แชร์วิดีโอลูกรักของคุณ คลิกที่นี่
วิธีรับมือ ลูกง่วง/เหนื่อยเกินไปจนไม่ยอมนอน
เด็กๆ งอแงง่ายค่ะ เพราะเราไม่สามารถจัดการอะไรด้วยตัวเองได้ หรือแม้แต่ไม่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้ เวลาที่ลูกง่วงนอนมากๆ แทนที่จะนอนหลับง่ายๆ ก็กลายเป็นยากมากขึ้นไปอีก
ทำไมง่วงแล้วไม่ยอมนอน
Overtired Baby หรือเด็กที่เหนื่อยเกินไปหรือง่วงมากเกินไปจนทำให้นอนยาก ไม่ยอมนอน หรือนอนไม่หลับนั่นเองค่ะ ลูกจะมีอาการร้องไห้งอแง หลังที่นอนหลับไปได้สักพักก็จะตื่นในเวลาที่รวดเร็ว และไม่ยอมหลับอีกรอบแล้วละค่ะ งานเข้ากันเลยนะคะคุณพ่อคุณแม่ ยิ่งถ้าเป็นกลางดึกของวันทำงานด้วยละก็
เมื่อลูกเหนื่อยเกินไป หรือง่วงเกินไป ร่างกายของลูกเมื่อถึงจุดที่พร้อมแก่การเข้านอนมาแล้ว ร่างกายก็จะส่งสัญญาณความเครียดที่เกิดขึ้นออกมา ฮอร์โมนความเครียดหรือฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีนจะเข้ามามีบทบาทตามสะแสเลือดในร่างกาย ทำให้ร่างกายยากที่จะสงบและผ่อนคลาย ซึ่งรูปแบบการทำงานของร่างกายนี้นั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นวัฏจักร และทำให้อาการนอนยากของลูกยิ่งยากๆ ขึ้นไปอีกค่ะ
อาการที่บอกว่า ลูกเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไป
เมื่อลูกไม่ได้นอนพักผ่อนระหว่างวัน หรือช่วงระยะเวลาที่ตื่นนานกว่าระยะเวลาของการนอนหลับ เนื่องจากเด็กๆ ในวัยนี้ ต้องการการนอนที่มากกว่าผู้ใหญ่หรือเด็กที่โตกว่านี้ ร่างกายลูกจะไม่สามารถจัดการตัวเองให้ตื่นนานขนาดนี้ได้ โดยช่วงเวลาที่เด็กแรกเกิดตื่นในแต่ละครั้งนั้นไม่ควรเกิน 45 นาที ซึ่งทำให้เด็กแรกเกิดหลายๆ คน มีอาการเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไป จนทำให้นอนหลับยาก นอนน้อย ตื่นบ่อยได้นั่นเองค่ะ อาการที่บ่งบอกว่าลูกเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไปแล้ว นั่นก็คือ
- ขยี้หน้าขยี้ตา
- เบือนหน้าหนีออกจากสิ่งเร้าต่างๆ
- หาว สะอึก หรือจามบ่อยๆ
- งอแง และโวยวาย
- ติดหนึบกับคุณพ่อหรือคุณแม่หรือพี่เลี้ยง ไม่ยอมนอนเอง
- ช่วงที่ลูกตื่นจะนานมากขึ้นเรื่อยๆ
วิธีรับมือให้ลูกนอนหลับได้นานๆ
สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเอาลูกนอนคือ ทำให้ลูกสงบลงก่อน อาจจะด้วยวิธีใดๆ ก็แล้วแต่ เช่น ห่อตัวลูก กอดหรืออุ้มลูก เอาลูกเข้าเต้าดูดจนกว่าจะพอใจ กล่อมลูกหรือโยกเบาๆ เปิดเพลงหรือเสียงธรรมชาติ (White Noise) ปิดไฟภายในห้องให้มืดสนิท ร้องเพลงกล่อมลูก
สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย ในวัยเตาะแตะหรือวัยอนุบาล ให้อ่านนิทานที่มีเนื้อหาไม่ตื่นเต้นมากนัก ในห้องที่มีแสงไฟสลัวๆ หรือให้เล่นเงียบๆ คนเดียว หรือปล่อยให้อ่านหนังสือเงียบๆ บริเวณเตียงนอนนั่นแหละค่ะ
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไป
คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดเวลาดังนี้ค่ะ หากลูกตื่นนอนไปโอกาสที่ลูกจะเหนื่อยเกินไปหรือง่วงเกินไป ก็จะยิ่งสูงขึ้นทำให้นอนหลับได้ยากขึ้นนะคะ
- ทารกแรกเกิด – 6 เดือน ควรตื่นครั้งละไม่เกิน 45-60 นาที
