การที่พี่น้องทะเลาะกัน ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดจาก พี่น้องแย่งของเล่น เป็นเรื่องปกติที่พบเห็นได้บ่อยในครอบครัวที่มีลูกหลายคน ในวัยไล่เลี่ยกัน เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการเรียกร้องความสนใจ สร้างจุดสนใจ การต้องการเป็นเจ้าของ และการพัฒนาทางอารมณ์ของเด็ก การจัดการกับสถานการณ์นี้ต้องอาศัยความอดทนและเทคนิคที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน คุณแม่จะมีวิธีรับมือยังไง มาติดตามกันเลย
พี่น้องแย่งของเล่น ปัญหาน่าปวดหัวที่ต้องเจอ
แน่นอนว่าปัญหา พี่น้องแย่งของเล่น เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่หลายบ้านต้องเจอ โดยเฉพาะเด็กวัย 3-5 ขวบ หรือพี่น้องที่มีอายุไล่เลี่ยกัน เป็ยวัยที่กำลังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้และพัฒนาการทางอารมณ์ เด็กวัยนี้ยังไม่เข้าใจเรื่องการแบ่งปันและมักจะหวงของเล่นเป็นธรรมดา แต่ถ้าปล่อยให้พฤติกรรมนี้ดำเนินต่อไป อาจส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการเข้าสังคมและปรับตัวได้ยากในอนาคต เช่น การทะเลาะวิวาทกับเพื่อน หรือการไม่สามารถร่วมกิจกรรมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข การสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันตั้งแต่เด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพื่อช่วยให้ลูกเติบโตเป็นเด็กที่มีน้ำใจและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้ พี่น้องแย่งของเล่น มีอะไรบ้าง
การเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ พี่น้องแย่งของเล่น จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สามารถรับมือและแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม
- เด็กต้องการยืนยันความเป็นเจ้าของต่อสิ่งของที่ตนชอบ การที่คนอื่นมาแตะต้องหรือใช้ของเล่นของตน อาจทำให้เด็กรู้สึกว่าสิทธิของตนถูกละเมิด จึงต้องป้องกันตัวเองจากการสูญเสียสิ่งของที่รัก
- ต้องการเรียกร้องความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ เมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความสนใจเพียงพอ อาจใช้การแย่งของเล่นเพื่อดึงดูดความสนใจ หากไม้ได้รับความสนใจ หรือ การถูกดุ การถูกทำโทษ ก็อาจเป็นแรงจูงใจให้เด็กทำพฤติกรรมนี้ซ้ำๆ
- เด็กวัยนี้มักสนใจของเล่น หรืออยากเล่นของเล่นที่เหมือนกัน แต่ขาดทักษะในการเล่นร่วมกันทำให้เกิดการแย่งชิงเพื่อครอบครองของเล่นชิ้นนั้นมาเป็นของตนเอง
- การที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปันหรือให้ความสำคัญกับความรู้สึกของผู้อื่น ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการแย่งของได้ หรือการเพิกเฉยกับพฤติกรรมของลูกที่แย่งของเล่นมาได้ ลูกก็จะคิดว่าเป็นสิ่งที่ทำถูกต้อง ไม่มีความผิดอะไร ซึ่งลูกจะซึบซับพฤติกรรมนี้ไปเรื่อยๆ
- การแข่งขัน การเปรียบเทียบตัวเองกับพี่น้องเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อเกิดความรู้สึกอิจฉาหรือน้อยเนื้อต่ำใจ อาจนำไปสู่พฤติกรรมการแย่งชิงเพื่อให้ได้รับความสนใจเท่าเทียมกัน กรวมถึงการได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เท่าเทียมกันก็เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เด็กแย่งของเล่นจากพี่น้องกันได้
- มีพฤติกรรมก้าวร้าว การถูกกลั่นแกล้งหรือถูกเพื่อนล้อเลียน อาจทำให้เด็กรู้สึกโกรธแค้นและตอบโต้ด้วยความรุนแรง เพราะเด็กยังการขาดทักษะในการควบคุมอารมณ์ จึงเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้เด็กแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวออกมา
- เด็กอาจมองว่าการแย่งของเล่นเป็นเกม และจะหยุดเมื่อคู่แข่งยอมแพ้หรือมีพฤติกรรมเหมือนตนเอง และถ้าหากยิ่งได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนหรือคนรอบข้างมากขึ้นในการแย่งของเล่นก็อาจทำให้พฤติกรรมนี้รุนแรงขึ้นได้ด้วย
- เด็กต้องการความรู้สึกมีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่างๆ รอบตัว การครอบครองเป็นเจ้าของคนเดียวในของเล่นชิ้นนั้น ทำให้เด็กรู้สึกมีอำนาจเหนือคนอื่น
การแย่งของเล่น ส่งผลกระทบอะไรได้บ้าง ?
