7 เรื่องต้องใส่ใจ! พาลูกเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย แฮปปี้ ไม่มีป่วย

สงกรานต์สำหรับเด็กๆ อาจต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าร่วมสนุกในเทศกาลมากกว่าผู้ใหญ่ค่ะ จะพาลูกเล่นสงกรานต์ยังไงให้ปลอดภัย มาดูกัน
“สงกรานต์” เทศกาลแห่งความสุขและการคลายร้อนที่เด็กๆ ต่างตั้งตารอคอย แต่ก็เข้าใจค่ะ ว่าช่วงเทศกาลแบบนี้คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะกังวลใจเรื่องความปลอดภัยและสุขภาพของลูกน้อย ที่อาจต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อน น้ำที่ไม่สะอาด รวมถึงความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุขณะอยู่ในสถานที่ที่แออัด ท่ามกลางผู้คนพลุกพล่าน วันนี้ theAsianparent เลยขอนำเคล็ดลับดีๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ พาลูกเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย สนุกชุ่มฉ่ำแบบแฮปปี้ ไม่มีป่วย มาฝากกันค่ะ
▼สารบัญ
พาลูกเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย ลูกน้อยวัยต่ำกว่า 5 ปี เล่นสงกรานต์ได้มั้ย
เข้าใจค่ะว่าสงกรานต์คือเทศกาลระดับชาติ (หรืออาจเรียกได้ว่าระดับโลก) ดังนั้น ทุกครอบครัว ทั้งคุณพ่อคุณแม่ ลูกเด็กเล็กแดงแทบทุกช่วงวัยย่อมอยากเฉลิมฉลองในเทศการแห่งความสุขนี้ไปพร้อมกัน แต่สำหรับลูกน้อยวัยต่ำกว่า 5 ปี ยังมีข้อจำกัดบางอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจในการ พาลูกเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย ซึ่งสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ชี้แนะไว้ว่าใน เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ ดังนี้
- ลูกน้อยในช่วงวัยต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งยังถือว่าเป็นเด็กเล็ก การจะให้ลูกออกไปเล่นน้ำสงกรานต์ต้องมีการดูแลเป็นพิเศษค่ะ เนื่องจากวัยนี้ยังไม่สามารถควบคุมตนเองหรือระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง จึงมีความเสี่ยงค่อนข้างมาก
- หากต้องการให้ลูกน้อยวัยนี้ได้ร่วมสนุกในเทศกาลสงกรานต์ สามารถทำได้โดยการเล่นน้ำกับคนในครอบครัว ใช้ปืนฉีดน้ำกระบอกเล็ก หรือประพรมน้ำกันเบาๆ อีกทั้งเด็กๆ จะยังไม่รู้ว่าการเล่นน้ำแบบสาดน้ำคืออะไร คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่จึงควรเป็นแบบอย่างที่ดีในการเล่นน้ำให้ลูกเห็นค่ะ ไม่เล่นน้ำแบบสาดน้ำรุนแรงหรือตามแบบนิยมทั่วไปกับลูก
- ให้เวลาในการเล่นน้ำไม่เกิน 1 ชั่วโมง เนื่องจากเมื่อร่างกายเจอกับน้ำ และสภาพอากาศที่ร้อน จะทำให้อุณหภูมิร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เกิดการเจ็บป่วยตามมาได้ง่าย
เพียงเท่านี้ลูกน้อยก็สามารถเล่นน้ำสงกรานต์ได้อย่างสนุกและปลอดภัยแล้วค่ะ
พาลูกเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย ลูกวัย 5 ปีขึ้นไปเตรียมตัวยังไงดี?
