หนาวนี้เด็กป่วยมาก! ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ จนต้องแอดมิท ลูกเป็นโรต้า ติดเชื้อ โรต้าไวรัส หรือเจอเชื้อไวรัสตัวอื่นกันแน่ อาการป่วยสำคัญของทารกและเด็กเล็ก ที่คุณหมออยากเตือน
ลูกท้องเสีย มีไข้ หมอเตือน อาจติดเชื้อ โรต้าไวรัส ทำให้ ลูกเป็นโรต้า
ในช่วงฤดูหนาวนี้ มีเด็ก ๆ ที่มีอาการปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย และมีไข้ กันหลายคน บางคนก็มีอาการรุนแรงจนต้องมารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลกันเลยทีเดียว เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้เพื่อการดูแล และป้องกันอย่างถูกต้องกันนะคะ
สาเหตุการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหารเกิดขึ้นได้อย่างไร?
โรคนี้ เกิดจากการสัมผัสกับเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดอาการจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร โดยเชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็กเล็กโดยเฉพาะทารกและวัยน้อยกว่า 5 ขวบปี คือ Rotavirus ที่พบเป็นลำดับรองลงมา ได้แก่ Adenovirus, Astrovirus นอกจากนี้ ยังพบว่าการติดเชื้อ Adenovirus และ Sapovirus เป็นสาเหตุของการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่อีกด้วยค่ะ
การติดต่อกับเชื้อไวรัส
สำหรับการติดต่อกับเชื้อไวรัสเหล่านี้เกิดขึ้นได้จาก
- การสัมผัสกับอุจจาระ น้ำมูก น้ำลาย ที่อาจอยู่ตามของเล่นหรือสิ่งของที่เด็กเล็กใช้ร่วมกัน
- เชื้อไวรัสปนเปื้อนในอาหารและน้ำดื่ม
- ไวรัสบางชนิดก็สามารถติดต่อในระบบทางเดินหายใจ และส่งผลให้มีอาการในระบบทางเดินอาหารได้
เด็กเล็กนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรต้าไวรัสมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของพวกเขายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ เมื่อเด็ก ๆ มาใกล้ชิดกันใน โรงเรียน หรือ nursery หรือสถานที่เล่นของเล่นต่าง ๆ จึงมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคผ่านของเล่น ของใช้ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรคไปโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งเด็กในวัยทารกและวัยเตาะแตะชอบเอามือเข้าปาก ทำให้มีการติดเชื้อได้ง่าย ที่สำคัญไวรัสโรต้ามีความทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถมีชีวิตรอดอยู่นอกร่างกายได้หลายชั่วโมง ซึ่งเพิ่มโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อทำให้เกิดการระบาดอย่างรวดเร็ว
อาการของการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหารเป็นอย่างไร?
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหารไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ สามารถมีอาการรุนแรงที่แตกต่างกันได้ตั้งแต่มีการติดเชื้อไม่มีอาการเลย จนถึงมีการขาดน้ำรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยอาการที่พบบ่อยคือมีไข้ต่ำ ๆ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และอาจตามมาด้วยการถ่ายเหลวเป็นน้ำโดยไม่มีเลือดปน เบื่ออาหาร อาการต่าง ๆ เหล่านี้จะสามารถหายได้เองภายในเวลาไม่เกิน 7 วัน แต่ส่วนใหญ่มักจะหายเองภายในเวลาไม่เกิน 3 วัน หากได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องและไม่มีภาวะแทรกซ้อน
ทั้งนี้ อาการปวดท้องมักจะไม่รุนแรง และอาการท้องเสียมักจะไม่มากกว่า 6 ครั้งใน 24 ชั่วโมง
หากมีอาการไข้สูง ปวดท้องรุนแรงมาก และความถี่ในการถ่ายอุจจาระมากกว่า 10 ครั้งใน 24 ชั่วโมง อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารแทรกซ้อนได้ และหากผู้ป่วยมีอาการซึมลง ปากแห้ง ตาลึกโหล กระหม่อมบุ๋มในทารก ปัสสาวะออกน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลยใน 6 ชั่วโมง แสดงว่ามีอาการรุนแรงจากการสูญเสียน้ำมาก
การวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหารทำได้อย่างไร?