ปัญหาการทะเลาะกัน ไม่ว่าปัญหานั้นจะเกิดจากอะไร ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการเด็กในหลายด้าน คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มดูแลตั้งแต่เล็กและสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะแบ่งปันและอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข
ผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็ก
- พัฒนาการทางสังคม
- ปัญหาในการเข้าสังคม เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและการแย่งชิง อาจมีปัญหาในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เนื่องจากขาดทักษะในการแบ่งปันและร่วมมือ
- ขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหา การทะเลาะกันบ่อยครั้งอาจทำให้เด็กขาดทักษะในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และหันมาใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา
- พัฒนาการทางอารมณ์
- ความรู้สึกไม่มั่นคง การแย่งของเล่นบ่อยครั้งอาจทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัย
- ความเครียดและวิตกกังวล การเผชิญหน้ากับความขัดแย้งตลอดเวลาอาจทำให้เด็กเกิดความเครียดและวิตกกังวล
- ความรู้สึกผิดหวังและท้อแท้ เมื่อไม่ได้รับสิ่งที่ต้องการ เด็กอาจรู้สึกผิดหวังและท้อแท้
ผลกระทบต่อครอบครัว
- ความสัมพันธ์ในครอบครัว การทะเลาะวิวาทของพี่น้องบ่อยครั้งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้บรรยากาศในบ้านไม่น่าอยู่
- ภาระของผู้ปกครอง ผู้ปกครองต้องใช้เวลาและพลังงานในการไกล่เกลี่ยและแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าและความเครียด
- ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องในระยะยาว หากปัญหาไม่ถูกแก้ไข อาจส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องเสื่อมลงในระยะยาว
ผลกระทบในระยะยาว
- ปัญหาพฤติกรรม เด็กที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน อาจมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวหรือขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
- ความยากลำบากในการเรียนรู้ การขาดความสามารถในการควบคุมอารมณ์และความสนใจ อาจส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก
- ปัญหาสุขภาพจิต ในบางกรณี การเผชิญกับความเครียดและความกดดันจากการแข่งขันอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า หรือความวิตกกังวล
10 เคล็ดลับในการรับมือ พี่น้องแย่งของเล่น
อยากให้ลูกๆ รู้จักแบ่งปัน ไม่แย่งของเล่นกัน และอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ลองมาปรับพฤติกรรม พี่น้องแย่งของเล่น ด้วยวิธีง่ายๆ จัดการกับปัญหาเหล่านี้กัน
1. เตรียมความพร้อม
การบอกลูกล่วงหน้าก่อนให้พี่หรือมีน้องมาเล่นด้วยกัน เป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูกได้ดีค่ะ เพราะเด็กๆ มักจะหวงของเล่นเป็นธรรมดา อาจจะกลัวว่าของเล่นของตนเองจะเสียหายก็เป็นได้ การบอกกล่าวล่วงหน้าจะช่วยให้ลูกเข้าใจเหตุผลและยินดีที่จะแบ่งปันของเล่นให้กันเล่นได้ และจะทำให้ลูก “มีทักษะ” ที่จะอยู่ร่วมกัน
2. ระบุเจ้าของให้ชัดเจน
เวลาซื้อของ ควรระบุของให้ชัดเจนว่าเป็นของใคร ชิ้นนี้ของพี่ ชิ้นนี้ของน้อง ชิ้นนี้เป็นของส่วนรวม ชิ้นไหนของใคร เจ้าของมีสิทธิเต็มที่ จะแบ่งหรือไม่แบ่งให้ใคร หรือถ้าอยากได้ให้ขอกับเจ้าของก่อน แต่จะให้หรือไม่ เป็นการตัดสินใจของเจ้าของเอง ส่วนที่เป็นชิ้นของส่วนรวม ใครเล่นก่อน มีสิทธิก่อน ใช้การร่วมสร้างข้อตกลง ใครจะเล่นนานเท่าไหร่ แล้วจะสลับให้อีกฝ่ายเล่นเมื่อไหร่ ไม่ว่าเป็นใครก็ให้ฝึก “รอ”
3. สอนให้รู้จักแบ่งปัน ผลัดกันเล่น
การสอนให้ลูกแบ่งปันของเล่น ลองผลัดกันเล่นและรอคิวกันตั้งแต่ยังเล็ก จะช่วยให้ลูกปรับตัว เตรียมความพร้อมให้ลูกได้เข้าสังคมได้อย่างง่ายขึ้นและมีความสุข เมื่อลูกโตขึ้นจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการอยู่ร่วมกับผู้อื่นและจะช่วยให้ลูกเป็นเด็กที่มีน้ำใจและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น
4. บอกลูกทันทีที่เห็นลูกแย่งของเล่น
เมื่อเห็นลูกแย่งของเล่นกัน ควรเข้าไปหยิบของเล่นคืนให้อีกฝ่ายทันที แล้วบอกลูกอย่างนุ่มนวล พร้อมอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ เช่น การแย่งของเล่นไม่ดีเลยนะลูก เราควรแบ่งปันของเล่นกันนะคะ หรือ พี่หรือน้องจะรู้สึกยังไงเวลาที่ถูกแย่งของเล่นไป ? หรือถ้ามีคนมาแย่งของเล่นของลูก ลูกอยากให้ทำยังไง?
