เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ทำปอดรั่ว !? ใครปวดท้องเมนส์หนักทุกเดือน เช็กด่วน!

อาการปวดท้องเมนส์ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ และมีผู้ป่วยที่ปอดรั่วเพราะภาวะนี้มาแล้ว
ที่ต้องเตือนกันแบบนี้เพราะบนโลกโซเชียลได้มีการเผยแพร่ภาพสแกนปอดของผู้หญิงวัย 34 ปีคนหนึ่ง ที่มีอาการเหนื่อยและเจ็บหน้าอกขวาแบบกะทันหันในช่วงมีประจำเดือน แพทย์วินิจฉัยว่า “ปอดขวาทะลุ” และส่องกล้องพบว่า “เยื่อบุมดลูก” เกาะกระจายเต็มผิวกระบังลมและปอด ซึ่งหลายคนอาจมองว่าอาการปวดท้องเมนส์เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ แต่ความจริงแล้วการปวดรุนแรงและเรื้อรัง อาจเป็นสัญญาณของภาวะ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ โดยเจริญเติบโตนอกมดลูกจนปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง และอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ด้วย ที่น่าตกใจคือ ภาวะนี้สามารถลุกลามไปยังอวัยวะที่ห่างไกลจากมดลูก เช่น ปอดและกระบังลมได้
▼สารบัญ
เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ คืออะไร?
เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ หรือ Endometriosis คือภาวะที่ “เยื่อบุโพรงมดลูก” ไปเจริญที่อื่นนอกเหนือจากภายในโพรงมดลูกปกติ ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วเยื่อบุมดลูกที่ชื่อ endometrium จะอยู่ชั้นในสุดของมดลูก และหนาขึ้นตามฮอร์โมนเอสโตรเจนในรอบเดือน เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับฝังตัวของตัวอ่อน หากไม่เกิดการฝังตัว เยื่อบุนี้ก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน แต่เมื่อไปเจริญผิดที่เยื่อบุจึงหลุดไปไหนไม่ได้ สร้างการอักเสบเรื้อรัง จนเกิดอาการปวดประจำเดือนรุนแรง เป็นลักษณะวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ ทุกเดือน
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ภาวะ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ คือมีเนื้อเยื่อ endometrium ไปปรากฏที่บริเวณอื่นของร่างกาย เช่น
- ฝังเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูก (Adenomyosis)
- ผิวรังไข่ (Chocolate cyst)
- ผิวเยื่อบุช่องท้องที่ผิวนอกมดลูก
- ผิวนอกลำไส้
- รอยต่อระหว่างมดลูกกับลำไส้
- เยื่อหุ้มปอด
- สมอง (พบน้อยมากๆ)
อาการของภาวะ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
อย่างที่บอกไปค่ะว่าเยื่อบุที่เจริญผิดที่จะไม่สามารถหลุดลอกออกไปจากร่างกายได้ จึงเกิดการสะสมมากขึ้นจนยืดผนังของอวัยวะที่เกาะอยู่ กระตุ้นการอักเสบให้รุนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ ตามมา เช่น
-
ปวดประจำเดือนรุนแรง และปวดมากขึ้นทุกเดือน (Progressive dysmenorrhea)
เนื่องจากเนื้อเยื่อที่เจริญผิดที่มีการงอกตามรอบเดือนแล้วสะสมไปเรื่อยๆ ยิ่งโตยิ่งดัน ยิ่งอักเสบ เมื่อลอกหลุดตอนสิ้นเดือนจะทำให้ปวดประจำเดือนมาก
-
ปวดในอุ้งเชิงกรานเรื้อรัง (Chronic pelvic pain)
ผู้หญิงบางคนจะมีอาการปวดท้องน้อยแบบเป็นๆ หายๆ และหาสาเหตุไม่ได้ เพราะหย่อมเนื้อเยื่อที่ขึ้นผิดที่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกับเม็ดเลือดขาวจนอักเสบตลอดเวลา
-
ปวดตอนมีเพศสัมพันธ์ (Dyspareunia)
เกิดจากเนื้อเยื่อมดลูกไปเจริญตรงเยื่อบุช่องท้องที่อยู่ระหว่างมดลูกกับลำไส้ใหญ่ ซึ่งใกล้กับจุดที่ลึกที่สุดของช่องคลอดพอดี (Rectouterine pouch) ทำให้เมื่ออวัยวะเพศชายมาสัมผัสจะมีผลไปกระทบหรือเสียดสีจุดที่เนื้อเยื่อเจริญผิดที่ที่กำลังอักเสบอยู่ จึงเกิดอาการปวดขึ้น
-
ปวดตอนถ่ายอุจจาระ/ปัสสาวะ บางครั้งมีเลือดปน
