หยุด! 4 พฤติกรรมพ่อแม่ใจร้าย ทำร้ายจิตใจลูก

ดร. จอห์น กอตต์แมน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ออกมาแนะนำให้พ่อแม่หยุดทำ 4 ข้อนี้ เพราะจะไปทำร้ายจิตใจลูกและสร้างความร้าวฉานในครอบครัว

นี่คือพฤติกรรมที่พ่อแม่ไม่ควรทำ ตัวอย่างคำพูดที่ไม่ควรพูด พร้อมวิธีปรับปรุงแก้ไขค่ะ!

#1  วิจารณ์เชิงลบ

การวิจารณ์เชิงลบ คือ การเน้นขยายและตอกย้ำถึงข้อผิดพลาดของลูก คำวิจารณ์แย่ ๆ มีแต่จะทำให้ลูกรู้สึกเสียใจ น้อยใจ ที่โดนพ่อแม่ตำหนิ ไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากลุกมาทำตัวให้ดีขึ้นเลย

 ตัวอย่างการวิจารณ์ลูก :

  • “ซุ่มซ่ามตลอด”
  • “ทำไมไม่เคยจำได้เลยว่าต้องเก็บที่นอนด้วย สมองมีปัญหาหรือเปล่า”
  • “ห้องรกสุด ๆ แค่ลุกมาทำความสะอาดห้องยังขี้เกียจเลย”

ทางแก้ :

  • มองสิ่งดี ๆ ในตัวลูก และกล่าวชมเชยให้ลูกรู้สึกดีกับข้อดีของตัวเอง
  • หยุดคำพูดวิจารณ์ลูก แล้วพูดสิ่งที่ต้องการออกมาตรง ๆ เช่น

“น้ำหกแล้วลูก ไปหยิบผ้ามาเช็ดซะนะ”

“แม่อยากให้ลูกเก็บที่นอนด้วยนะจ๊ะ”

“แม่อยากให้ลูกเก็บห้องให้เรียบร้อยก่อนไปเล่นบ้านเพื่อน”

#2  ดูถูก สบประสาท

การพูดดูถูกเหยียดหยามเป็นการวิจารณ์โดยยกสถานะที่สูงกว่าเข้าข่ม อาจแสดงออกโดยการเรียกชื่อแบบเหยียด ๆ กรอกตา ยิ้มเยาะ พูดเหน็บแนม ถากถาง หรือล้อเลียน การดูถูกถือเป็นพฤติกรรมที่เลวร้ายที่สุด ทำร้ายจิตใจคนฟังอย่างแรง และประสานรอยร้าวได้ยาก

ตัวอย่างการพูดดูถูกลูก :

  • “เด็กโง่เอ๊ยย!”
  • “โง่จริงหรือแกล้งโง่เนี่ย ทำลงไปได้ไง”
  • “ไม่เคยคิดหยิบเสื้อผ้าขึ้นจากพื้นเลยใช่ไหม”

ทางแก้ :

  • เพิ่มความเคารพในตัวลูก
  • ปฏิบัติต่อลูกเหมือนกับที่อยากให้ลูกปฏิบัติต่อเรา

 

อ่านต่อ พฤติกรรมที่ไม่ควรทำ ข้อ 3 และ 4 หน้าถัดไป

#3  ปกป้องตัวเองมากไป

การปกป้องตัวเอง คือ การโต้ตอบกลับคนอื่นที่พูดโจมตีตัวเอง พ่อแม่มักปกป้องตัวเองเมื่อรู้ว่าตัวเองทำผิดจริง ๆ หรือโดนลูกจี้แทงใจดำ พ่อแม่จึงกลบเกลื่อนโดยโยนความผิดไปให้ลูกแทน

ตัวอย่างการพูดปกป้องตัวเอง :

  • “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แม่ แต่อยู่ที่ลูกนั่นแหละ”
  • “ที่แม่ต้องตะโกนเพราะลูกไม่ทำตามที่แม่บอก”
  • “แม่ไม่อยากด่าลูกว่าโง่หรอกนะ แต่ลูกมายั่วให้แม่โกรธก่อน”

ทางแก้ :

  • รับฟังความรู้สึกของลูกโดยพยายามทำความเข้าใจจากมุมมองของลูก
  • ถ้าพ่อแม่ทำผิดก็ยอมรับผิดแต่โดยดี และพูดขอโทษลูกจากใจจริง เช่น

“แม่ไม่ควรด่าลูกว่าโง่ แม่ขอโทษ”

“แม่ขอโทษที่ตะโกนเสียงดัง เมื่อกี้แม่น็อตหลุดไปหน่อย”

#4  พูดบ่ายเบี่ยง ตัดบท

การพูดตัดบท คือ พูดจบบทสนทนาก่อนที่ทุกคนจะรู้สึกว่าคุยตกลงกันได้แล้ว ห้ามไม่ให้ลูกมีปากเสียง รวมถึงการนิ่งเงียบ เมินเฉย ไม่สนใจไยดี เหมือนลูกไม่มีตัวตน

ตัวอย่างการพูดตัดบท :

  • “เราจะไม่คุยเรื่องนี้กันอีก”
  • “ไม่ว่าลูกจะคิดอย่างไร แม่ต่างหากที่เป็นคนตัดสินใจ”
  • “หยุด! แม่ไม่อยากฟัง”

ทางแก้ :

  • หายใจเข้าลึก ๆ หรือขอเวลา 20 นาทีไปสงบสติอารมณ์ก่อนกลับมาคุยใหม่
  • อย่าบังคับลูกมากเกินไป เปิดโอกาสให้เด็กเลือกดูหนังที่เค้าชอบบ้างก็ได้

 

สุดท้ายนี้ ขอฝากไว้ว่า ความเคารพซึ่งกันและกันเป็นพื้นฐานสำคัญของความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกด้วยค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูกด้วยความรักและความเข้าใจ อย่าทำร้ายจิตใจลูกเลยนะคะ

คุณคิดอย่างไรกับบทความนี้ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ค่ะ และถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์ อย่าลืมช่วยกดแชร์ให้คุณแม่คนอื่น ๆ ได้อ่านกันด้วยนะคะ

 

ที่มา : creativechild.com

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :

ลูก MQ ดีเริ่มที่คำพูดของพ่อแม่

5 เรื่องผิดมหันต์ ที่พ่อแม่มักทำกับลูก