มีถึง 18 วิธีที่ใช้ในการปลอบโยนและช่วยทำไม่ให้ลูกน้อยงอแง ซึ่งมันอาจจะช่วยให้คุณแม่หายเหนื่อยลงได้ด้วย
#ตอบสนองความต้องการขึ้นพื้นฐาน
ความหิวและความเหนื่อยนั้นเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ของการร้องไห้ ดังนั้นความต้องการพื้นฐานของทารกคือ การกินนมและได้พักผ่อนอย่างเพียงพอ ซึ่งหากคุณแม่รู้สาเหตุและตอบสนองได้เร็วก็จะช่วยทำให้ลูกหายงอแงหงุดหงิดได้
#ปรับอุณหภูมิ
การให้ทารกน้อยได้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมนั้นถือเป็นเรื่องที่ท้าทายและน่ากังวลสำหรับพ่อแม่เป็นอย่างยิ่ง เพราะเด็ก ๆ ทุกคนรวมถึงผู้ใหญ่ด้วยที่จะชอบนอนหลับในอุณหภูมิที่ค่อนข้างเย็น แต่ในช่วงเวลาที่เบบี๋ตื่นอยู่ ในกรณีที่บ้านเปิดแอร์ไว้ควรปรับอุณหภูมิในห้องอุ่นขึ้นสักเล็กน้อย หรือปรับเปลี่ยนอุณหภูมิได้โดยการเปิดหน้าต่างสักเล็กน้อยเพื่อให้ลมพัดผ่าน หรือใช้พัดลมส่ายไปมาเบา ๆ เสียงของการหมุนของพัดลมในห้องจะช่วยให้เจ้าตัวน้อยที่กำลังโยเยสงบลงได้อย่างรวดเร็ว (แต่ไม่ควรวางไว้ใกล้กับลูกน้อยมากเกินไป)
# ตรวจเช็กเสื้อผ้าลูก
หากลูกร้องไห้จ้าดังเหมือนเวลาที่เจ็บปวด ควรตรวจดู บริเวณเสื้อผ้าของลูกมีเส้นผม ปมด้ายเล็กไปพันรอบเท้า มือ หรือแม้แต่ปิ๊กาจู้ของลูกหรือเปล่า เพราะคุณแม่ที่เกิดภาวะผมร่วงหลังคลอด เส้นผมเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเจ็บปวดของลูกได้ หรืออาจมีการแพ้ที่เกิดจากเนื้อผ้าบางชนิด ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่คุณแม่ตั้งข้อสงสัยได้ เมื่อลูกมีอาการร้องไห้งอแงเสียงดัง
#อ้อมกอดอันอบอุ่น
วิธีการกอดลูกน้อยแบบเนื้อแนบเนื้อนั้นจะสามารถช่วยให้ทารกรู้สึกสบายใจได้ดีขึ้น และยังช่วยในการควบคุมอุณหภูมิร่างกาย อีกทั้งยังทำให้ลูกได้ยินเสียงอันคุ้นเคยอย่างเสียงเต้นของหัวใจคุณแม่ที่จะช่วยให้ทารกคลายร้องไห้ลงได้
#อุ้มเบบี๋ด้วยเป้
แน่นอนว่า คุณแม่จำเป็นต้องผละมือจากงานบ้านทุกครั้งที่เจ้าตัวเล็กร้องไห้ แต่สิ่งที่จะช่วยให้คุณแม่สบายขึ้นกว่านี้ในขณะที่ทำงานบ้าน เพียงให้เจ้าตัวเล็กอยู่ในเป้อุ้มเด็กไปด้วยเลย โดยเฉลี่ยแล้วเด็กที่อยู่ในเป้อุ้มจะร้องไห้น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้ใส่ในเป้อุ้มถึง 43% ซึ่งอาจเกิดจากการผสมผสานระหว่างการถูกโอบกอดอย่างใกล้ชิดและการห่อตัว จึงทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น เป้สะพายเด็กหรือเป้อุ้มเด็กนั้นจึงมีผลทำให้ลูกรู้สึกสงบได้อย่างไม่น่าเชื่อ แถมยังช่วยให้คุณแม่ใช้มือได้อย่างอิสระด้วย