การวินิจฉัยโรคนี้โดยปกติจะใช้การวินิจฉัยโรคจากอาการของผู้ป่วยที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลัก โดยไม่จำเป็นต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
ในปัจจุบันมีการตรวจที่สามารถ screen หาเชื้อ Rotavirus, Norovirus, Adenovirus พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย ๆ ได้ รวมทั้งมีการตรวจวินิจฉัยด้วย PCR ต่อเชื้อไวรัสในอุจจาระทั้ง 5 ชนิดที่ทำให้เกิดอาการติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ Rotavirus, Astrovirus, Norovirus, Adenovirus และ Sapovirus โดยจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า
ทั้งนี้ ไวรัสในระบบทางเดินอาหารเหล่านี้ อาจทำให้เกิดอาการที่คล้ายกัน โดยมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เช่น ในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีหรือทารกมักเกิดจากเชื้อไวรัส Rotavirus, Astrovirus, และ Adenovirus โดย Rotavirus มักจะทำให้เกิดอาการขาดน้ำที่รุนแรงได้มากที่สุด หากไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน การติดเชื้อ Norovirus และ Sapovirus มักจะมีไข้ได้น้อยกว่า Rotavirus และ Adenovirus
หากต้องการจะทราบว่าการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วยเกิดจากเชื้อโรคชนิดใด ให้แน่ชัดจะต้องส่งตรวจเชื้อไวรัสในอุจจาระเท่านั้น ซึ่งเป็นประโยชน์ในแง่ของระบาดวิทยาและการควบคุมโรค นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรงหรือสงสัยการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนในระบบทางเดินอาหารคุณหมอก็จะพิจารณาส่งตรวจอุจจาระดูเม็ดเลือดขาวเม็ดเลือดแดงและเพาะเชื้อในอุจจาระเพิ่มเติม ตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อแทรกซ้อน และเพาะเชื้อในเลือด รวมทั้งตรวจเกลือแร่ในเลือดและดูค่าการทำงานของไตหากสงสัยภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง
หากสงสัยว่าลูกมีการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารควรทำอย่างไร?
หากพ่อแม่สงสัยว่าลูกมีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารโดยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือถ่ายเหลวปริมาณไม่มาก ทานน้ำและอาหารได้ ไม่ซึม ปัสสาวะปกติ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้การดูแลเบื้องต้นได้โดยให้ลูกจิบน้ำเกลือแร่ในปริมาณใกล้เคียงกับที่สูญเสียไป โดยค่อย ๆ จิบทีละน้อยจากแก้ว หรือใส่ช้อนตักป้อน ทานนมแม่เป็นหลัก ทานอาหารที่ย่อยง่าย โดยเฉพาะ ข้าวต้ม หรือโจ๊ก
ถ้าลูกมีอาการรุนแรง เช่น ซึม มีไข้สูง อาเจียนหรือถ่ายปริมาณมาก มีมูกเลือดปน ทานได้น้อย ไม่มีปัสสาวะเลยใน 6 ชั่วโมง ก็ควรพาลูกไปพบคุณหมอโดยด่วนนะคะ
การป้องกันการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินอาหาร ทำได้อย่างไร?
การดูแลสุขภาพอนามัยพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการป้องกันโรคนี้ โดยเน้นที่การล้างมือให้สะอาด ทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ ไม่ใช้มือหยิบจับอาหารเข้าปาก ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เด็กเล็กและทารกควรทานนมแม่เพื่อจะได้มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อ
ในกรณีที่ผู้ปกครองต้องเปลี่ยนผ้าอ้อมให้กับลูก ควรล้างมือหลังเปลี่ยนทุกครั้ง และหมั่นทำความสะอาดของเล่นของลูกน้อยอยู่เสมอ
วัคซีนป้องกัน เมื่อ ลูกเป็นโรต้า โรต้าไวรัส
สำหรับวัคซีนที่ใช้ป้องกันไวรัสอันเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารมีเพียงชนิดเดียว คือ วัคซีนชนิดหยอด Rotavirus ซึ่งสามารถให้ได้ในวัยทารกเท่านั้นค่ะ
โดยตัววัคซีนจะมีส่วนช่วยในการลดความรุนแรงของโรค โดยสามารถเริ่มหยอดครั้งแรกได้ตั้งแต่ อายุ 6 สัปดาห์ขึ้นไป และหยอดห่างจากครั้งแรกประมาณ 1 เดือน โดยจะหยอดจากทางปาก 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนค่ะ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยเข้าพบกุมารแพทย์เพื่อรับวัคซีนและคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมค่ะ
ติดตามเราได้ที่ Facebook: theAsianparent Thailand
ที่มา: Bangkok Hospital
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทารกร้องเวลาถ่าย ไขข้อข้องใจเรื่องการขับถ่ายของทารก ทำไมลูกชอบร้องตอนอึ ท้องผูกหรือท้องเสีย
ลูกมีไข้สูง ตัวร้อน จะชักหรือไม่ ทำอย่างไรดี
วัคซีนโรต้าฟรี ทารก 2 เดือน ต้องหยอดวัคซีนโรต้า ป้องกันโรต้าไวรัส Rotavirus เชื้ออันตราย