ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โรงเรียนสอนร้องเพลง คือ เบื้องหลังอันดับหนึ่งของเด็กๆ วัยกระเตาะหลายคนที่ฉายแววเป็นศิลปินตัวจิ๋ว สร้างปรากฎการณ์ทางดนตรีในด้านการร้องเพลงให้ผู้ใหญ่หลายๆ คน ได้อึ้งไปตามๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นในเวทีประกวดร้องเพลงตามรายการทั้งรายการเล็กและใหญ่ต่างๆ แน่นอนว่าพรสวรรค์และความขยันฝึกซ้อมร้องเพลงของศิลปินตัวน้อยเองก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ “พรแสวง” จากการที่คุณพ่อคุณแม่ช่วยส่งเสริมโดยการส่งลูกๆ ไปเรียนกับครูสอนร้องเพลงตาม โรงเรียนสอนร้องเพลง ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกัน เคยสงสัยกันไหมว่า? โรงเรียนสอนร้องเพลง สอนอะไรให้เด็ก ๆ กันบ้าง?
การส่งเสริมทักษะขับร้องเพลง ในแต่ละช่วงวัย
การส่งเสริมให้ลูกเล่นดนตรีหรือร้องเพลง ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก นับเป็นอีกตัวช่วยของคุณพ่อคุณแม่ ในการเพิ่มทักษะและพัฒนาการหลายๆ ด้านของลูกได้อย่างยอดเยี่ยม นอกจากนี้ยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ลูกได้ผ่อนคลายจากเสียงดนตรีและพบปะเพื่อนใหม่ไปในตัว ดังนั้นหากลูกของคุณมีความสนใจทางด้านการขับร้อง ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีและควรสนับสนุนมากเลยทีเดียว
-
ช่วงอายุ 3-6 ขวบ (ระดับชั้นอนุบาล)
เด็กช่วงวัยนี้ เป็นช่วงที่สมองส่วนของการได้ยินกำลังเริ่มพัฒนา หากจะส่งเสริมในด้านดนตรี ในช่วงอายุนี้ ถือว่าสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการพัฒนาสมองโดยตรง ซึ่งหลักสูตรในโรงเรียนดนตรีจะเน้นเป็นวิชาที่ให้เด็กๆ ได้ฟังเพลง เล่นเกมส์ ฝึกพัฒนาการฟังอย่างเหมาะสมกับวัย เด็กจะฟังเสียง แยกเสียง ร้องเพลงได้ดี เมื่อมีพื้นฐานที่ดีหลังจากนี้จะเรียนร้องเพลงหรือเรียนดนตรีอะไรก็จะไปได้ไวอีกด้วย
-
ช่วงอายุ 6 ขวบขึ้นไป (ระดับชั้นประถมขึ้นไป)
ควรส่งเสริมทักษะการขับร้องอย่างยิ่ง ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็น ว่าลูกชอบทางด้านนี้ มีเซ้นส์ทางดนตรีที่ดี ชอบงานศิลปะ หากชอบภาษาอังกฤษได้ก็จะยิ่งดีเข้าไปใหญ่ เพราะว่าการเรียนร้องเพลง ความรู้ที่ได้ มักจะมาจากต่างประเทศ หากสามารถหาความรู้ได้จากเอกสารต่างประเทศจะทำให้ไปได้ไกลกว่าคนทั่วไป แต่เด็กที่ไม่ได้ชอบร้องเพลง ไม่มีความรักในด้านนี้จะไปไม่ได้ไกล เพราะเป็นทักาะที่เฉพาะทางจริงๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกร้องเพลง กิจกรรมง่าย ๆ ที่ช่วยปลูกฝังความเป็นศิลปิน และพัฒนาสมองลูกน้อย
