ร้อนนี้ต้องระวัง! 6 โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พบบ่อย ดูแลป้องกันยังไง?

undefined

หน้าร้อนแบบนี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้เท่าทันโรคหน้าร้อนในเด็กนะคะ มีโรคอะไรที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษบ้าง มาดูกัน

เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศที่ร้อนอบอ้าวไม่เพียงแต่ทำให้ลูกน้อยรู้สึกไม่สบายตัว แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ มากขึ้นด้วย เนื่องจากระบบการทำงานของร่างกายลูกยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับมือกับอุณหภูมิที่สูง โรคบางประเภทที่เกิดจากอากาศร้อนและเชื้อโรคจึงมีโอกาสระบาดได้ง่ายขึ้น จนคุณพ่อคุณแม่หลายคนอดกังวลไม่ได้ การดูแลและป้องกันโรคในช่วงฤดูร้อนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม มาดูกันค่ะว่า โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่ควรระวังมีอะไรบ้าง แล้วจะป้องกันและดูแลสุขภาพของลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัยในหน้าร้อนนี้

โรคท้องร่วงเฉียบพลัน

6 โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่ควรระวัง!

จริงๆ โรคหน้าร้อนที่ต้องระมัดระวังสำหรับลูกน้อยนั้นมีอยู่มากมายค่ะ เพียงแต่ขอนำมาเฉพาะ 6 โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พบบ่อย ดังนี้

  1. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และอาหารเป็นพิษ

โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่พบได้บ่อยแทบทุกครอบครัวคือ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน รวมทั้งโรคอาหารเป็นพิษค่ะ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัสจากการกินอาหารและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เนื่องจากอาหารมักบูดเสียง่ายในหน้าร้อน กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย และอาเจียน ประกอบกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เชื้อโรคเติบโตเร็ว ซึ่งลูกน้อยมักมีภูมิต้านทานต่ำ จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ภาวะอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษสามารถทำให้ลูกขาดน้ำและเกลือแร่ที่จำเป็น จนอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำที่อันตรายได้

อาการและวิธีดูแล โรคอุจจาระร่วง
อาการ
  • ปวดท้องแบบปวดเกร็งในท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป ใน 1 วัน
  • ถ้าอาการรุนแรงจะถ่ายเป็นมูกเลือดได้
การดูแล
  • ให้ลูกดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำและเกลือแร่
  • รักษาตามอาการ เช่น ยาลดอาการอาเจียนและปวดท้อง แต่ไม่ควรกินยาหยุดถ่าย
  • หากใน 1 วันอาการยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง
การป้องกัน
  • อาหารที่ลูกน้อยกินต้องปรุงสุกใหม่ๆ น้ำดื่มต้องสะอาด
  • ล้างมือให้ลูกบ่อย ๆ ทั้งก่อนกินอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง
  • ดูแลของใช้ของลูกน้อยให้สะอาดอยู่เสมอ

โรคลมแดด

  1. โรคลมแดด (Heat Stroke)

เนื่องจากในช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิร่างกายของลูกอาจสูงเกินไป จนทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาจหมดสติได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ปรับตัวกับอากาศร้อนได้ไม่ดี ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ อาจเกิดจากการเล่นในที่อุณหภูมิสูงนานๆ โดยไม่ได้ดื่มน้ำหรือพักผ่อนเพียงพอ เมื่ออุณหภูมิรอบตัวสูงขึ้น อุณหภูมิในร่างกายก็สูงขึ้นตาม บางครั้งอาจสูงจนถึง 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า จึงส่งผลให้เกิดโรคลมแดด หรือโรคฮีทสโตรก ได้นั่นเอง

อาการและวิธีดูแล โรคลมแดด
อาการ
  • ชีพจรเต้นเร็ว ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
  • เป็นผื่นแดงๆ ตามร่างกาย
  • ลูกอาจมีอาการกระวนกระวาย เพ้อ และชัก หรือหมดสติได้
การดูแล
  • ควรรีบพาลูกน้อยเข้าในร่ม ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
  • ถอดเสื้อผ้าและคลายเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นจนเกินไป
  • จับลูกน้อยนอนหงายและเช็ดตัวเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายของลูกลดลงเร็วขึ้น
การป้องกัน
  • ในวันที่อากาศร้อนมาก ควรให้ลูกสวมเสื้อผ้าโปร่งที่ระบายลมได้ดี
  • ให้ลูกดื่มน้ำบ่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เล่นกลางแจ้ง
  • สวมหมวกให้ลูกเสมอ และเลือกเสื้อผ้าที่ช่วยปกป้องลูกจากแสงแดดหากต้องออกนอกบ้าน

 

