สัญญาณบางอย่างของคนท้องนั้นอาจจะบ่งบอกถึงอาการที่น่าเป็นหว่งสำหรับแม่ท้อง บางอาการนั้นอาจจะเหมือนอาการปกติของคนท้อง หรือ คนปกติก็ตาม แต่หากอาการเหล่านั้นมันทวีความปวด และ มีระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น อาการแทรกซ้อนบางอย่างก็อาจจะเป็นอันตรายและส่งผลต่อแม่ท้องและลูกในครรภ์ได้ วันนี้ theAsianparent Thailand นำบทความน่าสนใจสำหรับแม่ท้องมาให้ทุกคนแล้ว อาการผิดปกติแบบไหนที่คนท้องต้องไปพบหมอ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 11
อาการผิดปกติแบบไหนที่คนท้องต้องไปพบหมอ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 11
1.อาการเลือดออก
โดยอาการเลือดออกสำหรับแม่ท้องนั้นอาจจะมีสาเหตุจากหลายอย่าง เช่น การติดเขื้อในช่องคลอด การติดเชื้อในปากมดลูก การมีภาวะรกเกาะต่ำ หรือมีภาวะการเจ็บครรภ์คลอด โดยสิ่งเหล่านี้สามารถทำให้เกิดภาวะเลือดออกทางช่องคลอดได้ สิ่งสำคัญคือ หากพบว่าเลือดออกทางช่องคลอดไม่ว่าจะท้องกี่เดือน ก็ควรจะไปพบแพทย์ทันที เพราะจะได้หาสาเหตุที่แท้จริงของอันตรายที่เกิดขึ้น เพราะอาการเลือดออกทางช่องคลอดสำหรับคนท้องถือว่าเป็นเรื่องอันตรายมากไม่ว่าคุณแม่จะตั้งท้องอยู่ในไตรมาสไหนก็ตาม
อย่างในไตรมาสแรกอาจเกิดจากการตั้งครรภ์นอกมดลูก โดยอาการที่คุณแม่จะรับรู้ได้คือ ปวดท้องอย่างหนัก คลื่นไส้และอาเจียน มึนเวียนศีรษะ และไม่มีแรง สำหรับในช่วงไตรมาสที่ 2-3 เกิดจาก รกต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด และการคลอดก่อนกำหนด ส่วนใหญ่คุณแม่จะรู้สึกปวดท้อง เจ็บหน่วงๆ เพราะ แม่ท้องมีเลือดออก สามารถเป็นอันตรายได้
2.การดิ้นของลูกในครรภ์ผิดปกติ
หนึ่งในสาเหตุที่แม่ท้องควรไปพบแพทย์คือการดิ้นของลูกในครรภ์ที่ผิดปกติ โดยปกติทารกในครรภ์จะเริ่มดิ้นเมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป และเมื่อถึง 28 สัปดาห์ แม่ท้องก็จะรู้สึกการดิ้นที่มากขึ้น โดยแม่ท้องบางคนอาจจะรู้สึกเป็นการเตะ ถีบ หรือ การขยับของแขนและขา การที่หมอให้นับจำนวนครั้งของการดิ้นนั้นเป็นการประเมินสุขภาพครรภ์ของแม่เบื้องต้น สามารถประเมินได้ด้วยตัวของคุณแม่เอง และหากแม่ท้องรู้สึกว่าวันนี้ลูกดิ้นน้อย หรือ ไม่ดิ้นเลยควรจะไปพบแพทย์เพื่อหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ ถึงแม้ว่าลูกจะดิ้นน้อยลงช่วงที่แม่ท้องแก่
แต่จำนวนครั้งที่คุณแม่นับได้ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงหัวค่ำก็ไม่ควรต่ำกว่า 10 ครั้ง เพราะเมื่อไหร่ที่ลูกดิ้นน้อยเป็นสัญญาณเตือนอันตรายแล้ว คุณแม่ต้องรีบไปหาหมอทันที เพราะถ้าลูกหยุดดิ้นเกิน 12 ชั่วโมงขึ้นโอกาสที่ลูกจะเสียชีวิตก็มากขึ้น
3.อาการแพ้ท้อง
ปกติแล้วผู้หญิงท้องทุกคนมีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ท้อง นั้นเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยอาการแพ้ท้องที่พบได้บ่อยคือ คลื่นไส้ อาเจียน พะอืดพะอม เบื่ออาหาร เหม็นอาหาร แต่ในช่วงก่อนตั้งครรภ์ไม่มีอาการแบบนี้ นั่นคือลักษณะของการแพ้ท้อง โดยเมื่ออายุครรภ์มากขึ้นเกิน 14 สัปดาห์ ฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ได้ระดับ อาการแพ้ท้องเหล่านี้จะหายไปเองธรรมชาติ ส่วนอาการที่มีความผิดปกติคือ คลื่นไส้ อาเจียนมาก จนไม่สามารถทานอาหารได้ น้ำหนักลด มีอาการขาดสารอาหาร ขาดน้ำ มีอาการใจสั่น ปัสสาวะน้อย ควรไปพบแพทย์ทันที
