ในเบื้องลึกของจิตใจทุกคนนั้นเชื่อว่าไม่มีใครอยากทำสิ่งที่ผิดค่ะ เด็กๆ ก็เช่นกัน ผ้าขาวผืนน้อยเหล่านั้นมักต้องการคำชื่นชมจากคุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่ มากกว่าคำตำหนิติเตียน ซึ่งหากเราคิดว่าการกระทำของเรามีเหตุผล ก็ต้องไม่ละเลยที่จะเข้าใจว่า ลูกน้อยก็มีเหตุผลในการทำสิ่งต่างๆ เช่นกัน เพียงแต่ทักษะการคิดและไตร่ตรองในการลงมือทำสิ่งใดๆ ก็ตามยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าผู้ใหญ่เท่านั้น ความผิดพลาดจึงอาจเกิดขึ้นได้เป็นเรื่องปกติ และปฏิกิริยาของคุณพ่อคุณแม่หลังการลงมือทำทั้งถูกและผิดของลูกนี่แหละคือสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการขั้นต่อไปของลูก ดังนั้น มาดูกันหน่อยดีกว่าค่ะว่า สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ วิธีสอนลูก เมื่อลูกทำผิด มีอะไรบ้าง
สารบัญ
วิธีสอนลูก เมื่อลูกทำผิด สำคัญอย่างไร?
เมื่อลูกทำผิด แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ควรมีการอบรมสั่งสอนสิ่งที่ถูกต้องแก่ลูก รวมถึงมีการลงโทษตามความผิดที่เกิดขึ้น เพื่อปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม และความรับผิดชอบให้ลูกน้อย แต่การทำโทษเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด เพราะความสำคัญอยู่ที่ วิธีการที่ใช้ในการสอน ต่างหาก ว่าจะสามารถช่วยให้ลูกน้อยได้เรียนรู้จากความผิดพลาดนั้นมากน้อยแค่ไหน รวมถึงมีผลที่กระตุ้นเตือนให้ลูกปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขปัญหาเพื่อเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร ซึ่ง “วิธีการที่ดี” จะป้องกันไม่ให้เกิดพฤติกรรมซ้ำ และยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัวได้ด้วยนะคะ
3 สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ เมื่อลูกทำผิด
เมื่อใดก็ตามที่ลูกทำความผิด ไม่ว่าจะทำผิดต่อหน้าคุณพ่อคุณแม่ หรือได้รับคำบอกเล่าว่าลูกทำผิดก็ตาม สิ่งที่พ่อแม่ควรทำ เมื่อลูกทำผิด คือ
1. จัดการกับอารมณ์ของตัวเอง และเปิดใจรับฟัง
แม้อารมณ์แรกที่เกิดขึ้นอาจเป็นความโกรธ ความกังวล แต่ควรพยายามจัดการกับอารมณ์ขณะนั้น โดยทำใจให้นิ่งขึ้นสักนิด จะทำให้มุมมองที่มีต่อเรื่องราวต่างๆ เป็นกลางมากขึ้น หลังจากนั้นค่อยสอบถามความจริงเปิดใจรับฟังเหตุผลของการลงมือทำของลูกน้อยค่ะ
2. หากลูกทำผิดจริง อย่าปกป้องลูกในทางที่ผิด
แม้พ่อแม่จะอยากให้ลูกเป็นที่ยอมรับ เป็นเด็กที่ดีในสายตาของผู้อื่นมากแค่ไหน แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ลูกเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่สามารถทำผิดพลาดหรือเผลอทำสิ่งที่ไม่ดีที่อาจทำให้ตัวเองและผู้อื่นเดือดร้อน หรือทำสิ่งของเสียหายได้ ถ้าพ่อแม่ยอมรับได้ว่า “ลูกทำผิดพลาด และเราต้องสอนลูกให้ทำในสิ่งที่ถูก และรับผิดชอบการกระทำ” ไม่ใช่ปกป้องลูกจากความผิดนั้น ลูกจะได้เรียนรู้บทเรียนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อทำในสิ่งที่ถูกต่อไป การละเลยความผิดที่ลูกทำแม้เพียงเล็กน้อย การปกป้องลูกในทางที่ผิดของพ่อแม่ มีแต่จะทำให้ปัญหาที่หนักหนาสาหัสกว่านั้นก่อตัวขึ้นค่ะ