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกวัย 5 ปี ขึ้นไปซึ่งมีความสามารถในการสื่อสารอย่างมีเหตุมีผลบ้างแล้ว อาจชวนกันเล่นน้ำนอกบ้านได้ แต่ก็ยังต้องมีการเตรียมความพร้อมอย่างรัดกุม เพื่อให้ พาลูกเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย สนุกกับเทศกาลนี้ได้แบบแอปปี้ ไม่มีป่วยค่ะ
เตรียมความพร้อม พาลูกเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย |
|
สุขภาพต้องพร้อม | เช็กสุขภาพของลูกน้อยก่อนออกไปเล่นน้ำ หากมีสัญญาณว่าไม่สบาย ควรพักผ่อนอยู่บ้าน |
สวมเสื้อผ้าสบายๆ | เลือกเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี แห้งง่าย ไม่หนาเกินไป มีความหลวม สวมใส่สบาย ไม่คับแน่นจนเกินไป |
กันแดด | ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูง เหมาะสำหรับเด็ก เพื่อปกป้องผิวลูกจากแสงแดดแรง |
หมวกและแว่นกันแดด | ให้ลูกสวมหมวกปีกกว้างและแว่นกันแดด (หากเป็นไปได้) เพื่อป้องกันแสงแดดที่อาจเป็นอันตรายต่อดวงตาและผิวหนัง |
ยาประจำตัว | หากลูกมีโรคประจำตัว อย่าลืมเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นติดตัวไปด้วย |
7 เรื่องต้องใส่ใจ! ในการพาลูกเล่นน้ำให้สนุกช่วงสงกรานต์
-
สถานที่ต้องปลอดภัย
เลือกเล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่ควรเล่นริมฟุตปาธ กลางถนน หรือบนรถ เพื่อไม่เกิดอุบัติเหตุทางการจราจร ไม่ให้ลูกเล่นน้ำตอนกลางคืน เพราะแสงสว่างในช่วงกลางคืนอาจไม่เพียงพอต่อการมองเห็น มีโอกาสเสี่ยงการเกิดอันตรายได้มากกว่าปกติค่ะ
-
ไม่เล่นน้ำท้ายบนรถกระบะ
เด็กไม่ควรติดตามพ่อแม่ไปเล่นน้ำสงกรานต์โดยอยู่บนท้ายรถกระบะ ซึ่งเป็นการเล่นสงกรานต์ที่ไม่ปลอดภัยทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นความเสี่ยงอย่างมากต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งผู้เล่นและผู้ใช้รถใช้ถนนข้างเคียง ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุรถชน เนื่องจากถนนลื่น หรือมองไม่เห็นทาง อุบัติเหตุรถคว่ำจากบรรทุกน้ำหนักเกิน และพลัดตกจากรถ ขณะรถแล่นเร็ว ซึ่งอันตรายอย่างมากค่ะ
-
เล่นน้ำในช่วงเวลาที่เหมาะสม
ควรให้ลูกเล่นน้ำในช่วงเช้าตรู่หรือเย็นที่แดดร่มลมเย็น หลีกเลี่ยงช่วงแดดจัด เช่น ช่วงใกล้เที่ยง เนื่องจากร่างกายลูกน้อยจะสูญเสียน้ำเป็นจำนวนมากเพื่อปรับอุณหภูมิภาย และระหว่างเล่นควรให้ลูกพักแวะดื่มน้ำสะอาดเป็นระยะ ที่สำคัญคือต้องย้ำกับลูกด้วยว่าไม่ควรดื่มน้ำที่ใช้เล่นสงกรานต์
-
น้ำต้องสะอาด
หลีกเลี่ยงการพาลูกเล่นสงกรานต์ในแหล่งน้ำที่สกปรก หรือมีสิ่งปนเปื้อน เล่นโดยใช้น้ำประปาอุณหภูมิปกติ ไม่ใช้น้ำแข็ง ดินสอพอง หรือน้ำผสมสี ที่อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนังและดวงตา หรือเด็กๆ อาจปาน้ำแข็งใส่กันจนเกิดอุบัติเหตุ หรือลูกอาจนำเข้าปากได้ และควรตรวจสอบอุปกรณ์ในการเล่นว่าไม่มีส่วนที่มีคมที่อาจเป็นอันตราย
-
เลือกกลุ่มคนที่เล่นด้วย
ควรให้ลูกเล่นน้ำกับคนที่รู้จัก ไว้ใจได้ ไม่มีการใช้ความรุนแรงในการเล่น หรือใช้สารเสพติด ซึ่งจะให้ดีที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ควรเล่นน้ำกับลูกด้วย โดยเลือกเล่นในที่ที่คนไม่หนาแน่นเกินไป ไม่เล่นกันรุนแรง อย่าปล่อยให้ลูกเล่นลำพัง เพราะเด็กยังขาดความระมัดระวัง และอาจยังดูแลตัวเองได้ไม่ดีพอ นอกจากนี้ควรระมัดระวังและเฝ้าดูแลเรื่องการถูกลวนลามหรือพฤติกรรมอื่นๆ ที่ไม่เหมาะสมด้วยนะคะ
-
ระวังอุบัติเหตุ และสนุกอย่างสุภาพ
