หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำว่า ส่าไข้ แต่เด็กที่เป็นโรคส่าไข้นั้นมีอาการอย่างไรกันแน่ และเมื่อจู่ ๆ ลูกเกิดอาการส่าไข้ขึ้นมา จะมีวิธีการรักษาอย่างไรดี และ อาการส่าไข้ โรคส่าไข้ เป็นอย่างไร
ลูกเกิดอาการส่าไข้ขึ้นมา อาการส่าไข้ จะมีวิธีการรักษาอย่างไรดี
โรคส่าไข้
โรคส่าไข้ เคยได้ยินว่าลูกเพื่อนเป็นส่าไข้กันหลายคน แต่ดิฉันก็ไม่ได้สอบถามอะไร จู่ๆ เมื่ออายุได้ 7 เดือน ลูกสาวตัวน้อยก็มีไข้สูงอยู่สองวัน กลัวว่าจะเป็นไข้เลือดออก จึงต้องวิ่งโร่พาลูกไปหาคุณหมอเพื่อรักษา ก็พบว่าไข้สูงถึง 39.1 องศาเซลเซียส คุณหมอสอบถามอาการแล้วก็ฟันธงว่าเป็น “ส่าไข้” ไม่ต้องกังวล ให้ดูแลรักษาดีๆ ตามอาการ รู้มาว่าเป็นโรคยอดฮิตของเด็กเล็กกันเลยทีเดียว
ส่าไข้ ถือเป็นไข้ออกผื่นชนิดหนึ่งที่พบในเด็กเล็กๆ วัย 6 เดือนถึง 3 ขวบ เมื่อสอบถามเพื่อนๆ ก็พบว่า ลูกของเพื่อนเป็นกันเกือบทุกคนเลยค่ะ แต่ไม่พบในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ น่าจะเพราะมีภูมิคุ้มกันดีกว่าเด็กเล็กๆ คุณหมอบอกว่า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่มีอยู่ทั่วไปในอากาศ โรคนี้ติดต่อกันโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน เมื่อเป็นแล้ว มักจะไม่เป็นซ้ำอีก สบายใจได้ค่ะ (โรคนี้ฝรั่งเรียกว่า “reseolar infantum” แปลว่า “ไข้ผื่นกุหลาบในทารก”) โรคนี้ไม่อันตรายมาก แต่ให้ระวังหากมีไข้สูงจัดเพราะอาจทำให้ชักได้ค่ะ
ตอนพบคุณหมอ คุณหมอไม่ได้ให้ยาอะไรมาทานเลยค่ะ บอกว่าเดี๋ยวจะหายเองภายใน 3-5 วัน แต่ไข้ลดจะมีผื่นขึ้น อย่าตกใจ แต่ผื่นจะไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ คุณหมอให้แต่ยาลดไข้ และบอกให้หมั่นเช็ดตัวลูก อย่าให้ไข้สูง
อาการส่าไข้
โรคส่าไข้ เด็กที่เป็นส่าไข้ จู่ๆ จะมีอาการตัวร้อนจัด โดยไม่มีอาการเป็นหวัด ไอ อาเจียนหรือท้องเดินให้เห็น อาจมีอาการซึมเล็กน้อย เบื่ออาหาร หรืองอแง ไข้อาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส และอาจเป็นไข้ (ตัวร้อน) อยู่ตลอดเวลาก็ได้ไข้จะเป็นอยู่นาน 1-5 วัน (โดยเฉลี่ยประมาณ 3 วัน) แล้วอยู่ดีๆ ไข้จะลดลงเป็นปกติ หลังจากไข้ลงเพียงไม่กี่ชั่วโมง จะปรากฏผื่นแดงเล็กๆ ขึ้นที่หน้า ลำคอ และลามไปทั้งตัว โดยอาการผื่นจะเป็นประมาณ 1-3 วันแล้วจะจางหายไปเองโดยไม่มีรอยดำหรือแผลเป็นใดๆ ค่ะ