แนวทางการฝึกพื้นฐานให้เด็กๆใน โรงเรียนสอนร้องเพลง
การสอนขับร้องเพลง จะเริ่มต้นฝึกด้วยโน้ตดนตรีและคีย์พื้นฐาน จากนั้นถึงตามด้วยการสอนขับร้องบทเพลงและแบบฝึกหัดเพื่อพัฒนาเสียงของเด็กๆ โดยแนวทางการฝึกพื้นฐานการร้องเพลงให้เด็กในโรงเรียนสอนร้องเพลง มีดังนี้
-
อุ่นเครื่องด้วยการหาว
ก่อนเริ่มฝึกร้องเพลง ผู้สอนจะฝึกให้เด็กหายใจเข้าลึกๆ แล้วหาว วิธีนี้จะช่วยเปิดลำคอเพื่อป้องกันไม่ให้เครียดเวลาร้องเพลง
-
ฝึกการหายใจ
เด็กๆ ต้องเรียนรู้วิธีหายใจเข้า-ออก อย่างถูกต้องเมื่อร้องเพลง ฝึกการหายใจเพื่อให้เข้าใจวิธีการควบคุมลมหายใจขณะร้องเพลง
- ให้เด็กหายใจ เข้าทางจมูกและทางปาก
- กระตุ้นให้เด็กๆนำอากาศเข้าสู่ปอดและกระบังลม ให้เด็กวางมือบนท้อง สัมผัสถึงอากาศที่เข้าไปโดยตรง เพื่อให้ท้องป่องออก
- ให้เด็กๆ นับการหายใจ โดยหายใจเข้า 4 ครั้งแล้วหายใจออก 4 ครั้ง
-
ค้นหาโน็ตเสียงที่เป็นธรรมชาติ
ให้เด็กร้องว่า “la” หรือ “ah” แล้วค้นหาโน้ตเสียงตามธรรมชาติของเด็กแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร วัดระดับเสียงโดยเล่นโน้ตสองสามตัวบนเปียโนหรือเครื่องดนตรีอื่นๆ เพื่อค้นหาโน้ตที่อยู่ใกล้ช่วงเสียงของเด็
-
ให้เด็กฝึกร้องไล่เสียงตาม Scale (บันไดเสียง)
เด็กแต่ละคนจะมีจุดเริ่มต้นของโน็ตเสียงแตกต่างกัน ให้เริ่มฝึกร้องไล่เสียงขึ้นและลงตาม Scale โดยเลือกให้ใกล้ช่วงเสียงธรรมชาติของเด็ก
-
แสดงเสียงสูง-ต่ำของ Scale (บันไดเสียง) ให้เด็กเห็นภาพ
การให้เด็กร้องโน็ตเสียงสูง-ต่ำ ตามระดับที่ต้องการ สามารถใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายช่วย อย่างการใช้มือยกขึ้นหรือลง เพื่อสั่งให้เด็กร้องให้ได้ระดับเสียงสูงขึ้นหรือลดระดับเสียงลง เช่น วางมือบนหัวเข่าเพื่อร้องโน็ต “โด” เลื่อนมือไปที่ต้นขาเพื่อร้องโน็ต “เร” เป็นต้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : เลี้ยงลูกให้เป็นนักดนตรี ทำอย่างไรได้บ้าง ทำไงให้ลูกรักเสียงเพลง
กิจกรรมการฝึกร้องเพลงให้เด็กๆ
การร้องเพลงเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ในการเสริมทักษะให้กับเด็ก เป็นการฝึกให้เด็กรู้จับบังคับให้ออกเสียงไปตามทำนองที่ถูกต้อง อีกทั้งเป็นการฝึกการออกเสียง การอ่าน ในรูปแบบที่เพลิดเพลิน สนุกสนาน โดยแนวทางการฝึกร้องเพลงให้เด็กนั้นมีดังนี้
-
ร้องเพลงเป็นตัวอย่างให้เด็กฟัง
ร้องเพลงที่ใช้สอนให้เด็กฟังเป็นตัวอย่างทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนร่วมโดยร้องเพลงกับลูก ๆ ที่บ้าน
-
เริ่มต้นด้วยเพลงง่าย ๆ
เช่นเพลง “แมงมุมลาย” และ “หนูมาลีมีลูกแมวเหมียว” เพราะเพลงเหล่านี้มีคำและทำนองง่าย ๆ