ควรมีการอธิบายวิธีเล่นน้ำสงกรานต์ที่ถูกต้องกับลูก สอนให้ลูกน้อยเล่นน้ำอย่างสุภาพ ไม่สาดน้ำใส่ผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต และควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการลื่นล้ม หรือถูกชนค่ะ
-
ระวังโรคที่มากับน้ำ
การเล่นน้ำสงกรานต์อาจเพิ่มความเสี่ยงให้ลูกน้อยได้รับเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำได้ง่าย จนเกิดอาการไม่สบายตามมาค่ะ โดยเฉพาะโรคต่อไปนี้
- โรคติดต่อเฉียบพลันทางระบบทางเดินหายใจ เช่น ไข้หวัด คออักเสบ หูอักเสบ ปอดบวม
- โรคทางเดินอาหาร อาหารเป็นพิษ ท้องร่วง จากอาหารและน้ำไม่สะอาด
- ตาแดง จากการเล่นน้ำที่ไม่สะอาด หรือจากการปาน้ำแข็ง ใช้ดินสอพอง อันตรายอาจถึงกับตาบอดได้
- โรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน ผดร้อน
- ลมแดด (Heat stroke) เกิดจากอากาศที่ร้อนมากๆ ในช่วงที่เล่นน้ำสงกรานต์ เช่น ช่วงกลางวันหรือบ่าย ร่างกายปรับตัวไม่ทัน ทำให้มีการสูญเสียน้ำในร่างกายมาก ยิ่งเด็กเล็กโอกาสเกิดการเสียน้ำยิ่งง่าย
- สารปนเปื้อนจาก ดินสองพอง หรือจากน้ำผสมสี เช่น โลหะหนัก สารตะกั่ว เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อบาดทะยัก เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ทั้งนี้ สามารถป้องกันเบื้อต้นได้โดย สอนให้ลูกน้อยล้างมือด้วยสบู่และน้ำสะอาดเป็นประจำ โดยเฉพาะก่อนและหลังเล่นน้ำหลีกเลี่ยงการเอามือที่ไม่สะอาดมาสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ที่สำคัญคือให้ลูกน้อยดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ เพื่อรักษาสมดุลร่างกาย ป้องกันร่างกายขาดน้ำ และป้องกันอาการฮีทสโตรกด้วยค่ะ
หลังเล่นน้ำสงกรานต์ ดูแลลูกน้อยยังไง? ปลอดภัย ไม่ป่วย
- หลังจากเล่นน้ำเสร็จ ควรให้ลูกอาบน้ำทันทีและเปลี่ยนเสื้อผ้าที่สะอาด แห้ง และอบอุ่น
- เช็ดตัวให้ลูกน้อยให้แห้งสนิท โดยเฉพาะบริเวณซอกคอ รักแร้ และขาหนีบ
- หากมีอาการหนาว อาจจิบน้ำอุ่นช่วยให้ลูกน้อยดื่มน้ำอุ่นเพื่อปรับอุณหภูมิร่างกาย
- ให้ลูกน้อยได้พักผ่อนอย่างเต็มที่หลังจากการเล่นน้ำ ไม่ควรเล่นน้ำติดต่อกันหลายวัน. เพราะร่างกายจะเหนื่อยล้า ภูมิต้านทานในร่างกายต่ำเกิดการติดเชื้อโรคได้ง่าย
- ปรุงอาหารสุก สดใหม่ และถูกสุขอนามัย ให้ลูกกินทุกมื้อ
- เฝ้าสังเกตอาการป่วยหลังหยุดเล่นน้ำสงกรานต์ภายใน 1 สัปดาห์ โดยสังเกตลูกว่ามีอาการตัวร้อน มีไข้ ไอ เจ็บคอ เป็นหวัด หรือมีผดผื่นหรือไม่ ถ้าหากกินยา พักผ่อนแล้วยังไม่หาย ควรพาลูกไปพบแพทย์
ทั้งนี้ ความปลอดภัยและสุขภาพของลูกน้อยต้องมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ หากคุณพ่อคุณแม่กังวลเรื่องสุขภาพของลูกน้อยที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่นน้ำ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ ซึ่งสร้างความสนุกและเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ ช่วยปลูกฝังให้ลูกเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีอื่นๆ ที่ควรทำในวันสงกรานต์ เช่น เข้าวัดทำบุญ รดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ เพื่อแสดงความกตัญญูและเป็นสิริมงคลแก่ตัวเอง เที่ยวชมงานแสดงทางวัฒนธรรม หรือไปเที่ยวในห้างสรรพสินค้าที่มีกิจกรรมสำหรับเด็กก็ได้ค่ะ
ที่มา : www.bangkokbiznews.com , www.gedgoodlife.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
10 ที่เที่ยวปิดเทอม 2568 กิจกรรมแน่น ทั้งเล่น ทั้งเรียนรู้ เด็กๆ ต้องเลิฟ
5 สวนน้ำใกล้กรุงเทพ พาครอบครัวหนีร้อนไปพักผ่อนในวันหยุด
เปิดโผ 12 จุดเช็กอินสงกรานต์ มหาสนุก ทั่วกรุง! Water Festival 2025