จะ พาลูกเที่ยวเสริมทักษะ ทั้งทีแต่ไม่อยากเดินทางไปไกลๆ แน่นอน วันนี้เรามีแหล่ง พาลูกเที่ยวเสริมทักษะ มาแนะนำกัน ไม่ไกลกรุงเทพฯ อยู่แค่โคราชนี่เอง ไปดูกันว่าวันนี้เราจะ พาลูกเที่ยวเสริมทักษะ ที่ไหนกันบ้างตามมาเลย
1. พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ซากดึกดำบรรพ์และไดโนเสาร์
พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน มีโครงการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2537 และสามารถจัดแสดงนิทรรศการได้ใน พ.ศ. 2545 แต่เนื่องจากไม้กลายเป็นหินพบได้ในเกือบทุกจังหวัดของภาคอีสาน จึงไม่สามารถนำไม้กลายเป็นหินทั้งหมดและจำนวนมากมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ได้ ส่วนใหญ่จึงจัดแสดงไว้ในงานภูมิทัศน์ของพิพิธภัณฑ์ โดยแยกเป็นโซนพื้นที่ของไม้กลายเป็นหินจังหวัดต่างๆ ขณะที่ในพิพิธภัณฑ์จะเน้นไม้กลายเป็นหินของจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะการเน้นลักษณะเด่นพิเศษที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ 3 ประการ คือ
1) ไม้กลายเป็นหินอัญมณี
2) ไม้กลายเป็นหินวงศ์ปาล์ม
3) ไม้กลายเป็นหินหลากหลายอายุ
นิทรรศการไม้กลายเป็นหินโคราช – ขอนแก่น
เพื่อแสดงแหล่งไม้กลายเป็นหินสำคัญของภาคอีสาน คือ จังหวัดนครราชสีมาและขอนแก่น ซึ่งมีความโดดเด่นด้านขนาดที่ใหญ่หรือมีสีสันที่สวยงาม
ห้องเฉลิมพระเกียรติ : สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหิน
เพื่อแสดงภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและข้อความพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับความสำคัญของ “โบราณวัตถุ” ภาพของอนุสรณ์สถานไม้กลายเป็นหิน ร.6 รวมทั้งภาพของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงสนพระทัยในนิทรรศการและติดตามโครงการอนุรักษ์ไม้กลายเป็นหินของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาและจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่ พ.ศ. 2540
ห้องฉายวีดิโอแอนิเมชั่น : กำเนิดโลก
วิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตและประวัติพิพิธภัณฑ์ เป็นห้องฉายขนาด 30 ที่นั่ง พื้นไหวสะเทือนได้ สัมพันธ์กับเนื้อหาบนจอภาพที่มีอยู่ 3 จอ
ห้องฉายวีดิโอแอนิเมชั่น : กำเนิดไม้กลายเป็นหินโกรกเดือนห้า
เป็นห้องฉายที่จำลองบรรยากาศป่าดงดิบและลำน้ำที่ไหลมาจากแดนไกล ภาพม่านน้ำตกซึ่งเป็นจอภาพด้วย ฉายให้เห็นถึงกำเนิดไม้กลายเป็นหินในบริเวณบ้านโกรกเดือนห้า
ห้องนิทรรศการไม้กลายเป็นหินอัญมณี
แสดงไม้กลายเป็นหินอัญมณีขนาดใหญ่ หลากหลายอายุ และไม้กลายเป็นหินตระกูลปาล์ม ซึ่งเป็นความโดดเด่น 3 อย่างของไม้กลายเป็นหินในจังหวัดนครราชสีมา
วันและเวลาทำการ
- เปิดให้บริการ วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 09.00 – 15.30 น.