- เด็กอายุ 6 เดือน – 1 ปี ควรตื่นครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมง
- เด็กอายุ 1-3 ปี ควรตื่นครั้งละไม่เกิน 4-5 ชั่วโมง
นอกจากนี้หากลูกจะนอนนานเกินไปบ้าง ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรงจนเกินไป ปล่อยให้นอนนานๆ ได้นะคะ อีกวิธีที่จะช่วยให้เด็กๆ ปรับเวลาได้ก็คือ การทำตารางกิจวัตรประจำวันให้เหมือนกันทุกวัน เด็กๆ จะเรียนรู้ได้เองว่าเมื่อที่ถึงเวลากิน เล่น หรือนอนค่ะ
ลูกง่วง แต่ไม่ยอมนอน งอแง ร้องไห้ไม่มีเหตุผล
ด้วยความที่ทารกน้อยไม่สามารถบอกเราได้ว่าเขาเหนื่อย เขาง่วง เขาถูกกระตุ้นมากไป ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่า ลูกง่วง แต่ไม่ยอมนอน งอแง ร้องไห้ไม่มีเหตุผล นั่นก็อาจจะเป็นเพราะว่าเขารู้สึกถูกกระตุ้นมากเกินไปก็เป็นได้ การที่ผู้ใหญ่ต่างพยายามมีปฏิสัมพันธ์กับเจ้าตัวเล็กอยู่ตลอดเวลา ก็อาจทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกเหนื่อยล้า ต้องการพักผ่อน และเกิดความเครียดจากการถูกกระตุ้นมากเกินไป ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากอาการเหล่านี้
- ลูกไม่มองหน้า ไม่สบตา พยายามมองไปที่อื่น
- หาว ทำท่าเหมือนจะหลับ แต่ไม่หลับ
- บิดตัว หัวใจเต้นเร็ว
- ทำท่าเหมือนหิวนม อยากเข้าเต้า
- ร้องไห้ไม่มีเหตุผล ปลอบเท่าไหร่ก็ไม่หยุด
- ร้องให้เสียงดัง และรุนแรงขึ้น
- กระสับกระส่าย ไม่สบายตัว
อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมต่างๆของลูก ทั้งเวลาที่เล่นกับคุณพ่อคุณแม่ และเวลาที่มีญาติมาเยี่ยม เช่น เมื่อลูกเล่น และใช้พลังงานเป็นเวลานานจนเหนื่อย หรือเมื่อถูกคนโน้นคนนี้อุ้มหลายคน หรือบางทีลูกอาจจะได้ยินเสียงคนโน้นคนนี้พูดตลอดเวลา หรืออยู่ในที่ๆมีเสียงดัง อีกทั้งหากลูกทำกิจกรรมอย่างอื่น นอกเหนือจากกิจวัตรปกติ หรือหากเห็นว่าลูกทำท่าเหมือนจะไม่สบาย คุณพ่อคุณแม่ก็ควรหยุดกระตุ้นลูก และให้ลูกได้พักผ่อนก่อนนะครับ
ลูกถูกกระตุ้นมากไป ทำอย่างไรดี
เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีอาการถูกกระตุ้นมากเกินไป ให้หยุดสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ และให้ความสนใจในเรื่องที่ลูกน้อยพยายามจะสื่อสาร หากมีญาติมาเยี่ยมและกำลังเล่นกับลูกอยู่ อาจต้องขอตัวเพื่อให้ลูกได้นอนพักผ่อน อาจจะต้องพาลูกขึ้นชั้นบน หรือพาเข้าไปในห้องนอน ทำห้องให้มืด ปิดเสียงที่ดังรบกวน เมื่อเสียงเงียบแล้ว อาจจะทำเสียงชูวววส์ อย่างอ่อนโยน เพื่อกล่อมลูก
และคุณพ่อคุณแม่ควรเช็คดูว่าลูกสบายตัวหรือเปล่า เช่น ไม่หิว ผ้าอ้อมไม่เปียกแฉะ ไม่หนาว หรือร้อนเกินไป แล้วค่อยๆกล่อมลูกนอนโดยการตบก้นเบาๆ
เด็กทารกนั้นต้องการเวลาในการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ เพื่อพัฒนาการที่ดี และมีกระบวนการเจิญเติบโตที่เหมาะสม ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ปล่อยให้มีการกระตุ้นลูกมากเกินไป รวมถึงระวังไม่ให้คนรอบข้างกระตุ้นลูกมากเกินไปด้วยเช่นกัน พร้อมทั้งต้องคอยสังเกตสัญญาณต่างๆที่เจ้าตัวน้อยส่งมาด้วยนะครับ