4.อาการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด
โดยปกติแล้วแม่ใกล้คลอดในช่วงปลายไตรมาส 2 หรือ ในช่วงไตรมาส 3 จะมีการเจ็บท้องบ่อยมากขึ้น โดยการเจ็บท้องนั้นมี 2 แบบ
- การเจ็บครรภ์เตือน โดยจะรู้สึกมีอาการท้องแข็งเกิดขึ้น แต่ไม่บ่อย โดยการเจ็บครรภ์เตือนนั้นมีการสัมพันธืกับการทำงาน เดินนานๆ หรือ ยืนนานๆ บางทีก็จะเกิดการกระตุ้นให้มีการเจ็บท้องได้บ้าง โดยเมื่อนั่งพักก็จะหายเอง
- โดยอาการแบบนี้มีอาการเก็บท้องสม่ำเสมอ ปวดท้องมากขึ้น ปวดถี่มากขึ้น อาจจะทำให้สู่การคลอดได้ โดยมีการเปิดของปากมดลูกร่วมมากขึ้น โดยการปวดแบบนี้นั้นอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหา คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย เพราะฉะนั้นเกิดอาการเจ็บท้องมากขึ้นนั้นควรไปหาหมอเพื่อตรวจสอบการบีบตัวของมดลูก เพื่อประเมินการเปิดของปากมดลูก
5. อาการน้ำเดิน หรือ น้ำคร่ำแตก
โดยอาการน้ำเดินนั้นหมายถึง มีน้ำคร่ำออกมาจากช่องคลอด มีการแตกของถุงน้ำคร่ำ ซึ่งโดยทั่วไปนั้นจะส่งผลให้เกิดการคลอด หากอยู่ในช่วงอายุครรภ์ครบกำหนดก็จะเป็นการคลอด โดยเมื่อไรก็ตามที่มีน้ำคร่ำเดินออกมา หรือ มีน้ำใสๆ ไหลออกมาจากช่องคลอด ควรมาตรวจที่โรงพยาบาล เพราะถือเป็นสัญญาณของการคลอดแล้ว
6.ตกขาวเพิ่มขึ้น
การเป็นตกขาวในช่วงตอนท้อง ถือเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิงทุกคน โดยอาจจะเป็นได้ตั้งแต่ช่วงยังไม่ท้อง เนื่องจาบริเวณช่องคลอดและปากมดลูกนั้น จะมีการสร้างสารคัดหลั่งเพื่อหล่อเลี้ยง และ หล่อลื่นช่องคลอด โดยลักษณะและปริมาณของการตกข่าวนั้นจะเปลี่ยนแปลงไปตามรอบประจำเดือน ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยลักษณะของตกขาวนั้นเป็นปกติ จะเป็นมูกใสหรือขาวขุ่นคล้ายแป้งเปียก มีปริมาณไม่มากโดยอาจจะมีทุกวัน วันละน้อย โดยหากแม่ท้อง มีอาการแสบร้อน มีอาการคัน หรือหากตกขาวมีกลิ่นแปลกๆ นั้นอาจจะมีการติดเชื้อเกิดขึ้นได้
7.อาการปวดท้องรุนแรง
อาการปวดท้องนั้นถือเป็นเรื่องปกติสำหรับแม่ท้อง เพราะในช่วงท้องระบบการย่อยอาหารของแม่อาจจะทำงานช้าลง ทำให้เกิดปัญหาท้องผูกบ่อย ยิ่งอายุครรภ์ที่มากขึ้นทำให้มดลูกใหญ่ขึ้น เนื้อเยื่อหน้าท้องหนาขึ้นและยืดขยายออก เพราะลูกน้อยในครรภ์เริ่มเบียดกระเพาะปัสสาวะจนทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บและปวดท้องมากขึ้นได้ โดยหากปวดท้องรุนแรงมากขึ้น โดยการปวดท้องรุนแรงนั้นอาจจะเป็นอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบหรือตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ เพราะฉะนั้นหากมีการปวดท้องรุนแรงในช่วงตั้งครรภ์ก็อย่าลังเลที่จะไปพบแพทย์
8.ปัสสาวะน้อย หรือ ปัสสาวะแล้วแสบ
แม่ท้องที่มีอาการปัสสาวะน้อย หรือ ปัสสาวะแล้วแสบนั้น ต้องระมัดระวัง โดยทั่วไปแล้วคนท้องนั้นจะสังเกตโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้ยาก เนื่องจากอาการของโรคนี้ไม่ต่างจากคนท้องทั่วไป คือ รู้สึกหน่วงบริเวณกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปวดหลัง แต่หากมีการปัสสาวะน้อยและปัสสาวะแล้วแสบที่อวัยวะเพศแม่ท้องควรจะไปพบแพทย์ เพราะอาจจะบ่งบอกว่า แม่ท้องอาจจะมีอาการติดเชื้อที่ไต หรือ มีภาวะกรวยไตอักเสบ ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด
9.มีอาการคันที่รุนแรง