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
- 184 หมู่ 7 ถ.มิตรภาพ – หนองปลิง บ้านโกรกเดือนห้า ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000
- โทรศัพท์ : 044 – 370739 – 40
การเดินทาง
กรณีที่มาจาก กทม. ถนนเส้นมิตรภาพ ให้กลับรถที่สะพานกลับรถโคกกรวด กม. 133 เลี้ยวซ้าย ตรงทางเข้าตลาดไม้ดอกไม้ประดับ จะมีป้ายบอกทางและไปอีก 11.5 กม. ก็จะถึงพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน จุดสังเกต อยู่ติดกับสำนักงานทางหลวงชนบทที่ 5
กรณีมาจากจังหวัดนครราชสีมา เส้นถนนมิตรภาพ เลี้ยวซ้ายตรงสี่แยกปักธงชัย จะมีป้ายบอกทางไป อีก 12 กม. เลี้ยวขวาเข้า ม.เทคโนโลยีสุรนารี ประตู 2 (ศูนย์ปฏิบัติการทางการแพย์และสาธารณสุข มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) ประมาณ 3 กม. ให้เลี้ยวซ้าย มาทางวัดหนองปลิง อีกประมาณ 2 กม. ก็ถึงพิพิธภัณฑ์
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ : อัพเดตใหม่ 2021 รวม 7 พิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพ ที่น่าไปเที่ยว
2. ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง
ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. ลำตะคอง เป็นโครงการที่ กฟผ. มุ่งทำขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่าง ๆ ทั้งจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน รวมถึงนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าที่ทันสมัยด้วยระบบ Wind Hydrogen Hybrid
ภายในศูนย์ฯ แบ่งเป็น 7 โซน ประกอบด้วย
- โซน 1 : ลานผู้กล้า จุดลงทะเบียนรับ RFID ของเหล่าผู้กล้า เพื่อเตรียมพร้อมผจญภัยในดินแดนพลังงาน และชมการแสดงจาก H-bot
- โซน 2 : ภารกิจพิชิตดินแดนพลังงาน ชมภาพยนตร์ 7 มิติ และพบกับ “น้องแทน” ตัวแทนเด็กจากชุมชน ลำตะคอง ที่จะพาเหล่าผู้กล้าไปผจญภัยในดินแดนพลังงาน และตามหาพลังงานแห่งอนาคต
- โซน 3 : ดินแดนพลังงาน น้องสายชล น้องวายุ และน้องตะวัน ชวนผจญภัยในดินแดนพลังงานน้ำ (Water Frontier) พลังงานลม (Wind Frontier) และพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Frontier) พร้อมชมทิวทัศน์แสนงดงามของพื้นที่ลำตะคองที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าบนหอคอยดินแดนแห่งพลังงาน (The Tower of Energy)
- โซน 4 : ดินแดนพลังงานแห่งอนาคต ร่วมผจญภัยค้นหาพลังงานใหม่แห่งอนาคต กับนวัตกรรมพลังงานสุดล้ำอย่าง “Wind Hydrogen Hybrid” เมื่อพลังงานลมและไฮโดรเจนผนึกกำลังร่วมกันสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า
- โซน 5 : ภารกิจผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย อุโมงค์กาลเวลา พาเหล่าผู้กล้าร่วมผจญภัยกับภารกิจสุดท้าทายของ กฟผ. ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย
- โซน 6 : ฐานบัญชาการสมดุลพลังงาน ฐานบัญชาการที่เหล่าผู้กล้าจะได้ร่วมภารกิจ “สร้างสมดุลพลังงานไฟฟ้า” โดยสวมบทบาทเป็นผู้ควบคุมและปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง
- โซน 7 : ม่วนซื่นลำตะคอง เพลิดเพลินไปในดินแดนแห่งรอยยิ้มและความสุข ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและความมีชีวิตชีวาของชุมชนลำตะคอง
วันและเวลาทำการ
- วันอังคาร – วันอาทิตย์ เวลา 09:00-16:00 น.
- หยุดวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
- ศูนย์เรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง เลขที่ 301 หมู่ 6 ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา 30340
- โทรศัพท์ : 044-984-007
ค่าเข้าชม
- ไม่มีค่าใช้จ่าย
การเดินทาง
เดินทางโดยรถยนต์สามารถ ใช้เส้นทางถนนมิตรภาพผ่านเขื่อนลำตะคอง จากนั้นให้สังเกตุ “เรือนจำคลองไผ่” หรือ “สถานีตำรวจภูธรคลองไผ่” ทางขึ้นศูนย์จะอยู่ตรงข้าม เดินทางขึ้นมาอีกประมาน 2 กิโลเมตร ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคองจะตั้งอยู่ทางขวามือ
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ : บึงฉวาก เที่ยวสุพรรณบุรี พาลูกชมสัตว์น้ำ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำใกล้กรุงฯ
3. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย
พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้ เริ่มต้นมาจากการเป็นพิพิธภัณฑสถานกลางแจ้ง ในความดูแลของกองโบราณคดี กรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๗ โดยหน้าที่ขณะนั้นเพื่อการเก็บรักษา และจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการขุดแต่งบูรณะปราสาทพิมาย ร่วมกับโบราณวัตถุที่ได้จากการ เก็บรวบรวมจากจังหวัดต่างๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระทั่ง พ.ศ.๒๕๑๘ ได้โอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของกองพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง
พ.ศ.๒๕๓๒ กรมศิลปากร เสนอของบประมาณโครงการน้ำพระทัยจากในหลวง หรือโครงการอีสานเขียว เพื่อดำเนินการปรับปรุงพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ให้ถูกต้องตามหลักพิพิธภัณฑสถานวิทยา โดยการจัดสร้างอาคารจัดแสดง สำนักงานและห้องประชุม และได้รับงบประมาณต่อเนื่องมาจนกระทั่ง ดำเนินการจัดแสดงนิทรรศการถาวรแล้วเสร็จ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อย่างเป็นทางการ เมื่อ วันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๖
ปัจจุบัน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย เป็นแหล่งรวบรวมองค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี โดยเก็บรวบรวมหลักฐานโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับรากฐานและพัฒนาการของวัฒนธรรมอีสานในอดีตที่เจริญรุ่งเรืองในพื้นที่อีสานตอนล่างแถบลุ่มแม่น้ำมูล-แม่น้ำชี ในจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และบุรีรัมย์ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ปี มาแล้วจนถึงสมัยปัจจุบัน
การจัดแสดง แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
- ส่วนที่ 1 อาคารจัดจัดแสดงชั้นบน จัดแสดงเรื่องพัฒนาการของสังคมในดินแดนแถบอีสานตอนล่างแสดงถึงรากฐานการกำเนิดวัฒนธรรม ซึ่งมีมาจากความเชื่อด้านต่างๆ ตลอดจนวัฒนธรรมจากภายนอกที่เข้ามามีบทบาทตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน
- ส่วนที่ 2 อาคารจัดแสดงชั้นล่าง จัดแสดงโบราณวัตถุศิลปะเขมรในอีสานตอนล่าง หลักฐานความเจริญก้าวหน้าต่างๆ เช่น ศาสนา สังคม เศรษฐกิจ เป็นต้น
- ส่วนที่ 3 อาคารจัดแสดงศิลาจำหลัก จัดแสดงโบราณวัตถุซึ่งเป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมหินทราย เช่น ทับหลัง หน้าบัน บัวยอดปราสาท เสาประดับกรอบประตู กลีบขนุน ปราสาทจำลอง เป็นต้น
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
- หมู่ 2 ถนนท่าสงกรานต์ ตำบลในเมือง อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา 30110
- โทรศัพท์ : 044-471 167
วันและเวลาทำการ
- เปิดทุกวัน เวลา 09.00 น. – 16.00 น. ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ค่าเข้าชม
- ชาวไทย คนละ 20 บาท
- ชาวต่างประเทศ คนละ 100 บาท
การเดินทาง