5. ไม่เข้าข้างใครคนใดคนหนึ่ง
เวลาลูกๆ ทะเลาะกันเรื่องแย่งของเล่น คุณพ่อคุณแม่ควรใจเย็นๆ แล้วอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการแย่งของเล่นกันไม่ดี ทั้งคู่ต้องเรียนรู้ที่จะแบ่งปันและรอคิวกันนะคะ ถ้าคุณแม่จะตำหนิหรือลงโทษต้องทำทั้งสองฝ่าย ไม่เข้าข้างใคร หลีกเลี่ยงการพูด “เราเป็นพี่เค้านะ” “เสียสละให้น้องหน่อย” ซึ่งอาจทำให้อีกคนน้อยใจ ไม่ควรตัดปัญหาให้จบๆไป โดยเลือกทำร้ายจิตใจพี่คนโต หรือแทนที่จะตำหนิหรือลงโทษลูกทั้งคู่ คุณแม่อาจใช้วิธีให้ลูกๆ หาทางออกร่วมกัน เช่น ช่วยกันเลือกของเล่นมาเล่น หรือผลัดกันเล่นของเล่นชิ้นนั้น
6. อธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ
ถ้าลูกอยากเล่นของเล่นที่พี่หรือน้องเล่นอยู่ ควรสอนให้ลูกขออนุญาตก่อนค่ะ ถ้าพี่หรือน้องให้เล่นก็เล่นได้ แต่ถ้าไม่อนุญาต ลูกก็ต้องรอคิวนะคะ การขออนุญาตเป็นสิ่งที่สุภาพและทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีด้วย และถ้าหากลูกได้ทำพฤติกรรมการแย่งของเล่นมาแล้ว ควรอธิบายให้ลูกฟังว่า ทำไมการแย่งของเล่นถึงไม่ดี และความรู้สึกของพี่หรือน้องจะเป็นอย่างไรถ้าถูกแย่งของเล่นไป และมีข้อตกลงในการเล่นด้วยกัน แต่หากลูกยังคงดื้อรั้น ให้ลองหาของเล่นชิ้นอื่นมาให้ลูกเล่นแทน หรือชวนลูกไปเล่นเกมอื่นๆ ที่ไม่ต้องใช้ของเล่นร่วมกันหรือชนิดเดียวกัน
7. ชื่นชมลูกเมื่อไม่แย่งของเล่น
เมื่อลูกๆ เล่นด้วยกันอย่างมีความสุขและแบ่งปันของเล่นกันได้ จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้อง คำชมจากคุณแม่เปรียบเสมือนกำลังใจที่ทำให้ลูกๆ อยากพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นไปอีก นอกจากคำชมแล้ว การให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ เช่น ดาวติดสติกเกอร์ หรือเวลาเล่นพิเศษ ก็เป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากทำดีต่อไป
8. ยึดของเล่น ตัวปัญหาหลัก
ถ้าลูกๆ ยังคงทะเลาะกันเรื่องของเล่นชิ้นเดิมซ้ำๆ แนะนำคุณแม่ยึดเก็บของเล่นชิ้นนั้นไว้ก่อนนะคะ แล้วบอกลูกว่า ‘ถ้าลูกทั้งสองเล่นด้วยกันดีๆ แบ่งปันกันได้ แม่จะคืนของเล่นให้’ การทำแบบนี้จะช่วยให้ลูกๆ รู้ว่าการแบ่งปันเป็นสิ่งสำคัญ และก่อนจะคืนของเล่น ลองให้ลูกๆ ทั้งสองตกลงกันเองว่าจะเล่นอย่างไร จะได้ไม่มีใครต้องเสียใจ
9. ไม่สร้างเงื่อนไข
การมีพี่น้องฝาแฝด ไม่จำเป็นต้องมีของหรือได้ของเหมือนกันทุกครั้ง การสร้างเงื่อนไขว่า “ต้องมี” “ต้องได้” “ต้องเท่า” “ต้องเหมือนกัน” คือการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้พี่น้องทะเลาะกันวุ่นวาย และคุณแม่ต้องมาปวดหัว
10. พาลูกไปเล่นกับเพื่อนดูบ้าง
หากลูกมีพฤติกรรมแย่งของพี่กับน้องกันเองอยู่ตลอด แต่ละฝ่ายต่างไม่ยอมกัน คุณแม่ลองพาลูกไปหาเพื่อนหรือเด็กในวัยเดียวกันมาเป็นเพื่อนเล่นกันเองบ้าง ซึ่งลูกอาจจะเล่นกับเพื่อนได้ดีกว่า และป็นการฝึกให้ลูกๆ รู้จักเข้าสังคมและแบ่งปันกับผู้อื่น และค่อยให้ลูกๆ กลับมาเล่นกันเอง ถึงแม้ช่วงแรกๆ อาจจะมีทะเลาะเบาะแว้งกันบ้าง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ค่อยๆ สอนและให้กำลังใจ ลูกๆ ก็จะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