แม่ท้องที่มีอาการคันหนักมากจนรู้สึกคันจนผิดปกติ โดยเฉพาะที่มือและเท้า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ อาจจะเป็นอาการแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับตับ ซึ่งสามารถเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดหรือได้รับอันตราย เพราะน้ำดีอาจเข้าไปปะปนในกระแสเลือดทำให้เกิดอาการคันอย่างมาก ซึ่งทำให้นอนไม่หลับ หรือ ขาดสมาธิ หากมีอาการคันรุนแรงก็ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน
10.มีเลือดออกกะปริบกะปรอยตลอดการตั้งครรภ์
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของช่วยตั้งครรภ์ หากแม่ท้องสังเกตว่ามีเลือดออกมาจากช่องคลอด ลักษณะเป็นเลือดสดไม่ใช่ลิ่ม และไม่มีอาการเจ็บท้องร่วมด้วย ในครั้งแรกจะออกไม่มาก และ จะหยุดเอง อาการแบบนี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะเกาะต่ำขณะตั้งครรภ์ โดยหากมีเลือดไหลออกมาอีกครั้ง และเลือดออกมากไม่หยุดไหล ถือว่าเป็นอันตรายส่งผลต่อชีวิตแม่และลูกน้อยในครรภ์ได้
ระหว่างตั้งครรภ์ หากคุณแม่พบอาการผิดปกติของคนท้อง แต่ละไตรมาส ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน ไม่ควรปล่อยทิ้งเอาไว้ เพราะอาการผิดปกติบางอย่างเป็นสัญญาณอันตราย ถ้าแม่ท้องหาหมอเร็ว รู้ก่อน รักษาไว จะสามารถช่วยชีวิตแม่และลูกในท้องได้ ส่วนอาการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นมีไข้ ไอธรรมดา พวกนี้ควรจะมาพบแพทย์ทั้งหมดในช่วงตั้งครรภ์ เพราะว่าอาการเหล่านี้สามารถที่จะกระตุ้นให้เกิดการเจ็บท้องคลอดได้เหมือนกัน หรืออาจจะมีความผิดปกติอะไรร้ายแรงสอดแทรกอยู่ เพราะฉะนั้น เมื่อไรก็ตามที่แม่ท้องทุกคนมีอาการผิดปกติ ไม่แน่ใจ ควรมาพบแพทย์ ไม่ควรไปซื้อยารับประทานเอง เพราะว่ายาบางอย่างจะมีผลกับลูกน้อยในครรภ์ได้
การป้องกันและการรักษาภาวะแทรกซ้อน
ถึงแม้ว่าแม่ท้องจะมีสุขภาพ ไม่มีโรคประจำตัว แต่การพบแพทย์ในช่วงตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อปรึกษา และตรวจสุขภาพอย่างละเอียด โดยวิธีดูแลตัวในช่วงตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
- รับประทานวิตามินโฟลิค (โฟเลต) 4-5 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ตลอดจนคลอด
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
- รับประทานให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน โดยให้อยู่ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายทุกวัน
- งดอาหารหมักดอง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ยาดอง เหล้า รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
- งดอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่หักโหมทำงานหนักมากเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและเหมาะสม
- กินยาบำรุงตามแพทย์สั่ง ในส่วนของอาหารเสริมและยาตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- เมื่อมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
- งดการสูบุหรี่
Source : โรงพยาบาลสินแพทย์ , babymed.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
อาการผิดปกติของคนท้องในแต่ละไตรมาส วิธีสังเกตอาการผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ ที่แม่ต้องไปโรงพยาบาล
300 คำศัพท์ภาษาอังกฤษสอนเด็ก ง่ายๆ ไว้สอนลูก แยกตามประเภทหลากหลาย
ท้องฟ้าจำลอง พาเด็ก ๆ เที่ยวพิพิธภัณฑ์ศึกษาเรื่องดาว ดูดวงกลางกรุงฯ