงไม่กลับมาให้เห็นหน้าอีกแล้ว ระหว่างนี้อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เศร้าใจ หดหู่ใจไปบ้าง เพราะคุณเองก็กำลังอยู่ในระหว่างการเยียวยาตัวเองจากความเศร้าเช่นกัน แต่คุณก็ต้องทำใจยอมรับในช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ด้วย
คุณอาจจะมีตัวช่วยอย่างการ์ตูนที่คุณจะนั่งดูไปพร้อมลูก ๆ แล้วสอนเรื่องราวของความตายและการสูญเสียให้เขาเข้าใจได้ง่าย ๆ เช่นการ์ตูนเรื่อง The Lion King และ Bambi
อายุ 6 – 10 ปี
เด็กในวัยนี้พอจะเข้าใจเรื่องความตายมากขึ้น และอาจเข้าใจว่าคนตายมักจะกลายเป็นผีที่หลอกคนไปทั่ว พวกเขาสามารถเข้าใจในเรื่องความตายได้ดีหากพ่อแม่อธิบายให้เขาเข้าใจด้วยคำที่เข้าใจง่าย ชัดเจนแจ่มแจ้ง และจริงใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับคนที่เสียชีวิต แต่ก็ขอให้รู้เอาไว้ว่าหลังจากที่อธิบายไปแล้ว เด็ก ๆ อาจจะยังมีคำถามที่ต้องให้คุณอธิบายอีกหลาย ๆ ครั้ง
ก่อนและในช่วงวัยรุ่น
เด็กวัยนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่ามนุษย์เรายังไงก็ต้องตายในท้ายที่สุด คำถามที่พ่อแม่อาจจะได้ยินจากเขาอาจจะเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตและอาการบาดเจ็บต่าง ๆ อย่าลืมถามพวกเขาว่ามีความรู้สึกอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย อย่าให้เขาเก็บไปคิดคนเดียว
ทิปส์ดี ๆ ที่จะช่วยเยียวยา จากอาการเศร้าหมอง
- แบ่งปันเรื่องราวของคนที่เสียชีวิตให้ฟัง
- กอดให้กำลังใจซึ่งกันและกัน
- แบ่งปันความรู้สึกของคุณให้คนอื่นรับรู้
ในฐานะที่คุณเป็นพ่อแม่ คุณอาจจะอยากปิดกั้นความเศร้าหมอง และความสูญเสียจากชีวิตของลูกคุณ แต่คุณต้องจำเอาไว้ว่า การสูญเสียคนที่เรารักเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต คุณควรสอนให้ลูกของคุณรู้จักการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง แทนที่จะปกปิดเรื่องราวพวกนี้จากพวกเขา เพราะเหตุการณ์เหล่านี้จะเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับพวกเขาไปตลอดชีวิต
The Asianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพและสังคมคุณแม่ ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และในเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น The Asianparent ที่ติดตามการตั้งครรภ์ ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งานฟรี เพื่อติดตามพัฒนาการของทารก ตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ยังมีไลฟ์สไตล์ และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก The Asianparent เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง
เพราะเราเชื่อว่า “พ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง”
บทความที่เกี่ยวข้อง :
Kids Health.org – Helping Your Child Deal With Death
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ในวันที่เสียพ่อ สอนลูกรับมือ กับความสูญเสียยังไง ในวันที่เรา ก็ต่างสูญเสีย
ตายเพราะน้ำแข็งแห้ง คนเทน้ำแข็งแห้งลงในบ่อ ทำเอาสามี ของแม่ลูกสอง เสียชีวิต