เกิดจากเนื้อเยื่อมดลูกเจริญที่ผิวนอกของลำไส้ใหญ่และกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ทุกครั้งที่มีการทำงานของทั้งสองอวัยวะนี้จะมีอาการเจ็บ ซึ่งในรายที่เป็นรุนแรงเนื้อเยื่อจะแทรกเข้าไปลึกมากค่ะ จนทำให้เลือดออกเข้าไปในลำไส้ใหญ่หรือกระเพาะปัสสาวะ จนถ่ายเป็นเลือดได้

ภาพจาก Facebook Tensia
ทำไม? เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เสี่ยง! เกาะปอด-กระบังลม
จากภาพข่าวที่เผยแพร่ในโซเชียลตามที่เกริ่นไปข้างต้นนั้น เป็นตัวอย่างของผู้ป่วยจากประเทศเวเนซูเอลา เมื่อปี 2020 ค่ะ ซึ่งรายละเอียดที่ “เฟซบุ๊ก Tensia” ได้อธิบายไว้นั้น ระบุว่า ผู้หญิงคนดังกล่าวมีอายุ 34 ปี ปวดประจำเดือนและปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์มาตั้งแต่อายุ 20 ปี โดยเคยมีอาการปอดขวาทะลุมาแล้ว 3 รอบ และมักจะเป็นช่วงที่มีประจำเดือน แค่พักก็หายได้เอง แต่ครั้งสุดท้ายกลับมีอาการเหนื่อยร่วมกับเจ็บที่อกขวาแบบทันทีทันใด ออกแรงหรือหายใจเข้าแล้วเจ็บมากขึ้น แพทย์จึงทำการเอ็กซเรย์และพบว่า
- ปอดขวาแฟ่บลง บ่งบอกว่ามี ภาวะปอดทะลุ (Pneumothorax)
- เกิดทางเชื่อมระหว่างโพรงอากาศในปอด กับช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleural cavity) มีลมเข้าไปยังช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้ปอดสูญเสียในการสร้างความดันในการขยายปอด
- ตรวจอัลตราซาวด์ พบจุดหลายจุดที่เยื่อระหว่างช่องคลอดกับลำไส้ตรง (Rectovagial septum)
แพทย์จึงใส่สายระบายลม (Chest tube) เพื่อระบายลมออกจากเยื่อหุ้มปอด และวางแผนผ่าตัด โดยวินิจฉัยว่าน่าจะมีภาวะ เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่บริเวณเยื่อกั้นช่องคลอดกับไส้ตรง และน่าจะมีที่ปอดด้วยอันเป็นเหตุให้ปอดรั่วหลายครั้ง สุดท้ายได้มีการส่องกล้อง (VATS) พบหย่อมเยื่อบุมดลูกกระจายเต็มผิวกระบังลม และฝั่งปอด แพทย์จึงใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า จี้ออกจนหมด แล้วปิดช่องเยื่อหุ้มปอด (Pleurodesis) เพื่อไม่ให้ปอดทะลุอีก โดยเรียกภาวะปอดรั่วตอนมีประจำเดือนว่า Catamenial pneumothorax เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนของเยื่อบุมดลูกเจริญที่ปอด ซึ่งหาได้ยากมาก
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นเคสตัวอย่างจากต่างประเทศ แต่ความจริงแล้วในประเทศไทยสามารถพบเจอกรณีคล้ายกันอยู่เสมอค่ะ ผู้หญิงไทยจึงประมาทไม่ได้เช่นกัน!
สาเหตุ? เยื่อบุมดลูก ไปเจริญเติบโตนอกมดลูก!
สาเหตุของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้นมีอยู่หลายทฤษฎี ดังนี้ค่ะ
-
เลือดประจำเดือนไหลย้อนจากมดลูก ออกไปยังปีกมดลูก แล้วทะลุออกไปในช่องท้อง
เป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่พบได้ โดยเกิดจากการไหลย้อนกลับของประจำเดือนเข้าไปในอุ้งเชิงกราน ผ่านท่อนำไข่ และฝังตัวในโพรงมดลูก หรือฝังตามอวัยวะต่างๆ บริเวณที่พบบ่อยคืออุ้งเชิงกราน รังไข่ ท่อนำไข่ ผนังอุ้งเชิงกราน ผิวมดลูก ปากมดลูก ผนังลำไส้ เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งในเลือดประจำเดือนจะมีเซลล์ที่มีศักยภาพแบ่งตัวได้ ทำให้มีโอกาสที่จะเกาะกับผนังเยื่อบุช่องท้องที่รั่วไปแล้วเจริญต่อได้
-
เยื่อบุช่องตัว เปลี่ยนร่างเป็น เนื้อเยื่อมดลูก
เนื้อเยื่อมดลูก กับ เยื่อบุช่องท้อง ช่องอก เจริญมาจากต้นกำเนิดเดียวกันคือ “เยื่อบุช่องตัว” (Mesodermal coelomic epithelium) ดังนั้น ภายใต้สภาพแวดล้อมบางอย่าง เช่น ฮอร์โมน หรือการอักเสบ ที่ยังไม่ทราบแน่ชัด กระตุ้นให้เซลล์เยื่อบุช่องท้องหรือช่องปอด พัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อมดลูก แล้วโตตามฮอร์โมนได้ด้วยค่ะ
-
เนื้อเยื่อตัวอ่อนที่อยู่ที่อื่น ถูกกระตุ้นให้มีการเติบโต