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อยู่ห่างจากตัวเมืองนครราชสีมา 60 กิโลเมตร เดินทางโดยใช้ ทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) จากตัวเมืองนครราชสีมาประมาณ 50 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาสามแยกตลาดแค เพื่อมุ่งหน้าเข้าสู่อำเภอพิมาย ประมาณ 10 กิโลเมตร ขับมาเรื่อยๆ จะเห็นสะพานท่าสงกรานต์ แล้วข้ามสะพานไปไม่ไกลก็จะพบพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย อยู่ทางด้านซ้ายมือ
4. พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา
พิพิธภัณฑ์เมืองนครราชสีมา ตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นแหล่งเรียนรู้ เหมาะกับการ พาลูกเที่ยวเสริมทักษะ ในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ที่มีการบูรณาความรู้อย่างหลากหลาย ทั้งพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมา ควรค่าที่คนโคราชจะได้รับรู้และนำไปสู่การก่อเกิดความภาคภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของตนที่สั่งสมและถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งซึ่งยังคงปรากฏชัดในปัจจุบัน โดยถูกเรียบเรียงและนำเสนอในรูปแบบนิทรรศการร่วมกับโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ช่วยพัฒนาทั้งความรู้และคุณค่าทางวัฒนธรรมไปพร้อมๆ กัน รวมถึงเป็นการแนะนำสถานที่สำคัญต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรมของจังหวัดนครราชสีมา โดยจัดแบ่งพื้นที่การจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน ด้วยกัน คือ
- นิทรรศการพัฒนาการทางประวัติศาสตร์จังหวัดนครราชสีมา เป็นส่วนภายในอาคาร อยู่บริเวณ ชั้น 2 ของอาคาร 10 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาด้วย มีพื้นที่การจัดแสดง ประมาณ 300 ตารางเมตร ภายในมีการจัดแสดงนิทรรศการที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของจังหวัดนครราชสีมา จัดแสดงร่วมกับโบราณวัตถุและศิลปวัตถุตามหลักประวัติศาสตร์ศิลปะ เริ่มตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในช่วงยุคหินใหม่ ยุคสำริด และยุคเหล็ก ต่อเนื่องมาสู่การพัฒนาเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์แรกเริ่มในสมัยทวารวดี ต่อเนื่องมาสู่ยุคสมัยแห่งวัฒนธรรมเขมรรุ่งเรือง การก่อตั้งเมืองนครราชสีมาในสมัยอยุธยา และวีรกรรมอันหาญกล้าของท้าวสุรนารี รวมถึงการก้าวเข้าสู่การเป็นเมืองหลักของภาคอีสานในด้านต่างๆ
- เรือนโคราช มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ส่วนการแสดงกลางแจ้ง คือ เรือนโคราช มีลักษณะเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น ใต้ถุนโล่ง มีลักษณะเด่นเฉพาะที่สะท้อนให้เห็นอัจฉริยภาพและภูมิปัญญาสร้างสรรค์ของช่างท้องถิ่นโคราช ที่มีความริเริ่ม มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับระบบโครงสร้างที่มีเอกลักษณ์สอดคล้องกับสภาพลมฟ้าอากาศเฉพาะถิ่นโคราช ทำหน้าที่เป็นข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและเป็นแหล่งเรียนรู้ทางภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวโคราชที่จะอธิบายการเป็นอยู่ครอบคลุมทั้งปัจจัย 4 เป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับนักศึกษาหรือผู้ชมทั่วไปสามารถมาเรียนรู้ หรือพักผ่อนได้ตามอัธยาศัย รวมทั้งรองรับต่อการจัดกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะกิจกรรมทางวัฒนธรรมสำคัญของมหาวิทยาลัย อาทิ ประเพณีสงกรานต์ การบายศรีสู่ขวัญ กิจกรรมทางศาสนา การเสวนาทางวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม ฯลฯ
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
- ชั้น 2 อาคาร 10 สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา 340 ถ.สุรนารายณ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา 30000
- โทรศัพท์ : 044-009-009 ต่อ 101
วันและเวลาทำการ
- เปิดทุกวัน เวลา 09.00-15.00 น. (ปิดให้บริการตามวันหยุดประกาศของมหาวิทยาลัย)
ค่าเข้าชม
- ไม่เก็บค่าเข้าชม (เข้าชมเป็นหมู่คณะตั้งแต่ 20 ท่านขึ้นไป กรุณาแจ้งล่วงหน้า)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ : วันหยุดนี้ พาครอบครัวสำรวจพิพิธภัณฑ์งู ที่ Siam Serpentarium กันเถอะ!
5. อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์
วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์
เล่ากันว่าเมื่อคราวย่าโมเป็นผู้นำชาวโคราชเข้าต่อสู้กับฝ่ายเจ้าอนุวงศ์จนได้ชัยชนะ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ มีสตรีผู้กล้าหาญร่วมต่อสู้อีกท่านหนึ่งคือ นางสาวบุญเหลือ ซึ่งเป็นผู้พลีชีพด้วยการจุดไฟทำลายเกวียน ที่บรรทุกดินระเบิดจนตัวตาย เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2369 ชาวบ้านทุ่งสัมฤทธิ์และชาวโคราช ได้ให้ความเคารพนับถือ ไม่ยิ่งย่อนกว่าย่าโมและเรียกนางบุญเหลือว่า ย่าเหลือ
อนุสรณ์สถานวีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ เป็นศาลสถิตดวงวิญญาณนางสาวบุญเหลือหรือย่าเหลือ และวีรชนชาวโคราชสร้างเป็นศาลาทรงไทย แบบจัตรุมุข ขนาดกว้าง 5 ม.ยาว 5 ม.ชาวทุ่งสัมฤทธิ์ร่วมกันสร้างขึ้นใ่น พ.ศ.2531 ภายในศาลมีรูปปั้นนางสาวบุญเหลือขนาดย่อมยืนอยู่ในท่าถือคบเพลิงที่นำไปจุดเกวียนบรรทุกดินระเบิดของทหารลาว
แหล่งการเรียนรู้พิพิธภัณฑ์ทุ่งสัมฤทธิ์
ความเป็นมาของท่านท้าวสุรนารี และ นางสาวบุญเหลือ ซึ่งเป็นผู้พลีชีพด้วยการจุดไฟทำลายเกวียน ประวัติความเป็นมาของต้นตระกูล ชมเครื่องมือ อาวุธสมัยโบราณที่ใช้ในการต่อสู้กับฆ่าศึก
น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
ชมพระบรมฉายาลักษณ์หายากของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ครั้งเสด็จฯ เยือน จังหวัดนครราชสีมาร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและร่วมถวายความอาลัย นำพระบรมฉายาลักษณ์หายากของในหลวงรัชกาลที่ ๙ พร้อมพระราชินีและพระบรมวงศานุวงศ์ ครั้งเสด็จเยือนเมืองโคราช ตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา มาให้ทุกคนได้ร่วมเก็บภาพแห่งความทรงจำดีๆ เพื่อบอกเล่าแก่ลูกหลานสืบไป
ที่อยู่และเบอร์ติดต่อ
- หมู่ที่ 1 ตำบลสัมฤทธิ์ อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา 30110
- โทรศัพท์ : 044-482900-1
วันและเวลาทำการ
- เปิดทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30 – 17.00 น.
ค่าเข้าชม
- ฟรีค่าเข้าชม (หากผู้เข้าชมต้องการสักการะศาลสถิตย์ดวงวิญญาณท่านท้าวสุรนารีและนางสาวบุญเหลือ สามารถบูชาดอกไม้ธูปเทียน ได้ ชุดละ 20 บาท)
ที่มา : (museumthailand)
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ :
ใครว่า ที่เที่ยวเชียงใหม่ มีดีแค่ธรรมชาติ พาชม 5 พิพิธภัณฑ์ น่าไปเมืองเชียงใหม่
7 พิพิธภัณฑ์ ระดับโลก ที่ควรไปซักครั้ง หลังหมดโควิด มีที่ไหนบ้าง