โรคหน้าร้อนในเด็ก

  1. โรคหน้าร้อนในเด็ก ผดร้อน ผื่นแพ้

ผดร้อน ผื่นแพ้ รวมถึงโรคผิวหนังอักเสบ เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ ทำให้เกิดผื่นแดง ตุ่มใส และอาการคันตามผิวหนัง ยิ่งในช่วงที่อากาศร้อนชื้น เหงื่อที่ร่างกายขับออกมาเพื่อช่วยระบายความร้อน อาจทำให้ผิวหนังของลูกเกิดการระคายเคืองง่ายขึ้น จนลูกรู้สึกไม่สบายตัวนั่นเอง

ดูแลยังไง เมื่อลูกเป็นผื่นแพ้หน้าร้อน

อาการ
  • คัน
  • มีผื่นเป็นเม็ดแดงๆ เล็กๆ พบได้ทั่วร่างกายบริเวณใบหน้า ซอกคอ หน้าอก หลัง และต้นขา
การดูแล
  • ดูแลให้บริเวณที่เกิดผดผื่นนั้นเย็นและแห้งอยู่เสมอ
  • โรคนี้สามารถหายได้เองภายใน 2-3 วัน แต่หากอาการรุนแรงขึ้น ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อใช้ยารักษาตามอาการ
การป้องกัน
  • ให้ลูกสวมเสื้อผ้าบางสบาย อย่าให้ผิวหนังอับชื้นจากเหงื่อ
  • หลีกเลี่ยงการทาครีม โลชั่นที่มีส่วนผสมของปิโตรเลียมเจลเพราะจะทำให้รูขุมขนอุตันได้
  • อาบน้ำเย็นๆ ให้ลูกเพื่อช่วยลดความร้อนและป้องกันการเกิดผื่น

 

โรคไข้หวัดใหญ่

  1. โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคระบบทางเดินหายใจ

จริงๆ แล้วโรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งพบได้ตลอดปี และพบได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ค่ะ แต่เนื่องจากในช่วงฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนชื้น การระบายอากาศในพื้นที่อาจไม่ดี ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย ไข้หวัดใหญ่จึงเป็น โรคหน้าร้อนในเด็ก ที่ทำให้เด็กเจ็บป่วยได้ง่ายกว่า โดยเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ หรือในผู้สูงอายุ หากป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่มักมีอาการรุนแรงมากกว่าวัยอื่นๆ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

อาการและวิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไข้หวัดใหญ่

อาการ
  • ลูกจะรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว
  • มีอาการปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวมาก และปวดเบ้าตา
  • มีไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส
  • ไอ มีเสมหะ มักไม่ค่อยมีน้ำมูก
  • หากเป็นรุนแรงอาจเกิดภาวะปอดอักเสบแทรกซ้อนได้
การดูแล
  • กรณีลูกน้อยเป็นเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งมีโอกาสมีอาการรุนแรง ควรได้รับยาต้านไวรัสโดยตรง
  • เด็กโตส่วนใหญ่มักจะหายได้เอง หากอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตามอาการได้ เช่น เช็ดตัว กินยาลดไข้ ดื่มน้ำเยอะๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ
การป้องกัน
  • ควรอยู่ในที่อากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงแหล่งแออัดที่จะสัมผัสกับเชื้อโรคผ่านการไอ จาม
  • ลูกน้อยอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ควรได้รับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปี ปีละ 1 ครั้งเพื่อเป็นการป้องกันโรค
  • ป้องกันการติดเชื้อด้วยการสวมหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กที่เหมาะกับช่วงวัย
  • ให้ลูกกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักและผลไม้ที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

 

ทั้งนี้ ในส่วนของวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่นั้น ลูกน้อยควรได้รับตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ทุกปี ปีละ 1 ครั้ง เพราะเชื้อจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในแต่ละปี โดยสามารถฉีดช่วงไหนของปีก็ได้ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์หลังฉีดภูมิต้านทานจึงจะมีประสิทธิภาพดี

โรคตาแดง

  1. โรคตาแดง (Conjunctivitis)

โรคหน้าร้อนในเด็ก อีกหนึ่งประเภทที่พบบ่อยคือ โรคตาแดง ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือปริมาณเชื้อราที่เกิดขึ้นจากเหงื่อไคลซึ่งติดอยู่ตามเสื้อผ้าหรือผ้าเช็ดหน้า ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดี มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย ทำให้ดวงตาของลูกน้อยมีอาการแดง น้ำตาไหล และรู้สึกคัน ร้อน หรือรู้สึกแสบตา โดยเด็กเล็กมักเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคนี้จากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโรคหรือการถูตา

อาการและวิธีดูแลโรคตาแดง

อาการ
  • ดวงตาลูกจะมีขี้ตามาก โดยเฉพาะในช่วงเช้า
  • น้ำจะตาไหล เจ็บตา รู้สึกเคือง หรือแสบตา เกิดตุ่มเล็กๆ ขึ้นบริเวณดวงตา
  • อาจมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา ทำให้ตาดูแดงจัด
  • มักมีอาการไข้หวัดนำมาก่อน เช่น เจ็บคอ มีไข้
การดูแล
  • ไม่ควรซื้อยาทา หรือยาหยอดตาเอง
  • ควรพบแพทย์เพื่อรับยาหยอดตา ซึ่งอาการจะดีขึ้นและหายไปภายใน 2-4 สัปดาห์
  • พยายามอย่าให้ลูกขยี้ตา และหมั่นล้างมือให้ลูกบ่อยๆ
การป้องกัน
  • สอนให้ลูกล้างมือบ่อยๆ และไม่สัมผัสตาโดยไม่จำเป็น
  • หลีกเลี่ยงการให้ลูกใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น