3. เมื่อลูกทำผิด ยอมรับ รับมือและเดินหน้าต่อไป
แม้จะพยายามเต็มที่แล้วก็ยังมีบางครั้งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถปกป้องลูกจากการทำความผิดได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรตระหนักในนาทีที่ลูกทำผิดคือ ไม่ปกป้องลูกจากความผิด ให้ลูกรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำลงไปโดยที่พ่อแม่ไม่ซ้ำเติมความผิดพลาดนั้น ไม่พากันจมอยู่กับความผิดพลาดนานๆ แต่ให้ยอมรับ เดินหน้า และอยู่เคียงข้างในขณะที่ลูกพยายามแก้ปัญหาและรับผิดชอบต่อสิ่งที่ทำ ขอให้เชื่อมั่นในตัวเองกับลูกเพื่อเดินหน้าทำสิ่งที่ถูกต่อไปค่ะ
วิธีสอนลูก เมื่อลูกทำผิด
-
เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่า
เริ่มจากรับฟังเรื่องราวจากลูกก่อนตัดสินค่ะ เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าหรืออธิบายส่งที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการทำความผิดจริง แต่ลูกก็ควรได้อธิบายเหตุผลของการลงมือทำ โดยขณะลูกเล่าให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตสีหน้า ท่าทาง และน้ำเสียงว่าลูกรู้สึกอย่างไร มีเจตนาอย่างไร รวมทั้งต้องแสดงให้ลูกเห็นว่า “เราเข้าใจความรู้สึกลูก” ทั้งด้วยคำพูดและการกระทำ จะทำให้ลูกรู้สึกว่ามีคนเข้าใจและพร้อมรับฟังเสมอ เมื่อลูกได้เล่ารายละเอียด รวมทั้งระบายความรู้สึก จนมีอารมณ์สงบมากขึ้น ก็ถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ต้องชวนลูกคิดหาเหตุผลว่า สิ่งที่ลูกทำผิดอย่างไร ทำไมจึงต้องมีการอบรมสั่งสอน หรือการทำโทษ
-
สอนให้รู้จักกล่าวคำ “ขอโทษ”
ควรสอนให้ลูกรู้จักกล่าวคำว่า “ขอโทษ” เพราะนี่คือบันไดขั้นแรกของการที่ลูกได้รับรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไปนั้นเป็นสิ่งผิด โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกรู้จัก “ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” ซึ่งสามารถเริ่มได้จากให้ลูกเกิดความรู้สึกปลอดภัยทางอารมณ์ (Emotional Security) และการเข้าใจความรู้สึกของตนเองก่อน ทั้งความโกรธ ความเสียใจ ความหงุดหงิด ความสุข เมื่อรู้สึกปลอดภัยได้รับการเลี้ยงดูที่อบอุ่น และรู้จักอารมณ์ของตนเองแล้ว ลูกจะเริ่มเข้าใจและใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น รู้ว่าการกระทำและคำพูดของตนทำให้ผู้อื่นรู้สึกอย่างไรได้
-
สอนให้ลูกรู้จักยอมรับความผิด และไม่ทำผิดซ้ำ
ขั้นต่อมาคือคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกรู้สึกสำนึกผิด ยอมรับความผิดต่อการกระทำนั้นจริงๆ เพื่อปลูกฝังความรับผิดชอบ ซึ่งแม้จะไม่สามารถแก้ไขสิ่งที่ทำลงไปแล้วได้ แต่อย่างน้อยก็จุดประกายความสำนึกผิดอย่างแท้จริงให้ลูก ที่สำคัญคือควรมีการชวนกันคิด วิเคราะห์ ออกความเห็นว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ที่อาจกระตุ้นให้ลูกทำความผิดอีก จะใช้วิธีอะไรในการป้องกัน จัดการ หรือแก้ไข ไม่ให้ความผิดนั้นเกิดซ้ำอีก ซึ่งวิธีสอนให้ลูกเรียนรู้และสามารถ “ยอมรับความผิด” ได้นั้น ทำได้ดังนี้ค่ะ
- พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ทั้งเรื่องเล็กเรื่องใหญ่ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างในการยอมรับผิดให้ลูกเห็น ไม่ปกปิด หรือปิดบังความผิด ลูกจะซึมซับสิ่งดีๆ เมื่อลูกทำผิด ก็จะขอโทษและยอมรับผิดได้อย่างเป็นปกติ
- ไม่ดุด่า จนลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเห็นลูกทำผิด ไม่เอะอะเสียงดัง หรือโวยวาย เช่น ลูกทำของพังหรือแตกหัก ควรสอนว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ลูกต้องยอมรับว่าตัวเองทำ ลูกก็จะเข้าใจ แต่ถ้าพ่อแม่โวยวาย บ่นด่า ลูกจะยิ่งรู้สึกผิดมากจนหากทำผิดอีกก็จะไม่ยอมรับผิดเลยเพราะความกลัว
- ฝึกลูกรับผิดชอบและจัดการกับความผิด เมื่อทำผิดต้องฝึกให้ลูกจัดการกับสิ่งที่ทำ เช่น ลูกทำแก้วแตก ควรต้องเก็บกวาด โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยช่วยระวังอันตราย
- สอนให้ลูกเห็นคุณค่าของตัวเอง ควรหาเวลาพูดคุยกันเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียของลูก ให้เห็นคุณค่าของตัวเอง รู้ข้อดีข้อเสียของตัวเอง ให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจ และมั่นใจในการรับผิดชอบกับการกระทำและยอมรับผิดของตัวเองได้
- ชมเชยเมื่อลูกยอมรับผิด หากลูกสามารถยอมรับเมื่อทำผิดได้ ควรมีการชมเชยว่าเป็นเรื่องดีที่ลูกรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ เป็นการปลูกฝังว่าทำอะไรไปก็ต้องรับผิดชอบ
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเพียงหลักการและแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่เลือกนำไปปรับใช้ในให้เหมาะสมกับวิธีการเลี้ยงลูกในแบบฉบับของตัวเองนะคะ เพราะเราเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนจะเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกน้อย อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดของการอบรมสั่งสอนหรือปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีให้ลูกคือ การกระทำที่เป็นตัวอย่างของพ่อแม่ การที่ลูกทำผิดแล้วได้ยินเสียงดุด่า โวยวาย หรือลงโทษด้วยความรุนแรง อาจไม่ได้ผลเท่ากับการเริ่มต้นด้วยการเป็นแบบอย่างที่ดีเปิดใจคุยกันด้วยเหตุและผลนะคะ เมื่อเด็กรู้สึกว่าผู้ใหญ่เข้าใจ ในที่สุด ลูกก็จะเปิดใจมากขึ้นค่ะ
ที่มา : ตามใจนักจิตวิทยา , www.starfishlabz.com , dmh-elibrary.org , empowerliving.doctor.or.th
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ข้อเสียของการ ตามใจลูก พ่อแม่สายสปอยล์ ระวัง! ลูกเสี่ยง “ฮ่องเต้ซินโดรม”
ควันบุหรี่มือสองในบ้าน ทำร้ายลูก-เมีย เสี่ยงโรคในผู้หญิงและเด็ก
อย่าเพิ่งตื่นตูม! ลูกพูดคำหยาบ กำราบอย่างนุ่มนวลได้ด้วย 7 เทคนิคง่ายๆ