มดลูกนั้นเจริญมาจากโครงสร้างชื่อท่อ Müllerian ซึ่งในบางคนท่อนี้อาจจะขยายไปได้ไกลกว่าปกติ แต่หลังจากท่อเจริญเป็นมดลูกแล้ว เนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ ก็ฝ่อหายไป แต่พอเวลาผ่าน แล้วเจอสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เนื้อเยื่อตัวอ่อนมดลูกนี้ก็พร้อมจะแบ่งตัวพัฒนาเป็นเนื้อเยื่อมดลูกที่พร้อมโตตามรอบเดือนได้ค่ะ
-
เนื้อเยื่อมดลูกกระจายไปตามกระแสเลือดหรือน้ำเหลือง
ในบางสภาวะเนื้อเยื่อมดลูกสามารถกระจายไปตามกระแสเลือดหรือน้ำเหลืองได้ค่ะ โดยมีกลไกคล้ายการกระจายของมะเร็ง แค่เปลี่ยนเป็นเนื้อเยื่อมดลูกตัวที่สามารถแบ่งตัวต่อได้เท่านั้นเองค่ะ
ทั้งนี้ ทฤษฎีข้างต้นมาจากการรวบรวมกรณีที่เป็นและหลักฐานทางการทดลองต่างๆ ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสภาพแวดล้อมลักษณะไหนกันแน่ที่กระตุ้น 1 ใน 4 กลไกนี้ให้เกิดขึ้นได้ แต่จุดหนึ่งที่มีส่วนแน่ชัดคือ อาจมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่ส่งเสริมมากขึ้น สำคัญที่สุดคือ ระบบภูมิคุ้มกันในช่องท้องมีความสามารถในการเคลียร์เนื้อเยื่อมดลูกเจริญผิดที่ได้น้อยกว่าปกติค่ะ
เช็กด่วน! อาการแบบไหน? เสี่ยง เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
ตามสถิติแล้วผู้ป่วยประมาณ 60-70% ไปพบแพทย์ด้วยอาการปวดท้องรอบเดือน ขณะที่อีก 30-40% ที่เหลือกลับไม่แสดงอาการปวด ดังนั้น ผู้หญิงทุกคนจึงนิ่งนอนใจไม่ได้นะคะ และควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายของตัวเองได้ ดังนี้
- มีอาการปวดท้อง ปวดท้องประจำเดือนมากกว่าปกติ ปวดขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละรอบเดือน เช่น ปวดรุนแรงขึ้น ปวดมากจนต้องใช้ยาแก้ปวด หรือต้องหยุดงาน
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- รู้สึกเจ็บภายในช่องคลอดเวลามีเพศสัมพันธ์
- มีภาวะมีบุตรยาก
- ปวดท้องคล้ายอยากถ่ายอุจจาระทุกครั้งขณะมีประจำเดือน
- คลำเจอก้อนในร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณช่องท้องส่วนล่าง
ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการเกิดเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่มีหลายอย่าง อาทิ
- ไม่เคยมีคลอดลูกมาก่อน
- เริ่มมีประจำเดือนเร็วกว่าปกติ
- เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนช้ากว่าปกติ
- มีช่วงรอบเดือนสั้น เช่น มาน้อยกว่า 27 วัน
- ประจำเดือนมามากและกินเวลานานกว่า 7 วัน
- ฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายสูงขึ้น หรือได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนตลอดชีวิตที่ร่างกายผลิตขึ้น
- ดัชนีมวลกายต่ำ
- คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
- มีโรคหรือภาวะที่ส่งผลให้ประจำเดือนไม่ไหลออกมาตามปกติ
- มีความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์
ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มักใช้เวลาหลายปีกว่าจะแสดงอาการนะคะ นับตั้งแต่ที่มีรอบประจำเดือนครั้งแรก (Menarche) และอาการอาจดีขึ้นชั่วคราวเมื่อตั้งครรภ์ และอาจหายไปในวัยหมดประจำเดือนค่ะ
อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้สามารถรักษาได้ ดังนั้น ใครที่มีปัญหาปวดประจำเดือนรุนแรง ควรไปพบสูตินารีแพทย์เพื่อวินิจฉัยแยกโรคให้ได้ว่าเป็นปวดประจำเดือนทั่วไป หรือปวดประจำเดือนจากโรค โดยเฉพาะภาวะที่พบบ่อยอย่างเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ค่ะ
ที่มา : Facebook Tensia , www.phyathai.com , www.bangkokhospital.com , www.medparkhospital.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
อาการมดลูกหย่อน คืออะไร อันตรายไหม รักษาอย่างไรได้บ้าง
วัคซีน HPV ในเด็ก มีลูกสาวควรฉีดตอนไหน มีลูกชายก็ควรฉีดเพราะอะไร
อาหารบำรุงมดลูก ก่อนตั้งครรภ์ คนอยากมีลูก กินอะไรให้พร้อมตั้งท้อง