 

โรคพิษสุนัขบ้า

  1. โรคพิษสุนัขบ้า

โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดเชื้อทางระบบประสาท เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies) ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คน เช่น สุนัข แมว หนู กระต่าย กระรอก ลิง ฯลฯ ผู้ที่ติดเชื้อโรคนี้เกือบทุกรายเสียชีวิต และปัจจุบันยังไม่มียารักษา โดยเชื้อจะแพร่ผ่านการสัมผัสน้ำลายสัตว์ที่การกัดหรือข่วนตรงที่มีบาดแผล เลียตรงบริเวณที่เป็นเยื่อบุ เช่น เยื่อบุตา จมูก หรือปาก ซึ่งในช่วงอากาศร้อนนั้น สัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวมักจะหงุดหงิดได้ง่าย จึงมีโอกาสกัดคุณพ่อคุณแม่หรือลูกน้อยได้บ่อย

ทั้งนี้ เชื้อพิษสุนัขบ้ามีระยะฟักตัวนานเป็นสัปดาห์จนถึงหลายปี ดังนั้น อาการอาจแสดงให้เห็นได้ตั้งแต่ 1 สัปดาห์จนถึงเดือนหรือเป็นปีหลังสัมผัสเชื้อ

อาการโรคพิษสุนัขบ้า ดูแลและป้องกันยังไง?

อาการ จะเริ่มมีไข้ อ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร ไม่ค่อยสบายตัว คันหรือเจ็บบริเวณแผลที่ถูกกัด โดยแสดงอาการใน 2 ระบบ ได้แก่
  1. ระบบประสาท คือ มีอาการสับสน กระวนกระวายใจ กลืนลำบาก อยู่ไม่นิ่ง กลัวน้ำ
  2. ระบบหัวใจ จะเริ่มหัวใจล้มเหลว หัวใจหยุดเต้น และเสียชีวิตในที่สุด
การดูแล
  • เมื่อลูกถูกสัตว์ ข่วน เลีย กัด ให้ล้างแผลด้วยน้ำและน้ำสบู่หลายๆ ครั้ง โดยให้น้ำไหลผ่านเป็นเวลานาน
  • ทายาฆ่าเชื้อ เช่น โพวิโดน-ไอโอดีน (Povidone-iodine) หรือแอลกอฮอล์
  • จดจำลักษณะของสัตว์ เพื่อค้นหาเจ้าของและสอบถามประวัติและความเสี่ยงต่อโรค
  • พาลูกพบแพทย์ทันทีเพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้เร็วที่สุด
การป้องกัน
  • ระวังไม่ให้ลูกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกสุนัขหรือสัตว์อื่นๆ กัด
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคล่วงหน้า
  • กรณีลูกวัยทารก ต้องมีการแบ่งพื้นที่สัตว์เลี้ยงในบ้านอย่างชัดเจน ป้องกันการถูกสัตว์ข่วน เลีย กัด
  • เมื่อลูกโตพอ ควรพูดคุยให้ลูกเข้าใจเรื่องอันตรายจากสัตว์ต่างๆ เช่น
    • ไม่ควรแหย่ ยั่วโมโหให้สัตว์โกรธ
    • ไม่ควรแยกสัตว์ออกจากกัน
    • ไม่หยิบอาหารของสัตว์ขณะที่สัตว์กำลังกินอาหาร
    • ไม่สัมผัสกับสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือสัตว์ตามท้องถนน
  • กำชับลูกว่าหากถูกสัตว์ข่วน เลีย กัดต้องรีบบอกคุณพ่อคุณแม่ทันที

 

โรคหน้าร้อนสามารถเกิดขึ้นได้ง่ายในเด็กเล็ก เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ การดูแลสุขภาพและการป้องกันอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในเรื่องการป้องกันและสังเกตอาการของลูกอยู่เสมอ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับการดูแลและมีสุขภาพที่แข็งแรงไปทุกฤดูนะคะ หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ

 

 

ที่มา : www.phyathai.com , www.bangkokhospital.com , www.paolohospital.com , www.phyathai.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

7 วิธี สอนให้ลูกเรียนรู้จากความล้มเหลว พลาดเป็น ลุกขึ้นใหม่ได้

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้ ติดแกลม สร้างภูมิคุ้มกันใจในยุคโซเชียล

ลูกกลัวคนแปลกหน้า เมื่อไรที่ต้องกังวล? พ่อแม่รับมืออย่างไรให้ลูกอุ่นใจ

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!