คุณพ่อคุณแม่สามารถมีส่วนร่วมโดยหาดาวน์โหลด บันทึกเพลงดังกล่าวทางออนไลน์ แล้วเปิดเล่นคลอประกอบไปด้วยในขณะที่เด็กๆ อยู่บ้านเพื่อให้ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน
-
เล่นเกมจับคู่เสียงให้ตรงโน็ตกัน
เช่น ร้องเสียง “la” แล้วให้เด็กพูดทวนซ้ำจนกว่าจะตรงโน้ตกัน สามารถเลือกร้องโน้ตที่หลากหลาย Scale เกมเลียนแบบนี้จะช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้วิธีจดจำน้ำเสียง ตลอดจนการปรับเสียงให้ตรงตัวโน็ต อาจจะเสนอรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างเล่นเกม เช่น แจกสติกเกอร์ให้เมื่อเด็กๆ เมื่อร้องตรงตัวโน็ต
-
ให้เด็กๆ แต่งเพลงตามจินตานาการ
สามารถใช้ทำนองเพลงที่คุ้นเคย หรือแต่งเป็นเพลงของตัวเอง เป็นอีกวิธีหนึ่งในการเปิดโอกาสให้เด็กๆ เรียนรู้เกี่ยวกับการร้องเพลงอย่างเป็นธรรมชาติตลอดชีวิตประจำวัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : เพลงโมสาร์ท ดีต่อลูกน้อยจริงหรือไม่ ให้ประโยชน์อะไรกับเด็กบ้าง
ดนตรีและการร้องเพลงนั้น สำคัญควบคู่กัน
หากจะพูดถึงการพัฒนาทักษะของเด็ก สิ่งแรกๆ ที่ผู้ปกครองหลายๆ คน นึกถึงนั้นมักจะเป็นทักษะและวิชาเรียนที่อยู่ในโรงเรียนเช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ ส่วนดนตรีและการร้องเพลงนั้นมักจะถูกมองว่าเป็นเพียงงานอดิเรก หรือเป็นวิชาที่ไม่จำเป็นมากนัก เพราะการขับร้อง มักไม่ได้ใช้เป็ยวิชาเพื่อสอบเข้าเรียนต่อในสถาบันต่างๆ จนอาจมองข้ามความสำคัญของดนตรีและการร้องเพลง ที่มีต่อการพัฒนาทักษะโดยรวมของเด็ก ๆ ทั้งนี้ มีงานวิจัยจำนวนมาก ศึกษาถึงประโยชน์ของดนตรีต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก ซึ่งส่วนใหญ่พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยการให้ทำกิจกรรมทางดนตรี อย่างการร้องเพลงหรือเล่นเครื่องดนตรีตั้งแต่ยังเล็ก มีส่วนช่วยเสริมพัฒนาการและทักษะความสามารถด้านต่าง ๆ ของเด็กได้มาก ดังนี้
-
ความสามารถในการรับรู้และความสามารถทางภาษา
เนื่องจากเสียงดนตรีและคำพูดนั้นมีระบบการทำงานร่วมกัน การเล่นดนตรีและร้องเพลงบ่อยๆ จึงช่วยฝึกการถอดเสียงและรูปแบบคำต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ยิ่งเด็กใช้เวลากับดนตรีและการร้องเพลงนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้สมองส่วนภาษาศาสตร์พัฒนาไปด้วย โดยจะสามารถจำคำศัพท์และมีการรับรู้ด้านการอ่านที่ดี
-
ทักษะคณิตศาสตร์