#นวดลูกน้อยเพื่อผ่อนคลาย
การสัมผัสนั้นสามารถทำให้เกิดสิ่งอัศจรรย์ขึ้นได้ โดยเฉพาะในกรณีที่จะใช้ปลอบโยนเจ้าตัวน้อยที่กำลังร้องไห้ ซึ่งการกระทำง่าย ๆ อย่างการกอดที่จะช่วยให้ทารกรู้สึกสงบลงได้แล้ว การนวดอย่างแผ่วเบาก็จะช่วยกระตุ้นตัวรับในสมอง และทำให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย และสงบลงได้เช่นกัน
#ห่อตัว
คุณแม่จะสังเกตว่า ในโรงพยาบาลมักจะห่อตัวทารกแรกเกิดด้วยผ้าห่มที่บางและน้ำหนักเบา เพราะการห่อตัวเด็กทารกนั้นจะทำให้ทารกได้รับความรู้สึกอบอุ่น สบาย และช่วยนอนหลับได้ดีขึ้น เมื่อนำลูกน้อยกลับมาบ้าน หากเบบี๋มีอาการงอแง ลองห่อตัวลูกน้อยและโอบอุ้มเพื่อที่จะทำให้ลูกน้อยสงบลงได้อย่างรวดเร็ว แต่ต้องแน่ใจว่าไม่ได้ทำให้เด็กน้อยของเราอยู่ในอุณหภูมิที่ร้อนจนเกินไป
#อาบน้ำกับลูก
มีคุณแม่หลายคนยืนยันว่าการอาบน้ำด้วยกันกับลูกทำให้ลูกน้อยสงบลงได้จริง เพราะเกิดจากความใกล้ชิดแบบเนื้อแนบเนื้อ การได้ยินเสียงน้ำไหลและความรู้สึกที่ถูกน้ำอุ่น ๆ มากระทบกับผิว ช่วยทำให้ทั้งคุณแม่และลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายได้อย่างมาก
#ให้คุณพ่อมาเป็นตัวช่วย
ใช่ว่าคุณแม่จะเลี้ยงลูกหรือแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ในเวลาที่เหนื่อยเลี้ยงลูกจนหัวเสีย คงได้เวลาแตะมือให้คุณพ่อมาช่วยดูแทน อย่าไปกังวลว่าแขนใหญ่ ๆ ร่างกายที่แข็งแรง จะกอดลูกอย่างหนักแน่นไปหรือเปล่า ตรงกันข้ามเพราะพ่อเองก็อยากจะเข้ามาเป็นคนที่คอยกอดและอุ้มลูกด้วยเช่นกัน และลูกก็จะได้สัมผัสความรู้สึกจากคุณพ่อด้วย
#วางเสื้อของคุณแม่ไว้ใกล้ตัวลูก
จังหวะที่ลูกน้อยนอนหลับ หากคุณแม่อยากจะลุกไปทำอย่างอื่น ลองทิ้งเสื้อที่คุณแม่กำลังใส่วางไว้ใกล้ตัวลูก ถ้าเจ้าตัวน้อยตื่นขึ้นมาในขณะที่คุณไม่อยู่ใกล้ ๆ ลูกอาจจะรู้สึกปลอดภัยเมื่อได้กลิ่นของคุณแม่ที่มาจากเสื้อและหลับต่อเองก็ได้
#แค่อุ้ม
แค่การที่คุณอุ้มเจ้าตัวน้อยก็สามารถทำให้ลูกรู้สึกใจเย็นและสงบลงได้ ไม่ว่าคุณจะอุ้มไหนท่าไหนก็ตาม เช่น อุ้มนั่งบนเก้าอี้โยก อุ้มยืนเฉย ๆ หรือ เดินไปเดินมา
#ร้องเพลง