แชร์เทคนิค ฝึกลูกเล่นกับคนอื่น
การปลูกฝังให้ลูกน้อยรู้จักการเล่นกับผู้อื่น เป็นทักษะสำคัญที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางสังคมของเด็ก การได้เล่นร่วมกับเพื่อนๆ ไม่แย่งของเล่นคนอื่น จะช่วยให้ลูกเรียนรู้การเข้าสังคม การแบ่งปัน
- เริ่มฝึกต้นตั้งแต่ยังเล็ก การเริ่มต้นฝึกให้ลูกเล่นกับผู้อื่นตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยให้ลูกคุ้นเคยกับการอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ง่ายขึ้น
- สร้างโอกาสให้ลูกได้เล่นกับเด็กคนอื่น พาลูกไปเล่นที่สวนสาธารณะ หรือจัดปาร์ตี้เล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกได้เล่นกับเพื่อนบ้าน
- เป็นแบบอย่างที่ดี แสดงให้ลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่ก็ชอบเข้าสังคมและมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น
- สอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปัน สอนให้ลูกแบ่งของเล่นกับเพื่อนๆ และเข้าใจว่าการแบ่งปันเป็นสิ่งที่ดี
- ฟังลูกอย่างตั้งใจ เมื่อลูกมีปัญหาในการเล่นกับเพื่อนๆ ให้ฟังลูกอย่างตั้งใจและช่วยลูกหาทางแก้ไข
- ชมเชยเมื่อลูกทำได้ดี เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ดี เช่น การแบ่งปันของเล่น หรือการชวนเพื่อนเล่น ให้ชมเชยลูกเพื่อเป็นการเสริมสร้างพฤติกรรมที่ดี
- เลือกกิจกรรมที่เหมาะสม เลือกกิจกรรมที่ลูกๆ ชอบและสามารถเล่นร่วมกันได้ เช่น เล่นเกมกระดาน หรือวาดรูป
- สอนให้ลูกเคารพสิทธิของผู้อื่น ของเพื่อนๆ และไม่ทำร้ายเพื่อน
- สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น การสร้างบรรยากาศในบ้านที่อบอุ่นและเป็นกันเอง เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจที่จะเปิดใจกับผู้อื่น
ปัญหาพี่น้องแย่งของเล่น กันหรือลูกแย่งของเล่นกับเพื่อน เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องพบเจอค่ะ แต่เราสามารถสอนลูกให้รู้จักแบ่งปันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เลยนะคะ ถ้าเราเริ่มสอนลูกตั้งแต่เด็กๆ ลูกก็จะเรียนรู้ที่จะเข้าสังคมและเล่นกับเพื่อนๆ ได้อย่างมีความสุขค่ะ เพียงคุณพ่อคุณแม่ทำตามวิธีที่ได้แนะนำไป ก็จะช่วยลดปัญหาการแย่งชิงของเล่นระหว่างพี่น้องหรือเพื่อน ๆ ลงไปได้แล้วค่ะ
ที่มา : เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน , brainkiddy , siaminter
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
พฤติกรรมเลียนแบบของลูก ตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูกคือพ่อแม่
30 ประโยคภาษาอังกฤษความหมายดี ๆ สั้น ๆ เอาไว้สอนลูกให้รู้จักชีวิต
สอนลูกให้เชื่อฟัง ต้องทำยังไง อยากให้ลูกคิดเป็น มีเหตุผล ไม่ต่อต้านพ่อแม่