ทักษะการคิดคำนวณสร้างได้ด้วยการเล่นดนตรีและร้องเพลง งานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา ทดลองแบ่งเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ออกเป็นสองกลุ่ม พบว่าเด็กกลุ่มที่มีประสบการณ์เล่นดนตรีสองปีขึ้นไป สามารถทำคะแนนทดสอบคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานได้สูงกว่าเด็กกลุ่มที่ไม่เคยเล่นดนตรีมาก่อน
-
พัฒนาการทางสติปัญญา
การเล่นดนตรีและร้องเพลง เป็นอีกทางที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญาได้ มหาวิทยาลัยโทรอนโตแห่งแคนาดา ทดลองแบ่งเด็กออกเป็นสี่กลุ่ม โดยสองกลุ่มแรกเรียนคีย์บอร์ดและร้องเพลงห้าวันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาเจ็ดเดือน ส่วนสองกลุ่มหลังทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเล่นดนตรี ปรากฏว่าทั้งกลุ่มที่เรียนดนตรีและไม่เรียนดนตรี มีไอคิวสูงขึ้นตามพัฒนาการ แต่ข้อแตกต่างคือ เด็กกลุ่มที่เรียนดนตรีมีไอคิวสูงขึ้นถึง 7 จุด ขณะที่อีกกลุ่มที่ไม่ได้เรียนดนตรีนั้นมีไอคิวเพิ่มขึ้น 4.3 จุด
-
การพัฒนาด้านร่างกาย และสุขภาพที่ดี
การทดสอบทางวิทยาศาสตร์พบว่า ในวัยก่อนเข้าเรียน การเล่นดนตรีมีประโยชน์พอๆ กับการเล่นพละด้วยซ้ำ นอกจากนี้ งานวิจัยล่าสุด ยังพบประโยชน์อันน่าทึ่ง ของการร้องเพลงที่มีต่อระบบภูมิคุ้มกัน หัวใจ การหายใจและการทำงานของปอด ช่วยปรับท่าทางของร่างกายให้ดีขึ้น ทำให้อารมณ์ดีแจ่มใส ลดความตึงเครียด เพิ่มความสุขสนุกสนาน ซึ่งแม้จะทำการทดลองกับผู้ใหญ่ก็ตาม แต่ประโยชน์เหล่านี้ก็น่าจะเกิดขึ้นกับเด็กได้เช่นกัน
-
การพัฒนาตนเองและทักษะด้านสังคม
ในด้านการพัฒนาตนเอง การร้องเพลงเล่นดนตรี จะทำให้เด็กรู้สึกประสบความสำเร็จจากความมุ่งมั่นและอดทนที่เกิดจากการฝึกซ้อมจนทำได้ รวมถึงเป็นการสร้างวินัยให้ตัวเองไปในตัว เมื่อทำได้สำเร็จ จึงเกิดความนับถือและเชื่อมั่นในตัวเอง และยังส่งผลให้เติบโตเป็นคนที่กล้าแสดงออกอีกด้วย
ความมั่นใจและเชื่อมั่นในตนเอง จากการร้องเพลงเล่นดนตรี ส่งผลให้เด็กมีทักษะทางสังคมที่ดียิ่งขึ้น การร้องเพลงประสานเสียงหรือการเล่นดนตรีเป็นทีม และการเรียนรู้ร่วมกับเด็กคนอื่นๆ ช่วยสร้างมิตรภาพและความรู้สึกในการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ได้เรียนรู้การทำงานเป็นทีม ความมีระเบียบวินัยและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมเพื่อไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
บทความที่คุณอาจจะสนใจ
111 ชื่อลูก จากเพลงป๊อบ เพราะ ๆ ชื่อสไตล์ป๊อบ ความหมายดี
เลี้ยงลูกให้มีความสุขด้วยเสียงดนตรี สไตล์คุณเมย์ The Voice
การพัฒนาทางด้าน ดนตรีและภาษาสำหรับเด็ก ที่พ่อแม่ควรใส่ใจ