น้ำเสียงที่คุ้นเคยจากแม่ เป็นหนึ่งในเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพที่ทำให้ลูกน้อยสงบได้ อย่างเช่น การร้องเพลง การร้องเพลงให้ลูกน้อยได้ฟังนั้นเป็นการทำให้ลูกสงบและผ่อนคลายแบบที่คุณแม่ไม่ต้องทำอะไรมาก ร่างกายของเจ้าตัวน้อยจะตอบสนองด้วยความสงบ เพลงช้า ๆ อย่างเพลงกล่อมเด็กจะช่วยปรับอัตราการเต้นของหัวใจและจังหวะการหายใจให้เป็นไปตามท่วงทำนองของเพลง ถ้าหากคุณแม่ไม่รู้จักเพลงกล่อมเด็กเพลงไหนเลย ก็ลองแต่งขึ้นมาเอง เจ้าตัวน้อยอาจจะมีเพลงโปรด “ที่แต่งเอง” ในแบบที่ไม่เหมือนใครก็ได้
#ใช้เปลไกว
ในขณะที่แม่ไม่ว่าง เปลไกวนี้จะทำหน้าที่ในการปลอบโยนเจ้าตัวน้อยด้วยการเคลื่อนไหวที่เป็นจังหวะ ซึ่งจะช่วยให้เจ้าตัวน้อยสงบและรู้สึกสบายขึ้น แต่เพื่อความปลอดภัย คุณแม่ควรอยู่ไม่ห่างจากเปลไกลที่ลูกน้อยนอนอยู่เป็นดีที่สุด
#พาลูกนั่งรถเข็นหรือเดินเล่น
เปลี่ยนบรรยากาศภายในบ้านโดยการพาลูกน้อยออกมาเดินเล่น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากสิ่งเร้าข้างนอก และช่วยให้ลูกน้อยที่กำลังร้องไห้นั้นสงบลง แถมการได้ออกมาเดินเล่นยังเป็นการผ่อนคลายสำหรับคุณและลูกอีกด้วย
#ทำให้เรอเป็นประจำ
ถ้าลูกน้อย กินนมแม่จากเต้าก็ให้แน่ใจว่าลูกได้ใช้เวลามากพอในการกินนมแต่ละครั้งเพื่อให้ได้น้ำนมในปริมาณที่อิ่มพอ หรือถ้ากินนมจากขวดก็ตรวจให้แน่ใจว่าได้ใช้จุกนมที่มีขนาดถูกต้องเหมาะสมตามช่วงวัยลูกหรือเปล่ อย่าให้ลูกดูดลมเข้าไปมากเกินไป และหลังมื้อนมคุณแม่ควรจะช่วยให้ลูกน้อยได้เรอทุกครั้ง เพื่อจะได้ทำให้ลูกรู้สึกสบายตัวไม่โยเยก่อนที่จะหลับไปอีกครั้งหนึ่ง
#ใช้เสียงดนตรี
เสียงเพลงจากกล่องดนตรีหรือ music box เบา ๆ หรือดาวน์โหลดแอพเสียงธรรมชาติ อย่างเสียงคลื่น เสียงฝนตก เสียงน้ำตก และเสียงที่ช่วยปลอบโยนอื่น ๆ อีกหลายเสียงมาเป็นตัวช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลายได้
#ให้เบบี๋ปั่นจักรยาน
วางเจ้าตัวน้อยในท่านอนหงายและขยับขาของเขาโดยทำเหมือนว่ากำลังปั่นจักรยาน จะเป็นการเพิ่มแรงดันในท้องทำให้แก็สผ่านออกมาได้ ทำให้ลูกสบายตัวและช่วยให้ลูกงอแงน้อยลง
อย่างไรก็ตาม การร้องไห้งอแงของทารกนั้น ถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา สำหรับคุณแม่มือใหม่การหาวิธีปลอบที่จะทำให้ลูกน้อยสงบลงได้นั้น อาจต้องผ่านการลองผิดลองถูกนิด ๆ หน่อย ถ้าหากคุณแม่ลองทำแล้วพบว่ามีวิธีไหนที่ใช้ได้ผลกับลูกน้อย ลองทำเป็นประจำดูนะคะ อาจจะช่วยให้คุณแม่หายเหนื่อยได้บ้างไม่มากก็น้อย
ที่มา : www.dailymom.com
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
วิธีช่วยให้ลูกไม่งอแงเวลาไปโรงเรียนอนุบาล
วิธีรับมือ เมื่อลูกร้องไห้ไปซะทุกเรื่อง