ในช่วงที่มีไข้สูง ถ้าไปหาหมออาจตรวจแล้วไม่ทราบว่าเป็นอะไร จนกว่าจะรอให้ไข้ลดแล้วมีผื่นแดงขึ้นจึงจะบอกได้แน่ชัดว่าเป็นส่าไข้
อาการของเด็กแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เด็กบางคน เช่น ลูกของดิฉัน ไข้ลดในช่วงกลางวัน และช่วงกลางดึกและเช้ามืดไข้จะกลับมาสูง ขณะที่ลูกยังร่าเริง ไม่ซึม แต่เวลาจะนอนดูจะหงุดหงิด และงอแงช่วงกลางดึก เนื่องจากไข้ขึ้นจนน้องรู้สึกไม่สบายตัว และก่อนออกผื่นจะถ่ายเหลวหลายครั้ง พอออกผื่นขึ้นที่หน้าเยอะมาก ลายเป็นตุ๊กแกทีเดียว ก่อนจะลามไปทั่วตัว ขณะที่เด็กรายอื่น นอกจากมีไข้สูงแล้ว อาจจะมีน้ำมูกไหล เจ็บคอ รับประทานอาหารได้น้อยลง มีผื่นขึ้นที่หลังและลำตัวเล็กน้อย แต่ทั้งนี้หลักการสำคัญคือว่า เด็กต้องไม่ซึม ถ้าลูกยังเล่นได้ไม่ซึม คุณแม่สบายใจได้
คำแนะนำในการดูแลลูกเมื่อเป็นส่าไข้
1. ให้หมั่นคอยเช็ดตัวใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาด และเช็ดย้อนรอยขุมขน จะช่วยระบายความร้อนในร่างกายได้ดี
2. ระวังอย่าให้ไข้สูงเพราะเมื่อไข้ขึ้นสูงเด็กอาจจะชักได้
3. ให้ลูกจิบน้ำบ่อยๆ เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย
4. กินยาลดไข้ที่คุณหมอจัดให้ ถ้าไข้สูงมากจะมียาสำหรับไข้สูงโดยเฉพาะ
5. ถ้าลูกน้อยงอแงคุณแม่อาจจะอุ้มเดินและตบหลังเบาๆ เพื่อปลอบโยนลูกน้อย
6. ถ้าออกผื่นแล้ว ไม่ต้องทาคาลาไมด์นะคะ คุณหมอบอกว่าผื่นไม่คัน และผื่นจะหายไปได้เอง
ข้อควรรู้
หากลูกมีไข้สูงจนเกิดอาการชัก คุณพ่อคุณแม่ควรจับนอนตะแคงเพื่อป้องกันการสำลัก ไม่ต้องหาช้อนหรืออะไรมางัดปากแบบผู้ใหญ่ เพราะอาจจะทำให้ฟันหักได้ รีบเช็ดตัวลดไข้แล้วพาไปพบคุณหมอด่วนที่สุดค่ะ
ความแตกต่างของโรคส่าไข้กับโรคไข้เลือดออกคือ ส่าไข้ เด็กจะมีอาการไข้สูงเพียงอย่างเดียว ขณะที่ไข้เลือดออกเด็กอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
หากลูกป่วยเป็นโรคส่าไข้ สิ่งสำคัญคือ ใจสู้ ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องอดทนตื่นกลางดึกมาเช็ดตัวบ่อยๆ อดทนกับอาการงอแงของลูก และต้องคอยดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ถ้าลูกป่วยล่ะก็ขอให้อย่าวิตกกังวลเกินไป เดี๋ยวป่วยไปด้วยจะลำบาก ให้คิดไว้นะคะว่า ป่วยได้…ก็หายได้
เป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนค่ะ
ที่มา : 1
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ไข้เลือดออก โรคร้ายประจำหน้าฝน ที่คุณแม่สามารถช่วยปกป้องลูกรักให้ห่างไกลได้